ศูนย์ข่าวขอนแก่น-การรถไฟฯเปิดที่ดินผืนงามกว่า 23 ไร่ บริเวณสถานีรถไฟอุดรฯให้เอกชนเช่าเชิงพาณิชย์ แต่มีข้อแม้ต้องสร้างเป็นศูนย์การค้าเท่านั้น เผยมีกลุ่มทุนสนใจหลายราย โดยเฉพาะทุนส่วนกลางและนักการเมือง เนื่องจากเป็นที่ดินกลางเมืองทำเลงาม ขณะที่กลุ่มค้าปลีกเซ็นทรัลเอง อาจเป็นหนึ่งในผู้ประมูล เพราะเล็งทำเลขึ้นห้างฯมาตั้งแต่ปีกลาย
นางสุขุมาลย์ ศรีตุลา หัวหน้ากองประชาสัมพันธ์การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา การรถไฟฯได้ออกประกาศเชิญชวนนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน จำกัดหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท เข้ายื่นเสนอโครงการพัฒนาที่ดิน พร้อมค่าธรรมเนียมจัดประโยชน์ ที่ดินสถานีรถไฟอุดรธานี ขนาดพื้นที่ประมาณ 23.45 ไร่หรือประมาณ 37,521.65 ตารางเมตร
ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่า โครงการพัฒนาในที่ดินผืนนี้ ต้องเป็นธุรกิจประเภท Shopping Complex, Department Store, Edutainment Plazaหรือ Super Market เท่านั้น ไม่อนุญาตให้สร้างเป็นธุรกิจประเภทตึกแถว ตลาดสดหรือโกดังสินค้า
ในส่วนพื้นที่โครงการที่เป็นแผนแม่บท ต้องประกอบด้วยพื้นที่อาคาร ไม่น้อยกว่า 40,000 ตารางเมตร พื้นที่อาคารจอดรถ ไม่น้อยกว่า 20,000 ตารางเมตร พื้นที่ว่างโดยรอบโครงการไม่น้อยกว่า 30 % โดยพื้นที่ว่างบางส่วนต้องเป็นที่สำหรับสันทนาการ มีพื้นที่สนับสนุนร้านค้า หรือกิจการที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริม ตลอดจนต้องเสนอแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐาน เกี่ยวกับระบบจราจร ให้สอดคล้องกับกิจการรถไฟและเชื่อมต่อกับพื้นที่ข้างเคียงด้วย
แหล่งข่าวในการรถไฟฯเปิดเผยว่า การเปิดประมูลให้เช่าที่ดิน ด้านหน้าสถานีอุดรธานีของการรถไฟฯได้รับความสนใจจากนักลงทุนค่อนข้างมาก เพราะเป็นที่ดินที่อยู่ใจกลางเมือง ทำเลดี แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ โดยมากเป็นนักธุรกิจในส่วนกลาง และกลุ่มนักการเมืองชื่อดัง ระดับรองนายกรัฐมนตรี
นายสถิตชัย สิริพงษ์สกุล ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี กล่าวถึงแนวคิดการให้เช่าที่ดินผืนนี้ในเชิงพาณิชย์ของการรถไฟฯว่า คงได้แบบอย่างมาจากประเทศญี่ปุ่น ที่บริเวณสถานีรถไฟเมืองใหญ่ๆจะมีศูนย์การค้าหรือคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านไป-มา เป็นการหารายได้เพิ่ม นอกเหนือจากการให้บริการโดยสารรถไฟ
ทั้งนี้ หลายปีที่ผ่านมา มีนักธุรกิจวิ่งเต้นที่จะขอเช่าที่ดินสถานีรถไฟอุดรฯผืนนี้หลายราย แต่เชื่อว่านักลงทุนในพื้นที่ไม่น่าจะมีศักยภาพพอที่จะลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจประเภทศูนย์การค้า หรือคอมเพล็กซ์ เพราะความเสี่ยงในตลาดค่อนข้างสูง ซึ่งจังหวัดอุดรฯมีค้าปลีก ค้าส่งครบทุกเซกเมนต์แล้ว ทั้งบิ๊กซี โลตัส แม็คโคร ไม่รวมโรบินสันอุดรเจริญศรี ซึ่งเจ้าของเป็นทุนท้องถิ่น โดยการแข่งขันในขณะนี้ถือว่าสูงมากแล้ว ขณะที่กำลังซื้อยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด
"กลุ่มทุนที่จะมาลงทุนตามโครงการที่การรถไฟฯกำหนด น่าจะเป็นกลุ่มทุนใหญ่จากกรุงเทพฯ ที่มีสายป่านยาวมากพอ และมีความชำนาญในธุรกิจประเภทห้างสรรพสินค้าอยู่แล้ว"นายสถิตชัยกล่าวและแสดงความเห็นต่อว่า
ในความเห็นของตน มองว่าธุรกิจที่ยังมีช่องว่าง สำหรับพื้นที่อุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียงในตอนนี้คือ ศูนย์การค้าประเภทไอทีหรือไอทีมอลล์ เพราะที่โคราชและขอนแก่นมีศูนย์ฯไอทีขนาดใหญ่แล้ว แต่อุดรฯยังไม่มีกลุ่มทุนรายไหนสนใจเข้ามาลงทุน หากมีไอทีมอลล์เกิดขึ้น นอกจากจะครอบคลุมพื้นที่ตลาดในแถบอีสานตอนบนแล้ว ยังจะได้ลูกค้าจากฝั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว)ด้วย
กลุ่มเซ็นทรัลเล็งลงทุนที่อุดรฯ
ด้านนายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่าที่ดินบริเวณด้านหน้าสถานีรถไฟอุดรฯผืนดังกล่าว มีขนาดใหญ่พอสมควร เหมาะที่จะลงทุนทำศูนย์การค้ามาก สภาอุตฯเองเคยเขียนแผนโครงการเสนอให้จังหวัดเมื่อปีกลาย เพื่อให้ประสานกับการรถไฟฯ นำที่ดินผืนนี้ให้เอกชนเช่าพัฒนาในเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะการทำเป็นศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า แต่เรื่องก็เงียบหายไป จนกระทั่งการรถไฟฯจะเปิดประมูลให้นักลงทุนเช่า
สำหรับจังหวัดอุดรฯ มีศักยภาพสูงมาก ที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการค้าพาณิชยกรรมต่างๆ ไม่เพียงแต่มีกำลังซื้อในกลุ่มจังหวัดอีสานตอนบนสนับสนุนเท่านั้น ยังมีกำลังซื้อจากฝั่งลาวเข้ามาชอปปิ้งอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันทุกวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ คนลาวจะเดินทางเข้ามาซื้อสินค้าในอุดรฯจำนวนมาก ทั้งที่ขับรถยนต์มาเอง และนั่งรถประจำทางของบขส. ซึ่งจะเต็มทุกเที่ยว
"ปีที่แล้ว กลุ่มทุนห้างฯเซ็นทรัลเอง ก็ส่งคนเข้ามาสำรวจตลาด และมองหาทำเล เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์การค้าเช่นกัน ซึ่งมีความเป็นไปได้ไม่น้อย ที่การประมูลที่ดินสถานีรถไฟอุดรฯครั้งนี้ หนึ่งในจำนวนนั้นอาจมีกลุ่มค้าปลีกเซ็นทรัลรวมอยู่ด้วย"นายศักดิ์ชัยกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับเงื่อนไขการให้เช่าที่ดินขนาด 23.45 ไร่ บริเวณสถานีอุดรธานีของการรถไฟฯครั้งนี้ได้ระบุไว้ว่าผู้ที่สนใจยื่นเสนอโครงการฯจะต้องเสนอค่าธรรมเนียมจัดประโยชน์ให้การรถไฟฯตามขนาดพื้นที่เช่า ไม่น้อยกว่าตารางเมตรละ 357.25 บาท เป็นเงินไม่น้อยกว่า 13,405,740 บาท ในขณะที่สัญญาเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคารมีกำหนด 4 ปี โดยปีแรกจะไม่เก็บค่าเช่า ขณะที่ปีที่ 2 ต้องจ่ายค่าเช่าปีละ 426,997 บาท ปีที่ 3 จ่ายค่าเช่า 854,368 บาท และปีที่ 4 จ่าย 1,281,365 บาท
ทั้งนี้สัญญาเช่าที่ดินเพื่อทำประโยชน์เชิงพาณิชย์ในโครงการดังกล่าวมีกำหนด 30 ปี นับตั้งแต่วันที่สิ้นสุดสัญญาเช่าที่ดินปลูกสร้างอาคาร การรถไฟฯจะคิดอัตราค่าเช่าปีแรกตามที่เช่าตารางเมตรละ 45.53 บาท/ปี คิดเป็นเงิน 1,708,361 บาท หลังจากนั้นคิดอัตราค่าเช่าเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 5 ของค่าเช่าครั้งสุดท้ายทุกปี