xs
xsm
sm
md
lg

บีโอไอปรับปรุงนโยบายส่งเสริมเซมิคอนดักเตอร์

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์หรือ “สารกึ่งตัวนำ” ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2490 เมื่อนักวิทยาศาสตร์ของห้องแล็บของเบลล์ ได้ประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์ขึ้น ต่อมาในปี 2501 มีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นเมื่อมีการประดิษฐ์วงจรรวม (IC) ขึ้น โดยนักวิจัยของบริษัทเท็กซัสอินสตรูเมนต์

จากนั้นเป็นต้นมา อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญมากในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม วิทยุ โทรทัศน์ รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ

ตลาดเซมิคอนดักเตอร์ในปี 2546 มีขนาด 7,300,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 9,000,000 ล้านบาท ในปี 2547 โดยบริษัทอินเทลของสหรัฐฯ เป็นบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก รองลงมา คือ บริษัทซัมซุงของเกาหลีใต้, บริษัท Renesas (ควบกิจการระหว่างธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ของบริษัทฮิตาชิและบริษัทมัตสุชิตะอิเล็กทริค), บริษัทเท็กซัสอินสตรูเมนต์ของสหรัฐฯ

สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์นับว่าเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โดยมีโรงงานเวเฟอร์วงจรรวมมากกว่า 10 โรงงาน รัฐบาลสิงคโปร์มีนโยบายส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มีความสมดุลใน 4 ส่วน คือ การออกแบบวงจรรวม (IC Design), การผลิตเวเฟอร์วงจรรวม (Wafer Fabrication), การประกอบวงจรรวม (IC Assembly and Packging) และการทดสอบวงจรรวม (IC Testing)

สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ บริษัท Chartered Semiconductor Manufacturing (CSM) เป็นรัฐวิสาหกิจของสิงคโปร์ ซึ่งได้พัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วมาก สามารถผลิตในระดับเทคโนโลยี 0.09 ไมครอน และจะเริ่มทดลองผลิตเวเฟอร์ขนาด 12 นิ้ว ในปลายปี 2547 นอกจากนี้ ปัจจุบันได้ร่วมมือกับบริษัทไอบีเอ็ม บริษัทซัมซุง และบริษัทอินฟินิออน ในการพัฒนาเทคโนโลยีระดับ 0.65 ไมครอน

แม้กิจการขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ผลประกอบการกลับไม่ค่อยดีนัก ทำให้ขาดทุนหลายปีติดต่อกัน โดยบริษัทชาร์เตอร์ขาดทุนในปี 2544 เป็นเงิน 15,000 ล้านบาท, ขาดทุนในปี 2545 เป็นเงิน 18,000 ล้านบาท และขาดทุนในปี 2546 เป็นเงิน 12,000 ล้านบาท ทำให้มีผลขาดทุนสะสมรวมกันสูงถึง 45,000 ล้านบาท สำหรับแนวโน้มในปี 2547 ธุรกิจดีขึ้นมาก โดยคาดว่าจะเปลี่ยนจากขาดทุนมาเป็นมีผลกำไรจากการประกอบธุรกิจ

สำหรับกรณีของประเทศไทย อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ยังตามหลังประเทศอื่นๆ ค่อนข้างมาก โดยมีเฉพาะขั้นตอนการผลิตขั้นปลายน้ำ เป็นการประกอบและทดสอบไอซี ทรานซิสเตอร์ คาปาซิเตอร์ รีซิสเตอร์ ไดโอด ฯลฯ โดยยังคงนำเข้าวัตถุดิบหลัก คือ เวเฟอร์วงจรรวมจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันมีการผลิตวัตถุดิบในประเทศบ้าง เช่น Lead Frame ขณะที่ Bonding Wire ซึ่งเป็นเส้นลวดขนาดเล็กทำด้วยทองคำ ยังคงนำเข้าจากต่างประเทศ

ในปี 2546 ประเทศไทยส่งออกสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ในส่วนปลายน้ำ จำแนกเป็นการส่งออกไอซีประมาณ 190,000 ล้านบาท และส่งออกไดโอด ทรานซิสเตอร์ และชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์อื่นๆ ประมาณ 60,000 ล้านบาท

สำหรับจุดอ่อนสำคัญของไทย คือ ยังไม่มีการผลิตเวเฟอร์วงจรรวม โดยในอดีตที่ผ่านมาเมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว ได้เคยให้การส่งเสริมแก่โครงการผลิตเวเฟอร์วงจรรวมของกลุ่มอัลฟาเทคจำนวน 2 โครงการ ทั้งคู่ตั้งภายในนิคมอุตสาหกรรมอัลฟาเทคโนโพลิส จังหวัดฉะเชิงเทรา คือ บริษัท ซับไมครอนเทคโนโลยี จำกัด (ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท บีสแควร์ เอ็นเตอร์ไพร้ซ จำกัด) และบริษัท อัลฟา-ทีไอ เซมิคอนดักเตอร์ จำกัด

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 โครงการไม่สามารถหาเงินทุนได้เพียงพอ จึงต้องล้มเลิกโครงการและกลายเป็นหนี้ NPL ในเวลาต่อมา ส่วนโรงงานที่ได้ก่อสร้างไปแล้วนั้น เป็นเพียงโรงงานว่างเปล่า เพราะเครื่องจักรที่ได้มีการติดตั้งบางส่วน ไม่สามารถใช้งานได้ ดังนั้น เจ้าหนี้การค้าซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องจักรจึงได้ยึดเครื่องจักรคืนไปหมดแล้ว อนึ่ง แม้จะมีความพยายามที่จะรื้อฟื้นโครงการเป็นระยะๆ แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ

แม้ประเทศไทยยังไม่มีการผลิตเวเฟอร์วงจรรวมเชิงพาณิชย์ แต่ก็มีการผลิตอยู่บ้างภายในห้องทดลองโดยมีการก่อตั้งห้องปฏิบัติการสำหรับผลิตเวเฟอร์วงจรรวมของศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมอัลฟาเทคโนโพลิส จังหวัดฉะเชิงเทรา มีเทคโนโลยีระดับ 0.5 ไมครอน บนแผ่นเวเฟอร์ขนาด 6 นิ้ว ดำเนินการภายในห้องสะอาด (Clean Room) ระดับ Class 100 โดยกำหนดติดตั้งเครื่องจักรแล้วเสร็จในปี 2547

เพื่อกระตุ้นให้มีความสนใจลงทุนในกิจการผลิตเวเฟอร์วงจรรวมมากยิ่งขึ้น คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจึงมีมติเมื่อเดือนสิงหาคม 2547 ให้ปรับปรุงเงื่อนไขและสิทธิและประโยชน์จากเดิมเป็น ดังนี้

-ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรทุกเขต และอนุญาตให้นำเข้าเครื่องจักรเข้ามาเพื่อปรับปรุงและทดแทนเครื่องจักรเดิมได้ตลอดเวลาที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน

-ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ทุกเขต โดยไม่จำกัดวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้

-ในส่วนของการลงทุนปรับปรุงเครื่องจักรเดิมให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่จะได้รับการส่งเสริมด้วย โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกิจการผลิตเวเฟอร์วงจรรวมต้องลงทุนสูงมาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ตระหนักว่าแม้เพิ่มสิทธิและประโยชน์ดังกล่าวข้างต้นอาจจะไม่เพียงพอที่จะดึงดูดการลงทุน จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องสนับสนุนในด้านอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งจะต้องมีการประสานงานกันต่อไป

นอกจากนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนยังเพิ่มเติมสิทธิและประโยชน์แก่กิจการผลิตไอซีหรือวงจรรวม โดยครอบคลุมกรรมวิธีการผลิตตั้งแต่การนำแผ่นเวเฟอร์มาผ่านกระบวนการผลิต (Processing) ไม่ว่าก่อนหรือหลังการทดสอบ และ/หรือการประกอบ (Assembly & Packaging) และ/หรือการทดสอบ โดยได้จำแนกสิทธิและประโยชน์ด้านภาษีอากรใหม่ออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรก สิทธิและประโยชน์พื้นฐาน จะยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรทุกเขต สำหรับสิทธิและประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ได้รับแตกต่างกันตามสถานที่ตั้งโรงงาน ดังนี้

-กรณีตั้งในเขต 1 ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 4 ปี
-
-กรณีตั้งในเขต 2 ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 6 ปี กรณีตั้งนอกนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม และ 7 ปี กรณีตั้งในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม

-กรณีตั้งในเขต 3 ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี

ส่วนที่สอง สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติม ถือว่าเป็นกิจการที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศเป็นพิเศษ โดยไม่กำหนดสัดส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล หากสามารถดำเนินการได้ตามข้อ (1) – (5) ข้อใดข้อหนึ่ง และให้ได้รับยกเว้นเป็นระยะเวลาเพิ่มเติมอีกกรณีละ 1 ปี หากสามารถดำเนินการได้ตามข้อ (1) – (3) และอีกกรณีละ 2 ปี หากสามารถดำเนินการได้ตามข้อ (4) – (5) แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี

(1)มีค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาหรือออกแบบ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 – 2 ของยอดขายต่อปี โดยถัวเฉลี่ยในระยะ 3 ปีแรก หรือรวมไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีแรก

(2)จ้างบุคลากรที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ หรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา หรือการออกแบบ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด ในระยะ 3 ปีแรก โดยพิจารณาในภาพรวมของทั้งบริษัท

(3)มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในด้านฝึกอบรมบุคลากรไทยเทียบกับค่าใช้จ่ายเงินเดือนและค่าจ้าง (payroll) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ในระยะ 3 ปีแรก โดยพิจารณาในภาพรวมของทั้งบริษัท

(4)มีค่าใช้จ่ายในการพัฒนาขีดความสามารถของผู้รับช่วงผลิต หรือค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของยอดขายต่อปี โดยถัวเฉลี่ยในระยะ 3 ปีแรก หรือรวมไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีแรก

(5)จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในประเทศไทย ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ ภายใน 3 ปี นับแต่วันเปิดดำเนินการ

การปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวข้างต้นก็เพื่อกระตุ้นให้มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น