xs
xsm
sm
md
lg

เวอร์จิ้นกับ 7.5 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องจ่าย

เผยแพร่:   โดย: ต่อพงษ์ เศวตามร์

ความจริงว่าจะไม่เขียนเรื่องราวของลิขสิทธิ์เพลงทางคลื่นวิทยุกันแล้ว แต่บังเอิญเห็นข่าวว่าทางผู้บริหารคลื่นเวอร์จิ้น คุณ เชษฐ์ มังคโลดม ออกมาโวยแกรมมี่เรื่องของนโยบายการเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงที่จะเริ่มขึ้นตั้งแต่ปีหน้า ในอัตรา 7.5 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ว่า ‘ไม่เป็นธรรม’ ก็อดจะเห็นใจไม่ได้

แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า สะใจอยู่!!

เอาเรื่องไหนก่อนดีละครับ ?

เอาเรื่องเห็นใจก่อนแล้วกัน ผมออกจะเห็นใจท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เรียกร้องให้มีองค์กรกลางออกมาเป็นตัวแทนในการจัดเก็บ

ความจริงก็คือ องค์กรกลางเหล่านั้นมีนะครับ ไม่ใช่ไม่มี ถ้าจำไม่ผิดคนที่เคยบริหารอยู่จะเป็น อ.วิรัช อยู่ถาวร ผู้อาวุโสคนหนึ่งของวงการดนตรีบ้านเรา แต่ผมเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ไอ้บริษัทลิขสิทธิ์ที่ว่านี้มันได้ล้มหายตายจากไปแล้วหรือยัง เพราะไม่เห็นมีข่าวคราวออกมาเท่าไหร่

ที่แน่ๆ ก็ตอนตอนนั้นเก็บกันได้ไม่เข้าเป้า...แล้วก็อาจจะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุที่ครูเพลงจำนวนมาก นำเพลงของตัวเองไปให้บริษัทตัวแทนอื่นจัดการเรื่องลิขสิทธิ์แทน ทั้งแกรมมี่ ทั้งอาร์เอสต่างก็ตั้งบริษัทที่จะมาจัดการจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลงให้กับผู้แต่งเหล่านั้น

แต่ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า พอเก็บขึ้นมาแล้ว ไอ้เม็ดเงินที่ว่านี้จะตกลงมาถึงมือของนักแต่งซักเท่าไหร่ หรือจะมีซักกี่คนกันที่จะได้รับผลประโยชน์ตรงนี้

ความจริงแล้วการถกเถียงในเรื่องของลิขสิทธิ์เพลงไปจนกระทั่งใครควรจะได้รับผลประโยชน์จากการจัดเก็บครั้งนี้มากที่สุดนั้น สำหรับต่างประเทศอาจจะไม่ยุ่งขนาดนี้ เพราะมันก็แบ่งไปเป็นสามกอง กองแรกให้คนเขียนเนื้อร้อง+ทำนอง กองที่สองให้กับคนเรียบเรียงเสียงประสาน กองที่สามให้กับผู้ผลิตซึ่งก็แบ่งกองนี้ไปยังศิลปินด้วย

แต่สำหรับเมืองไทยที่การดำเนินกิจกรรมอุตสาหกรรมเพลงในอีกแบบหนึ่ง มันค่อนข้างจะประหลาด เพราะคงไม่มีประเทศไหนในโลกมากนัก ที่บริษัทเทปเป็นเจ้าของบทเพลงแบบเบ็ดเสร็จแบบนี้

ถามว่าเป็นเจ้าของแบบเบ็ดเสร็จยังไง ก็ต้องตอบว่า เป็นทั้งเจ้าของคนแต่งคำร้อง - ทำนอง เป็นทั้งเจ้าของลิขสิทธิ์การบันทึก ส่วนเป็นเจ้าของศิลปินด้วยหรือเปล่า...อันนี้ต้องไปแอบคุยกันข้างหลัง

สัญญาทุกอย่างก็เป็นการจ้าง เป็นเงินเดือน แล้วก็ขมวดท้ายของสัญญาไว้ว่าทุกอย่างที่เป็นผลงานตรงนี้ต้องยกให้บริษัทหมด


ที่ประหลาดกว่านั้นก็คือ ค่ายเพลงก็เป็นเจ้าของคลื่นวิทยุ...แล้วก็เป็นเจ้าของรายการโทรทัศน์ เรียกว่าเป็นเจ้าของสื่อไปเกือบทุกแขนง...พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อค่ายเทปเป็นเจ้าของเสียทุกอย่างแบบนี้แล้ว (เกือบจะเอามือปิดฟ้าได้ว่างั้นเถอะ) การกำหนดราคาของการจัดเก็บก็เลยสามารถกระทำได้ เพราะบริษัทสามารถที่จะอ้างความเป็นตัวแทนหรือความเป็นเจ้าของที่ตัวเองถือครองอยู่ได้อย่างเต็มที่

จะเป็น 7.5 เปอร์เซ็นต์ 3 เปอร์เซ็นต์ หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ก็แล้วแต่เขากำหนด เพราะฉะนั้นไม่มีคำว่ามาตรฐานหรือไม่เป็นธรรมอยู่แล้ว

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเขาจะไปจัดเก็บเฉพาะคลื่นในกรุงเทพ แล้วคลื่นต่างจังหวัดไม่เก็บ อันนั้นก็ทำได้ เพราะ เจ้าของนั้นพึงมีสิทธิ์ที่จะเก็บค่าลิขสิทธิในการใช้อยู่แล้วละครับ

ก็น่าเห็นใจเวอร์จิ้นอยู่ เพราะ ไอ้สภาพแบบนี้คงไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ นัก

เอาเรื่องความสะใจบ้างก็แล้วกัน คืออยากจะบอกว่า ตอนนี้ทางเลือกของท่านก็มีอยู่อย่าง ก็คือ ยอมจ่ายแพงไปแล้วก็ใช้เพลงฮิตของค่ายที่เขาลงทุนปั้นกันขึ้นมา หรือไม่ก็หาทางออกให้ตัวเองใหม่ คือ ในเมื่อค่าลิขสิทธิ์เพลงของค่ายใหญ่นั้นมันแพง ก็อย่าไปใช้ แล้วก็หันมาสร้างเพลงฮิตของตัวเองขึ้นมาเสียที

ไม่ได้บอกว่าทางเวอร์จิ้นจะต้องตั้งค่ายเป็นของตัวเองเอง แต่อยากให้คลื่นนี้ทำสิ่งที่ตัวเองควรจะทำมาตั้งนานแล้ว ซึ่งผมว่าถ้าเขาทำเสียที บางทีนี่อาจจะเป็นวันใหม่ของวงการวิทยุบ้านเรา หรือ แม้กระทั่งวันใหม่ของคลื่น เวอร์จิ้น ฮิตส์ เสียด้วยซ้ำไป

ถามว่าอะไรคือสิ่งที่เวอร์จิ้นควรจะต้องทำ?

คำตอบก็คือ ควรจะเริ่มทำรายการเพลงตามธรรมชาติของมันเสียที

อาจจะมีคนบอกว่า บ้าเหรอวะ เขาก็ทำรายการวิทยุอยู่นี่หว่า

ก็ต้องบอกว่าใช่และไม่ใช่ครับ เพราะสิ่งที่เวอร์จิ้นทำก็คือ เปิดเพลงออนแอร์ให้ผู้ฟัง แต่ลึกกว่านั้น ผมยังไม่คิดว่าพวกเขาได้ทำรายการเพลงที่เต็มรูปแบบจริงๆ

โอเค กรณีที่ค่ายเพลงเทคโอเวอร์เพื่อทำคลื่นวิทยุเอง...อันนั้นเราไม่ว่ากัน เพราะถือเป็นช่องทำโปรโมตหรือขายของๆ ตัวเองอยู่ แม้จะเป็นการค้าที่ไม่มีจริยธรรมซักเท่าไหร่ แต่ก็ช่างมันเถิด เพราะมันดันมีคนเปิดทางให้ทำอะไรแบบนั้นได้

แต่กรณีของคลื่นที่ประกาศตัวว่าเป็นกลางนั้นรายการเพลงนั้น หน้าที่ของคนทำคลื่นในลักษณะนี้ก็คือ นอกจากจะสร้างความรื่นรมย์ในชีวิตของผู้ฟังแล้ว พวกคุณจะต้องทำตัวเป็น ‘ผู้แนะนำเพลงที่ดี’ และ ‘ร่วมกันโปรโมตเพลงที่ดี’ ให้แก่คนฟัง อันจะเป็นการเพิ่มเติมทั้งสติปัญญา และรสนิยมในการฟังเพลงให้กับคนฟัง

บอกตามตรงผมทะแม่งๆ เงื่อนไขของรายการวิทยุคลื่นนี้มานานแล้ว...โดยเฉพาะคอนเซ็ปท์ที่ว่า ‘ไม่ฮิตไม่เปิด’ วิธีการของคลื่นแห่งนี้ก็คือ การไปทำสำรวจจากแหล่งของคนฟังเพลงว่า ตอนนี้เพลงอะไรฮิต ก็จะเอามาเปิด ซึ่งโดยหลักแล้ว ผมว่ามันเป็นคอนเซ็ปต์ของการทำรายการที่ประหลาดมาก

นั่นคือทำโดยลืมไปเลยว่า ‘อำนาจของสื่อ’ และ ‘หน้าที่’ ซึ่งตัวเองควรจะต้องทำนั้นเป็นอย่างไร!?!

เรื่องที่ทำหน้าที่แนะนำและร่วมกันโปรโมตเพลงที่ดีนั้นเป็นเรื่องที่คลื่นในสากลโลกเขาทำกันทั้งนั้น เพราะเรื่องนี้สำคัญ แต่ละคลื่นเขาถึงจ้างมิวสิคโปรแกรม ไดเรคเตอร์ ราคาแพงๆ กันมา คนเหล่านี้มีหน้าที่สรรหาเพลงครับ นั่งฟังเพลงแล้วเอาเซ้นส์ของตัวเองที่น่าเชื่อถือนั้น เลือกเพลงที่ตัวเองจะแนะนำให้ผู้ฟังได้รับฟัง แล้วก็ให้ดีเจเอาไปจัดการเปิดให้ผู้ฟังได้ฟังกันอีกที

ผมว่าทางบริษัทก็มีคนแบบนี้อยู่แล้ว ก็จัดการใช้งานให้สมกับค่าของเขาเสียทีซิครับ

คนฟังนั้นสำเหนียกได้ด้วยตัวเองอยู่แล้วว่า เฮ้ย มันเจ๋ง มันไพเราะ เขาก็จะเกิดดีมานด์ขึ้นมาที่จะขอฟังเพลงๆ นี้อีก เป็นการสร้างเพลงฮิตด้วยความดีความงามของมันเอง ไม่มีค่ายใหญ่ หรือ ขาใหญ่ที่ไหนมาเป็นตัวกำหนด ก็ส่งผลกลับไปยังอุตสาหกรรมเพลงให้ขายแผ่นกันได้อีกต่อหนึ่ง เพลงที่โด่งดังขึ้นมาในต่างประเทศจำนวนมากก็ใช้ระบบแบบนี้ทั้งนั้น

แล้วถ้าดีจริงๆ...ผมเชื่อว่า พวกคนฟังที่เราด่าๆ ว่าใช้แต่ของผีหรือไรท์แผ่นแจกกันนั้น เขาก็ให้การสนับสนุนศิลปินโดยการซื้อของแท้เพื่อให้พวกนี้มีแรงในการทำงานดีๆ ออกมาอย่างแน่นอน

ผมก็เลยอยากจะให้ เวอร์จิ้น ฮิตส์ หันกลับมาทำในสิ่งที่ตัวเองควรจะต้องทำได้แล้ว เพราะถ้ายังอิงอยู่กับ “ไม่ฮิตไม่เปิด” ผลสรุปก็คือ พวกเขาไม่มีทางเลือกที่จะต้องจ่ายแพงเพื่อให้ได้ซึ่งเพลงฮิตที่ทางค่ายเพลงซึ่งเป็นผู้ถือครองสื่ออื่นๆได้จัดการสร้างความฮิตนั้นขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว

แต่ที่หนักกว่านั้นก็คือ ประชาชนตาดำๆ ที่ควรจะได้คลื่นวิทยุคลื่นนี้เป็นทางเลือก สุดท้ายก็ยังจะต้องตกอยู่ในวังวนอิทธิพลของค่ายใหญ่ต่อไปนานเท่านาน
กำลังโหลดความคิดเห็น