xs
xsm
sm
md
lg

โอกาสของนักลงทุนไทยในเวียดนาม

เผยแพร่:   โดย: จักรสิทธิ์ แก้ววิไล

เมื่อวันที่ 16-19 กันยายน ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นำคณะทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 40 คน เดินทางไปศึกษาลู่ทางการลงทุน ณ โฮจิมินห์ซิตี้ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พร้อมทั้งมีการจัดสัมมนาในหัวข้อ โอกาสและลู่ทางการลงทุนในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ภายใต้ความร่วมมือของสถานกงสุลไทย ณ โฮจิมินห์ซิตี้ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาโฮจิมินห์ซิตี้ กระทรวงส่งเสริมการลงทุนของเวียดนาม (MPI) สำนักงานส่งเสริมการค้าการลงทุนของเวียดนาม (ITPO)

การเดินทางไปครั้งนี้ นับเป็นอีกกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนไทยไปต่างประเทศภายใต้นโยบายของบีโอไอ ที่สนับสนุนนักลงทุนไทยที่มีศักยภาพและมีความต้องการที่จะไปลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน

“สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม” เป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจสู่ระบบเสรี ภายใต้การบริหารของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนามที่มีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจตามนโยบาย Doi Moi ที่อาศัยกลไกตลาดเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2529 ส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงปี 2544-46 มีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 7 นับเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงมากประเทศหนึ่งในเอเชีย เวียดนามได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนตั้งแต่ปี 2538 และมีบทบาทสำคัญในกลุ่มอินโดจีนโดยเฉพาะความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในโครงการ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: (ACMECS) และโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS) ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันและโอกาสทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคสูงขึ้น

เวียดนามมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง ทั้งในด้านทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดของตลาดที่มีประชากรกว่า 80 ล้านคน ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยต่อการคมนาคมขนส่งทางบกเชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน จีน และเป็นทางออกทะเลสู่ประเทศในเอเชียตะวันออกด้วย จุดเด่นที่ทำให้เวียดนามสามารถพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็วคือ ทรัพยากรมนุษย์ นับได้ว่าแรงงานซึ่งมีอยู่กว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมด เป็นผู้มีความกระตือรือร้น รักการศึกษา และสามารถปรับตัวเข้าสู่การแข่งขันในระบบทุนนิยมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่การเมืองมีเสถียรภาพรัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนและต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการค้า และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยการให้สิทธิประโยชน์ และการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้เป็นสากลเวียดนามมุ่งหวังจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ให้ได้ภายในปี 2548 ซึ่งจะทำให้เวียดนามสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้อย่างเท่าเทียมในเวทีการค้าโลก

การดำเนินนโยบายของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในช่วงปี พ.ศ. 2543-2548 รัฐบาลเวียดนามได้ตั้งเป้าดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติให้ได้เป็นมูลค่า 12 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดว่าจนถึงปี 2545 ภาคการลงทุนของต่างชาติจะคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ถึงร้อยละ 15 และก่อให้เกิดรายได้จากการส่งออกถึงร้อยละ 25 และร้อยละ 10 ต่อเงินงบประมาณ กิจการ ที่รัฐบาลเวียดนามให้การสนับสนุน ได้แก่ การผลิตเพื่อการส่งออกเพื่อการพัฒนาการเกษตรและชนบท โครงการที่ต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีชีวภาพ น้ำมันและก๊าซ อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โทรคมนาคมและการพัฒนาสาธารณูปโภค ฯลฯ

โดยกระทรวงต่าง ๆ ได้ดำเนินการหลายเรื่องเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนต่างชาติ เช่น กระทรวงวางแผนและการลงทุนดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ให้รวดเร็วและโปร่งใส จะส่งเสริมให้บริษัทต่างชาติเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในนิคมอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก และเขต อุตสาหกรรมไฮเทค กระทรวงการค้าจะอำนวยความสะดวกแก่ต่างชาติในเรื่องการนำเข้าและการค้าปลีกและยกเลิกข้อจำกัดบางเรื่องในการส่งออก ธนาคารกลางของเวียดนามจะพัฒนาระบบเพื่อปรับปรุงนโยบายด้านการเงินที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของต่างชาติ รวมถึงการออกระเบียบว่าด้วยแนวทางการค้ำประกันเงินกู้ยืม การจำนองของนักลงทุนต่างชาติ

กระทรวงการก่อสร้างจะปรับปรุงกฎระเบียบว่าด้วยการถือครองที่อยู่อาศัย การค้า และสิทธิ์ในการใช้ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยในเขตเมือง คณะกรรมการกำหนดราคาของรัฐบาลจะวางแผนเพื่อปรับโครงสร้างราคา และค่าธรรมเนียมของนักลงทุนต่างชาติ และท้องถิ่น ให้เท่าเทียมกัน กรมที่ดินจะปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อการออกใบอนุญาตถือครองที่ดินให้แก่ผู้เช่าที่ดินในเขตอุตสาหกรรม และเขตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก และจะร่างระเบียบเพื่ออนุญาตให้ชาวเวียดนามสามารถให้ต่างชาติเช่าที่ดินได้

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนามในระยะ 10 ปีแรกของศตวรรษที่ 21 (2001-2010) ตั้งเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ก้าวไปสู่สังคมที่เป็นธรรมและมั่นคงพร้อมกับยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรให้สูงขึ้น ธำรงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมมุ่งสู่ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลกอย่างสมบูรณ์ สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อก้าวเข้าสู่สังคมฐานความรู้ภายใน 20 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ยังกำหนดเป้าหมายทางเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนา และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจให้ทันสมัยเพื่อรองรับการก้าวสู่ประเทศอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าเพิ่มอัตราความเจริญเติบโตเป็น 7% ต่อปี พื่อให้ GDP ขยายเป็น 2 เท่าของปัจจุบัน ขยายสัดส่วนการลงทุนให้เพิ่มขึ้นเป็น 30% ของ GDP เพิ่มการส่งออกให้สูงเกินกว่า 2 เท่า ของอัตราการเพิ่มขึ้นของ GDP ปรับลดสัดส่วนภาคเกษตรกรรมจาก 25% เป็น 16-17% ของ GDP : สัดส่วนภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจาก 35% เป็น 40-41% และสัดส่วนภาคบริการเพิ่มขึ้นจาก 40% เป็น 42-43% ของ GDP ลดสัดส่วนการจ้างงานในเขตชนบทจากประมาณ 2 ใน 3 ของกำลังแรงงานให้เหลือเพียงครึ่งของกำลังแรงงานทั้งหมด
เพิ่มสัดส่วนของประชากรที่อาศัยในเขตเมืองจาก 1 ใน 4 เป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเวียดนามสามารถบรรลุเกณฑ์มาตราฐานที่กำหนดได้ แต่เวียดนามยังคงประสบกับปัญหาความยากจน ทั้งนี้ เนื่องจากยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพที่มีได้อย่างเต็มที่แม้ว่าสัดส่วนประชากรที่ยากจนจะลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด แต่ปัจจุบันประชากรเวียดนามกว่า 25 ล้านคน (คิดเป็น 60% ของกำลังแรงงานทั้งหมด) ประสบกับภาวะการว่างงาน ซึ่งนับวันจะเพิ่มสูงขึ้นจากประชากร กว่า 1 ล้านคนที่เข้าสู่ตลาดแรงงานในแต่ละปี

การลงทุนของไทยในเวียดนามจนถึงปี 2547 รวมทั้งสิ้น 119 โครงการ มูลค่า 1.406 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบันเป็นผู้ลงทุนอันดับที่ 11 จาก 56 ประเทศ และเป็นที่สามในอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านการแปรรูปสินค้าเกษตร โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนรถยนต์และจักรยานยนต์ และสินค้าอุปโภคบริโภค การลงทุนของไทยส่วนใหญ่อยู่ที่นครโฮจิมินห์และจังหวัดใกล้เคียง นักธุรกิจไทยยังสนใจที่จะเข้ามาลงทุนและขยายความร่วมมือกับเวียดนามเพราะเวียดนามมีปัจจัยการผลิตอันเป็นที่ต้องการของฝ่ายไทย รวมทั้งโอกาสของการส่งออกไปยังตลาดในประเทศที่สาม โดยเฉพาะสหรัฐฯ

สำหรับเมืองที่มีการลงทุนจากนักธุรกิจไทย ได้แก่ เมืองสำคัญทางธุรกิจการค้า และเขตส่งเสริมการลงทุน เช่น นครโฮจิมินห์ กรุงฮานอย ดองไน และไฮฟอง เป็นต้น ทั้งนี้ มีการลงทุนของนักลงทุนไทยในนครโฮจิมินห์มากที่สุด โดยสาขาสำคัญ ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรม ด้านการเกษตร อาหารสัตว์ อุตสาหกรรมพลาสติก ชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ เป็นต้น

ความร่วมมือระหว่างไทยกับเวียดนามยังสามารถพัฒนาได้อีกมาก เพราะทั้งสองประเทศมีปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สามารถเกื้อหนุนซึ่งกันและกันได้ ทั้งสองฝ่ายสามารถร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือในลักษณะนี้ คือ ความร่วมมือในการส่งออกข้าว ซึ่งสามารถขยายไปยังสินค้า อื่น ๆ ที่มีความคล้ายคลึงกัน เช่น ยางพารา ผลไม้ อาหารทะเล เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น