La Vita e' Bella (Life is Beautiful 1997) เป็นภาษาอิตาเลียนที่ไม่ติดตลาดเท่ากับคำว่า La Dolce Vita แต่ Roberto Begnini ผู้กำกับและดารานำ อดีตผู้ช่วยแฟลลีนีคนนี้ได้แสดงให้เห็นว่า เขาวัดรอยเท้าครูของเขาและพระเอกในดวงใจอย่างชาร์ลี แชปลินได้ใกล้เคียงทีเดียว
ขณะที่ชาร์ลี แชปลินเอาเรื่องฮิตเลอร์ จอมเผด็จการมาล้อเลียนตรงๆ ในช่วงก่อนสงครามโลก (The Great Dictator) เบญีนีเสียดสีและล้อเลียนความคิดของเผด็จการกว่าครึ่งค่อนศตวรรษให้หลัง เขาไม่ได้เล่าเรื่องค่ายกักกันและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แบบ Schindlers List แต่แสดงให้เห็นว่าจิตวิญญาณมนุษย์นั้นยิ่งใหญ่กว่าความเจ็บปวด ความโหดร้าย แม้กระทั่งความตายอันเนื่องมาจากความบ้าอำนาจของคนบางคน
หนังเรื่องนี้มีอยู่สองภาคที่แตกต่างกันแทบจะสิ้นเชิง ภาคแรกเป็นการแนะนำตัวละคร เป็นชีวิตที่สงบในเมืองเล็กๆ ตอนกลางของอิตาลีในช่วงปี 1939 เราเห็นกวีโด นั่งรถไปกับเพื่อน เบรกใช้การไม่ได้ วิ่งผ่านผู้คนที่เข้าแถวรอรับใครก็ไม่ทราบ เขาสวมรอยคนที่ชาวบ้านรอรับ เช่นเดียวกับอีกหลายฉากที่เขาจะ "สวมรอย" เพื่อเสียดสีจอมเผด็จการ
อย่างการสวมรอยศึกษานิเทศก์จากกรุงโรมที่ไปตรวจโรงเรียนในเมือง ซึ่งสาวที่เขารักสอนอยู่ เขาสวมบทเป็นข้าราชการผู้นั้น ไปถึงโรงเรียนก่อนเวลาที่กำหนดเล็กน้อย และเริ่ม "การตรวจ" ลงท้ายด้วยการแสดงละครล้อเลียนแนวคิด "เลือดบริสุทธิ์" และเชื้อชาติอารยันของพวกนาซีและฟาสชิสต์คลั่งชาติทั้งหลาย เขาบอกเด็กๆ และคณะครูในโรงเรียนว่า หูกางและสะดือจุ่นอย่างเขานี่แหละคือเครื่องหมายของอารยันสายเลือดบริสุทธิ์
กวีโดเป็นยิว แต่เราไม่รู้ว่าเขาเป็นยิวจนเมื่อภาคแรกใกล้จะจบเมื่อมีป้ายเขียนไว้หน้าร้านแห่งหนึ่งว่า "คนยิวและหมาห้ามเข้า" (คล้ายกับป้ายที่ฝรั่งติดย่านคนขาวที่เซี่ยงไฮ้ในยุคก่อนการปฏิวัติว่า "คนจีนและหมาห้ามเข้า") หน้าร้านของเขามีคนเอาสเปรย์ไปฉีดตัวใหญ่ๆ ว่า "ร้านยิว"
นอกนั้นยังมีม้าทาสีเขียว เขียนติดข้างๆ ว่า "ม้ายิว" มีคนนำไปไว้หน้าโรงแรมที่กำลังมีงานหมั้นของปลัดเทศบาลกับสาวที่กวีโดรัก ฉากระหว่างงานเลี้ยงเป็นฉากที่ความสัมพันธ์ระหว่างกวีโดกับสาวผู้ดีมีฐานะอย่าง Dora ได้มาไกลจนสุกงอมแล้ว เธอมุดลงไปใต้โต๊ะที่นั่งอยู่กับคู่หมั้นและแขกเหรื่อเพื่อจะได้พบกวีโดและจูบเขา พร้อมกระซิบว่า "พาฉันหนีเถอะ"
แล้วพระเอกของเราก็พาเธอขึ้นม้าที่เขาขี่ขึ้นไปในห้องโถงโรงแรม ไม่ได้ขี่เหมือนคาวบอย ขี่ขึ้นไปแบบที่ใครๆ นึกว่าเป็นการแสดง แล้วฉุดเธอขึ้นม้าพาหนีไป ทั้งสองแต่งงานกันโดยที่แม่ของฝ่ายหญิงคงไม่เห็นด้วยและคงตัดแม่ลูกกัน เพราะยายไปร้านหนังสือที่กวีโดเป็นเจ้าของ พบแต่หลานวัย 5 ขวบ ซึ่งไม่รู้จักยาย ยายไปหาโดยน่าจะรู้ว่า ลูกเขยที่เธอรังเกียจได้ถูกจับตัวไปแล้ว
วันเดียวกันนั้นเอง กวีโดกับลูกชายก็ถูกต้อนขึ้นรถไฟไปค่ายกักกันพร้อมกับชาวยิวอีกเป็นจำนวนมาก ภรรยาของเขาไม่ใช่ยิว แต่เธอขอร้องทหารนาซีให้เธอไปด้วย เธอคงไม่ต้องการมีชีวิตอยู่คนเดียวโดยปล่อยให้สามีและลูกไปอยู่ในค่ายนรกเช่นนั้น
ครึ่งหลังนี่เองที่เราเห็นจินตนาการของมนุษย์ในการเผชิญกับชะตากรรม เห็นว่าคนมีความสามารถแบบไร้ขีดจำกัดขนาดไหนในการปกป้องคนที่ตนเองรัก อย่างที่พ่อคนนี้ทำกับลูกน้อย เพื่อไม่ให้เขาถูกกระทำทารุณอย่างโหดร้ายมากเกินไปจากโลกใบนี้
พ่อทำให้ลูกเข้าใจว่า ที่นั่งรถไฟกันนั้นเป็นการไปเที่ยวอย่างที่ลูกเคยร้องขออยากไป ลูกถามว่าจะไปไหน เขาตอบว่า แม่เขาห้ามบอก แล้วจะรู้เอง เมื่อไปถึงค่ายกักกัน พ่อก็พยายามทำให้ลูกเข้าใจว่า ทั้งหมดเป็นเกมชนิดหนึ่ง ทุกคนต้องพยายามแข่งขันกันทำคะแนนให้ได้มากที่สุด ใครทำได้ 1,000 คะแนนก่อนจะได้รถถังเป็นรางวัล รถถังแท้ๆ ไม่ใช่ของเล่นเด็ก
ฉากที่ดีที่สุดฉากหนึ่งเห็นจะเป็นตอนที่เข้าไปอยู่ในค่ายใหม่ๆ ทหารนาซีเข้ามาสั่งการเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ถามว่าใครพูดภาษาเยอรมันเป็นบ้าง กวีโดยกมือ เพื่อนถามว่า "แกรู้ภาษาเยอรมันหรือ" เขาตอบว่า "เปล่า" แต่เขาก็แปลทุกอย่างอย่างคล่องแคล่ว แปลงกฎของนาซีให้กลายเป็นกฎกติกาของเกมชีวิต โดยมีเป้าหมายให้ลูกของเขาฟัง ไม่ให้ลูกงอแงอยากหาแม่และอยากกลับบ้าน ไม่ให้ลูกกลัวและตื่นเต้นกับเกมชีวิตที่กำลังเล่นกันอยู่นี้
ตอนแรกมีเด็กหลายคนเป็นเพื่อนเล่นของโจชัว วันหนึ่งลูกบอกว่าเด็กๆ และคนแก่หายไปหมด พวกเขาไป "อาบน้ำ" เหลือโจชัวคนเดียว ซึ่งกวีโดต้องพยายามทุกวิถีทางให้ลูกได้หลบซ่อน เพราะใครๆ รู้ดีว่า "อาบน้ำ" หมายถึงถูกส่งเข้าห้องรมแก๊ส
กวีโดมีโอกาสสองครั้งเพื่อส่งสารถึงภรรยาว่าเขากับลูกยังมีชีวิตอยู่ ครั้งแรกแอบพูดออกทางเสียงตามสายที่กระจายเสียงไปทั่วค่าย "สวัสดีเจ้าหญิง" เป็นคำทักทายที่เขาใช้กับเธอตั้งแต่ฉากแรกในหนัง ลูกชายก็ได้พูดทักทายแม่ไปด้วย ทำให้เกิดกำลังใจทั้งพ่อแม่ลูก ครั้งที่สองเขาไปเป็นบ๋อยที่ร้านอาหารสำหรับนายทหารเยอรมัน เขาแอบเปิดเพลงจากโอเปร่าของโอเฟนบาค ซึ่งเขาและเธอไปชมที่โรงละครตอนที่ชอบพอกันใหม่ๆ เธอได้ยินก็รู้ว่าเป็นเขา
ช่วงนั้นเขาสามารถทำให้ลูกออกจากที่ซ่อนไปปะปนกับเด็กๆ ชาวเยอรมัน ได้กินอาหารและขนมอย่างดี ขณะที่พ่อทำหน้าที่เป็นคนเสิร์ฟ ก่อนให้ลูกไปร่วมกับเด็กเยอรมันพ่อกำชับลูกว่าจะต้องไม่พูดอะไรเลย เพื่อมิให้ใครรู้ว่าเป็นยิว ลูกก็ทำตามสัญญาจนเมื่อพ่อเอาขนมไปให้ หนูน้อยพลั้งปากพูดว่า "Grazie" (ภาษาอิตาเลียนแปลว่าขอบคุณ) แทนที่จะพูดภาษาเยอรมันว่า Danke พอดีมีผู้หญิงเยอรมันอยู่ที่นั่นได้ยินเข้า เธอรีบไปตามทหารมา ตอนนี้คนดูใจเต้นระทึก คิดว่าพ่อลูกคงโดนจับแน่ แต่ปฏิภาณไหวพริบของกวีโดทำให้เขาและลูกเอาตัวรอดมาได้
เมื่อเสร็จงานเขาแอบไปเปิดเพลงโอเฟนบาคให้ภรรยา แล้วอุ้มลูกเดินกลับไปที่พัก เป็นฉากที่สวยงามแต่เศร้ามากที่สุดฉากหนึ่งเมื่อพ่ออุ้มลูกเดินฝ่าหมอกและความมืด แสงไฟสลัวและอากาศหนาวเหน็บ ลูกง่วงนอน เขาบอกลูกให้หลับและฝันดี ทั้งหมดนี้อาจเป็นแค่ความฝันเท่านั้น "พรุ่งนี้เมื่อตื่นขึ้นมา ลูกจะได้พบแม่ที่เตรียมนมกับคุกกี้ไว้ให้" ภาพตัดไปยังใบหน้าของดอราที่นัยน์ตาแดงก่ำ เธอฟังเพลงโอเปร่านั่นแล้วร้องไห้ คิดถึงสามีและลูก ขณะที่กวีโดอุ้มลูกเดินหลงทางไปเจอกองกระดูกคน
ชีวิตในค่ายกักกันเป็นชีวิตที่สิ้นหวังอย่างยิ่ง ว่ากันว่าชาวยิวส่วนใหญ่ไม่ได้ตายเพราะถูก รมควันพิษ แต่ตายเพราะความสิ้นหวัง นั่นคือที่มาของทฤษฎีจิตเวชศาสตร์ Logotherapy ของ Victor Frankl ที่รอดตายจากค่ายกักกันเพราะเขามีความหวังเสมอว่าจะได้ออกมาพบหน้าลูกเมีย
วิกตอร์ ฟรังเคิลอพยพไปอยู่สหรัฐฯ ได้วิจัยพบว่า คนฆ่าตัวตายในอเมริกาส่วนใหญ่ไม่ได้ทำเพราะความอดอยากยากแค้น แต่เพราะเห็นว่าชีวิตไม่มีความหมาย ไม่รู้จะอยู่ไปทำไมมากกว่า การมีชีวิตอยู่อย่างมีเป้าหมาย ทำให้คนสามารถอดทนและทำได้ทุกอย่าง
เบญีนีอยากให้คนมองภาพค่ายนรกด้วยสายตาเด็กๆ ที่ไร้เดียงสา ไม่เช่นนั้นคงมิอาจทนต่อความโหดร้ายและคงตายกันหมด แต่สุดท้ายกวีโดก็ตายเพราะพยายามหาทางช่วยเหลือเมียและลูก ซึ่งรอดชีวิตมาได้ ลูกได้รถถัง จริงๆ เป็นรางวัล ภาพที่ทำให้คนดูยิ้มทั้งน้ำตาตอนจบ
Life is Beautiful ทำให้เราเห็นว่า แม้แต่ในนรกก็ยังมีแสงริบหรี่แห่งความหวังและความอยู่รอดหลุดลอดเข้ามาได้ ทำให้เชื่อว่า ที่ใดมีความหวังและความรัก พลังแห่งความเป็นคนไม่มีวันดับมอดและหมดสิ้น
การหัวเราะใส่หน้า คือวิธีเอาชนะศัตรูที่ดีที่สุด เขาใช้ตลกเพื่อปกป้องลูกจากโลกที่เลวร้าย เขาใช้ตลกเพื่อช่วยให้รอดพ้นจากสถานการณ์คับขัน ในกรณีของกวีโดคงไม่ใช่เพราะเขาจงใจทำเรื่องโหดร้ายให้กลายเป็นเรื่องตลก แต่เป็นเพราะเขาเกิดมาเป็นคนตลก และไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้ในการต่อสู้กับเผด็จการนอกจากการตลก ถ้าเขามีปืนเขาอาจจะยิงพวกนาซีให้ตาย ถ้าเขามีกองทัพเขาคงนำไปบดขยี้พวกวายร้ายเหล่านั้นเพื่อช่วยลูกเมียให้พ้นจากนรก
หนังอย่างนี้น่าจะมีอิตาลีกับไทยที่ทำได้ คนอิตาเลียนกับคนไทยมีอะไรคล้ายกันหลายอย่าง เป็นคนขี้เล่น สนุกสนาน เจอเรื่องร้ายๆ ยังหัวเราะและทำเป็นเรื่องตลกไปเลยก็มี การล้อเลียน ประชดประชัน เสียดสีนี่ก็เก่ง
ความจริง สิ่งที่พ่อสร้างเรื่องต่างๆ ให้ลูกเข้าใจให้เป็นอีกเรื่องหนึ่งในหนังเรื่องนี้ เป็นภาษาสากลชองมนุษยชาติคือความพยายามหาคำอธิบายสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ให้ความหมายกับ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ทางสังคม ทำให้คน "เข้าใจ" ความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ และ "รับได้"
นี่คือความหมายของตำนานเทพกรณัม รวมถึงนิทาน นิยาย เรื่องเล่าสืบต่อกันมา ก่อนที่จะหาคำอธิบายทางปรัชญาและทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็มิได้ลบล้างคุณค่าและความหมายของเทพกรณัม ตำนานทั้งหลาย ดังที่ยังปรากฏอยู่ในความเชื่อและศาสนาต่างๆ
เรื่องราวเหล่านี้เป็นจินตนาการของมนุษย์เพื่อตอบคำถามให้เกิดความสบายใจ ลองคิดถึงเรื่องราวและนิทานต่างๆ ที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายเล่าให้เราฟังตอนยังเด็ก เรื่องดีๆ นิทานดีๆ ที่เราเล่าให้ลูกฟังก่อนนอน เพราะเราต้องการให้ลูกหลับอย่างมีความสุขในโลกที่สวยงาม ในโลกแห่งความฝันและจินตนาการ
เพื่อว่าเมื่อตื่นขึ้นมาตอนเช้า เขาจะได้มีแรงและพลังพอที่จะเผชิญกับโลกที่สับสนวุ่นวายและเต็มไปด้วยความทุกข์นี้อย่างน้อยอีกหนึ่งวัน