xs
xsm
sm
md
lg

เลือกตั้งอเมริกัน

เผยแพร่:   โดย: เกษม ศิริสัมพันธ์

ปีนี้เป็นปีเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกัน ตามรัฐธรรมนูญอเมริกัน ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุด ใช้มายาวนานถึง 213 ปีแล้ว ได้ใช้สำนวนโบราณบัญญัติว่า ทุกสี่ปี ให้ประชาชนอเมริกัน ออกเสียงลงคะแนนเลือกประธานาธิบดี “ในวันอังคารแรก หลังวันจันทร์แรก ของเดือนพฤศจิกายน”

ปีนี้วันเลือกตั้งประธานาธิบดี จึงตรงกับวันอังคารที่ 2 พฤศจิกายน 2547

ตอนนี้ที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองอเมริกันสหรัฐทั้งสองพรรค คือพรรคดีโมแครต และพรรครีพับรีแกน ต่างได้ตัดสินเลือกตัวแทนของพรรคในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้เรียบร้อยแล้ว

พรรคดีโมแครต ตกลงเลือกให้นายจอห์น แคร์รี วุฒิสมาชิกจากมลรัฐแมสซาชูเซตส์ เข้าชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดี และให้นายจอห์น เอ็ดเวิร์ด ชิงชัยในตำแหน่งรองประธานาธิบดี

ส่วนพรรครีพับรีกัน คงส่งประธานาธิบดีบุช และรองประธานาธิบดีดิ๊ก เชนีย์ ทีมเก่า เข้าชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีตามลำดับ ในการเลือกตั้งครั้งนี้อีกครั้งหนึ่ง

ตามประเพณีของอเมริกัน การรณรงค์เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี จะเริ่มเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ซึ่งเป็นวันแรงงานของสหรัฐฯ ไปจนถึงวันเลือกตั้งในวันที่ 2 พฤศจิกายน

แต่อันที่จริงแล้ว การรณรงค์เลือกตั้งประธานาธิบดีนั้น ได้เริ่มมาเป็นเวลาร่วมปีกว่าแล้ว ทางฝ่ายพรรคดีโมแครต ต้องมีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเบื้องต้น เพื่อคัดตัวแทนของพรรคมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

แต่การเลือกตั้งเบื้องต้นของพรรคดีโมแครต ได้ตัวผู้ชนะเป็นตัวแทนพรรคมานานแล้ว คือนายจอห์น แคร์รี ซึ่งก็ได้รับการยืนยันด้วยการประชุมใหญ่พรรคมาหลายเดือนแล้ว

ส่วนฝั่งพรรครีพับรีกันนั้น ประธานาธิบดีบุชและรองประธานาธิบดีดิ๊ก เชนีย์ อยู่ในตำแหน่งมาแล้ว และการเลือกตั้งปีนี้เป็นการเลือกตั้งเพื่อเข้ารับตำแหน่งรอบสอง จึงไม่มีคู่ต่อสู้ในการสรรหาตัวแทนในระดับพรรคของฝ่ายรีพับรีแกน

ฉะนั้นจากนี้ไปเป็นเวลาเกือบ 2 เดือน จะเป็นการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งระหว่างแคร์รี กับ บุช บรรยากาศการเมืองจะเป็นเรื่องการต่อสู้เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

ที่สำคัญจะต้องมีการเผชิญหน้าระหว่างผู้สมัครทั้งสองคน ในการโต้วาทีทางโทรทัศน์ของผู้สมัครทั้งสองคน การโต้วาทีคงจะมีประมาณ 3 ครั้ง แต่ยังไม่ได้กำหนดวันเวลาแน่นอน

เดิมทีเดียวผลการสำรวจโพลแสดงว่าเสียงสนับสนุนของทั้งสองฝ่ายยังอยู่ในลักษณะไล่เลี่ยกัน โพลบางสำนักก็ว่าประธานาธิบดีบุชมีเสียงนำนายแคร์รี แต่ก็ไม่ได้ถึงกับทิ้งห่างเสียทีเดียว แต่โพลบางสำนักก็ข้อสรุปตรงกันข้าม แต่ก็เหมือนกันตรงที่ว่า นายแคร์รีไม่ถึงกับทิ้งห่างนายบุชเหมือนกัน

แต่ผลการสำรวจโพลครั้งสุดท้ายของสำนักสำรวจโพลแกลลัปซึ่งมีชื่อเสียงที่สุด ได้เปิดเผยผลการสำรวจครั้งล่าสุด ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13 ถึง 15 เดือนนี้ ปรากฎว่าคะแนนนิยมของประธานาธิบดีบุช ได้นำหน้าคะแนนนิยมของนายแคร์รี ห่างกันถึง 55 ต่อ 42 เปอร์เซนต์

อันที่จริงการรณรงค์หาเสียงของฝ่ายกำลังเป็นประธานาธิบดีและสมัครรับเลือกตั้งเป็นรอบสอง หรือที่เรียกกันว่า reelection นั้น ย่อมได้เปรียบคู่แข่งเสมอ

แต่ก็ไม่จริงเสมอไป ในการเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ.1992 นายบิล คลินตัน ก็สามารถเอาชนะประธานาธิบดี จอร์จ เอช. เอ็ม บุช ซึ่งเป็นบิดาของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ให้หลุดจากตำแหน่งประธานาธิบดีได้เหมือนกัน

อันที่จริงประธานาธิบดีบุชก็มีจุดอ่อนอยู่มากเหมือนกัน แต่นายแคร์รี ดูไม่กล้าบุกเข้า “ลุย”อย่างตรงไปตรงมา ได้แต่ตีโอบอ้อมๆค้อมๆเสียมากกว่า ซึ่งทำให้บุชซึ่งเป็นประธานาธิบดีจึงอยู่ในสถานะได้เปรียบ
จุดอ่อนที่สำคัญที่สุดของบุช ก็คือได้พูดความไม่จริงกับรัฐสภาและประชาชน ในการตัดสินใจทำสงครามกับอีรัก โดยอ้างว่ามีหลักฐานแน่ชัดว่าซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำอีรักในสมัยนั้นมีอาวุธร้ายแรงอย่างเช่น อาวุธนิวเคลียร์หรืออาวุธชีวภาพ แต่เมื่อบุกอิรักได้แล้ว ก็ไม่สามารถพบอาวุธร้ายแรงเหล่านั้นได้เลย

ในด้านการต่างประเทศ ตั้งแต่ทำสงครามกับอีรักเป็นต้นมา ประธานาธิบดีบุชก็ดำเนินนโยบายที่ทำให้สหรัฐฯอยู่ในสถานะโดดเดี่ยวในกระแสการเมืองระหว่างประเทศเรื่อยมา

ขณะนี้ประธานาธิบดีบุช เหลือพันธมิตรคู่ใจเพียงสองคนเท่านั้น คือคนหนึ่งได้แก่นายกรัฐมนตรีอังกฤษ นายโทนี่ แบลร์ กับนายจอห์น โฮเวิลด์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เท่านั้น ซึ่งได้ร่วมหัวจมท้ายบุกอีรักมาด้วยกัน แต่ทั้งสองคนนั้นต่างกำลังเผชิญกับการเลือกตั้งในประเทศของตนเหมือนกัน ดีไม่ดีก็มีหวังหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยกันทั้งคู่ !

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง บุชก็คงต้องโดดเดี่ยว ไม่มีพันธมิตรคู่ใจ คงต้องเผชิญกับความยุ่งยากไม่รู้จบในอีรักและการทำสงครามกับผู้ก่อการร้ายทั่วโลกอย่างเดียวดาย !

ยิ่งไปกว่านั้นบุชยังวางแผนผิดพลาดในการทำสงครามกับอิรัก เดิมบุชและทีมงานซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมแนวใหม่ ได้แก่รองประธานาธิบดีดิ๊ก เชนนีย์ นายโดนัลด์ รัมสเฟลด์ รัฐมนตรีว่าการกลาโหม และนายพอล วูลโฟวิตสช์ รัฐมนตรีช่วยกลาโหม ได้วางแผนไว้อย่างสวยสดว่า เมื่อสามารถขับไล่นายซัดดัม อุสเซน ออกจากอำนาจได้แล้ว สหรัฐฯจะเข้าไปยึดครองอีรักได้อย่างสงบราบคาบ

ตรงกันข้ามถึงแม้สามารถโค่นซัดดัมได้แล้ว แต่สหรัฐฯก็ยังต้องเผชิญกับการต่อต้านของกลุ่มต่างๆในอิรักอย่างรุนแรงและหนักขึ้นทุกที กำลังทหารสหรัฐต้องสูญเสียสูงขึ้นทุกวัน ถึงแม้เบี่ยงให้มีรัฐบาล “หุ่น”ของอิรักขึ้นมาแล้วก็ตามที แต่กองกำลังสหรัฐฯก็ยังต้องรับมือกับการต่อต้านกลุ่มต่างๆของชาวอีรักดังกล่าวอยู่ดี

อันที่จริงการก่อการร้ายในสหรัฐฯเองนั้น ก็เป็นจุดได้เปรียบของฝ่ายบุช เพราะตั้งแต่เมื่อผู้ก่อการร้ายโจมตีตึกเวิลด์เทรดในนิวยอร์ก และโจมตีตึกเพนตากอนในกรุงวอชิงตันดี.ซี. เมื่อ 9/11 สามปีก่อนแล้ว ก็ไม่เคยมีเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดจากการก่อการร้ายในสหรัฐฯอีกเลย

การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆทั้งสิ้น เช่นไปเกิดในสเปน ในซาอุดีอาระเบีย และในอินโดนีเซียเป็นต้น

ฝ่ายบุชจึงหาเสียงโดยประกาศ เพราะความมเข้มแข็งในการต่อสู้กับการก่อการร้ายของเขา ทำให้ไม่เกิดเหตุร้ายแรงในพื้นแผ่นดินของอเมริกันได้อีกเลย !

เมื่อเร็วๆนี้รองประธานาธิบดี ดิ๊ก เชนีย์ ได้ไปกล่าวปราศรัยหาเสียงที่รัฐไอโอวาา เตือนว่า ถ้าในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนอเมริกันตัดสินใจผิด ไปเลือกฝ่ายตรงกันข้ามขึ้นมามีอำนาจ ก็มีหวังที่สหรัฐจะต้องเผชิญกับการก่อการร้ายแรงอย่างคราว 9/11 เมื่อสามปีก่อนอีก

หาเสียงอย่างนี้ก็เป็นการจี้จุดให้คนอเมริกันเกิดความหวาดผวาการก่อการร้าย ซึ่งทางฝ่ายบุชถือว่าเป็นเพราะความเข้มแข็งเด็ดขาดของรัฐบาลของบุช จึงทำให้การก่อการร้ายต้องชะงัก ไม่ได้เกิดขึ้นอีกในแผ่นดินสหรัฐฯอีกเลย

ในทางเศรษฐกิจ ถึงแม้รัฐบาลของประธานาธิบดีบุชจะประสบความสำเร็จอยู่บ้าง
เศรษฐกิจสหรัฐในขณะนี้ได้ฟื้นตัวขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังเป็นการฟื้นตัวที่ขาดพื้นฐานที่มั่นคงอยู่

หันกลับมาดูทางฝ่ายนายจอห์น แคร์รี ก็จะเห็นได้ว่าฝ่ายดีโมแครทเองก็ตกอยู่ในกรอบที่ฝ่ายตนเองลากเส้นขังตัวเองไว้แท้ๆทีเดียว !

นายแคร์รีไม่กล้าโจมตีประธานาธิบดีบุชในเรื่องสงครามกับอิรัก เพราะกลัวว่าจะถูกมองว่าไม่รักชาติอเมริกัน เอาใจไปเข้าข้างศัตรูของชาติ กลัวว่าจะเป็นการเสียคะแนนสนับสนุนฝ่ายตนไปก็ได้

นอกจากนี้นายแคร์รีเองก็ยังไม่สามารถเสนอแนวทางเลือกในเชิงนโยบายว่า จะทำอย่างไรกับการที่สหรัฐฯไปติดหล่มกับการก่อการร้ายในอิรักอยู่ในขณะนี้ นายแคร์รีก็ยังอ้ำๆอึงๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งๆที่สหรัฐฯต้องสูญเสียทหารอเมริกันไปสูงกว่า 1,000 คนแล้ว

ในทำนองเดียวกันจุดอ่อนของบุชในเรื่องนโยนบายต่างประเทศ ซึ่งบุชแสดงท่าทีแข็งกร้าว จนอเมริกาทุกวันนี้กำลังถูกโดดเดี่ยวจากกระแสของสังคมโลกแล้วนั้น แต่นายแคร์รีก็ยังไม่ได้แสดงจุดยืนของตนที่แตกต่างจากของบุชในเรื่องนี้เลย

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า นายแคร์รี ไม่ใช่เป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นตัวแทนพรรคดีโมแครตในการชิงชัยประธานาธิบดีคราวนี้

มีผู้เห็นว่าผู้ที่มีความสามารถสูงกว่าแคร์รี ในการรณรงค์ปราบบุชในการเลือกตั้งประธานาธิบดีคราวนี้ คือนางฮิลลารี คลินตัน ซึ่งเป็นภริยาอดีตประธานาธิบดีคลินตัน นางฮิลลารีปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากมลรัฐนิวยอร์ก

แต่นางฮิลารีเห็นว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีคราวนี้ ยังไม่เป็นเวลาของเธอ ซึ่งเพิ่งเป็นสมาชิกหน้าใหม่สมัยแรกของวุฒิสภาอเมริกันเท่านั้น นอกจากนี้นางฮิลารียังต้องการหลบ ไม่ต้องการเผชิญหน้ากับประธานาธิบดีซึ่งสมัครรับเลือกตั้งเป็นรอบสอง

นอกจากนั้นเธอคงอ่านเกมออกว่า ฝ่ายดีโมแครตจะต้องตกอยู่ในกรอบที่ขังตัวเอง ไม่
สามารถเข้า “ลุย” บุชได้เต็มที เพราะเรื่องการก่อการร้ายและสงครามกับอิรัก ล้วนเป็นประเด็นที่คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยมีท่าทีครึ่งๆกลางๆอยู่

ในทางเศรษฐกิจนายแคร์รีก็วิจารณ์นโยบายทางเศรษฐกิจของบุชว่า ถึงแม้จะทำให้สหรัฐฯดูเหมือนสามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ก็จริงอยู่ แต่จริงๆแล้ว ปัญหาการจ้างงานในอเมริกาก็ยังเป็นปัญหาที่น่าวิตกอยู่เหมือนกัน นายแคร์รีอ้างว่าที่เป็นเช่นนี้ เพราะบุช ปล่อยให้ธุรกิจอเมริกันไปลงทุนในเอเซียตะวันออกมาก จนทำให้การจ้างงานในสหรัฐฯต้องลดลง คนอเมริกันว่างงานจึงมากขึ้น

ฉะนั้นนายแคร์รี่บอกว่า ถ้าได้เป็นประธานาธิบดี จะลดการลงทุนในต่างประเทศ และส่ง
เสริมให้ธุรกิจอเมริกันหันมาลงทุนในประเทศมากขึ้น เพื่อเพิ่มการจ้างงานในสหรัฐฯให้สูงขึ้น นโยบายเศรษฐกิจเช่นนี้ ย่อมมีผลกระเทือนถึงการลงทุนของสหรัฐฯในบ้านเราอย่างแน่นอน

ยังมีเวลาเหลืออีกเกือบสองเดือนในการณณรงค์หาเสียง ผลสุดท้ายใครจะผู้ชนะในการเลือกตั้งคราวนี้ ก็คงได้เห็นกันในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้

แต่ต้องเตือนว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันนั้น ไม่ใช่เป็นการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง แต่เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม เป็นการเลือกคณะผู้เลือกตั้ง ( Electoral College ) จากมลรัฐต่างๆและจากกรุงวอซิงตัน ดี.ซี. จำนวน 538 คนเป็นคนตัดสินผลการเลือกตั้งครั้งสุดท้าย

มีตัวอย่างมาแล้ว ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีคราวที่แล้ว อัล กอร์ ชนะบุชด้วยคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชน แต่ไปแพ้บุชในคณะผู้เลือกตั้ง บุชจึงได้เป็นประธานาธิบดี

คนอเมริกันชอบคุยนักคุยหนาว่า เมืองอเมริกาเป็นดินแดนของประชาธิปไตย ! แต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันหาได้เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตยไม่ !
กำลังโหลดความคิดเห็น