ภาพยนตร์หลายเรื่องดูเมื่อไรก็ไม่เก่า มีอะไรที่บอกคนดูให้รู้สถานการณ์วานนี้ วันนี้และทำให้เชื่อว่าพรุ่งนี้ก็คงมีอะไรคล้ายกัน อาจจะต่างที่รายละเอียดและรูปแบบเท่านั้น
Network (1976) เป็นเรื่องที่ว่าด้วยโทรทัศน์และรายการโทรทัศน์ในสหรัฐอเมริกา ต้นแบบทีวีและวิถีชีวิตของผู้คนที่ก้าวหน้าไปก่อนประเทศใดๆ แม้เรื่องราวจะผ่านไปเกือบยี่สิบปีแล้วก็ยังดูใหม่และมีเรื่องคล้ายกันกำลังเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งไทยแลนด์ ซึ่งเดินตามหลังอเมริกาเพียงแต่ช้ากว่าสักยี่สิบปีเท่านั้น
เรื่องนี้เกิดขึ้นในสถานีโทรทัศน์ UBS ชื่อสมมุติของทีวีที่อยู่อันดับท้ายของวงการ แต่พยายามดิ้นรนปรับกิจการของตนเองซึ่งขาดทุนมาหลายปี วิธีหนึ่งคือปลด Howard Beale (Peter Finch) คนวิจารณ์ข่าว ซึ่งเรตติ้งตก
คืนวันนั้น บีลประกาศในรายการของเขาว่า เขาถูกปลดจากงานนี้ อีกหนึ่งสัปดาห์ ในวันสุดท้ายเขาจะระเบิดสมองตัวเองให้ดูกันสดๆ ที่รายการนี้ ไม่ต้องบอกก็รู้ว่ามีปฏิกิริยาจากผู้ชมอย่างไรและกลายเป็นข่าวใหญ่ที่ออกทีวีทุกช่องและหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ
หลังจากที่พูดคุยกับ Max Schumacher (William Holden) หัวหน้าของเขา บีลสัญญาว่าจะไม่ฆ่าตัวตาย แต่ยังไงก็ขอพูดร่ำลาผู้ชมสักครั้ง ซึ่งชูเมเคอร์ก็ยอม คราวนี้พี่บีลมาอีกแบบ แกเล่นสบถและด่าวิถีชีวิตของคนอเมริกันเหมือนคนที่อัดอั้นมานาน ใช้ถ้อยคำที่คณะกรรมการมาตรฐานภาษาเขาห้ามใช้ ถ้าเทียบเป็นไทยก็คงคล้ายๆ สองคำก็ห่-สามคำก็เหี้-อะไรทำนองนั้น
ตอนแรกชูเมเคอร์ถูกให้ออกฐานไม่สามารถควบคุมลูกน้องได้ แต่เมื่อเห็นว่า รายการของบีลมีคนชมมาก ทางสถานีจึงหาทางเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ให้บีลอยู่ต่อ แต่เรตติ้งขึ้นไม่กี่วันก็เริ่มตกอีก คนเริ่มเบื่อคำสบถของบีล
เรื่องราวจริงๆ ของหนังเรื่องนี้เริ่มจากตอนนี้ที่ Diana Christensen (Faye Dunaway) ขอร้อง Frank Hackett (Robert Duvall) ผู้อำนวยการเข้าไปดูแลรายการข่าวเองแทนชูเมเคอร์ เธอเสนอให้มีการปรับปรุงรายการยกใหญ่ ทำให้บีลกลายเป็น "ประกาศกผู้โกรธกริ้วและประณามความหน้าซื่อใจคดแห่งยุคสมัย" ให้เป็น "พระเจ้าที่เรียกใช้ได้ทันใจ" (processed instant God) (ในยุคสมัยที่ผู้คนต้องการอะไรสำเร็จรูปและทันใจเหมือนบะหมี่มาม่า)
แต่แมกซ์ ชูเมเคอร์ซึ่งถูกให้ออกจากงานไม่คิดเช่นนั้น เขาคิดว่าบีลลูกน้องและเพื่อนสนิทคนนี้กำลังเสียสติและกำลังถูกใช้เพียงเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ โดยไม่สนใจชีวิตของใครทั้งสิ้น
คริสเตนเสนทำทุกอย่างเพื่อให้เรตติ้งสูงขึ้น แม้จะต้องแลกกับความบ้าแทบจะเป็นโรคจิตของบีล เธอบอกว่า ทีวีเป็นอะไรที่คุณต้องทำให้คนดูสนุก แม้แต่รายการข่าว เธอจึงปรับให้มีรายการหลายอย่างผสมผสานเข้าไปโดยเฉพาะรายการพบกับ "ประกาศกบ้า" (mad prophet) ซึ่งมีคนเขียนบทให้อย่างดี และต้องจบลงด้วยการหมดสติล้มลงกับพื้น
เธอเป็นผู้หญิงเก่งที่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของสังคม รู้ว่ากดดัน ทุกข์ มีปัญหา ต้องการผ่อนคลายหายเครียด และต้องการอะไรที่ตอบสนองความฝัน ความใฝ่ฝัน อุดมคติ คำตอบสำหรับอนาคต เธอหาทางทำอย่างไรให้รายการข่าวที่มักจะมีแต่ข่าวร้ายกลายเป็นโอกาสให้คนไม่เครียด และได้คำตอบสำเร็จรูปบางอย่างสำหรับผู้คน รวมทั้งผสมผสานเข้ากับเรื่องศาสนา อ้างภารกิจของพระผู้เป็นเจ้า ช่างเหมือนกับที่ผู้นำสหรัฐฯวันนี้กำลังอ้างเพื่ออาสารับใช้คนอเมริกันอีกสมัย
รายการประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่ง เรตติ้งพุ่งกระฉูดหลังจากที่บีลระเบิดความรู้สึกกดดันออกมาและประกาศให้คนดู 62 ล้านคนทั่วอเมริกาให้ยื่นหน้าออกไปทางหน้าต่างแล้วตะโกนพร้อมกันว่า "จะบ้าตายอยู่แล้ว ทนไม่ไหวแล้วโว้ย" เป็นการระบายความอัดอั้นของคนอเมริกัน ผู้ถูกกดดันด้วยสงครามเวียดนาม กรณีวอเตอร์เกต เงินเฟ้อและปัญหาสังคมอีกสารพัด
นอกจากรายการนี้ เครือข่ายนี้ยังมีรายการพิสดารอีกเรื่อง คือการเอาเรื่องการก่อการร้ายมาทำรายการ โดยให้กลุ่มก่อการร้าย Ecumenical Liberation Army เป็นคนร่วมผลิต ร่วมดำเนินการ ซึ่งในความเป็นจริงคงเป็นไปไม่ได้ทั้งวันนั้นและวันนี้ แต่ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ทีวีสามารถทำได้ทุกอย่างเพียงเพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้ และเรตติ้งดี
หนังเรื่องนี้เป็นฝีมือกำกับของซิดนีย์ ลูเมต ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ถึง 10 ตัว ได้มา 4 ดารานำชาย (ฟินช์) ดารานำหญิง (ดันนาเวย์) ประกอบหญิง และบทภาพยนตร์ซึ่งเขียนโดย Paddy Chayefsky ซึ่งได้รับการยกย่องและกล่าวถึงเป็นอย่างมาก บทสนทนาที่ค่อนข้างยาวของแต่ละคนแหลมคมเชือดเฉือน บางตอนเทียบได้กับ "สุนทรพจน์" บทสุดท้ายภาพยนตร์หลายเรื่อง
ชาเยพสกี้และลูเมต ทำหนังเรื่องนี้เพื่อวิพากษ์สื่อโทรทัศน์อย่างรุนแรงว่ากำลังครอบงำและกำหนดชีวิตของผู้คนยุคนี้ และกระทำโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ศีลธรรมอะไรทั้งนั้น คิดถึงแต่เพียงธุรกิจและเรตติ้งเท่านั้น ลองฟังที่พวกเขาใส่ปากบีลในรายการวันหนึ่งดู
"พวกท่านชาวอเมริกัน 62 ล้านคนที่กำลังชมรายการนี้มีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นอ่านหนังสือ ร้อยละ 15 อ่านหนังสือพิมพ์ พวกท่านรู้ความจริงจากทีวีเท่านั้น คนรุ่นใหม่วันนี้ไม่รู้อะไรอื่นนอกจากที่มาจากจอทีวี ทีวีคือคัมภีร์ ทีวีคือความจริงสูงสุด เป็นพลังที่น่าเกลียดน่ากลัวที่สุดในโลกที่ไร้พระเจ้านี้... ถ้ามันตกไปอยู่ในมือของคนชั่วก็จะเป็นโชคร้ายของเรา
ฟังให้ดี ทีวีไม่ใช่ความจริง มันเป็นเพียงสิ่งให้ความบันเทิง ทีวีคือละครสัตว์ คาร์นิวัล คณะนักแสดงกายกรรม นักเล่าเรื่อง นักเต้นรำ นักร้อง นักฟุตบอล เป็นธุรกิจฆ่าความเครียด ถ้าอยากได้ความจริงจงไปหาพระผู้เป็นเจ้า ไปหากูรู ไปหาตัวเอง เพราะนั่นเป็นที่ที่ท่านจะได้พบความจริง ทีวีเป็นเรื่องหลอกๆ เราหลอกพวกคุณ ไม่มีอะไรจริงสักอย่าง พวกคุณเริ่มคิดว่าทีวีเป็นเรื่องจริงและชีวิตของตัวเองไม่จริง พวกคุณทำทุกอย่างที่ทีวีสั่งให้ทำ แต่งตัวเหมือนทีวี กินเหมือนทีวี เลี้ยงลูกเหมือนทีวี คิดเหมือนทีวี พวกคุณบ้าไปแล้ว พวกคุณนั่นแหละของจริง พวกเราต่างหากที่เป็นของหลอก ฉะนั้นปิดทีวีเสียเถิด ปิดเดี๋ยวนี้เลย ปิดตอนที่ผมพูดอยู่นี่แหละ"
หนังเรื่องนี้มีอิทธิพลไม่น้อย เพราะหลังจากนั้นมีครอบครัวอเมริกันและยุโรปจำนวนมากที่ไม่ดูทีวี หรือดูน้อยลงมาก แต่กระนั้นก็ไม่มีอะไรสามารถต้านทานกระแสและอำนาจของสื่ออย่างทีวีได้ แม้จะรู้ว่ามีการ "บิดเบือน" หรือใช้ทีวีเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง แต่คนดูก็รู้สึกว่าไม่มีทางเลือกอื่น ต้องเปิดทีวีติดตามข่าวสารและหาความบันเทิงต่อไป คนรุ่นใหม่วันนี้จึงลืมตามาเห็นทีวี ถูกเลี้ยงมาด้วยทีวี หายใจเข้าออกเป็นทีวี
แต่ที่สุดก็เกิดปัญหาจนได้เมื่อบีล "ทะลุกลางปล้อง" วิจารณ์ "พวกอาหรับ" ที่กำลังเข้ามาซื้อกิจการต่างๆ ของอเมริกัน รวมทั้งการเข้ามาซื้อกิจการสื่อสารซึ่งเป็นเจ้าของ UBS ด้วย บีลปลุกระดมผู้ชมให้ต่อต้านโดยช่วยกันส่งโทรเลขไปทำเนียบขาว
บีลเกือบถูกไล่ออก แต่ประธานใหญ่ให้อยู่ต่อแต่ขอพบ นั่นคือฉากที่มี "บทเทศน์" ว่าด้วยการสิ้นสุดแห่งชาติรัฐและการเข้าสู่โลกาภิวัตน์ โดยประธานกล่าวสอนนายบีลลูกน้องว่าเป็นคนหัวโบราณ ซึ่งยังคิดเรื่องรัฐชาติและประชาชาติอยู่ วันนี้ไม่มีชาติ ไม่มีประชาชน ไม่มีชาวรัสเซีย ไม่มีชาวอาหรับ ไม่มีโลกที่สาม ไม่มีตะวันตก ตะวันออก มีแต่ระบบองค์รวมเดียวของระบบทั้งหมด
"วันนี้มีแต่ระบบเงินตราที่กำหนดชีวิตในโลกใบนี้ วันนี้ไม่มีอเมริกา ไม่มีประชาธิปไตย มีแต่ ไอบีเอ็ม ไอทีที ทีทีแอนด์ที ดูปองค์ ยูเนียนคาร์ไบด์ และแอ็กซอน นี่ไงชาติในโลกของวันนี้...โลกนี้เป็นโลกของธุรกิจ โลกนี้คือธุรกิจ คุณบีล ผมเลือกคุณเพื่อประกาศสัจธรรมข้อนี้"
บีลเข้าใจดีว่า ถ้าเขาอยากทำงานต่อไปก็ต้องทำตามที่ท่านประธานบอก และต้องไม่หาญกล้าไปทำให้ผลประโยชน์ของบริษัทเสียหายอีก เขาเริ่มต้นประกาศ "สัจธรรม" ของประธาน เลิกพูดเรื่องสิทธิของปัจเจกบุคคลอย่างที่เขาเคยพูดถึง และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความเสื่อม เรตติ้งเริ่มตก และจบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่ถ่ายทอดสดทางทีวีนั่นเอง
ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างชูเมเคอร์กับคริสเตนเสนก็จบลงเช่นเดียวกัน เขาบอกว่าเขาไม่สามารถอยู่กับเธอได้อีกต่อไป ถ้าอยู่ต่อไปเขาจะถูกทำลาย เขาด่าเธอส่งท้ายว่า
"เธอคือทีวีจุติมาเกิด ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความทุกข์ทรมาน ไม่รู้สึกรู้สากับความยินดี ชีวิต ถูกลดลงไปเป็นเรื่องไร้สาระ สำหรับเธอแล้ว สงคราม ฆาตกรรม ความตาย ไม่ได้ต่างไปจากขวดเบียร์ ธุรกิจประจำวันคือสุขนาฏกรรมที่ฉ้อฉล....ไดอานา คุณคือความบ้า คุณจับต้องอะไรเป็นตายหมด แต่ไม่ใช่ผม ตราบใดที่ผมยังรู้สุข รู้ทุกข์ และรู้รัก"
ชูเมเคอร์เลิกกับเมียมาอยู่กับคริสเตนเสนเพียงหกเดือนเท่านั้น เขาเพิ่งซาบซึ้งว่าผู้หญิงคนนี้ไม่มีอะไรในตัวเธอเลยนอกจากทีวี ตอนต้นๆ ที่นอนด้วยกัน หนังยังฉายภาพให้ดูเพื่อให้รู้ว่าเธอหมกหมุ่นอยู่กับเรื่องทีวีขนาดไหนแม้ขณะที่กำลังเข้าด้ายเข้าเข็มก็ฟุ้งแต่เรื่องธุรกิจ เธอถึงจุดสุดยอดตอนที่กำลังพูดเรื่องธุรกิจอยู่นั่นเอง (ถ้าไม่พูดเรื่องธุรกิจเธอคงไม่ถึงไคลแมกซ์)
ทีวีไทยก็คงไม่ต่างจากหนังเรื่องนี้นัก รายการทั้งหลายไม่ว่าละครน้ำเน่า เกมปัญญาอ่อน และรายการสนทนาข่าวที่แข่งกันเอาเป็นเอาตาย ใครคนไหนเรตติ้งดีก็ยกเวลายกรายการให้แต่คนนั้น เปิดทีวีเจอแต่หนุ่มซินตึ้งคนเดียวเช้าสายบ่ายเย็นและดึกๆ ไม่ได้อยู่ช่องเดียว แต่แปลงร่างแยกกายไปหลายช่องได้อีกต่างหาก
รัฐบาลสมัยหนึ่งเคยพยายามหาทางให้มี "ทีวีเสรี" เพื่อเสนออะไรที่ "มีสาระ" เน้นข่าวสารและรายการที่มีประโยชน์ แต่ที่สุดก็ตกไปอยู่ในมือของคนบางกลุ่มที่มีอำนาจ ที่ไม่เห็นเจตนารมณ์ของส่วนรวม คนทำทีวีจึงมีแต่สีและไข่ให้เจ้าของอยู่ได้มั่นคงเท่านั้น
ทีวีวันนี้ไม่มีเพื่อคุณ มีเพื่อเจ้าของกิจการ เพื่ออำนาจ เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง ที่ครอบงำวิถีชีวิตของผู้คนทั้งประเทศและทั้งโลก