ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โปรเจกต์ยักษ์แสนล้าน "ไฮสปีดเทรนโคราช-กรุงเทพฯ"เดินหน้าไม่หยุด เผย 2 กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาใหญ่เสนอชิงศึกษาแผนลงทุน วงเงิน 38 ล้านบาท คาด ร.ฟ.ท.ฟันธงคัดเลือกและทำสัญญาว่าจ้าง ต.ค. โดยใช้เวลาศึกษา 4 เดือนก่อนสรุปผลเสนอรัฐบาล ด้านจังหวัดนครราชสีมาตื่นตัวสุดๆ ตั้งคณะทำงาน 2 ชุด ขับเคลื่อนหนุนโครงการอย่างเต็มที่ พร้อมเตรียมการพัฒนารองรับความเจริญเติบโตในทุกด้าน
โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ- นครราชสีมา (Mass Rapid Transit หรือ High Speed Train) เพื่อแก้ปัญหาการจราจรทางรถยนต์ที่แออัดและเป็นคอขวด ในเส้นทางเข้าสู่กรุงเทพฯ ด้วยการให้จังหวัดนครราชสีมา เป็นชุมทางการขนส่งผู้โดยระหว่างภาคอีสานกับกรุงเทพฯ คาดว่าจะใช้วงเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท มีความคืบหน้ามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด นายธีระ รัตนะวิศ ที่ปรึกษาการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา กล่าวกับ "ผู้จัดการรายวัน" ว่า ขณะนี้ร.ฟ.ท. กำลังจะว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา เพื่อศึกษาแนวเส้นทางและประเมินค่าลงทุน( Fessibility Study: FS)โครงการรถไฟความเร็วสูงดังกล่าวในวงเงิน 37-38 ล้านบาท โดยคณะกรรมการจัดจ้าง อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดข้อเสนอจากบริษัทที่ปรึกษาต่างๆ ที่ได้ยื่นความจำนงเข้ามา
สองกลุ่มบริษัทใหญ่ชิงศึกษา 38 ล้าน
ทั้งนี้ ได้มีบริษัทที่ปรึกษายื่นความจำนงเข้ามา เพื่อรับจ้างศึกษา FS โครงการนี้ทั้งหมด 2 กลุ่มบริษัทใหญ่ คือ 1.กลุ่มบริษัท เอ อี ซี ประกอบไปด้วย 1. บริษัท เอเชีย เอ็นจิเนียริ่ง คอลซัลแตนท์ จำกัด 2. บริษัทไทยเอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด 3.บริษัท แปซิฟิค คอนซัลแตนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 4. บริษัท แปซิฟิค คอนซัลแตนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด
2. กลุ่มบริษัท ซีเทค (SEA TEC) ประกอบด้วย 1. บริษัท เซาท์อีสต์เอเชีย เทคโนโลยี จำกัด 2. บริษัท เอฟซีลอน จำกัด 3. บริษัท เอ เอ็ม พี คอนซัลแตนท์ จำกัด 4.บริษัท สกอร์ต วิลสัน เคิร์ก พาทริก (ประเทศไทย) จำกัด
"คณะกรรมการดำเนินการจ้าง ของร.ฟ.ท. กำลังเร่งเรียกบริษัทที่ปรึกษาแต่ละกลุ่มเข้ามาชี้แจงรายละเอียดในแต่ละด้าน พร้อมแสดงวิสัยทัศน์การพัฒนาโครงการฯ ซึ่งในขั้นตอนแรก คณะกรรมการฯ จะให้คะแนนด้านเทคนิคก่อน หากกลุ่มไหนได้สูงกว่า คณะกรรมการฯก็จะเปิดซองราคา หากพบว่าต่ำกว่าราคากลาง ก็จะตกลงว่าจ้าง หรือเห็นว่ายังเป็นราคาที่สูงอยู่ จะเรียกกลุ่มบริษัทมาต่อรองราคาให้ต่ำลง หากลดราคาไม่ได้ ก็จะพิจารณาอีกรายที่ได้คะแนนต่ำกว่าต่อไป ตามขั้นตอนเช่นเดียวกัน" นาย ธีระ กล่าว
สำหรับขอบเขตการศึกษา FS ของโครงการฯ ประกอบด้วย 5 ส่วนหลัก คือ 1.งานศึกษาแนวเส้นทางของโครงการ 2. งานศึกษาทางด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง 3.งานพิจารณาทางด้านสิ่งแวดล้อมประกอบการคัดเลือกแนวเส้นทาง 4.งานประเมินค่าการลงทุนและพิจารณาค่าโดยสารที่เหมาะสม และ 5 .งานประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ-สังคม และเสนอแนะแนวทางการดำเนินการ
นายธีระ กล่าวต่อว่า คาดว่าจะสามารถคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษา FS และทำสัญญาว่าจ้างได้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้อย่างแน่นอน หลังจากนั้นบริษัทที่ปรึกษาจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 4 เดือน ก่อนที่จะส่งผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ให้ ร.ฟ.ท. เพื่อสรุปผลนำเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการฯต่อรัฐบาลในลำดับต่อไป
ทั้งนี้ หากรัฐบาลอนุมัติ ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการขอสนับสนุนงบประมาณ การศึกษาออกแบบก่อสร้าง,ขออนุมัติงบฯก่อสร้างโครงการ หรือวิธีการระดมทุนมาลงทุนก่อสร้าง ในรูปแบบอื่นๆ เช่น ร่วมลงทุนกับเอกชน หรือ ลงทุนโดยเอกชนทั้งหมด เป็นต้น
โคราชตื่นตัวเตรียมพัฒนารองรับ
ด้าน นายสุนทร ริ้วเหลือง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ในส่วนจังหวัด ล่าสุดได้แต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อเตรียมการรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงดังกล่าวจำนวน 2 คณะ ประกอบด้วย "คณะทำงานสนับสนุนการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อรองรับการดำเนินโครงการ" ทั้งนี้เพื่อเตรียมการพัฒนาด้านต่างๆ ของจังหวัดในการรองรับโครงการ
คณะทำงานฯชุดแรกนี้จะทำหน้าที่ ทั้งในการเตรียมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อเสนอต่อที่ปรึกษา FS ของโครงการรถไฟความเร็วสูง เช่น เรื่องการกำหนดแนวเส้นทาง ,จุดที่ตั้งสถานีที่ อ.ปากช่อง และจุดที่ตั้งสถานีชานเมืองจังหวัดนครราชสีมา และเตรียมจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนทั้ง 19 จังหวัดภาคอีสานหลัง ร.ฟ.ท.คัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาแล้วเสร็จ
รวมทั้งการเตรียมศึกษาการขยายชุมชนเมือง ของนครราชสีมา ไว้รองรับโครงการฯ ซึ่งเรื่องนี้จังหวัดได้ขอความร่วมมือ จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA: Japan International Cooperation Agency) ในการสนับสนุนการศึกษาแล้ว
รวมทั้ง ดำเนินการเตรียมโครงการตามยุทธศาสตร์จังหวัด และตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่างๆ เช่น โครงการศูนย์กลางผลิตผลเกษตรอินทรีย์ (Logistics Organic Hub), โครงการะบบรางรถไฟขนส่งสินค้าระบบราง (รถไฟรางคู่) เพื่อพัฒนาไปสู่โครงการจัดตั้งศูนย์บริการรับและกระจายสินค้าในระบบตู้สินค้า (ICD:Inland Container Depot) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการค้า Logistics Center ตามมติ ครม. 22 กุมภาพันธ์ 2547 ให้สอดรับกับโครงการรถไฟความเร็วสูง ด้วย
ส่วนคณะทำงานชุดที่ 2 คือ "คณะทำงานเตรียมการรองรับการเจริญเติบโต ด้านเศรษฐกิจและการลงทุนภาคอุตสาหกรรม" เพื่อกำหนดแนวทาง/มาตรการ รองรับการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจและการลงทุนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยให้ครอบคลุมทั้งด้านแรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชน
"ในเบื้องต้นโคราชเราเห็นด้วย กับแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงของทางเลือกที่ 1 โดยมีเส้นทางและจุดที่ตั้งสถานีตามจังหวัดเสนอ คือ มักกะสัน-บ้านนา(ที่ตั้งเมืองใหม่นครนายก)-ปากช่อง(ที่ตั้งโครงการภูมิเมืองอีสาน)-นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 223 กม.ใช้เวลาเดินทาง 56 นาที ซึ่งเป็นเส้นทางที่สอดรับกับยุทธศาสตร์พัฒนาโครงการต่างๆ ของรัฐบาลและเอื้อต่อกลุ่มผู้เดินทาง ทั้งนักธุรกิจ-ข้าราชการ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ รวมทั้งประชาชนทั่วไปและชาวอีสานทั้ง 19 จังหวัด" นายสุนทร กล่าว