Amadeus (1984) น่าจะเป็นหนังเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่ใช่เพียงเพราะได้รับออสการ์ถึง 8 ตัว แต่เพราะการนำเสนอที่ทำให้เห็นธรรมชาติด้านดีและด้านเลวสุดๆ ของมนุษย์ที่ชีวิตทั้งชีวิตปวารณาว่าจะโค่นล้มคนที่ตนเองถือว่าเป็นคู่แข่งเพราะความอิจฉาริษยา
หนังเรื่องนี้ทำให้คนทั่วโลกจำนวนมากเริ่มรู้จักโมสาร์ท ว่ากันว่าก่อนหน้าที่หนังจะออกมา คนอเมริกันถึงร้อยละ 98 ไม่เคยได้ยินดนตรีของโมสาร์ทหรือไม่รู้จักโมสาร์ทด้วยซ้ำ หนังเรื่องนี้ทำให้ใครๆ ต้องไปหาดนตรีของโมสาร์ทมาฟัง รวมทั้งดนตรีคลาสสิกซึ่งเคยคิดว่าต้องไต่กระไดฟัง
และที่ไม่น่าแปลกใจในสังคมบริโภคก็คือ เกิดมีการวิจัยพบว่า เด็กที่ฟังดนตรีโมสาร์ทตั้งแต่เกิดจะฉลาดกว่าเด็กที่ไม่ได้ฟัง ทำให้พ่อแม่ที่อยากให้ลูกฉลาดต่างหาซื้อดนตรีโมสาร์ทมาเปิดให้ลูกฟัง หวังจะให้เป็นเด็กฉลาดด้วยวิธีคิดและวิธีทำแบบสำเร็จรูป ไม่รู้ว่าในทางปฏิบัติเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ แต่ที่จริงที่สุดคือรายได้ของคนขายแผ่นเสียงเพลงคลาสสิกเพิ่มขึ้น ก็ยังดีที่มีผลข้างเคียงเป็นอานิสงค์ทำให้คนสนใจดนตรีคลาสสิกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ความจริง หนังเรื่องนี้ไม่ใช่เกี่ยวกับโมสาร์ท (Tom Hulce) และดนตรีของเขาเท่ากับเรื่องราวของ Salieri (Murry Abraham) นักดนตรีประจำสำนักจักรพรรดิที่กรุงเวียนนาในปลายศตวรรษที่ 18 ที่อยู่ในร่มเงาของอัจฉริยะที่มาทีหลังแต่ดังกว่ามาก เคยเดินทางไปแสดงดนตรีทั่วยุโรปมาแล้วและก็จริงอย่างคำเล่าลือ ซาเลียรีมองว่า ดนตรีของโมสาร์ทไพเราะประหนึ่งเขียนขึ้นตามคำบอกของพระเจ้า เป็นอะไรที่เขาใฝ่ฝันอยากจะเขียนแต่ทำไม่ได้แม้เศษเสี้ยว
หนังเรื่องนี้เป็นการฉายภาพย้อนหลังให้เห็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากสายตาของซาเลียรี ซึ่งอยู่ในสถานรักษาคนบ้า เขาพยายามฆ่าตัวตายก่อนจะถูกส่งไปที่นั่น เขาสารภาพบาปกับบาทหลวงผู้หนึ่ง พร้อมกับกล่าวหาพระผู้เป็นเจ้าว่าไม่ทรงความยุติธรรม ไม่รักและทำต่อมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ทำให้คนหนึ่งเป็นเทวดาอีกคนหนึ่งเป็นซาตาน คนหนึ่งเป็นอัจฉริยะ อีกคนหนึ่งเป็นคนโง่ที่ทำอะไรก็แบบ "งั้นๆ" จะดีก็ไม่ดี จะเลวก็ไม่เลว (mediocrity)
"พระองค์ไม่ทรงต้องการให้ข้าสรรเสริญพระองค์ด้วยดนตรีดอกหรือ ทำไมถึงประทานความร้อนรุ่มและความปรารถนาในตัวข้า แต่ไม่ทรงประทานพรสวรรค์ให้ข้าด้วย"
ดูสายตาและสีหน้าของซาเลียรีที่แสดงออกถึงความรู้สึกริษยาโมสาร์ท เคียดแค้นชิงชังพระเจ้า ไม่ว่าจะเป็นตอนต้นเรื่อง ตอนกลางหรือตอนปลายเมื่อเขาเขียนตอนสุดท้ายของ Requiem ตามคำบอกของโมสาร์ทที่กำลังป่วยหนักแล้วก็ไม่แปลกใจเลยที่คนแสดงจะได้ออสการ์ในฐานะผู้แสดงนำยอดเยี่ยม เขาทำได้เลวและร้ายสมบทบาทจริงๆ
ซาเลียรีรู้ว่าดนตรีของเขา "งั้นๆ" และของโมสาร์ทวิเศษแค่ไหนตั้งแต่แรกพบ เมื่อเขาเขียนดนตรีให้จักรพรรดิ แล้วโมสาร์ทได้ยินเข้า เขาขอนั่งลงเล่นโดยไม่ต้องมีโน้ต พร้อมกับปรับให้เพราะกว่าเดิมจนแทบจำไม่ได้ และตอนสุดท้ายที่เขานั่งเขียน Requiem ตามคำบอกของโมสาร์ท บทเพลงงานศพที่เขาตั้งใจจะขโมยมาใส่ชื่อตนเอง เป็นฉากที่แสดงให้เห็นความห่างชั้นทางดนตรีระหว่างสองคน
เราเห็นดนตรีที่หลั่งไหลออกมาจากอัจฉริยะที่กำลังจะตายเหมือนน้ำไหลออกจากท่อ ทะลักจนซาเลียรีเขียนตามแทบไม่ทัน และในตอนอื่นๆ ของหนังเราก็เห็นโมสาร์ทเขียนดนตรีได้อย่างรวดเร็วโดยแทบจะไม่มีการแก้ไขอะไรเลย ประหนึ่งเขียนตามคำบอกของพระเจ้าอย่างที่ซาเลียรีเชื่อ
วันแรกที่โมสาร์ทเข้าเฝ้าจักรพรรดิ ซาเลียรีเป็นคนเดินตามหาโมสาร์ท อัจฉริยะที่เขาได้ยินแต่ชื่อเสียงแต่ไม่เคยเห็นหน้า เขาได้ยินว่า คนคนนี้แต่งคอนแชร์โตได้ตอนอายุ 4 ขวบ ซิมโฟนีตอนอายุ 7 ขวบ และโอเปราเต็มรูปแบบตอนอายุเพียง 12 ปีเท่านั้น เขานึกว่าจะพบนักดนตรีที่เรียบร้อยขี้อาย แต่กลับพบคนที่ขี้เล่นจนทะลึ่ง เที่ยวหยอกล้อไล่จับผู้หญิงจนมารับเสด็จจักรพรรดิไม่ทัน
ถ้าตั้งใจดูให้ดีจะพบว่า บุคลิกและการแต่งกายของโมสาร์ทมีลักษณะ "ล้ำยุคล้ำสมัย" ไม่น้อย ตั้งแต่วิกผมที่ดูไปดูมาอาจจะคล้ายทรงพังก์เฉดสีชมพู มีชีวิตคล้ายฮิปปี้และนักดนตรีร็อกยุคใหม่ที่ไม่สนใจรูปแบบ ไม่ติดกรอบ (unconventional) ซึ่งน่าจะใช่ เพราะหากยังคิดอะไรแบบคนอื่นแล้วจะสร้างสรรค์งานอันยิ่งใหญ่ที่เป็นศิลปะได้อย่างไร ศิลปินคือคนที่ทำอะไรไม่เหมือนชาวบ้านอยู่แล้ว
อย่างดนตรีของโมสาร์ทที่คนทั่วไปหรือคนหัวเก่าฟังแล้วบอกว่า "มีโน้ตมากเกินไป" ฟังไม่ทันหรือฟังไม่เป็นอย่างที่จักรพรรดิทรงวิจารณ์โอเปราภาษาเยอรมันของโมสาร์ท ความจริงคำวิจารณ์นั้นมาจากคนรอบข้างโดยเฉพาะซาเลียรีที่กราบบังคมทูลเพื่อลดเครดิตโมสาร์ท
การที่โมสาร์ทเสนอทำโอเปราภาษาเยอรมันเป็นเรื่องใหม่มาก เพราะยุคนั้นโอเปราต้องเขียนเป็นภาษาอิตาเลียน เป็นภาษาอื่นไม่ได้ คนดูไม่ชอบอะไรทำนองนั้น อย่างไรก็ดี ที่สุดโมสาร์ทก็ต้องทำโอเปราออกมาเป็นภาษาอิตาเลียนเกือบทั้งหมด เพราะคนจ้างเขียนเขาจะเอาอย่างนั้น และเขาก็ต้องทำเพื่อหาเงินมาเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียด้วย
ซาเลียรีคิดว่าตนเองเป็นคนฆ่าโมสาร์ท ซึ่งก็อาจมีส่วนอยู่บ้าง เพราะทำให้อยู่อย่างอดอยากยากแค้น ไม่ได้รักษาวัณโรคที่คร่าชีวิตผู้คนในยุคนั้นประหนึ่งโรคห่า จนโมสาร์ทตายแบบอนาถาด้วยอายุเพียง 35 ปี หาหลุมฝังศพไม่เจอจนถึงทุกวันนี้ หนังเวอร์ชันใหม่ Director's cut ที่เพิ่มเข้าไปอีก 20 นาทีมีฉากการฝังศพโมสาร์ท ทิ้งลงไปในหลุมใหญ่รวมกับคนตายไร้ญาติและยากจนอื่นๆ
ชื่อของหนัง Amadeus ซึ่งเป็นชื่อกลางของโมสาร์ทน่าจะมาจากความหมายของคำคำนี้ที่แปลว่า "พระเจ้าทรงรัก" ซึ่งเหมาะสมกับเนื้อหาที่ซาเลียรี "กล่าวหา" พระเจ้าว่าทรงรักโมสาร์ท ทอดทิ้งและเกลียดเขา โดยที่ซาเลียรีไม่เคยคิดว่า ทำไมคนที่พระเจ้าทรงรักถึงได้ตายอย่างอนาถาขนาดนั้น
Milos Forman เป็นผู้กำกับชาวเช็กที่หนีไปอยู่อเมริกาหลังจากที่สหภาพโซเวียตบุกเชคโกสโลวะเกียในปี 1968 เขาสร้างหนังเรื่องนี้โดยมีฉากกลางแจ้งส่วนใหญ่ที่กรุงปรากบ้านเกิดของเขาเอง เมืองที่ยังคงรักษาตึกรามบ้านช่องเก่าแก่สวยงามของศตวรรษที่ 18 ไว้ได้ดีกว่าเมืองใดๆ ทำให้เห็นเวียนนายุคสองร้อยปีก่อนได้เป็นอย่างดี
ความจริงบ้านเกิดของโมสาร์ทอยู่ที่ Salzburg ติดชายแดนเยอรมนีในปัจจุบัน เมืองที่เขาใช้ชีวิตวัยเด็กเรียนเปียโนและไวโอลินจากพ่อ ก่อนจะเดินสายแสดงดนตรีไปทั่วยุโรป บ้านเกิดของเขาได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาดนตรีของโมสาร์ท มีการก่อตั้งสถาบัน Mozarteum และมีการแสดงดนตรีเกือบตลอดปี โดยเฉพาะหน้าร้อน ตามปราสาทต่างๆ ดึงดูดนักท่องเที่ยวปีละกว่า 7 ล้านคน
ซาลส์บูร์กยังเป็นเมืองที่คนรู้จักจากเรื่อง The Sound of Music เนินเขาติดเมือง และภูเขาสูงที่ทอดยาวอยู่เบื้องหลังห่างออกไป ทำให้ได้ทิวทัศน์ที่สวยงาม บรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่สร้างอัจฉริยะของโลก ซึ่งสร้างสรรค์ดนตรีที่มีชีวิตชีวา มีเสน่ห์เป็นอมตะ และดูจะฟังง่ายกว่าดนตรีของใครๆ ไม่ใช่ฟังแล้วฉลาดอย่างเดียว แต่ได้สุนทรียรสแบบไม่ต้องลงทุนอะไรมาก
โมสาร์ทกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอัจฉริยะ เด็กทั่วโลกมักจะแสดงอัจฉริยภาพออกทางดนตรี คณิตศาสตร์และหมากรุก ซึ่งเป็นทักษะมากกว่าเป็นศิลปะ ที่จะตามมาเมื่อโตขึ้น เมื่อแต่ละคนจะสร้างสรรค์บุคลิกภาพของตนเองในสีสันดนตรีที่กลั่นกรองออกมาจากข้างใน
ที่จริง เด็กที่มีความสามารถพิเศษมีอยู่มากทั่วโลก อิสฮัก เปิร์ลมัน นักไวโอลินยิวอัจฉริยะผู้นั่งสีอยู่บนรถเข็นและสนใจเรื่องประเภทนี้บอกว่า เด็กๆ ที่มีพรสวรรค์มักมีปัญหา ปัญหาที่มาจากคนอื่นโดยเฉพาะพ่อแม่ที่ทำต่อพวกเขาแบบผิดๆ เขาบอกว่าเด็กมีความสามารถพิเศษเป็นเด็กไม่ปกติ เพราะเด็กทั่วไปไม่ได้เก่งกาจอะไรปานนั้น
เด็กประเภทนี้ต้องให้การดูแลอย่างเหมาะสม เขาถามว่า "พ่อแม่เหล่านี้อยากให้ลูกประสบความสำเร็จ หรือพวกเขาอยากประสบความสำเร็จโดยอาศัยลูกของตนเอง" แล้วเขาก็สรุปว่า "คุณรู้ไหม เด็กอัจฉริยะที่คุณเห็นๆ อยู่ทั่วไปวันนี้มีเหลืออยู่ไม่ถึงครึ่งของเด็กที่มีศักยภาพที่จะเป็นอัจฉริยะ เด็กกว่าครึ่งหนึ่งหมดไฟเสียก่อน (มอดไป) เพราะไม่ได้รับการดูแลพัฒนาอย่างถูกต้อง"
เด็กหลายคนไม่ได้มีพรสวรรค์พิเศษ แต่พ่อแม่บางคนหลงตัวเอง มองอะไรในตัวเด็กวิเศษไปหมด เข้าข้างลูกตัวเอง หรือไม่ก็บีบบังคับให้เรียนสารพัด อะไรที่พ่อแม่เคยอยากได้อยากทำตอนยังเด็กมาออกที่ลูกหมด ลูกกลายเป็นเครื่องมือระบายความกดดันและความฝันวัยเด็กของพ่อแม่หลายคน
โมสาร์ทสร้างสรรค์ผลงานอมตะมากมายเพราะเขาเป็นตัวของเขาเอง เป็นอิสระจากการครอบงำของพ่อแม่และคนอื่น
แม้เขาจะอายุสั้นและอยู่อย่างลำบากยากแค้นเหมือนศิลปินส่วนใหญ่ในอดีตและในปัจจุบัน แต่งานของเขาอยู่ค้ำฟ้าเหนือกาลเวลา สร้างความสุขสันต์หรรษาให้ผู้คนทั่วโลก