xs
xsm
sm
md
lg

Real Estate : ธุรกิจโรงแรม กับเรื่องของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์อสังหาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) ของสินค้าและบริการ โดยทั่วไป ซึ่งสถาบันการศึกษาด้านธุรกิจอธิบายไว้ จะแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ขั้นแนะนำ (Introduction Stage) ขั้นเติบโต (Growth Stage) ขั้นอิ่มตัว (Maturity Stage) และขั้นถดถอย (Declining Stage) ซึ่งหมายถึงว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะมีอัตรากำไรและ/หรือความสามารถในการสร้างรายรับแตกต่างกันเมื่อเวลาผ่านไป สินค้าบริการบางชนิดใช้เวลา นานกว่าจะพบกับขั้นถดถอย บางชนิดอาจใช้เวลาสั้นมาก อย่างไรก็ดี หาก ผู้บริหารที่มีความสามารถในการประเมินสถานการณ์ในอนาคตได้ดี จะง่ายต่อการคิดค้นพัฒนาต่อยอดรูปแบบใหม่ๆ สำหรับผลิตภัณฑ์ของตนเข้าสู่ตลาดก่อนที่ผลิตภัณฑ์เดิมของตนจะเข้าสู่ขั้นถดถอย เพื่อที่จะให้ธุรกิจของตน คงอยู่ในอุตสาหกรรมนั้นๆ ได้ต่อไป
ผลิตภัณฑ์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้น ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจตัวอย่างหนึ่ง ที่ชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ที่มีการพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจโรงแรมมีจุดเริ่มต้นมาจากการจัดกีฬาโอลิมปิกในปี ค.ศ. 776 ณ ประเทศกรีซ ซึ่งเป็นเพียงการให้บริการที่พักเพียงอย่างเดียว เพื่อรองรับการเดินทางมาเข้าร่วมการแข่งขัน โดยยังไม่มีการ ให้บริการอื่นๆ เช่น ร้านอาหาร สระว่ายน้ำ และ Business Center เป็นต้น
การให้บริการในธุรกิจโรงแรมได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ โดยผู้ประกอบการพัฒนาให้บริการครบวงจรเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพและการมีเครือข่ายเชื่อมโยงกันทั่วโลก และให้บริการ ที่กว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากขึ้น การเติบโตของฐานลูกค้า และการตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีความหลากหลาย เช่นเดียวกับธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย ที่ได้มีการพัฒนารูปแบบของห้องพักมาเป็นลำดับ เหมือนกับการต่อยอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์จากรูปแบบดั้งเดิม ไปสู่รูปแบบที่หลากหลายขึ้น นับแต่รูปแบบของโรงแรมที่มีห้องพักเป็นแถวๆ อาคารสูง ซึ่งเป็นรูปแบบ ในอดีต พัฒนามาเป็นรูปแบบ วิลล่า และวิลล่าพูล (ลักษณะ บ้านเป็นหลัง มีหลายห้องนอน พื้นที่ส่วนกลาง พร้อมสระว่ายน้ำขนาดเล็กในตัว ซึ่งให้ความรู้สึกสะดวกสบาย กว้าง ขวางเหมือนพักผ่อนอยู่ที่บ้าน) รวมไปถึงการพัฒนาโรงแรมในรูปแบบของ Boutique Hotel หรือ HIP Hotel ซึ่งรองรับลูกค้าตลาดบน และการผนวกเข้ากันของธุรกิจ สปากับธุรกิจโรงแรม ซึ่งนับเป็นสิ่งที่พบเห็นกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน จนกระทั่งการพัฒนาโครงการที่พักอาศัย เพื่อปล่อยเช่าประเภทวิลล่าผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกิจการโรงแรม (หรือที่เรียกว่า The Hotel/Residential Mix)
แนวคิดดังกล่าวเริ่มมามีบทบาทในธุรกิจโรมแรมไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณเกาะภูเก็ต และเกาะสมุย โดยที่โครงการประเภทนี้ จะมีลักษณะเช่นเดียวกับห้องพักประเภทวิลล่าแต่สร้างเพื่อขาย โดยที่ผู้ซื้อสามารถเข้าพักเองหรือปล่อยเช่าแก่นักท่องเที่ยวทั่วไป โดยมีทีมบริหารมืออาชีพ (Hotel Chain Management) ช่วยจัดการดูแลให้เช่นเดียวกับการบริหารของมือบริหารนั้นๆ ให้กับส่วนของโรงแรม ซึ่ง นับเป็นรูปแบบการลงทุนประเภทหนึ่งเช่นกัน จะ เห็นได้ว่า รูปแบบโครงการประเภทวิลล่าในประเทศไทยนี้เป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวต่าง ชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากความเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยในเรื่องของการเป็น Resort Destination ประกอบกับราคาอสังหา- ริมทรัพย์ในประเทศไทยค่อน ข้างถูกเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิก เช่น ฮ่องกง, สิงคโปร์, ออสเตรเลีย เป็นต้น การลงทุนดังกล่าวจึงเป็นที่นิยมทั้ง ในแง่ของผู้ลงทุน เจ้าของโรงแรม และทีมบริหารโรงแรม
จากการสัมมนากลุ่มธุรกิจโรงแรมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (HICAP-Hotel Investment Conference Asia Pacific) ที่ประเทศฮ่องกงเมื่อ สัปดาห์ที่แล้วพบว่า ประเด็นใหม่ที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมโรงแรมสำหรับ ภูมิภาคนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการต่อยอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาด โรงแรมอีกขั้นหนึ่งในปัจจุบัน คือจากรูปแบบโครงการประเภท Hotel/ Residential Mix ก็คือ การพัฒนาคอนโดมิเนียมที่ตั้งอยู่ภายในโครงการ โรงแรม ในลักษณะของการเชื่อมโยงกับธุรกิจที่เรียกว่า Time-Sharing และกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบันในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก
อย่างไรก็ดี การพัฒนารูปแบบดังกล่าวยังคงเป็นประเด็นพิจารณากันอยู่ ในเรื่องของการบริหารจัดการ อาจเกิดการแข่งขันกันเองภายในโครงการ ตามแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่าทั้งคอนโดมิเนียมให้เช่า และ โรงแรม เป็นสินค้าทดแทนกัน การเชื่อมโยงองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์ที่ทดแทนกันได้ในทำเลเดียวกันจะส่งผลกระทบต่ออุปทาน และอุปสงค์ที่เป็นปัจจัยบั่นทอนผู้ประกอบการหรือไม่ แต่ในอีกมุมมองหนึ่งนักลงทุนในธุรกิจนี้มองว่า รูปแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เป็นสินค้าประกอบกันและเกื้อหนุนกัน ก่อให้เกิดความหลากหลายในตัวสินค้าที่นำเสนอต่อผู้บริโภค
ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการรูปแบบดังกล่าวน่าจะเริ่มมีให้พบเห็นบ้างแล้วเช่นกันในประเทศไทย จึงทำให้เกิดประเด็นที่จะพิจารณาว่าหากสามารถ ต่อยอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ขึ้นมาใหม่ได้อีก ระยะเวลาแห่งขั้นของการแนะนำผลิตภัณฑ์ จนถึงจุดอิ่มตัว จะมีระยะเวลานานเท่าไร คุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีลักษณะที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และต้องใช้เวลาชั่วระยะหนึ่งที่จะให้คืนทุน เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าท้าทายต่อผู้ประกอบการที่จะพิจารณาถึงประเด็นนี้ในอนาคตต่อการเปลี่ยนแปลงนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น