xs
xsm
sm
md
lg

"อริยสัจ" การเมืองจีน (1)

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

การเมืองของประเทศจีน มีหลายๆอย่างที่สะท้อนถึงความเป็น "อริยสัจ"

อริยสัจคืออะไร ก็คือความจริงอันประเสริฐ ที่ค้นพบโดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และทรงนำมาถ่ายทอด สอนสั่งให้แก่ชาวโลก ให้รู้ซึ้งถึงความจริงหรือกฎธรรมชาติแห่งชีวิต ที่จะต้องวนเวียนอยู่กับเรื่อง ทุกข์ อันเนื่องจากขาดปัญญา ไม่มีทางออกจากทุกข์ จึงได้สอนสั่งให้เข้าถึงสาเหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) เป้าหมายแห่งชีวิต (นิโรธ) และหนทางที่จะบรรลุสู่เป้าหมายดังกล่าว (มรรค)

รวมๆแล้วก็คือเรื่องของอริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ใครก็ตามที่เข้าใจและสามารถปฏิบัติตนได้ตามหลักอริยสัจ 4 ก็จะพ้นทุกข์ มีชีวิตสุข

ดังที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ "พุทธธรรม" (ฉบับปรับปรุงและขยายความ) ว่า "...อริยสัจนี้ถือว่าเป็นความจริงที่เป็นประโยชน์..." (หน้า 894) และว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มีมากมาย "แต่ทรงนำมาสอนเพียงเล็กน้อย เหตุผลที่ทรงกระทำเช่นนั้น ก็เพราะทรงสอนแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ใช้แก้ปัญหาได้ และสิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ใช้แก้ปัญหาได้นั้นก็คืออริยสัจ 4..."

ทีนี้ หลายคนคงจะงง ว่าจีนภายใต้การปกครองของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ยึดแนวคิดมาร์กซิสม์เป็นสรณะ มีอะไรเกี่ยวพันกับหลักธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า?

คำตอบที่ดูเหมือนจะไม่ใช่คำตอบก็คือ ในทางความคิดพรรคและรัฐบาลจีนไม่ได้ยึดหลักอริยสัจ 4 ปกครองประเทศหรอก เพียงแต่ว่าพฤติกรรมหรือการกระทำ วิธีคิดต่างๆของพวกเขา มันสอดคล้องไปกับหลักอริยสัจค่อนข้างชัดเจน เช่นพวกเขาเริ่มจาก "ทุกข์" ตระหนักในทุกข์ของประเทศจีนของประชาชนชาวจีน (ในช่วงก่อนการปลดปล่อย ประเทศจีนตกอยู่ในสภาพกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา) หลักจากนั้นพวกเขาก็พากันวิเคราะห์หา "สมุทัย" หรือสาเหตุแห่งทุกข์ ได้ข้อสรุปว่า สภาวะที่ตกเป็นกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา คือสาเหตุหรือรากเหง้าของความทุกข์ยากทั้งหลายทั้งปวงบนผืนแผ่นดินใหญ่จีน

จากนี้พวกเขาตั้งเป้าหมายของชีวิตใหม่ที่ไร้ทุกข์ (นิโรธ) ว่าประเทศจีนในอุดมการณ์ จะต้องเป็นดินแดนแห่งความสมบูรณ์พูนสุข เจริญรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีกินดี พ้นไปจากทุกข์

หนทางหรือ "มรรค" ก็คือ ประชาชนจีนจะต้องจัดตั้งกันเข้า ในรูปของพรรคการเมืองของประชาชน ดำเนินการต่อสู้ ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมจีน ซึ่งตามความรับรู้หรือทฤษฎีที่สอดคล้องกับสภาพเป็นจริงของประเทศจีนยุคนั้น (ความรับรู้หรือทฤษฎีนี้เทียบได้กับ "สัมมาทิฏฐิ") ต่อมาได้พัฒนามาเป็น "ความคิดเหมาเจ๋อตง" ชี้นำการเคลื่อนไหวปฏิบัติ ทำสงครามประชาชน และปลดปล่อยประเทศจีนได้ในที่สุด

ต่อมาในช่วงของการสร้างสรรค์สังคมนิยม ก็ยิ่งพบว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงยึดมั่นในหลัก "อริยสัจ 4" ในการดำเนินการปกครองประเทศอย่างเหนียวแน่น เพราะยังคงเอา "ทุกข์" เป็นตัวตั้ง และค้นหา "สมุทัย" กำหนดเป้าหมายแห่งการสร้างสรรค์สังคมใหม่ (นิโรธ) และแสวงหาหนทางหรือ "มรรค" ใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับสภาวะเป็นจริงของสังคมจีนหลังการปลดปล่อยแล้วอย่างไม่ขาดตอน ซึ่งภายหลังปรากฏออกมาเป็นแนวคิดทฤษฎีชุดใหม่เรียกว่า "ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง" อันหมายถึง "ความคิดชอบ" หรือ "สัมมาทิฏฐิ" สำหรับชี้นำการแก้ไขปัญหาเป็นจริงของประเทศจีนในขั้นใหม่นั่นเอง

ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิงได้ให้คำตอบหรือแนวคิดที่ถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมจีนอย่างยิ่ง นั่นคือ ระบุชัดว่า สาเหตุแห่งทุกข์ของคนจีนขณะนั้น (ทศวรรษ ค.ศ.1970) ที่สำคัญเพราะไม่เข้าใจว่า สังคมนิยมคืออะไร จึงไม่รู้ว่าจะสร้างสรรค์สังคมนิยมกันอย่างไร เป็นเรื่องของ "อวิชชา" แท้ๆ

ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิงได้ให้คำตอบในเรื่องนี้ว่า สังคมนิยมก็คือการพัฒนาพลังการผลิต สำหรับประเทศจีนที่เป็นสังคมนิยมขั้นปฐม เศรษฐกิจล้าหลัง ประชาชนยากจนอย่างยิ่ง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาพลังการผลิตอย่างต่อเนื่องนับร้อยปี จึงจะทำให้ประเทศจีนเป็นสังคมนิยมที่สมบูรณ์ ประชาชนพูนสุขถ้วนหน้า

เมื่อการพัฒนาพลังการผลิตของประเทศจีนดำเนินไปได้ด้วยดี ขนาดเศรษฐกิจจีนขยายตัวมากกว่าสิบเท่าตัวในเวลาเพียงสองทศวรรษ (1980-2000) ประชาชนจีนอยู่ดีกินดีเป็นเบื้องต้น กระนั้นก็ตาม ประชาชนจีนยังมี "ทุกข์" อยู่ในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่องความคับอกคับใจในการบริหารจัดการของเจ้าหน้าที่รัฐ และความไม่เป็นระบบระเบียบของสังคม เกิดความโกลาหลอลหม่านไปทั่วประเทศจีน

สรุปคือ คนจีนเริ่มคลายทุกข์ในเรื่องเศรษฐกิจ มีชีวิตอยู่ดีกินดีเป็นเบื้องต้น แต่ก็ยังมีเรื่องความทุกข์ทางใจอยู่มาก

พรรคและรัฐบาลจีนชุดใหม่ โดยเฉพาะชุดปัจจุบันที่มีหูจิ่นเทา เวินเจียเป่า เป็นแกนนำ ก็ได้จับเรื่อง "ทุกข์ทางใจ" ของคนจีนขึ้นมาเป็นตัวตั้ง มีการปรับแนวคิดการบริหารประเทศครั้งใหญ่ หันมาให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการถือเอาคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาทั้งปวง

ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงปัจจุบันการบริหารประเทศของพรรคและรัฐบาลจีน ยึดมั่นอยู่ในกรอบของอริยสัจอย่างแน่นเหนียว โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว

ความสอดคล้องต้องการของวิธีคิดมาร์กซิสม์กับวิธีคิดเชิงพุทธ

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการค้นพบ เน้นตรงไปทางด้านสร้างเสริมปัญญา เพื่อให้ "วิชชา" เข้าแทนที่ "อวิชชา" เริ่มด้วยความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) คือความรับรู้ แนวคิดทฤษฎีที่สอดคล้องกับสภาวะเป็นจริงของสิ่ง ของสังคม และของคนเรา

วิธีคิดแบบมาร์กซิสม์ที่พรรคฯ จีนยึดมั่น ก็คือ "ปลดปล่อยความคิด หาสัจจะจากความเป็นจริง" ละการยึดติดในรูปแบบหรือปรากฏการณ์ รวมไปถึงหลักการทฤษฎีต่างๆที่ปรากฏอยู่ในตำรา หรือตัวบุคคลใดๆ อย่างตายตัว ทุกอย่างเริ่มจากความเป็นจริง โดยเฉพาะความจริงจากการเคลื่อนไหวปฏิบัติของปวงประชามหาชน ซึ่งเป็น "วีรชนที่แท้จริง" ในการสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้แก่สังคม แสดงบทบาทเป็นผู้ขับเคลื่อนกงล้อประวัติศาสตร์

จากนี้พวกเขาก็จะได้แนวคิดทฤษฎีใหม่ๆ ทันกับความเรียกร้องต้องการของประชาชนอยู่เสมอ แล้วกำหนดแนวทางนโยบายแก้ไขปัญหา "ทุกข์" ของประชาชนจีนที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนของการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งทุกข์ของประชาชนค่อยๆลดน้อยถอยลง

เป้าหมายยาวไกลก็คือ การบรรลุสู่สังคมอุดมการณ์ ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขถ้วนหน้า อันหมายถึงว่า ถึงที่สุดแล้ว มนุษย์ในสังคมจะมีความสุขสมบูรณ์ด้วยวัตถุปัจจัย สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต มีอิสรภาพและโอกาสในการพัฒนาและแสดงออกถึงศักยภาพโดยรวมของความเป็นมนุษย์ในแต่ละองค์ปัจเจกอย่างทั่วถึงกัน

แม้ว่าเป้าหมายสุดท้ายหรือ "นิโรธ" ของพุทธศาสนากับของมาร์กซิสม์จะต่างกัน (ทางพุทธมุ่งดับทุกข์ภายในด้วยปัญญา ซึ่งทำได้ในทันที ไม่ต้องรอการมาถึงของสังคมอุดมการณ์ ส่วนทางมาร์กซิสม์เน้นการพัฒนาสภาพแวดล้อมภายนอก ซึ่งเป็นเรื่องทางวัตถุ ระบบระเบียบต่างๆ สำหรับเป็นรากฐานรองรับการพัฒนาทางจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่อง "ภายใน") แต่กระบวนการที่ดำเนินไปมีความสอดคล้องต้องกันเป็นอย่างยิ่ง

ย้ำอีกที ทางพุทธสอนให้เราเข้าใจเรื่องอริยสัจ 4 โดยเริ่มจาก "ทุกข์" คือใช้ทุกข์เป็นตัวตั้งสำหรับการดำเนินชีวิต (เพื่อให้พ้นทุกข์) ขณะที่ทางมาร์กซิสม์เริ่มจาก "ทุกข์" ของประชาชน โดยเฉพาะคือกรรมกรผู้ใช้แรงงาน (ลัทธิมาร์กซ์เกิดขึ้นในยุโรป ในบริบทของสังคมทุนนิยมเริ่มแรก กรรมกรผู้ใช้แรงงานทำงานเยี่ยงทาส ถูกกดขี่ขูดรีดเอาแรงงานส่วนเกิน ไปบำรุงบำเรอกลุ่มนายทุนและกลุ่มอิทธิพลอำนาจต่างๆ ที่เสวยสุขบนหยดเลือดและน้ำตาของกรรมกรผู้ใช้แรงงาน)

การแก้ไขปัญหาเรื่อง "ทุกข์" ทางพุทธสอนให้ใช้ปัญญา เริ่มด้วยการรับรู้อย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง (สัมมาทิฏฐิ) ค้นให้พบสาเหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) ขณะที่ทางมาร์กซิสม์สอนให้ศึกษาค้นคว้าหาสาเหตุแห่งทุกข์ของกรรมกรผู้ใช้แรงงาน

ทางพุทธค้นพบกฎเกณฑ์ปฏิจจสมุปบาท (เมื่อเกิดผัสสะก็นำไปสู่เวทนา ตัณหา และอื่นๆอีกที่มนุษย์พากันยึดติด เป็นตัวกูของกู) ที่ดำเนินอยู่ภายในห้วงสำนึกของมนุษย์ สอนให้คนเราใช้ปัญญาหลบเลี่ยงออกจากกฎเกณฑ์ดังกล่าว แล้วก็จะพ้นทุกข์ และเป็นสุขได้จริง จาก "ภายใน"

ส่วนมาร์กซิสม์ค้นพบกฎเกณฑ์การกดขี่ขูดรีด ในรูปของการกดขี่ทางชนชั้น การขูดรีดแรงงานส่วนเกิน เป็นต้น จึงสอนให้ทำการต่อสู้ทางชนชั้น ขจัดการขูดรีดแรงงานให้หมดสิ้นไป แล้วประชาชน โดยเฉพาะกรรมกรผู้ใช้แรงงานจึงจะหลุดจากบ่วงทุกข์

ความแตกต่างที่ชัดเจน คือทางพุทธสอนให้แก้ไขปัญหา "ภายใน" ของตัวเอง ยึดหลัก "อัตตา หิ อัตโนนาโถ" ส่วนมาร์กซิสม์สอนให้แก้ไขปัญหา "ภายนอก" กำจัดระบบระบอบการกดขี่ขูดรีด

มีแต่ชาวพุทธกับชาวมาร์กซิสม์เท่านั้นที่แก้ไขปัญหาโดยเริ่มจาก "ทุกข์"

จากนี้ก็จะเห็นได้ว่า พรรคลัทธิมาร์กซ์แบบจีนที่กำลังทำหน้าที่บริหารประเทศ ได้กระทำการหลายต่อหลายอย่างคล้ายๆ กับชาวพุทธ คือเห็นอกเห็นใจคนยากคนจน เห็นอกเห็นใจประเทศยากจน คัดค้านต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ข่มเหง และยินดีที่จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือให้คนยากจนหรือประเทศยากจนให้สามารถช่วยเหลือตัวเอง จนพ้นทุกข์ได้ทีละขั้นๆ

ลักษณะเช่นนี้ ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงจากพรรคการเมืองกลุ่มทุน ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา

ในประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้ว เช่นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศต่างๆในยุโรป พรรคการเมืองที่ใช้อำนาจบริหารประเทศส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นจากผลประโยชน์ของกลุ่มทุนใหญ่ก่อน ผลที่ตามมาคือ พวกเขาจะกำหนดแนวนโยบายบริหารประเทศที่ "แปลกแยก" จากผลประโยชน์โดยรวมของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นอย่างมาก การออกกฎหมายต่างๆ ก็มุ่งที่จะปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนใหญ่เป็นอันดับแรก

จริงอยู่ การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตะวันตก ประชาชนมีสิทธิมีเสียงมาก สามารถเปิดโปงฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเดินขบวนประท้วงนโยบายของรัฐ เรียกร้องให้รัฐสนองตอบในสิ่งที่ตนต้องการ แต่ทั้งหมดนั้นมิใช่เริ่มต้นด้วย "สัมมาทิฏฐิ" ของรัฐบาล พวกเขาหาได้ถือเอาทุกข์ของประชาชนเป็นจุดเริ่มต้นของการคิด ไม่ถือเอาการค้นหา "สมุทัย" ในทุกข์ของประชาชนเป็นฐานของการดำริที่จะกระทำการสิ่งใด

ตรงกันข้าม พวกเขาจะเริ่มต้นด้วย "ผลประโยชน์" ของกลุ่มทุน ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักของพรรคการเมืองใหญ่ๆในประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า

การกำหนดนโยบายสนองตอบผลประโยชน์ของประชาชน เป็นเพียงเรื่องรอง มิใช่เรื่องหลัก การแก้ไขปัญหาก็ไม่ได้มุ่งกำจัดที่ต้นเหตุ ส่วนใหญ่จะแก้กันที่ปลายเหตุ เพื่อบรรเทาความไม่พอใจของประชาชน หรือเพื่อเอาใจประชาชนที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (โดยเฉพาะในห้วงการแข่งขันเลือกตั้งใหญ่)

พรรคการเมืองกลุ่มทุนในประเทศกำลังพัฒนาก็เช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่มิได้บริหารประเทศด้วยการเริ่มจาก "ทุกข์" ของประชาชน และไม่สามารถชี้ "สาเหตุ" แห่งทุกข์ได้อย่างถูกต้อง (เป็นสาเหตุสำคัญของการขาด "สัมมาทิฏฐิ") หรือแม้บางครั้งได้หยิบยืมปัญญาหรือสัมมาทิฏฐิจากสังคม มีการกำหนดเรื่องทุกข์และการขจัดทุกข์ ไว้อย่างชัดเจนในนโยบาย แต่เวลาปฏิบัติจริงก็ทำไม่ได้ (ดังกรณีของพรรคไทยรักไทย)
กำลังโหลดความคิดเห็น