xs
xsm
sm
md
lg

ประเทศไทยพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (1)

เผยแพร่:   โดย: ป.เพชรอริยะ

ราชา มุขํ มนุสสานํ ราชา เจ โหติ ธมมิโก

พระราชาผู้ทรงธรรมเป็นประมุขของปวงชน

ความเป็นไทย ความเป็นอุดมการณ์แห่งชาติ นักปราชญ์ ได้เคยพร่ำสอนไว้ว่า องค์คุณประเสริฐ 3 ประการ ของประเทศไทย คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ได้รับการเชิดชูยกขึ้นเป็นพิเศษ โดยล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพร้อมทั้งได้เปลี่ยนธงชาติจากธงแดง รูปช้างสีขาว เป็นธง 3 สี คือแดง ขาว น้ำเงิน ทรงเรียกว่า ธงไตรรงค์

ธงไตรรงค์ คือ สัญลักษณ์ขององค์คุณประเสริฐ 3 ประการ

สีแดง เป็นสัญลักษณ์ของชาติ
สีขาว เป็นสัญลักษณ์ของศาสนา
สีน้ำเงิน เป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์

ชาติ หมายความถึง ชนชาติไทย และประชาชาติสยาม รวมกัน (ประชาชาติสยามเปลี่ยนเป็นประชาชาติไทย โดยรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2482 ว่าด้วยนามประเทศ เมื่อเปลี่ยนนามประเทศสยามเป็นประเทศไทย ประชาชาติสยามก็เปลี่ยนเป็นประชาชาติไทย และสยามรัฐก็เปลี่ยนเป็นรัฐไทย)

ศาสนา หมายความถึง ศาสนาทุกศาสนาในประเทศไทย โดยเฉพาะหมายความถึง พระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชาติไทยมาแต่เดิม ซึ่งเป็นศาสนาที่สอดคล้องกับลักษณะพิเศษของชนชาติไทย อันชนชาติไทยรับเอามาเป็นศาสนาของตนมาแต่โบราณกาล

พระมหากษัตริย์ หมายถึงประมุขแห่งรัฐไทย อันว่าประเทศไทยทุกยุคทุกสมัย แต่โบราณมา เรามีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขประเทศ ไม่ว่าสภาวการณ์ทางประวัติศาสตร์และทางการเมือง สังคมของประเทศ จะพัฒนาไปอย่างไร พระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐคู่กับชนชาติไทยเสมอไป

องค์คุณประเสริฐ 3 ประการนี้ เป็นเอกภาพกัน แยกกันไม่ออก แยกกันไม่ได้

ชาติ
ศาสนา
พระมหากษัตริย์

เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนกับ สีแดง สีขาว สีน้ำเงิน ทั้ง 3 สี รวมกันอยู่แยกกันไม่ได้ในธงไตรรงค์ผืนเดียวกัน

รัฐธรรมนูญไทยฉบับต้นๆ พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศไทย แต่เขียนแตกต่างกัน ฉบับแรกเรียกว่า "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวพุทธศักราช 2475" บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ว่า "กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว"

ต่อมาพระองค์ท่านทรงอธิบายแก่คณะราษฎรว่า ใช้คำว่า "กษัตริย์" นั้นไม่ถูก เพราะกษัตริย์หมายความถึงนักรบ ถ้าหมายความถึง พระเจ้าแผ่นดินต้องใช้คำว่า "พระมหากษัตริย์" คณะราษฎรและคนทั่วไปจึงได้ใช้คำนี้มาจนถึงปัจจุบัน

บทบัญญัติแรกที่เมื่อ พ.ศ. 2492 ว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเปลี่ยนคำว่า "และ" ซึ่งละไว้เป็นคำว่า "อัน" ทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลงไปเป็นว่า พระมหากษัตริย์นั้นเป็นประมุขของการปกครอง แทนที่จะเป็นประมุขของประเทศหรือประมุขแห่งรัฐ ซึ่งไม่ชอบด้วยวิชารัฐศาสตร์ เพราะตามหลักวิชารัฐศาสตร์นั้น พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศหรือประมุขแห่งรัฐ ไม่ใช่ประมุขของการปกครอง

การปกครองซึ่งมีองค์กรแห่งอำนาจอธิปไตย 3 องค์กร คือ รัฐสภา, คณะรัฐมนตรี และศาล ซึ่งแต่ละองค์กรจะมีประมุขของตน

ประมุขของรัฐสภา คือ ประธานรัฐสภา
ประมุขของคณะรัฐมนตรี คือ นายกรัฐมนตรี
ประมุขของศาล คือ ประธานศาลฎีกา
สามสถาบันนี้ คือ ประมุขของการปกครอง

ส่วนพระมหากษัตริย์นั้นเป็นประมุขของประเทศไทยหรือแห่งรัฐ ซึ่งอยู่เหนือประมุขของการปกครองทั้ง 3

จะนำท่านผู้อ่านไปดูรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน บัญญัติไว้ในมาตรา 2 "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

ที่ถูกต้องควรบัญญัติว่า "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ" (แห่งราชอาณาจักรไทย) เพื่อให้รู้ชัดว่า พระมหากษัตริย์นั้นเป็นประมุขแห่งรัฐ ไม่ใช่ประมุขของการปกครอง

และถ้าพิจารณาตามหลักอักษรศาสตร์ว่า พระมหากษัตริย์กลายเป็นประมุขการปกครอง

และตามหลักรัฐศาสตร์ พระมหากษัตริย์ในมาตรานี้ เป็นสถาบัน อันเป็นสถาบันหลักของชาติ เหมือนกับสถาบันศาสนา (พระพุทธศาสนา) จึงไม่ต้องใส่คำว่า "ทรง" เพราะจะเป็นความหมายเป็นบุคคลไป บุคคลอาจคลอนแคลนได้ แต่สถาบันจะไม่คลอนแคลน อันจะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เข้มแข็งและมั่นคงสถาพรชั่วกาลนานดำรงอยู่คู่กับแผ่นดินไทยตลอดไป

บุคคลผู้มีอำนาจในทางการเมือง หรือคณะพรรคการเมืองต้องไม่ลืมว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสถาบันที่มีลักษณะทั่วไปและมีลักษณะเป็นธรรมาธิปไตยในทางการเมือง คือลักษณะที่ครอบคลุมเหตุปัจจัยอื่นทั้งหมดภายในประเทศ

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ครั้งหนึ่งในการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2482 มาตรา 2 มีสมาชิกรัฐสภาเสนอให้เติมคำว่า "ทรง" ความว่า "มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า "ท่านวรรณ" ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทย ทรงอธิบายว่าไม่ต้องเติม "ทรง" เพราะพระมหากษัตริย์ในมาตรานี้เป็นสถาบัน ไม่ใช่บุคคลจึงไม่ต้องใช้ราชาศัพท์ จึงควรยึดถือตามพระองค์ท่าน

สถาบันพระมหากษัตริย์และพระมหากษัตริย์กับภาวะคับขัน

ยกตัวอย่างเช่นเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า "พฤษภาทมิฬ" พ.ศ. 2535 นั้น ถ้าประเทศไทยไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก็คงจะเกิดปัญหาไม่มีใครฟังใคร ไม่มีใครเชื่อถือใคร น่ากลัวมากถึงขั้นจะเกิดสงครามกลางเมืองสามฝ่าย และอาจจบลงด้วยความเศร้าสลดใจที่ไม่อาจบรรยายก็ได้ แม้ว่าจะไม่ถึงกับ "สิ้นชาติ" ก็ตาม

ประสบการณ์ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ

ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น ได้เปรียบประเทศที่มีคนสามัญเป็นประมุข อย่างน้อยที่สุดในยามที่บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะคับขัน ชนิดที่ไม่มีสถาบันใดๆ จะแก้ปัญหาได้แล้ว แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ช่วยได้ และได้ยกตัวอย่าง 3 ประเทศอักษะ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเปรียบเทียบให้ดู คือ ญี่ปุ่น อิตาลี และเยอรมนี

เมื่อญี่ปุ่นจะแพ้สงครามแน่แล้ว แต่รัฐบาลไม่ยอม จะรบต่อไปให้ฉิบหายวายวอด สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต ทรงมีพระบรมราชโองการเรียกคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้า ตรัสให้หยุดรบ มีทหารหมู่หนึ่งไปยึดสถานีวิทยุกระจายเสียง เพื่อขัดขวางไม่ให้ออกอากาศพระบรมราชโองการ จึงตรัสสั่งให้ทหารหมู่นั้น รายงานตัวต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อลงโทษ ทรงปลด พล.อ.โตโจ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทรงตั้งจอมพลเรือคนหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งยุติสงครามได้

ในอิตาลี เมื่อสถานการณ์สงครามสิ้นหวังอย่างถึงที่สุด สมเด็จพระเจ้าวิกเตอร์เอมานูเอลที่ 2 ทรงมีพระบรมราชโองการสั่งปลด มุสโสลินีออกจากตำแหน่งผู้นำ และหัวหน้าฝ่ายบริหารทรงตั้งจอมพลบาโดกลิโอ เป็นนายกรัฐมนตรีและยุติสงครามได้

ในเยอรมนี ฮิตเลอร์ ประกาศว่าถ้าเขาจะต้องแพ้ก็ให้ฉิบหายกันทั้งประเทศ จอมพล นายพลต่างๆ พยายามจะกำจัดฮิตเลอร์ เพื่อยุติสงคราม แต่ถูกฮิตเลอร์กำจัดเสียก่อนทุกรายขนาดจอมพลรอมเมล วีรบุรุษทะเลทราย ก็ถูกฮิตเลอร์ส่งยาพิษไปให้กิน และในที่สุด ฮิตเลอร์ก็ยิงตัวตายในทำเนียบใต้ดิน เมื่อกำลังทหารสัมพันธมิตรจากแนวตะวันออกบุกเข้ามาถึงใจกลางของนครเบอร์ลิน เยอรมนี ฉิบหายวายวอดตามความต้องการของฮิตเลอร์ ผู้เป็นทั้งประมุขของรัฐและประมุขของฝ่ายบริหาร

นี่คือตัวอย่างประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่มีความได้เปรียบต่อประเทศที่มีคนสามัญเป็นประมุข ซึ่งจะเปรียบกันได้ระหว่างไทยกับพม่า ที่ได้กล่่าวแล้วข้างต้น

ผู้เขียนได้อบรมโครงการ "นักเผยแผ่ธรรมะทางวิทยุกระจายเสียง" ที่สถาบันการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ ได้พบกับอาจารย์พูนศักดิ์ วรรณพงษ์ มาเป็นวิทยากร ผู้เป็นกัลยาณมิตรตลอดกาล เพราะว่าได้รู้จักกันมาเก่าก่อนร่วม 20 ปี ต้องแปลกใจ เพราะท่านมาในมาดใหม่ "อาจารย์พูนศักดิ์ เปลี๊ยนไป๋" แบบหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ท่านเป็นแฟนคลับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการมายาวนานคนหนึ่ง เป็นคนมีธรรมะครองใจ สนใจใฝ่ธรรมเป็นชีวิตจิตใจ ถึงขั้นนำ ธรรมะมาประยุกต์แก้ไขเหตุวิกฤตชาติอย่างสันติ ผู้ดำรงอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างเข้มข้น ปัจจุบันได้แต่งเรียบเรียงหนังสือทรงคุณค่าเล่มหนึ่งชื่อ "ธรรมศาสน์" ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจ ท่านอาจารย์พูนศักดิ์ แจกให้ฟรีเป็นธรรมทาน ส่งที่อยู่ ส่งแฟกซ์ไปที่ ร้อยตรีเสงี่ยม บุษบาบาน ผจก.สำนักงาน โทร. 0-2933-3599 FAX. 0-2538-3698
กำลังโหลดความคิดเห็น