xs
xsm
sm
md
lg

"อริยสัจ" การเมืองจีน (2)

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

ทั้งหลักธรรมของพระพุทธเจ้าและหลักทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ์ ล้วนแต่เน้นเรื่องการรับรู้ใน "สัจธรรม" หรือความจริงที่เป็นกลางๆ ที่มันเป็นอยู่ โดยไม่ขึ้นต่อความต้องการทางอัตวิสัย ไม่ว่าทางบวกหรือทางลบ
สัจธรรมหรือหลักธรรมที่พระพุทธเจ้านำมาสอน ก็คือปฏิจจสมุปบาทและนิพพาน ซึ่งเมื่อใครศึกษาเข้าใจแล้ว ก็จะมีปัญญาพาตนพ้นจากทุกข์ บรรลุสู่ภาวะสงบ สุข สันติ หรือนิพพาน

ส่วนมาร์กซ์ค้นพบกฎเกณฑ์พัฒนาการของสังคมมนุษย์ ค้นพบสาเหตุแห่งทุกข์ของชนชั้นกรรมกรผู้ใช้แรงงาน และเหตุแห่งทุกข์ของมวลมนุษย์ในบริบทแห่งการวิวัฒนาการทางสังคม ได้นำเสนอทฤษฎีการต่อสู้ทางชนชั้น ดำเนินการปฏิวัติทางสังคม เพื่อบรรลุสู่สังคมอุดมการณ์ที่มวลมนุษย์ปลอดพ้นจากการกดขี่ขูดรีด มีความสุขสมบูรณ์ในระดับบูรณาการ

ในการที่จะปฏิบัติตามหลักธรรมหรือทฤษฎีดังกล่าว ทั้งพระพุทธเจ้าและมาร์กซ์ต่างเน้นความสำคัญในเรื่องการรับรู้ ซึ่งก็คือจะต้องรับรู้ถึงกฎเกณฑ์ของสิ่ง ที่ดำรงอยู่โดยปกติเป็นธรรมดาหรือดำรงอยู่ "อย่างเป็นภววิสัย" (objectively)

หลักธรรมที่เป็นปรมัตถ์ และกฎเกณฑ์ที่วิวัฒน์

อย่างไรก็ดี ข้อแตกต่างระหว่างหลักพุทธธรรมกับหลักทฤษฎีมาร์กซิสม์อยู่ที่ว่า กฎเกณฑ์หรือหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้นั้น มีลักษณะเป็นปรมัตถ์ คือให้ประโยชน์สูงสุดแก่ชีวิต เพราะจับเอาเรื่อง "ภายใน" หรือจิตใจของคนเป็นตัวตั้ง นั่นหมายความว่า แม้ว่าคนเราจะสามารถแก้ไขปัญหาทางสังคมได้แล้วก็ตาม ก็จะยังไม่สามารถบรรลุสู่ความสุขที่แท้จริง จำเป็นจะต้องพัฒนาจิตใจให้สูง หลุดพ้นจากอาสวะต่างๆ

ส่วนทฤษฎีมาร์กซิสม์ ชี้นำการเคลื่อนไหวปลดปล่อยตนเองของมวลมนุษย์ในบริบทของวิวัฒนาการสังคม สามารถขจัดการกดขี่ขูดรีดได้เป็นขั้นๆ สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งในทางวัตถุและจิตใจได้เป็นขั้นๆ เพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาตนเองได้อย่างรอบด้าน มีอิสรภาพและโอกาสที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างเป็นบูรณาการในอนาคตอันยาวไกล

เปรียบเทียบกันแล้ว ก็จะเห็นชัดว่า หลักธรรมของพระพุทธเจ้า ที่ปรากฏออกมาในรูปของอริยสัจ 4 เจาะจงให้ปัจเจกบุคคลสามารถพาตนให้หลุดพ้นจากกิเลสตัณหา และเข้าถึงความสุขแท้เป็นขั้นๆ ด้วยตัวเอง ส่วนทฤษฎีมาร์กซิสม์มุ่งแก้ปัญหาของมวลมนุษย์โดยรวม ถือเอาสังคมเป็นตัวตั้ง เห็นว่ามนุษย์จะปลดปล่อยตัวเองได้ในท่ามกลางการเคลื่อนไหวปฏิบัติปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคม หลักๆ ก็คือ พัฒนาพลังการผลิตและปฏิวัติชนชั้น ตราบใดที่สังคมยังไม่เปลี่ยนแปลง การกดขี่ขูดรีดยังมีอยู่ มนุษย์ก็ยังไม่มีอิสรภาพสมบูรณ์ ยังไม่มีความสุขที่แท้จริง

สรุปคือ หลักธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นเครื่องมือหรืออาวุธต่อสู้เอาชนะ "ศัตรู" ภายในของตนเอง จะสำเร็จผลมากน้อยแค่ไหน ก็อยู่ที่ว่าสามารถเข้าถึงหลักธรรมหรือกฎเกณฑ์ที่มีอยู่เป็นธรรมดานั้นมากน้อยแค่ไหน ด้วยปัญญาตื่นรู้ของตนเองเป็นหลักใหญ่ ส่วนหลักทฤษฎีมาร์กซิสม์เป็นเครื่องมือหรืออาวุธสำหรับต่อสู้เอาชนะศัตรูทางชนชั้นและปฏิวัติสังคม จักต้องจัดตั้งกันเข้าเป็นกลุ่มเป็นแกนในรูปของพรรคการเมือง สามัคคีมวลชน ดำเนินการต่อสู้ปฏิวัติอย่างสอดคล้องกับกฎเกณฑ์พัฒนาการของสังคมในแต่ละห้วงประวัติศาสตร์ ทั้งต้องคำนึงถึงขั้นตอนพัฒนาการของสังคมมนุษย์โดยรวม และขั้นตอนพัฒนาการของสังคมหรือประเทศตนโดยเฉพาะอีกต่างหาก

อีกนัยหนึ่ง หลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่มีความเป็นปรมัตถ์ อาศัยเรา "เข้าถึง" ด้วยปัญญา บรรลุสู่ภาวะนิพพานเป็นขั้นๆ ขณะที่หลักทฤษฎีมาร์กซิสม์ที่มีลักษณะวิวัฒน์ อาศัยการเคลื่อนไหวปฏิบัติรวมหมู่ จัดตั้งกำลัง ดำเนินการต่อสู้ เพื่อบรรลุชัยชนะเป็นขั้นๆ จำเป็นต้องใช้ทั้งปัญญา ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี มีการพัฒนาแนวคิดทฤษฎีใหม่ๆ อันเกิดจากการเคลื่อนไหวปฏิบัติรวมหมู่นั้นอย่างต่อเนื่อง พัฒนาก้าวหน้าไปเรื่อยๆ จนกว่าจะบรรลุสู่เป้าหมายอุดมการณ์

สำหรับผู้ยึดมั่นในหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติตนด้วยดี ทั้งในด้าน ศีล สมาธิ และปัญญา ก็มีโอกาสบรรลุสู่สภาวะชีวิตที่เป็นสุข ตรงกันข้าม กลุ่มคนหรือพรรคการเมืองมาร์กซิสม์ใด มีภารกิจที่จะต้องพัฒนาองค์ความรู้จากการเคลื่อนไหวปฏิบัติให้เป็นทฤษฎีชี้นำการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่เป็นจริงของตนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะ หลักทฤษฎีมาร์กซ์มิใช่ปรมัตถ์ที่ยังประโยชน์สูงสุดได้โดยตรง เป็นแต่เพียงแนวคิดชี้นำพื้นฐานสำหรับการเคลื่อนไหวต่อสู้ ปลดปล่อยตัวเองของชนชั้นกรรมกรผู้ใช้แรงงาน เพื่อนำไปสู่การปลดปล่อยตนเองของมวลมนุษยชาติในบั้นปลายต่อไป

ในระหว่างทางของการเคลื่อนไหวต่อสู้ จำเป็นที่กลุ่มคนหรือพรรคการเมืองมาร์กซิสม์จะต้องพัฒนาแนวคิดทฤษฎีชี้นำการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่เป็นเฉพาะของตนเอง ซึ่งหากทำได้ดีก็จะทำให้การต่อสู้ประสบชัยชนะ ตรงกันข้ามหากทำได้ไม่ดี แนวคิดทฤษฎีไม่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ที่เป็นจริง ก็จะต้องประสบกับความเสียหายใหญ่หลวง ดังเช่นที่ปรากฏให้เห็นกันแล้วหลายครั้งหลายคราในกลุ่มประเทศสังคมนิยม ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ปรมัตถธรรม อาศัยการเข้าถึง หลักทฤษฎีอาศัยการพัฒนา

หลักธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นปรมัตถ์ ยากที่คนทั่วไปจะเข้าถึง จะต้องใช้ความพยายามศึกษาทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ส่วนหลักทฤษฎีมาร์กซิสม์ มีลักษณะวิวัฒน์ จะต้องอาศัยพลังปัญญารวมหมู่ไปพัฒนาเสริมเพิ่มขึ้นมาในท่ามกลางการเคลื่อนไหวปฏิบัติ แล้วนำกลับไปชี้นำการเคลื่อนไหวปฏิบัติที่เป็นจริงต่อไป เป็นกระบวนการ "ปฏิบัติ-รับรู้-ปฏิบัติ" วนเวียนทำกันเช่นนั้นอย่างไม่ขาดสาย

ความยากลำบากของการปฏิบัติธรรม เพื่อนำตนเองพ้นจากทุกข์ กับการเคลื่อนไหวปฏิบัติเพื่อปลดปล่อยตนเองของมวลมนุษย์ จึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก เนื่องเพราะมี "ด่าน" ทางปัญญาที่จะต้องฟันฝ่าข้ามไป

นั่นคือ การที่คุณจะเข้าถึงหลักพุทธธรรมและปฏิบัติตามหลักธรรมได้อย่างถูกต้อง ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจในหลักธรรมที่สะท้อนกฎธรรมชาติแห่งจิตใจของคนเราเสียก่อน และการที่พวกคุณจะดำเนินการจัดตั้งเคลื่อนไหวปฏิวัติสังคมได้เป็นผลสำเร็จ ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจในกฎเกณฑ์การพัฒนาของสังคมมนุษย์เสียก่อน

กระบวนการ "เข้าถึง" กฎธรรมชาติแห่งจิตใจ จะเกิดขึ้นได้ในท่ามกลางการศึกษาหลักธรรม และประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมอย่างต่อเนื่อง ส่วนความเข้าใจในกฎเกณฑ์พัฒนาการของสังคมจะเกิดขึ้นได้ในท่ามกลางการศึกษาค้นคว้าทางทฤษฎีและเคลื่อนไหวปฏิบัติอย่างไม่ขาดสาย

วิธีการเข้าถึงหลักธรรมและพัฒนาทฤษฎี

ความยากในการเข้าถึงแห่งพุทธธรรม สามารถบรรยายให้เห็นภาพพอเป็นสังเขปดังนี้

พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เห็นแจ้งถึงสัจธรรมต่างๆ มากมาย ดุจเห็นป่าไม้ทั้งป่า แต่ทรงเมตตานำมาสั่งสอนเพียงน้อยนิด ดุจใบไม้เพียง "กำมือเดียว" ด้วยเล็งเห็นว่า มนุษย์ควรจะรู้และเข้าใจเฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์กับตน สามารถนำไปปฏิบัติด้วยตนเองได้

ความจริงแล้ว แม้เรื่องที่นำมาสอน เช่น ปฏิจจสมุปบาท และนิพพาน พระองค์ก็ยังทรงเห็นว่า เป็นเรื่องยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ รองสมเด็จ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)ได้อธิบายไว้ในหนังสือ "พุทธธรรม" ว่า "การตรัสในแง่นี้หมายความว่า ปฏิจจสมุปบาทและนิพพานเป็นส่วนเนื้อหาสาระของการตรัสรู้ ... เป็นส่วนแก่นแท้ของอริยสัจ เป็นตัวแท้ๆ ล้วนๆ ของธรรมซึ่งเข้าใจได้ยากยิ่ง" (หน้า 901)

ดังนั้นเพื่อให้ง่ายสำหรับการเข้าถึง พระองค์จึงได้พลิกแพลงการสอน นำเสนอในรูปของอริยสัจ 4 อันหมายถึง "ธรรมที่ได้ตรัสรู้ทั้งหมด ซึ่งปรากฏในรูปลักษณะที่จัดเข้าลำดับเป็นกระบวนการขั้นตอน โดยคำนึงถึงความสามารถที่จะเข้าใจและการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ เพื่อมุ่งให้สอนเข้าใจง่ายและปฏิบัติได้ผล" (ดังอ้าง)

อริยสัจ 4 เริ่มต้นที่ "ทุกข์" ซึ่งก็คือปัญหาต่างๆ ของมนุษย์ ดังที่รองสมเด็จ พระพรหมคุณาภรณ์ได้อธิบายไว้ใน "พุทธธรรม" (หน้า 906) ว่ามันเป็น "เรื่องบีบคั้นชีวิตจิตใจ มีอยู่ทั่วไปแก่สัตว์มนุษย์ทุกคน เกิดขึ้นแก่ใครเมื่อใด ก็เป็นจุดสนใจ เป็นของเด่นชัดแก่ผู้นั้นเมื่อนั้น... ดังนั้น ทุกข์จึงเป็นจุดสนใจปรากฏเด่นชัดอยู่ในชีวิตของทุกๆ คน เรียกได้ว่าเป็นของรู้ง่ายเห็นง่าย จี้ความสนใจ เหมาะที่จะยกขึ้นเป็นข้อปรารภ คือเป็นจุดเริ่มต้นในการแสดงธรรม ยิ่งกว่านั้น ทุกข์เป็นของน่าเกลียดน่ากลัว และน่าตกใจสำหรับคนจำนวนมาก คอยหลีกเลี่ยง ไม่อยากได้ยิน แม้แต่คนที่กำลังเพลิดเพลินลุ่มหลงมัวเมา ไม่ตระหนักรู้ว่าตนเองกำลังมีปัญหาและกำลังก่อปัญหา เมื่อมีผู้มาชี้ปัญหาให้ ก็จะกระทบใจทำให้สะดุ้งสะเทือนและมีความไหวหวั่น..."

การแสดงอริยสัจโดยตั้งต้นที่ทุกข์ เป็นวิธีการดึงดูดความสนใจที่ดี เพราะมันเกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกผู้ทุกคน

การจุดพลุความสนใจ หรือการสร้างแรงจูงใจที่จะศึกษาและปฏิบัติตามหลักธรรมจึงเป็นวิธีการที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาใช้ เป็นจุดนำร่องไปสู่การศึกษาและปฏิบัติธรรมในขั้นที่ลึกซึ้งลงไปอีก นั่นคือ การค้นหาสาเหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) ทำความแจ่มแจ้งในเป้าหมายที่จะบรรลุ (นิโรธ) และแนวทางการปฏิบัติที่จะบรรลุสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ได้จริง (มรรค) ซึ่งในระหว่างการศึกษาและปฏิบัติตนตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ก็จะเกิดความเข้าใจในหลักปฏิจจสมุปบาทและนิพพาน ซึ่งเป็น "ตัวธรรมล้วนๆ ตามธรรมชาติ" (หน้า 901 ดังอ้าง) เป็นเนื้อหาสาระของการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ได้ในคราวเดียวกัน

นั่นคือ หลักคำสอนเรื่องอริยสัจ 4 ของพระพุทธเจ้า เป็นเหมือนบันไดทอดให้คนเราก้าวเดินไปสู่การ "เข้าถึง" หลักธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ เป็นกระบวนการประสานเชื่อมตัวเราเองเข้ากับหลักธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในฝ่ายมาร์กซิสม์นั้น ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน การที่จะตั้งหน้าตั้งตาอ่านบทเขียนหรือทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ์ ซึ่งเป็นหลักการหรือสัจธรรมทั่วไป แล้วหาคำตอบจาก "ตำรา" เพื่อนำมาแก้ไขปัญหารูปธรรม (การเคลื่อนไหวปฏิวัติหรือสร้างสรรค์สังคมนิยม) นั้น นับเป็นเรื่องยาก และเป็นไปไม่ได้

"จุดนำร่อง" ที่ชาวมาร์กซิสม์ยึดปฏิบัติแล้วได้ผลดีก็คือ "การปฏิบัติ" ประสานทฤษฎีเข้ากับการปฏิบัติ ใช้การปฏิบัติเป็นตัววัดความถูกต้องของทฤษฎี ถือเอา "การปฏิบัติ" เป็นจุดนำร่องไปสู่ความเข้าใจในหลักทฤษฎีมาร์กซิสม์ หากมิใช่ทำความเข้าใจด้วยการท่องจำหรือถกเถียงกันอยู่ในห้องแอร์

ประสบการณ์จริงของพรรคฯ จีน

ด้วย "ท่วงทำนอง" ทฤษฎีประสานกับการปฏิบัติ (ด้านหนึ่งไม่ยึดติดในตำรา อีกด้านหนึ่งไม่ละทิ้งอุดมการณ์มาร์กซิสม์) ยืนหยัดใช้การปฏิบัติเป็นตัวนำร่อง พัฒนาและนวัตกรรมแนวคิดทฤษฎีใหม่ๆ ที่เป็นของตัวเองขึ้นมา ชี้นำการเคลื่อนไหวปฏิบัติในแต่ละช่วงๆ ของการพัฒนา เช่นนี้เอง จึงส่งผลให้พรรคคอมมิวนิสต์จีน สามารถปรับแนวนโยบาย ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีการปฏิวัติ และสร้างสรรค์สังคมนิยม ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การศึกษา ฯลฯ ดังที่กำลังประจักษ์แก่สายตาชาวโลกอยู่ในปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น