xs
xsm
sm
md
lg

บีโอไอยกเลิกเงื่อนไขการส่งออก

เผยแพร่:   โดย: กองยุทธศาสตร์และนโยบายการลงทุน

ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO – World Trade Organization) จึงเป็นหน้าที่ของสมาชิกที่จะต้องปฎิบัติตามพันธกรณีที่เกิดขึ้นขององค์การฯ

พันธกรณีของการเป็นสมาชิก WTO มีหลายข้อ ซึ่งข้อที่กำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนนานาชาติในขณะนี้ คือการที่จะต้องปฎิบัติตามความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้ (Agreement on Subsidy and Countervailing Measures)

สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว WTO ให้ระยะเวลาภายใน 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งเป็นปีที่สมาชิก143 ประเทศตกลงกันที่จะยกเลิกการอุดหนุนการต้องห้าม (Prohibited Subsidies) อันหมายถึงการอุดหนุนที่มีเงื่อนไขส่งออก เช่น การให้สิทธิประโยชน์ของภาครัฐเป็นพิเศษโดยเฉพาะแก่ผู้ส่งออก โดยการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้ ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น

ส่วนประเทศกำลังพัฒนานั้น WTO ให้ยกเลิกการอุดหนุนการส่งออก (Export Subsidies) ภายในกำหนดเวลา 8 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 กล่าวคือ ครบกำหนดการยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกในวันที่ 31 ธันวาคม 2545

อย่างไรก็ตาม ยังมีการผ่อนผันข้อกำหนดไว้ว่าหากยังมีความจำเป็นที่จะต้องคงการอุดหนุนการส่งออกเกินกำหนดสิ้นปี 2545 ให้ประเทศนั้นๆ แจ้งหารือขอต่ออายุระยะเวลาการอุดหนุนการส่งออกกับคณะกรรมการว่าด้วยการอุดหนุนของ WTO ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2544 ซึ่งผลส่วนหนึ่งของการแจ้งนี้จะทำให้ได้รับระยะเวลาเพิ่มเติมเพื่อการปรับตัวเป็นเวลา 2 ปีโดยอัตโนมัติ

ในแง่ของนโยบายการส่งเสริมการลงทุนซึ่งที่ผ่านมาได้ให้การส่งเสริมการลงทุนโดยกำหนดเงื่อนไขการส่งออกไว้สำหรับบางประเภทกิจการนั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนก็ได้พยายามเตรียมความพร้อมเพื่อปฎิบัติตามเงื่อนไขการเป็นสมาชิก WTO โดยได้ยกเลิกการกำหนดเงื่อนไขการส่งออกแก่ทุกกิจการที่ให้การส่งเสริมมาตั้งแต่ปี 2543 (ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนฉบับที่ 1/2543 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2543) แล้ว

แม้ว่าสำนักงานฯ ได้ยกเลิกเงื่อนไขการส่งออกไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2543 แต่ยังมีโครงการเก่าหลายโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมก่อนวันที่ 1 สิงหาคม 2543 และยังคงมีสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขการส่งออกเหลืออยู่หลังวันครบกำหนดต้องยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกตามความตกลงฯ (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2545) เนื่องจาก เงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ดังกล่าวมีอายุสูงสุดนานถึง 10 ปี จึงทำให้มี โครงการจำนวน 1,051 โครงการยังคงมีเงื่อนไขการส่งออก ณ วันที่ 1 มกราคม 2546

สำนักงานฯ ในฐานะหน่วยงานของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อการอุดหนุนการส่งออก ก็ได้แจ้งต่อกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (ปัจจุบันคือกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์) ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2544 เพื่อขอต่ออายุการอุดหนุนการส่งออกสำหรับโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปแล้วตามเงื่อนไขเดิม (ก่อนการยกเลิกการกำหนดเงื่อนไขการส่งออกปี 2543) ซึ่งกรมเจรจาฯ ได้ดำเนินการแจ้งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการว่าด้วยการอุดหนุนของ WTO

คณะกรรมการว่าด้วยการอุดหนุนของ WTO ได้พิจารณาการร้องขอของประเทศไทยเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2545 และมีมติให้ต่ออายุ 1 ปี (เมื่อรวมเวลา 2 ปีที่ให้โดยอัตโนมัติ จึงรวมที่ต่ออายุให้เป็น 3 ปี) และให้รายงานความคืบหน้าในปีถัดไป เพื่อให้คณะกรรมการฯ พิจารณาว่าควรให้ต่ออายุเพิ่มอีก 1 ปีหรือไม่ โดยจะต้องส่งข้อมูลต่างๆ ให้กับคณะกรรมการฯ ภายในวันที่ 15 เมษายน 2546

อนึ่ง ประเทศไทยได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการฯ ว่าจะขอต่ออายุเฉพาะมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่วนมาตรการลดหย่อน/ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรนั้น เนื่องจากที่ประชุม WTO เห็นว่าการอุดหนุนสิ้นสุดลงในปีที่นำเครื่องจักรเข้าแล้ว ไทยจึงไม่ขอต่ออายุสำหรับมาตรการนี้ รวมทั้งไม่ขอต่ออายุมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 5 ของรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการส่งออกอีกด้วย เนื่องจากเป็นมาตรการที่มีผู้ขอใช้สิทธิน้อยมาก

ในวันถัดจากการพิจารณาของคณะกรรมการว่าด้วยการอุดหนุนของ WTO คือในวันที่ 20 ธันวาคม 2545 สำนักงานฯ ได้รายงานผลการขอต่ออายุการอุดหนุนการส่งออก และขอแนวทางการยกเลิกเงื่อนไขการส่งออกต่อที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (กกท.) ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบและมอบหมายให้สำนักงานฯ ศึกษาแนวทางการยกเลิกเงื่อนไขการส่งออกที่เหมาะสม และนำเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ กกท. มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า การมีเงื่อนไขการส่งออกจะทำให้ผู้ประกอบการเพื่อจำหน่ายภายในประเทศไม่ตื่นตัวในการปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จึงควรยกเลิกเงื่อนไขการส่งออกโดยเร็ว โดยต้องพิจารณาผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายอื่นในประเทศด้วย

ต่อมา ในการประชุม กกท. วันที่ 8 เมษายน 2546 สำนักงานฯ ได้เสนอรายงานต่อที่ประชุม โดยจำแนกโครงการ 581 โครงการ ที่มีสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลืออยู่ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นไป ออกเป็น 2 กลุ่ม เพื่อประเมินผลกระทบจากการยกเลิกเงื่อนไขการส่งออก คือ กลุ่มที่ไม่ส่งผลกระทบหรือมีผลกระทบน้อยมากต่อผู้ผลิตรายอื่นในประเทศ และ กลุ่มที่ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรายอื่นในประเทศ

ที่ประชุม กกท. พิจารณาข้อเสนอของสำนักงานฯ และมีมติ ดังนี้

 อนุมัติให้ยกเลิกเงื่อนไขการส่งออกสำหรับกลุ่มโครงการที่มีเงื่อนไขการส่งออกแต่ไม่ส่งผลกระทบหรือมีผลกระทบน้อยมากต่อผู้ผลิตรายอื่นในประเทศ จำนวน 403 โครงการ

 ให้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาผลกระทบและแนวทางการยกเลิกเงื่อนไขการส่งออกของโครงการที่ไม่สามารถยกเลิกเงื่อนไขการส่งออกได้ทันที 178 โครงการ เนื่องจากอาจมีผลกระทบต่อตลาดในประเทศ แล้วให้นำข้อมูลเสนอ กกท. เพื่อพิจารณาต่อไป

เมื่อสำนักงานฯ ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาผลกระทบและแนวทางการยกเลิกเงื่อนไขการส่งออกแล้ว สำนักงานฯ ได้ศึกษารายละเอียดข้อมูลต่างๆ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2543-2545 ของแต่ละโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรายอื่นในประเทศหากยกเลิกเงื่อนไขการส่งออก พบว่าสามารถจำแนกกลุ่มในการพิจารณาออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

 กลุ่มที่ 1: ยกเลิกโครงการไปแล้ว

 กลุ่มที่ 2: ไม่ส่งผลกระทบหรือมีผลกระทบน้อยมากต่อผู้ผลิตรายอื่นในประเทศ เนื่องจากเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกทางอ้อม ผลิตให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศ และ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการในประเทศมากหรือมีผู้ผลิตน้อยรายในประเทศ

 กลุ่มที่ 3: มีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่าร้อยละ 20 ของรายได้ ซึ่งผิดหลักเกณฑ์การอนุมัติโครงการ

 กลุ่มที่ 4: มีเงื่อนไขพิเศษที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เฉพาะส่วนที่ผลิตเพื่อส่งออก

เมื่อนำข้อมูลเสนอต่อที่ประชุม กกท. ในวันที่ 31 สิงหาคม 2547 ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบต่อข้อเสนอของสำนักงานฯ กล่าวคือให้ยกเลิกเงื่อนไขการส่งออกได้ทุกกลุ่ม เนื่องจากกลุ่มที่ 1 ยกเลิกโครงการไปแล้ว ดังนั้นการยกเลิกเงื่อนไขจะไม่มีผลใดๆ ในทางปฏิบัติ ขณะที่การยกเลิกเงื่อนไขการส่งออกของกลุ่มที่ 2 ก็มีผลกระทบน้อยมากต่อผู้ผลิตรายอื่นในประเทศ

สำหรับในกลุ่มที่ 3 นั้น ประกอบด้วยผู้ประกอบการ 3 กลุ่ม ได้แก่

 ผู้ประกอบการในธุรกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหลักเกณฑ์การส่งเสริมในปัจจุบันสามารถให้การส่งเสริมได้แม้จะมีมูลค่าเพิ่มน้อยกว่าร้อยละ 20 จึงเห็นควรยกเลิกเงื่อนไขการส่งออกได้

 กิจการที่มีมูลค่าเพิ่มจากการสำรวจจริงมากกว่าร้อยละ 20 เนื่องจากมีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของรายได้ ซึ่งถูกต้องตามหลักเกณฑ์การอนุมัติโครงการ จึงเห็นควรยกเลิกเงื่อนไขการส่งออกได้

 กิจการที่มีมูลค่าเพิ่มจากการสำรวจจริงน้อยกว่าร้อยละ 20 เนื่องจากเป็นกิจการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ ไม่กระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศ แม้จะผิดหลักเกณฑ์แต่เป็นอำนาจของ กกท. ที่จะพิจารณาผ่อนผันได้ จึงเห็นควรยกเลิกเงื่อนไขการส่งออกได้

ส่วนกลุ่มที่ 4 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีเงื่อนไขพิเศษที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เฉพาะส่วนที่ส่งออก นั้น ประกอบด้วย 2 ประเภทกิจการ คือ กิจการผลิตสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกาย และ กิจการประกอบรถยนต์

ที่ผ่านมาการให้การส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการผลิตสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกาย จะกำหนดเงื่อนไขให้ยกเว้นภาษีเงินได้เฉพาะส่วนที่ส่งออก แต่ปัจจุบันไม่มีการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว และสิทธิประโยชน์ที่ได้รับสำหรับกิจการประเภทนี้คือการยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับทั้งโครงการ จึงเห็นควรให้ยกเลิกเงื่อนไขการส่งออกได้ และให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ทั้งโครงการเช่นเดียวกับหลักเกณฑ์การให้การส่งเสริมในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ด้วยลักษณะของกิจการเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ การให้สิทธิและประโยชน์ดังกล่าวจึงไม่กระทบต่อผู้ผลิตรายอื่นในประเทศ

ในทางกลับกัน สำหรับกิจการประกอบรถยนต์นั้น ในอดีตไม่มีการกำหนดเงื่อนไขการส่งออกและให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เฉพาะส่วนที่ส่งออก แต่ในปัจจุบันแม้จะไม่มีการกำหนดเงื่อนไขส่งออกแต่ก็ไม่ได้สิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้ ดังนั้น หากให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับทั้งโครงการ ก็จะไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการรายอื่น ในขณะเดียวกันหากยกเลิกการยกเว้นภาษีเงินได้เฉพาะส่วนส่งออกที่มีอยู่ ก็จะไม่เป็นธรรมต่อผู้ได้รับการส่งเสริมเพราะยังไม่ได้ปฎิบัติผิดเงื่อนไขใด กกท. จึงเห็นชอบต่อข้อเสนอของสำนักงานฯ ที่จะมอบหมายให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยประชุมหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการรถยนต์เพื่อหาแนวทางในการพิจารณา

จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของสำนักงานฯ และของประเทศไทยที่จะปฎิบัติตามพันธสัญญาที่ได้ให้ไว้กับองค์การการค้าโลก โดยมุ่งหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการก่อให้เกิดการค้าเสรีขึ้นในโลก อย่างไรก็ดี การดำเนินการต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ก็มิได้ละเลยต่อประโยชน์ของผู้ประกอบการ และได้พยายามศึกษาหาแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายอย่างดีที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น