xs
xsm
sm
md
lg

Shine อัจฉริยะ สร้างได้ ทำลายได้

เผยแพร่:   โดย: เสรี พงศ์พิศ


Shine (1996) เป็นหนังสร้างจากชีวิตจริงของ David Helfgott นักเปียโนอัจฉริยะชาวออสเตรเลีย ซึ่งตอนยังเด็กเคยชนะการแข่งขันมากมาย จนได้รับการเสนอทุนไปเรียนต่อที่สหรัฐฯ โดยไอแซค สเตอร์น นักไวโอลินผู้ยิ่งใหญ่ แต่พ่อไม่ยอมให้ไป ต่อมาได้รับทุนไปเรียนที่ Royal College of Music ที่กรุงลอนดอน เดวิดตัดสินใจไปแบบขืนใจพ่อผู้ประกาศตัดลูกตัดพ่อตั้งแต่บัดนั้น

ที่ลอนดอน เขาเรียนเปียโนกับ Cecil Parkes (Sir John Gielgud) นักเปียโนชื่อดังชาวอังกฤษ ผู้เจียระไนเพชรเม็ดงามนี้ให้สุกสกาว เขาเล่นเปียโน คอนแชร์โตหมายเลข 3 ของ Rachmaninoff ได้อย่างยอดเยี่ยมจนได้รับการบันทึกไว้ว่าเป็นสุดยอดการแสดง Rach 3 (ซึ่งว่ากันว่าเป็นบททดสอบสุดท้ายที่ยากที่สุดของความเป็นเลิศทางเปียโน) ใน Albert Hall ตั้งแต่ก่อตั้งมา

เมื่อแสดงจบ เขาล้มลงสติแตก ถูกนำส่งโรงพยาบาล และต้องพักรักษาตัวเกือบยี่สิบปีก่อนที่จะค่อยๆ กลับฟื้นคืนสู่สภาพที่แม้ไม่เหมือนเดิม แต่ก็ยังมีแววอัจฉริยะเหลืออยู่ให้ผู้คนได้เชยชม

ครอบครัว Helfgott ดูหนังแล้วประท้วงว่า ไม่ได้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นในชีวิตของเดวิด เขาไม่ได้ล้มลงหลังแสดงคอนเสิร์ต ได้รับคำอธิบายจาก Scott Hicks ผู้กำกับชาวออสเตรเลียว่า นั่นเป็นภาษาภาพยนตร์เพื่อบอกว่า เดวิดได้ไปถึงจุดสูงสุดที่นักเปียโนจะสามารถไปถึงได้ แล้วเขาก็ตกลงมา นอกจากนั้น หนังเรื่องนี้ไม่ใช่สารคดีประวัติของเดวิด แต่เป็นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากชีวิตจริงเท่านั้น

เมื่อปี 1986 สก็อต ฮิกส์ อ่านหนังสือพิมพ์พบข่าว การกลับมา ของอัจฉริยะที่ใครๆ ลืมไปนานแล้ว เขาเล่นเปียโนอยู่ที่คอฟฟีชอปแห่งหนึ่งที่เมืองเพิร์ท ครั้งแรกๆ ที่เขาไปขอเล่นไม่มีใครรู้ว่าเขาเป็นใคร ได้แต่พิศวงในความสามารถของชายสติไม่ค่อยจะดีผู้นี้ จนกระทั่งมีคนจำเขาได้ ข่าวถึงได้แพร่สะพัด จนเป็นที่มาของภาพยนตร์เรื่องนี้สิบปีให้หลัง

พ่อแม่ของเดวิดเป็นยิวจากโปแลนด์ อพยพหนีภัยสงครามและการคุกคามของนาซี ที่ได้คร่าชีวิตของพ่อแม่พี่น้องของเขา ประสบการณ์อันเจ็บปวดนี้ทำให้เขาต้องการให้ลูกๆ อยู่พร้อมหน้ากันตลอดไป เขาประกาศว่าจะไม่ยอมให้ใคร "ทำลายครอบครัว" ของเขาได้ นั่นเป็นเหตุผลที่เขาไม่ยอมให้ลูกชายอัจฉริยะรับทุนไปเรียนต่อที่สหรัฐฯและอังกฤษ

พ่อของเดวิดรักลูกรักเมีย แต่เป็นรักที่ทำลายล้างเพราะความหวงแหนอย่างไร้เหตุผล เขาอ้างความรักเพื่อดูแลและปกป้องครอบครัวแบบเผด็จการ ทุบตีลูกอย่างรุนแรง และยัดเยียดความต้องการของตนเองให้กับลูก ปลดปล่อยความกดดันที่ตนเคยได้รับเมื่อวัยเด็กที่เคยอยากเรียนดนตรี อุตส่าห์ออมเงินซื้อไวโอลินเอง แต่โดนพ่อขัดขวางถึงขั้นทุบไวโอลินทิ้ง เขายกความฝันเหล่านี้มาไว้ที่เดวิด กรอกหูลูกทุกวันว่า "ลูกต้องชนะเสมอ"

เขาสอนเปียโนลูกเองตั้งแต่ยังเล็ก ฝันอยากให้ลูกเล่นอะไรยากๆ เกินวัยรวมทั้งรัคมานีนอฟ ขณะที่ลูกยังไม่พร้อม จนที่สุดเขาต้องยอมไปหาครูเปียโนจริงๆ มาสอนลูก

เดวิดมีชีวิตวัยเด็กและวัยรุ่นอยู่ภายใต้ความกดดันที่ดูเหมือนค่อยๆ สะสม เขาอยู่ระหว่างความฝันอันยิ่งใหญ่ที่พ่อตั้งไว้ให้เขาประสบความสำเร็จ กับโอกาสอันน้อยนิดที่พ่อปิดไว้ไม่ให้เขาไปถึงจุดนั้น อย่างไรก็ดี เขายังมีคนที่เข้าใจและคอยให้กำลังใจ เป็นสตรีสูงศักดิ์วัยกลางคนเชื้อสายรัสเซีย ผู้ทำให้เขากล้าขบถต่อพ่อ ตัดสินใจไปเรียนต่อที่อังกฤษ

เธอเสียชีวิตก่อนที่เดวิดจะแสดง Rach 3 ไม่นาน นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งของอาการสติแตกก็เป็นได้ เพราะดูเหมือนว่าเธอเป็นอะไรยิ่งกว่าพ่อแม่ของเขาเสียอีก เธอให้อะไรเขาที่พ่อแม่ให้ไม่ได้ คือความเข้าใจในพลังอันยิ่งใหญ่ในตัวเขา ช่วยให้เขาได้ปลดปล่อยมันออกมา เขาระบายความรู้สึกนึกคิดและความฝันต่างๆ ของเขาเป็นจดหมายและเทปส่งไปถึงเธออย่างต่อเนื่อง ของเหล่านี้ถูกส่งกลับมาให้เดวิดที่ลอนดอนเมื่อเธอเสียชีวิต

แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่คงเป็นเพราะความกดดันสะสมตั้งแต่วัยเด็กที่มาถึงจุดสุดท้ายและระเบิดออกมาด้วยการเล่น Rach 3 ที่เป็นสุดยอดความโหดและหินแห่งดนตรีเปียโน เป็นงานดนตรีที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกอันแสนโกลาหลอลหม่าน เดวิดเข้าถึงคีตกรรมชิ้นนี้แบบ "ตีจนแตก" แลกด้วยชีวิตของตนเอง

เซซิล พาร์คส์สอนเขาให้เล่น Rach 3 แบบปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ เขาเคยเล่นมาแล้ว และเล่นให้ผู้ประพันธ์ฟังเสียด้วย ได้รับความชื่นชมจากรัคมานีนอฟ เขาจึงสอนศิษย์ได้อย่างเต็มปากว่า "ให้ดนตรีออกมาจากใจเธอ เล่นด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง อย่าเล่นผิด มันอันตราย ไม่มีเซฟตี้เน็ต"

ฟังคำสอนนี้แล้วคิดถึงวิถีของคนในชนบท คนโบราณที่สอนลูกหลานให้เคารพกฎ โดยเฉพาะพวกที่มีคาถาอาคมยิ่งต้องเคร่งครัด ละเมิดมิได้ ผิดผีแล้วจะมีโทษ มีอันเป็นไป เป็นบ้า เป็นปอบ หลายคนจึงไม่อยากเรียน "วิชา" เพราะปฏิบัติตามกฎไม่ได้ มีข้อห้ามและแนวปฏิบัติละเอียดเกินไป

หนังฉายภาพการกลับมาของเดวิดแบบสนุกสนาน เขาพูดจาเร็วๆ ซ้ำไปซ้ำมา จนบางครั้งฟังไม่ได้ศัพท์ ที่แปลกคือเขายิ้มและหัวเราะเกือบตลอดเวลา เหมือนกับจะชดเชยที่ไม่เคยทำเช่นนั้นมาตลอดหลายสิบปีแห่งการเก็บกด เขาพรมนิ้วลงบนคีย์เปียโนอย่างเป็นธรรมชาติ ยังกับว่าเปียโนเป็นส่วนหนึ่งของตัวเขาที่เขาจะทำอะไรกับมันก็ได้

เพลงแรกแห่งการกลับมาที่บาร์แห่งนั้น คือ The Flight of the Bumble Bee ของคีตกวีชาวรัสเซียที่รัคมานีนอฟนำมาเรียบเรียงใหม่ กลายเป็นเพลงเร็วและสนุกสนาน ที่นักเปียโนชอบนำมาเล่นอวดฝีมือกัน การที่หนังทำให้เดวิดเล่นเพลงของรัคมานีนอฟคงเป็นการล้อ Rach 3 ที่ทำให้เขาสติแตก เขากลับมาเล่นรัคมานีนอฟได้อีก แม้จะไม่ยิ่งใหญ่เท่า Rach 3 ก็ตาม

แต่สิ่งที่ทำให้เดวิดกลับมาสู่ชีวิตใหม่ได้จริงๆ น่าจะเป็นความรัก รักที่สร้างสรรค์ รักที่ทำให้เขาเอาพลังทั้งหมดที่เหลืออยู่ออกมาให้โลกรับรู้ เขาได้พบรักกับหมอดูวัยกลางคนที่เข้าใจและชื่นชมเขา คอยช่วยเหลือประคับประคองเขาให้ค่อยๆ คืนสู่สภาพที่แม้ไม่เหมือนเดิม แต่ก็เป็นอะไรที่น่าพอใจ เมื่อเดวิดได้กลับไปขึ้นเวทีแสดงคอนเสิร์ต และตระเวนแสดงไปทั่วโลกจนถึงวันนี้

ใครที่เห็นเดวิดหัวเราะดังๆ และพูดจาแบบนั้นแล้วคงนึกไม่ถึงว่า คนประหลาดคนนี้เมื่อนั่งลงพรมนิ้วบนคีย์เปียโน เสียงเพลงของเขาหลายครั้งดังออกมาประหนึ่งเสียงเพรียกแห่งความเจ็บปวดแต่เต็มไปด้วยความหวัง และคงจะเป็นเสียงดนตรีแบบนี้กระมังที่รักษาเดวิด นำเขากลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงที่แม้จะเต็มไปด้วยปัญหาและความกดดัน คงไม่โหดร้ายกับเขาเหมือนที่ผ่านมา

ในฉากสุดท้าย เดวิดขึ้นเวทีแสดงคอนเสิร์ตเป็นครั้งแรกหลังจากห่างหายไปนานเกือบ 20 ปี นอกจากภรรยา มีแม่และพี่สาวน้องสาวมาฟังด้วย ไม่เห็นพ่อ ซึ่งเคยไปพบเขาตอนที่หนังสือพิมพ์ลงข่าวการกลับมา แต่ดูเหมือนว่าบาดแผลที่เกิดขึ้นระหว่างทั้งสองยากที่จะเยียวยา เขากับภรรยาไปที่หลุมศพพ่อแบบงงๆ ไม่มีคำตอบว่า ที่ผ่านมาเป็นความผิดของใครที่เขาบ้าและพ่อตาย

จากสารคดีชีวิตจริงในยูบีซีและในเว็บไซต์ของเขา เดวิดยังทัวร์แสดงคอนเสิร์ตไปทั่วโลก แม้จะไม่มากมายนัก แต่ใครๆ ก็อยากไปฟังเขาเล่น เพราะเขามีพรสวรรค์พิเศษที่หาคนเล่นแบบเขาได้ยาก ที่สำคัญ ใครๆ อยากไปฟังว่า ตลอดเวลาที่เขาห่างหายไปเกือบยี่สิบปีนั้น เขาเล่นอะไรในความเปล่าเปลี่ยวและโลกมืดใบนั้น

เขามีลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่ง คือวิ่งออกไปหน้าเวที โค้งให้คนดูแล้วลงมือเล่น เล่นจบก็วิ่งออกไปหลังเวที คนดูปรบมือนานๆ ก็วิ่งออกมาโค้งขอบคุณ คนถามว่า เขาวิ่งทำไม ทำไมไม่เดิน เขาตอบหน้าตาเฉยว่า "แค่อยากวิ่ง (หงะ)"

คนไปดูการแสดงของเดวิดมีความรู้สึกแตกต่างไปจากไปดูการแสดงของนักดนตรีคนอื่นๆ ทุกคนต่างนั่ง "ลุ้น" ให้เขาเล่นจนจบให้ได้ ไม่ให้เขา "สติแตก" เสียก่อน

หนังเรื่องนี้มีบทเรียนหลายอย่าง การสร้างความแข็งแกร่งจากความอ่อนแอ การสื่อสารที่เดวิดอาจทำได้ไม่ดีด้วยภาษา แต่เขาสามารถสื่อด้วยเสียงเปียโนที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดและจิตวิญญาณทั้งหมดของเขา (self-expression) ได้อย่างยอดเยี่ยม เขาบอกว่าเขาเป็นใคร (self-realization) เมื่อนั่งอยู่ต่อหน้าเปียโนมากกว่าการพูดจาต่อหน้าผู้คน เขาเผชิญชีวิตแบบนี้แทนที่จะหลบลี้หนีมัน

ความรักที่ทำลายล้างไม่ใช่ความรักที่แท้จริง พ่อแม่จำนวนมากทำลายศักยภาพของลูกเพราะการเลี้ยงดูที่ผิดๆ เอาความคิดความต้องการของตัวเองใส่เข้าไปในตัวลูก ไปกดดันเขา บังคับเขาให้เป็นสิ่งที่ตนเองเคยอยากเป็นแต่เป็นไม่ได้

ความรักสร้างสรรค์จรรโลงโลก ให้พลังชีวิตแก่คนที่ดูเหมือนตายไปแล้วให้กลับคืนมาได้
กำลังโหลดความคิดเห็น