xs
xsm
sm
md
lg

แฉแก๊งหาประโยชน์ในไตรภาคีจัดตั้งบริษัทสวมรอยเป็นลูกจ้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานกลางฯ แฉมีขบวนการตั้งบริษัทใช้คนในครอบครัวและเพื่อนฝูงเป็นนายจ้างโดยให้ต้วเองสวมรอยเป็นลูกจ้าง เข้าแสวงหาผลประโยชน์ในไตรภาคี และสกัดกั้นการขึ้นค่าแรง ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ภาครัฐยังเข้าไปเอื้อประโยชน์ให้กับแกนนำทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ทำให้กระบวนการแรงงานไทยอ่อนแอ ด้าน กมธ.แรงงานฯวุฒิสภา เรียกร้องรัฐปรับค่าแรงขึ้นต่ำเป็น 230 บาท

วานนี้ (24 ต.ค.) มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน และศูนย์อเมริกันเพื่อแรงงาน นานาชาติ จัดสัมมนา “แนวทางพัฒนาระบบโครงสร้างไตรภาคีและศาลแรงงาน” เพื่อระดมความคิดเห็น นายวรชาติ อหันทริก ผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานกลาง สำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และเจ้าหน้าที่ภาครัฐ หากจะพัฒนาไตรภาคีผู้แทนทั้ง 3 ฝ่ายต้องเป็นผู้ที่อยู่ในปัญหานั้นอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ภาครัฐต้องวางตัวเป็นกลางและทำหน้าที่คัดเลือกหรือนำเสนอผู้แทนที่แท้จริงของลูกจ้างและนายจ้าง ซึ่งหากเจ้าหน้าที่รัฐทำหน้าที่อย่างเคร่งครัดจะได้บุคคลที่มีคุณภาพเข้ามาในระบบไตรภาคี

สำหรับภาคเอกชนทั้งนายจ้างและลูกจ้างโดยนายจ้างต้องคัดเลือกบุคคล ที่มีความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ รวมทั้งคุณภาพตามลักษณะงาน เช่น หากเป็นคณะกรรมการค่าจ้าง ต้องมีความรู้ความเข้าใจภาคเศรษฐกิจและนำเสนออย่างสร้างสรรค์เป็นเหตุเป็นผล

ด้านตัวแทนลูกจ้างต้องคัดเลือกบุคคล ที่มีความรู้และคุณสมบัติ และต้องเป็นลูกจ้างที่แท้จริง เนื่องจากขณะนี้มีผู้นำแรงงาน จำนวนมากไม่ได้เป็นลูกจ้าง ที่แท้จริง แต่ฉวยโอกาสตั้งบริษัทเพื่อให้ครอบครัว เพื่อนฝูง เป็นนายจ้างแต่ให้ตัวเองเป็นลูกจ้าง เพื่อผลักดันตัวเองเป็นผู้นำแรงงาน แล้วเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในไตรภาคี ส่งผลให้ไตรภาคีหลายคณะถูกใช้แสวงหาประโยชน์ เช่น สำนักงานประกันสังคม คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ หรือสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ ทำให้ผู้นำแรงงานต่าง ๆ ฮั้วกับนายจ้างแล้วพยายามบล็อกโหวต เพื่อส่งคนที่ทางกลุ่มต้องการเข้าไปอยู่ ในตำแหน่งต่างๆ เพื่อหาผลประโยชน์จากตำแหน่งเหล่านั้น

“ไตรภาคีหลายคณะเกิดปัญหามาก โดยเฉพาะปัญหาความเป็นอยู่ของลูกจ้าง เช่นคณะกรรมการค่าจ้างออก พ.ร.บ. เพื่อจัดตั้งอนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัด แต่กลับพบว่าอนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัดหลายจังหวัดไม่ได้เป็นลูกจ้างที่แท้จริง อาทิ พ.ร.บ.ระบุว่า ผู้แทนของนายจ้างจะต้องเป็นกรรมการบริษัทที่มีชื่อในหนังสือบริคณห์สนธิ แต่บางคนเป็นถึงระดับผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการแต่ไม่มีชื่อในหนังสือบริคณห์สนธิ แต่สามารถมาเป็นลูกจ้างได้และปัจจุบันนี้ก็มีฝ่ายนายจ้างหลายคน ที่มานั่งเป็นอนุกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัดในฝ่ายของลูกจ้าง หากเป็นในลักษณะนี้จะไม่มีการพิจารณาขอขึ้นค่าจ้าง ทั้งที่ความเป็นจริงควรจะมีการขอขึ้นค่าจ้าง”

นายวราชาติ กล่าวว่า ลูกจ้างทราบปัญหาดังกล่าวดี แต่กลับไม่มีการรวมกลุ่มกันออกมาผลักดัน เพราะมองว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเองแต่มองว่าเป็นปัญหาของภาครัฐ หรือเป็นเรื่องของภาพรวมซึ่งคนที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไข ทั้งที่จริงแล้วทุกคนที่เป็น ผู้ใช้แรงงานต้องช่วยกันแก้ไข โดยมองการสร้างความเป็นเอกภาพ ไม่มองเรื่องของผลประโยชน์

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ภาครัฐบางหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ได้เอื้อประโยชน์ให้กับแกนนำทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง ส่งผลให้ระบบแรงงานของประเทศอ่อนแอ ไม่สามารถต่อสู้หรือผลัดดันนโยบายต่าง ๆ ต่อรัฐบาลหรือกระทรวงแรงงานได้

ด้านนายชฤทธิ์ มีสิทธิ์ กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กล่าวในเวทีเดียวกันนี้ ว่าการสัมนาหลายเวทีในอดีตมีการเรียกร้องให้ปรับปรุงศาลแรงงานให้เป็นศาลที่มีความชำนาญการพิเศษด้านแรงงาน รวมทั้งปรับปรุงคุณสมบัติและวิธีการได้มาซึ่งผู้พิพากษาสมทบทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส เนื่องจากมีเสียงวิจารณ์กระบวนการเลือกตั้ง กระบวนการสรรหา และขั้นตอนการคัดเลือกผู้พิพากษาสมทบว่าได้ผู้พิพากษาสมทบที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสม นอกจากนี้ กระบวนการพิจารณาของศาลแรงงานให้พิจารณาคดีในศาลแรงงานรวดเร็วและเป็นธรรมมากขึ้น เนื่องจากลูกจ้างเป็นฝ่ายเสียเปรียบไม่มีทรัพย์สินต่อสู้คดียืดยาวเป็นเวลา 2-3 ปี ดั้งนั้นต้องปรับการพิจารณาคดีให้เร็วขึ้นและขอให้ศาลทำหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงแทนคู่ความเป็นหลักด้วย

ด้าน นายไสว พราหมณี ประธานคณะกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคมวุฒิสภา ระบุว่า ปัจจุบันการแก้ปัญหาแรงงาน ด้วยโครงสร้างระบบไตรภาคียังไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ขาดความเข้าใจในระบบไตรภาคี ทำให้ไม่สามารถประสานความร่วมมือกับฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างได้ สิ่งสำคัญคือการแก้ปัญหาค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ แม้จะปรับขึ้นไปแล้ว 1-5 บาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 175 บาทต่อวันก็ตาม แต่ยังไม่สอดรับกับค่าครองชีพ ซึ่งจะต้องมีอัตราเฉลี่ยวันละตั้งแต่ 200- 230 บาท

ขณะที่ นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีลูกจ้างในระบบเงินเดือนถึงร้อยละ 85 จำนวนนี้ มีลูกจ้างที่ทำงานหนัก แต่มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 5,000 บาทเท่านั้น รัฐบาลจึงต้องเข้าไปแก้ปัญหาแรงขั้นต่ำ หากยังต้องการใช้การบริโภคกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น