xs
xsm
sm
md
lg

นัยสำคัญของการประชุมพรรคจีน

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

สังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์ (หรือยุคสื่อสาร ยุคสารสนเทศ ยุคความรู้ ฯลฯ) ดูเล็กลงถนัดตา เมื่อคนเราสามารถติดต่อสื่อสาร ขนส่งและเดินทางได้อย่างรวดเร็ว ใช้เวลาสั้นขึ้นๆ สามารถรับรู้ในสิ่งต่างๆ ได้มากและถี่ขึ้นเรื่อยๆ

ในภาวะเช่นนี้ ด้านหนึ่ง กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งใหญ่และเล็ก ทั้งเก่าและใหม่ ต่างพยายามใช้เงื่อนไขใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่ขาดสาย สร้างเสริมประโยชน์ให้แก่ตน

อีกด้านหนึ่ง ประชาชนทั่วไป ก็คาดหวังมากขึ้นว่า ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะช่วยแก้ไขปัญหาให้แก่ตนได้ โดยผ่านรัฐบาล ซึ่งทำหน้าที่ใช้อำนาจบริหารประเทศ

คณะผู้บริหารประเทศ หรือ รัฐบาล จึงเป็นตัวแปรสำคัญยิ่งของสังคมยุคใหม่ ในการอำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ให้สามารถขยายฐานของตนเองได้อย่างราบรื่น ขณะเดียวกันก็มีหน้าที่จัดสรรทรัพยากรทั้งหมดในสังคม ให้เป็นประโยชน์แก่ภาคประชาชน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

การจัดระเบียบตลาดให้เกิดการผลิตอย่างเต็มประสิทธิภาพและการกระจายความมั่งคั่งให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคม จึงเป็นภารกิจพื้นฐานของคณะผู้บริหารหรือรัฐบาลของประเทศต่างๆ

ทำได้ดี ประเทศก็เจริญรุ่งเรือง ประชาชนก็อยู่ดีกินดีมีความสุข

"อุดมคติ" เช่นนี้ กำลังจะได้รับการพิสูจน์ในประเทศจีน โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศแต่เพียงผู้เดียว (ในฐานะตัวแทนผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชน มิใช่ผู้ "อาสา" มาแก้ไขปัญหาให้ประชาชน)

นัยสำคัญของการประชุมพรรคฯครั้งที่ 4

ก่อนการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 4 (ประกอบด้วยกรรมการและกรรมการสำรองรวมสามร้อยกว่าคน ของ คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนชุดที่ 16 ที่เกิดขึ้นจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคสมัยที่ 16 เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2002) พรรคฯจีนได้ประกาศแก่สาธารณชนถึงหัวข้อการประชุมครั้งนี้ว่า เป็นเรื่องการเสริมสร้างสมรรถนะการบริหารประเทศของพรรคฯจีนโดยตรง ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ พคจ. ที่ประชุมกันเรื่องการเสริมสร้างสมรรถนะการบริหารประเทศ

แสดงว่า ณ วันนี้ พคจ.ตระหนักดีว่า พวกเขาจะได้รับการยอมรับจากประชาชนมากน้อยแค่ไหน อยู่ที่ผลการบริหารประเทศ มากกว่าการใช้อำนาจปกครอง จึงมุ่งสร้างความพร้อมรับการตรวจสอบจากประชาชนโดยตรงมากขึ้น (ที่ผ่านๆ มา พรรคฯจีนจะพิจารณาเรื่องการสร้างพรรคทางความคิด ท่วงทำนอง เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะภายในพรรค ตรวจสอบกันเองภายในพรรค) จากนี้ไปดำเนินนโยบายต่างๆ สำหรับการขับเคลื่อนประเทศจีนไปสู่เป้าหมายใหญ่ที่กำหนดไว้ คือสร้างประเทศจีนให้เป็นสังคมอยู่ดีกินดีอย่างรอบด้านภายในปี ค.ศ. 2020

เป็นกระบวนการนวัตกรรมบนฐานการบริหารในอดีต

เป้าหมายใหญ่นี้กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้ว ตั้งแต่การประชุมสมัชชาพรรคฯสมัยที่ 16 ในปี ค.ศ. 2002 (เจียงกับคณะผู้นำรุ่นที่สามถอยลงจากเวที หูจิ่นเทาและคณะผู้นำรุ่นที่ 4 ก้าวขึ้นแทนที่)

ที่ว่า "สังคมอยู่ดีกินดีอย่างรอบด้าน" หมายถึงสังคมที่ประชาชนจีนมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นการกินการอยู่ มีสภาพแวดล้อมที่ดี ปลอดภัย โดยมีสิทธิเสรีภาพและได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายอย่างถ้วนหน้ากัน มีโอกาสศึกษาเรียนรู้และแสดงออกถึงศักยภาพเฉพาะตน ฯลฯ

ดังนั้น การบริหารประเทศจึงต้องคำนึงถึงความต้องการของประชาชนอย่างรอบด้านเป็นบูรณาการ รัฐก็ต้องเข้มแข็ง ประชาชนก็ต้องอยู่ดีกินดีมีความสุข

ซึ่งจะทำเช่นนี้ได้ จะต้องปรับแนวคิดการบริหารประเทศใหม่ ให้มีความเป็น "วิทยาศาสตร์" อย่างแท้จริง เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า "ทัศนะที่เป็นวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับเรื่องการพัฒนา" (ภาษาจีนว่า "เคอเสวียฟาจ่านกวน")

ดังนั้น ในการประชุมใหญ่ (เต็มคณะ ทั้งสมาชิกสมบูรณ์และสมาชิกสำรองจำนวนทั้งหมดสามร้อยกว่าคน) ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว (2003) ที่ประชุมจึงได้ผ่านมติ "พัฒนาระบบเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยมให้สมบูรณ์" นำเอาแนวคิดการพัฒนาแบบใหม่มาแทนที่แนวคิดการพัฒนาแบบเดิมๆ เน้นการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ ไม่ถือเอาจีดีพีเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนา แต่ถือเอาคุณภาพชีวิตของมนุษย์เป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนา (เรียกว่า "ถือเอาคนเป็นศูนย์กลาง") โดยการพัฒนาจะต้องเป็นไปแบบยั่งยืน รักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งการวัดผลงานของเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องครอบคลุมถึงเรื่องต่างๆ เหล่านั้นด้วย มิใช่วัดกันที่จีดีพีอย่างเดียว

นี่คือสาเหตุสำคัญ ที่รัฐบาลจีนพยายามควบคุมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มิให้เร็วเกินไป ในตลอดเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบางประเภทที่ร้อนแรงเกินไป เช่นเหล็ก และ อะลูมิเนียม มีการจัดการเอาผิดผู้มีอำนาจอนุมัติโครงการเหล่านั้นอย่างจริงจัง (มีแนวคิดขัดกันระหว่างส่วนกลางกับมณฑล โดยส่วนกลางที่มีหูจิ่นเทาและเวินเจียเป่าเป็นแกน โดยมีนักเศรษฐศาสตร์ระดับแนวหน้าสนับสนุน เห็นความจำเป็นที่จะต้องควบคุม ขณะที่ระดับมณฑลเช่นเจียงซู เจ้าของโครงการโรงงานเหล็กกล้าขนาดใหญ่ดังกล่าว มีความเห็นคัดค้าน) รวมทั้งมีการผ่อนคลายการไหลเวียนของเงินตรา ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ลดแรงกดดันให้ขึ้นค่าเงินหยวนจากต่างประเทศ

นอกจากนี้ คณะผู้นำจีนยังเร่งพัฒนาระบบสาธารณสุขมูลฐาน และมาตรการต่างๆ ในการรับมือกับโรคซาร์สและไข้หวัดนก เร่งพัฒนาระบบประกันสังคม โดยเน้นความสำคัญของประชาชนยากจนและผู้ด้อยโอกาสเป็นพิเศษ

เน้นการประสานประโยชน์อันหลากหลาย

ปัจจุบัน ปัญหาการแยกขั้วระหว่างคนรวยกับคนจนได้ปรากฏชัดเจน ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง หรือชนชั้นกลางเพิ่มจำนวนขึ้นค่อนข้างเร็ว การบริหารประเทศจึงต้องคำนึงถึงความต้องการอันหลากหลายจากกลุ่มคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจแตกต่างกันเหล่านั้น (ปัจจุบันมีการสรุปว่า สังคมจีนแบ่งออกเป็น 10 ชั้น ตามฐานะทางเศรษฐกิจและอาชีพการงาน)

การบริหารประเทศจึงกลายเป็นเรื่องซับซ้อน ต้องใช้ฝีมือระดับมืออาชีพ พคจ.จึงต้องปรับตัวเองให้เป็นพรรคบริหารมืออาชีพ นั่นคือ ในปัจจุบันนี้ จะต้องเป็น นักประสานผลประโยชน์ ของกลุ่มชั้นชนต่างๆ ในสังคมอย่างลงตัวมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อประกันให้การพัฒนาของประเทศจีนดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง อย่างมีเสถียรภาพ และอย่างเป็นพลวัต

แต่ปัญหาการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งก็คือผู้ปฏิบัติงานของพรรค ยังเป็นปัญหาที่ชาวจีนทั่วไปรู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง มีการเรียกร้องให้ พคจ.ซึ่งเป็นพรรคบริหารประเทศปฏิรูปตนเอง กำจัดเจ้าหน้าที่เลวๆ ให้หมดสิ้น ซึ่งหลายคนก็ยังกังขาอยู่มากว่า ลำพังการออกกฎระเบียบวินัยและควบคุมกันภายในพรรค จะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างแท้จริงมากน้อยเพียงใด

ซึ่งหมายความว่า พรรคฯ จีนจะต้องพิสูจน์ตนเองด้วยการกระทำ ด้านหนึ่ง เร่งพัฒนาระบบประชาธิปไตยภายในพรรค เช่นระบบการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการที่โปร่งใส เป็นที่รับได้ภายในพรรค ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารประเทศของตน เพื่อสนองตอบความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นทุกทีและอย่างหลากหลายของคนจีนทั้งประเทศ

ทั้งหมด เพื่อบรรลุเป้าหมายการสร้างประเทศจีนให้เป็นสังคมอยู่ดีกินดีอย่างรอบด้านภายในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งคณะผู้นำพรรคและผู้บริหารรัฐบาลชุดปัจจุบัน จะเป็นผู้ปูพื้นฐานให้เรียบร้อยภายในปี ค.ศ. 2010 ก่อนที่จะส่งต่อภารกิจให้แก่คณะผู้นำพรรคชุดต่อไปภายในปี ค.ศ. 2012

การบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ จึงกลายเป็น "การบ้านข้อใหญ่" ของ พคจ. จำเป็นต้องหาข้อสรุป เพื่อชี้นำการปฏิบัติต่อไป

แนวทางการบริหารที่จะดำเนินต่อไป

บนพื้นฐานของประสบการณ์สำคัญๆ ในอดีต พคจ.ได้กำหนดแนวทางการบริหารของตนว่า (ที่ปรากฏในคำแถลงการณ์ที่ประชุม นำออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2004)

* ในด้านระบบอำนาจ ให้การนำของ พคจ. และการเป็นเจ้าของประเทศของประชาชนจีน กับการบริหารประเทศตามตัวบทกฎหมาย ขับเคลื่อนไปด้วยกันอย่างเป็นเอกภาพ

* ในด้านวัฒนธรรมและความคิดจิตใจ เสริมฐานะนำของลัทธิมาร์กซ์ให้โดดเด่น ให้ความสำคัญแก่การพัฒนาวิทยาศาสตร์และการศึกษาเป็นอันดับแรก

* พยายามกระตุ้นและระดมปัจจัยด้านบวกที่เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมจากทุกๆ ด้าน ให้สังคมจีนเป็นสังคมประนีประนอมผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆมากขึ้นเรื่อยๆ และดีขึ้นเรื่อยๆ ส่งเสริมให้เกิดการนวัตกรรมใหม่ๆทั่วทั้งสังคมจีน

* ยืนหยัดดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อสันติภาพ ที่เป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง ยกระดับความสามารถในการรับมือและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในระหว่างประเทศ ยกระดับความสามารถในการวิเคราะห์และวินิจฉัยเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างประเทศ และเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างเป็นฝ่ายกระทำ เสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ให้มากขึ้น และพร้อมเสมอที่จะทำการป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศจีน

* ยืนหยัดให้พรรคเป็นผู้นำของกองทัพอย่างเด็ดขาด ดำเนินการสร้างกองทัพให้เข้มแข็งทั้งทางด้านความคิดการเมือง การทหาร ท่วงทำนอง และระเบียบวินัย โดยตั้งเป้าไว้ว่า กองทัพเมื่อรบก็ต้องชนะ และไม่เปลี่ยนสีแปรธาตุตลอดไป

* ประกันให้ฮ่องกงและมาเก๊ามีเสถียรภาพและรุ่งเรืองอย่างยาวนาน ยืนหยัดในหลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" "ชาวฮ่องกงปกครองฮ่องกง" "ชาวมาเก๊าปกครองมาเก๊า" สามารถปกครองตนเองได้ในระดับสูง ยึดมั่นในกฎหมายแม่บทอย่างเคร่งครัด พยายามเสริมสร้างเงื่อนไขและบรรยากาศใหม่ในหลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" เพื่อรวมไต้หวันอย่างสันติต่อไป ทั้งนี้จะต้องขัดขวางการแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวัน และพร้อมปกป้องการคุกคามต่ออำนาจอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนอย่างถึงที่สุด

* ทำการสร้างพรรคให้เข้มแข็ง เพื่อยกระดับสมรรถภาพการบริหารประเทศของพรรคให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบัน การเสริมสร้างสมรรถภาพการบริหารประเทศของพรรค คือจุดหนักของงานสร้างพรรค ในการนี้ จะต้องยืนหยัดใช้ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง และทฤษฎี "สามตัวแทน" ชี้นำ สร้างกองทัพนักบริหารคุณภาพสูงขึ้นมาให้ได้ และสร้างระบบการนำรวมหมู่ขึ้นมาในการนำทุกระดับชั้น เสริมสร้างความสามัคคี ต่อสู้กับการรุกคืบของกระแสเสื่อมทุกชนิด

นัยสำคัญของการถ่ายโอนอำนาจทางการทหารจากเจียงสู่หู

นอกจากพิจารณาและผ่านมติเกี่ยวกับเรื่องการเสริมสร้างสมรรถนะการบริหารประเทศแล้ว ที่ประชุมพรรคฯจีนยังได้พิจารณาและผ่านมติเห็นชอบให้เจียงเจ๋อหมิน อดีตเลขาธิการใหญ่พรรคฯจีน ลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการการทหาร คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน

นับเป็นกระบวนการถ่ายโอนอำนาจที่มีความสมบูรณ์ในตัวเป็นครั้งแรกของพรรคฯจีน พรรคการเมืองที่ควบคุมกองทัพอย่างเบ็ดเสร็จมาตั้งแต่เมื่อครั้งยุคทำสงครามปฏิวัติ จากคณะผู้นำรุ่นที่สามที่มีเจียงเจ๋อหมินเป็นแกนนำ สู่คณะผู้นำรุ่นที่สี่ที่มีหูจิ่นเทาเป็นแกนนำ ในทำนองเดียวกันกับเมื่อครั้งคณะผู้นำรุ่นที่สองที่มีเติ้งเสี่ยวผิงเป็นแกนนำ ถ่ายโอนอำนาจให้แก่คณะผู้นำรุ่นที่สามที่มีเจียงเจ๋อหมินเป็นแกนนำ

เปรียบเทียบแล้ว การถ่ายโอนครั้งนี้มีความเป็นระบบมากกว่า เพราะเป็นการถ่ายโอนตามวาระ (เจียงอยู่ในตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการการทหารฯ ต่ออีก 2 ปี จึงส่งมอบให้หูจิ่นเทา เช่นเดียวกันกับที่เติ้งเสี่ยวผิงอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวต่ออีก 2 ปี แล้วจึงส่งมอบให้เจียงเจ๋อหมิน)

บางฝ่ายมองว่า นี่คือระบบถ่ายโอนอำนาจแบบจีน ที่ผู้ครองอำนาจชุดเก่า จะประคองการบริหารอำนาจของผู้ครองอำนาจชุดใหม่ไปสักระยะหนึ่ง แล้วจึง "วางมือ" อย่างแท้จริง (สุภาษิตจีนว่า "ฝูซั่งหม่า ซ่งอีเฉิง" หมายความว่า "ประคองขึ้นม้า แล้วเดินส่งต่ออีกระยะหนึ่ง"

ทั้งนี้เพื่อให้การสานต่ออำนาจระหว่างชุดเก่ากับชุดใหม่ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและมั่นคง ไม่สะดุดระหว่างทาง

ถึงกับมีการคาดหมายว่า การประพฤติปฏิบัติของเติ้งเสี่ยวผิงและเจียงเจ๋อหมิน จะเป็นต้นแบบของการส่งมอบอำนาจให้คณะผู้นำ พคจ.รุ่นหลังๆ ได้ปฏิบัติตาม ดำเนินเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะพัฒนาขึ้นสู่ความเป็นระบบ หรือขนบธรรมเนียมที่เหมาะสมกับความคิดวัฒนธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

แต่นักวิเคราะห์ตะวันตก พยายามตีความว่า การที่ เจียงเจ๋อหมิน (หรือเติ้งเสี่ยวผิงในอดีต) อยู่ในตำแหน่งผู้นำกองทัพต่ออีก 2 ปี ก็เพราะหวงอำนาจ ไม่ยอมวางมือ กว่าจะลงจากอำนาจ ก็ต้องให้กลุ่มผู้นำรุ่นใหม่บีบบังคับ กระชากลากถู ประโคมข่าวไปทั่วโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น