xs
xsm
sm
md
lg

“เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ไม่ใช่แค่โครงการในฝัน”

เผยแพร่:   โดย: จักรสิทธิ์ แก้ววิไล

เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน (Savan-Seno Special Economic Zone : SASEZ) เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของลาว จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจตามแนวชายแดนลาว สร้างฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่สำคัญของลาว SASEZ รัฐบาลลาวมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะนำการลงทุนอย่างมหาศาลจากนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาในลาว อันจะทำให้ประชากรลาวมีรายได้ มีอาชีพที่ดี ตลอดจนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นอกจากนี้บริษัทที่เข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจดังกล่าวจะสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) ที่ลาวได้จากสหภาพ ยุโรป และระบบโควต้าส่งออกสินค้าจากลาวไปสหรัฐฯ นับว่าเป็นอีกแรงจูงใจหนึ่งของนักลงทุนต่างประเทศที่จะมาลงทุนใน SASEZ

เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ตั้งอยู่ในแขวงสะหวันนะเขต แบ่งพื้นที่เป็น 2 Site ได้แก่ Site A มีพื้นที่อยู่ในเมืองขันธบุรีซึ่งเป็นเมืองหลวงของแขวงสะหวันนะเขต ติดกับสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 เชื่อมจังหวัดมุกดาหารของไทยกับแขวงสะหวันนะเขตของลาว เน้นการลงทุนในกิจการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรม การค้า และการบริการ

Site B มีพื้นที่อยู่ในเมืองเซโน เน้นการลงทุนในกิจการที่เกี่ยวกับการคมนาคมขนส่งและการบรรจุหีบห่อ โดยคาดว่า SASEZ จะสามารถเปิดให้นักลงทุนเข้ามาจองพื้นที่เพื่อจัดตั้งบริษัทหรือสร้างโรงงานได้ภายในปี 2547 และในขณะนี้แหล่งเงินกู้จากญี่ปุ่นกำลังพิจารณาให้การอนุมัติเงินที่จะใช้สำหรับโครงการนี้ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยที่เอื้อต่อการลงทุนใน SASEZ

ประการแรก เส้นทางคมนาคมที่เชื่อมต่อกับประเทศในแถบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงหรือ GMS (Greater Mekong Subregion : GMS ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว พม่า ไทย เวียดนาม และจีนตอนใต้) SASEZ มีถนนสายสำคัญตัดผ่าน ได้แก่ ถนนหมายเลข 9 ในโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ East-West Economic Corridor ซึ่งเชื่อมระหว่างเวียดนาม-ลาว-ไทย-พม่า และถนนหมายเลข 13 ในโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ North-South Economic Corridor ซึ่งเชื่อมระหว่างมณฑลยูนนานของจีน-ลาว-กัมพูชา

นอกจากนี้ SASEZ ยังตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ซึ่งขณะนี้กำลังก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2549 ซึ่งจะช่วยเกื้อหนุนการค้าระหว่างไทย-ลาวให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น

ประการที่สอง สิทธิพิเศษด้านภาษี นักลงทุนที่เข้าไปลงทุนจะได้รับการยกเว้นและลดหย่อนภาษีหลายประเภท อาทิ

• ภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือภาษีกำไร (Corporate Income Tax or Profit Tax) นักลงทุนที่เข้าไปลงทุน จะได้รับการยกเว้นและลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลจากปกติที่เรียกเก็บในอัตรา 35% โดยจำแนกตามภาคเศรษฐกิจ ดังนี้

•ภาษีนำเข้า (Import Tariff) นักลงทุนที่เข้าไปลงทุนจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าวัตถุดิบ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร ยานยนต์และส่วนประกอบ

• ภาษีการค้า (Business Turnover Tax) นักลงทุนที่เข้าไปลงทุนจะได้รับการยกเว้นภาษีการค้าจากปกติที่เรียกเก็บในอัตรา 5-10%

อุตสาหกรรมที่น่ามีโอกาสที่ดีในการเข้าไปลงทุนใน SASEZ สำหรับนักลงทุนไทย ได้แก่

อุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าของลาว ปัจจุบันลาวนำเข้าสินค้าจากไทยมากกว่า 50% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด ดังนั้น การเข้าไปลงทุนใน SASEZ ในอุตสาหกรรมที่ลาวนำเข้าจากไทยผ่านบริเวณนี้จำนวนมาก อาทิ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ สินค้าอุปโภคและบริโภค วัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง ฯลฯ ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนไทย

อุตสาหกรรมที่ไทยนำเข้าวัตถุดิบจากลาว อาทิ อุตสาหกรรมแปรรูปไม้ (ส่วนประกอบเฟอร์นิเจอร์ และไม้ปาร์เก้ปูพื้น) อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร ฯลฯ เนื่องจากบริเวณนี้ยังอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้และพืชผลทางการเกษตร

อุตสาหกรรมที่ลาวได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี อาทิ สิ่งทอ และรองเท้า (ลาวได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalize System of Preferences: GSP) จากสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น)

สำหรับการเข้าไปลงทุนใน SASEZ สินค้าที่ผลิตได้นอกจากจะจำหน่ายในประเทศลาวแล้ว ยังสามารถส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียงผ่านถนนหมายเลข 9 และหมายเลข 13 ได้อีกด้วย ซึ่งนอกจากจะทำให้นักลงทุนมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้นแล้วยังจะได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกนี้ระบบสาธารณูปโภคใน SASEZ ยังไม่ค่อยสมบูรณ์ ดังนั้น จึงอาจเป็นข้อจำกัดสำหรับการลงทุนในบางอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามในอนาคตอันใกล้ นักลงทุนควรมองว่าภายหลังจากการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงจาก SASEZ ไปยังที่ต่างๆ แล้วเสร็จ การขนส่งสินค้าก็จะมีความสะดวกขึ้น รวมทั้งถือเป็นโอกาสดีๆ ที่น่าจะรีบคว้าไว้

คาดการณ์ว่าประมาณต้นปี 2548 โครงการ SASEZ จะเริ่มมองเห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งในขณะนี้ภายใต้ความร่วมมือ ACMECS โครงการ SASEZ ก็อยู่ในโครงการเร่งด่วนภายใต้ความร่วมมือทวิภาคีไทย-ลาว โดยมีการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นแม่งาน และโครงการ SASEZ นี้คงจะไม่ใช่แค่โครงการในฝัน หากแต่จะเกิดขึ้นจริงและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งลาวและไทยต่อไป

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ กองการตลาดเพื่อการลงทุน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8163 หรือที่ marketing@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น