xs
xsm
sm
md
lg

คุณยายละออ

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

พระจันทร์ยังมีแหว่งมีเว้าเป็นเศษเป็นเสี้ยวไม่เท่ากัน เดือนหนึ่งจะเห็นเต็มดวงก็แค่ไม่กี่วัน ชีวิตคนเราจะให้สุขสมเสมอไปก็ใช่ที่ ย่อมมีทุกข์สลับเพื่อให้ได้สัมผัสเต็มคุณค่าของสิ่งสมมติที่เรียกกันว่าความสุข

เส้นทางเดินในแต่ละเช้าแต่ละเย็นของผมกับครอบครัวในรอบ 4 ปีมานี้ก็เช่นกัน....

ไม่ว่าจะสมัยยังอยู่ที่บ้านหลังสโมสรกองทัพบก สี่เสาเทเวศร์ หรือย้ายมาอยู่ที่บริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 2 ไม่ช่วงเช้าก็ช่วงเย็นที่ผม บางครั้งก็คนเดียว บางครั้งก็กับภรรยา จะต้องเดินเข้าไปในสถานที่แห่งหนึ่ง

เป็นสถานที่ที่สร้างความรู้สึกอบอุ่นให้อย่างไม่น่าเชื่อ

ไม่ว่าก่อนหน้านั้นจะพกพาความเครียดจากงานหรือจากอะไรต่อมิอะไรมาทั้งวันอย่างไร แต่พอได้เข้าสู่พื้นที่ที่ว่านี้ทุกสิ่งทุกอย่างมลายหายไปสิ้น ณ วินาทีนั้น

พื้นที่ของคุณยายละออ !

รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และบางทีก็เสียงร้องไห้กระจองอแงหากเป็นยามเปิดเทอมใหม่ ๆ ของเด็กวัย 2 ปีเศษไปจนถึง 7 - 8 ขวบ มีให้ได้สัมผัสทุกวัน กิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเด็ก กับครู และพ่อแม่ มีให้เห็นในหลายรูปแบบของการจัดการศึกษาแนวบูรณาการ

ต้องยอมรับว่าบางวันแทบไม่อยากเดินกลับออกมาสู่โลกของผู้ใหญ่ที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่งช่วงชิง

เป็นการมองการณ์ไกลอย่างยิ่งของท่านเจ้าของที่ดินผืนนี้ที่อุทิศให้เป็นสถานศึกษาสำหรับเด็ก

คุณยายละออ หลิมเซ่งท่าย

วันนี้ – วันอังคารที่ 14 กันยายน 2547 ณ พื้นที่อบอุ่นผืนนี้ที่มีนามในปัจจุบันสมัยว่า “โรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิส” และ “โรงเรียนประถมสาธิตละอออุทิส” ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ถนนราชสีมา จะมีพิธีตักบาตรและทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่ท่าน เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันเสียชีวิตของท่านเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2482

ปีนี้ – ก็ครบ 65 ปีพอดี

คุณยายละออ หลิมเซ่งท่ายเกิดเมื่อปลายปี 2409 ณ บ้าน “เจ้าสัวษร” หรือ “หลวงอภัยวานิช” ผู้เป็นลุง บิดาของท่านชื่อ “ฉ่ำ” มารดาชื่อ “เอี่ยม” บิดาถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเล็กมาก หลังจากนั้นมารดาพาท่านย้ายมาอยู่ที่ตรอกศาลเจ้าโรงเกือก

ท่านได้รับการฝึกอบรมตามแบบอย่างของกุลสตรีตั้งแต่เล็ก มีอุปนิสัยสันโดษ ครองตัวเป็นโสด และเฝ้าปรนนิบัติมารดามาโดยตลอด ขยัน ใช้เงินด้วยความมัธยัสถ์ ช่วยมารดาทำงานบ้านและทำขนมขายมาตั้งแต่อายุ 12 – 13 ปี เวลาว่างรับจ้างเย็บแพรและร้อยดอกไม้ขายเป็นรายได้พิเศษ

นำเงินรายได้พิมพ์หนังสือปาฏิโมกข์แจกจ่ายเป็นธรรมทาน

เมื่อมารดาถึงแก่กรรม คุณยายละออ หลิมเซ่งท่ายในวัยเพียง 37 ปีเท่านั้น ก็ได้รับทรัพย์สินมรดกทั้งหมด เนื่องจากพี่สาวชื่อ “ละมุน” ถึงแก่กรรมไปก่อน

เมื่อจำเป็นต้องรับภาระของครอบครัว ดูแลน้องชายอีกคนที่ชื่อ “ชิ่ว” คุณยายละออ หลิ่มเซ่งท่าย ก็ใช้ความสามารถทำมาค้าขายในหลากหลายรูปแบบจนเพิ่มพูนทรัพย์สมบัติมากขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก โดยไม่ได้เลือกวิธีการขายทรัพย์มรดก

แต่ดูเหมือนเงินทองที่คุณยายหามาได้ จะถูกนำไปใช้ในการบำเพ็ญกุศลทางพระพุทธศาสนาเสียยิ่งกว่าบำรุงความสุขเฉพาะตน

เช่น ถวายอาหารพระภิกษุบิณฑบาตรวันละ 150 รูปเป็นประจำ ถวายจตุปัจจัย ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ สร้างกุฏิสงฆ์ สร้างพระไตรปิฎก จัดพิมพ์หนังสือสวดมนต์ และสร้างพระประธานถวายวัดทั่วไปอยู่เสมอ รวมทั้งเป็นเจ้าภาพอุปสมบถพระภิกษุสามเณร ที่ประสงค์จะศึกษาพระปริยัติธรรมอีกมากมาย

แต่ที่สำคัญยิ่งและถือเป็นวิสัยทัศน์ยาวไกล โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงยุคสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่...

คุณยายละออ หลิมเซ่งท่ายเห็นความสำคัญในการให้การศึกษาแก่เยาวชนไทยเป็นอย่างยิ่ง

ท่านจึงบริจาคเงินและที่ดินสำหรับสร้างสถานศึกษาหลายแห่งด้วยกัน

ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะหาได้ง่ายนักในบุคคลผู้มีทรัพย์สินเงินทองทั่วไป

เริ่มจากสร้างตึก 1 หลังขึ้นในวัดไตรมิตรวิทยาราม -- ต่อมาเป็นที่ตั้งของโรงเรียนไตรมิตร สังกัดกรมสามัญศึกษา

มอบที่ดินให้กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งโรงเรียน – ปัจจุบันคือวิทยาลัยพาณิชยการเชตุพน

บริจาคอาคารบ้านพักให้จัดสร้างเป็นโรงเรียนการช่างสตรี โดยกำหนดชื่อของมารดาและตัวท่านเองรวมกันเป็นชื่อ “โรงเรียนเอี่ยมละออ” และให้ได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนผลประโยชน์จากทรัพย์สินของตัวท่านอีกด้วย

และที่ลืมไม่ได้คือบริจาคเงินสร้างโรงเรียนสำหรับเด็กเล็กขึ้นในพื้นที่ของโรงเรียนการเรือนในอดีต ริมถนนราชสีมา ที่ต่อมาคือวิทยาลัยครูสวนดุสิต หรือในเวลาต่อมาคือสถาบันราชภัฏสวนดุสิต และแน่นอนว่าปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ทุกวันนี้ยังคงเจริญรุ่งเรืองในนาม...

“โรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิส”

เป็นโรงเรียนที่ได้รับรางวัลมากมายในอดีต และเป็นเสมือนโรงเรียนต้นแบบของวิธีการเรียนการสอนแบบ “เตรียมความพร้อม” ที่ในปัจจุบันเรียกว่า Child Center นั่นแหละ

นอกจากระดับอนุบาลที่เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาล 2 ระดับ (บ้านหนูน้อย, บ้านสาธิต) และอนุบาล 3 ระดับ (อนุบาล 1 – 3) เมื่อ 3 ปีมานี้ หลังจากการเตรียมการมานาน ยังได้พัฒนาขึ้นมาเป็นระดับประถมศึกษา เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ประถม 1 – 6 ขึ้นมาอีกส่วนหนึ่ง โดยแยกออกมาเป็น...

“โรงเรียนประถมสาธิตละอออุทิส”

หรือบางทีก็ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า....

“โรงเรียนประถมสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต”

ทั้งนี้ก็มาจากเสียงเรียกร้องของผู้ปกครองจำนวนไม่น้อย ที่ต้องการให้ลูกหลานศึกษาต่อเนื่องในระบบ “เตรียมความพร้อม” ที่เน้นแนว “เพลิน” คือ Play + Learn เพราะในระหลายปีก่อนหน้านี้ ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งประสบปัญหาในการหาโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาที่ไปในทางเดียวกับระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนอนุบาลละอออุทิส

แนวการเรียนการสอนแบบ “เตรียมความพร้อม “ หรือ “เพลิน” ไม่ใช่ว่าจะไปได้ราบรื่น ไร้ปัญหา

ตรงกันข้าม มีปัญหาให้แก้ไขตลอดเวลา

การมี “โรงเรียนสาธิต” ต่อเนื่องจากระดับอนุบาล ขึ้นมาจนจบชั้นประถม 6 จึงนอกจากจะเป็นเรื่องดีเรื่องมงคลสำหรับผู้ปกครองที่เชื่อมั่นในแนวทางนี้แล้ว ยังจะเป็นคุณูปการในเชิงวิชาการที่มีต่อเด็กรุ่นต่อไปด้วย เพราะนี่คือการพัฒนาองค์ความรู้ในระบบการจัดการการศึกษา

ทุกวันนี้ ในชั้นประถมเปิดดำเนินการมาได้เพียง 3 ปี เด็กชั้นสูงสุดของโรงเรียนจึงมีเพียงชั้นประถม 3 อีก 3 ปีจึงจะมีครบถึงชั้นประถม 6

ณ วันนี้ นอกจากจะกล่าวได้ว่าคุณยายละออ หลิมเซ่งท่ายเป็นผู้ให้กำเนิด “โรงเรียนสำหรับเด็กเล็ก” หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า “โรงเรียนอนุบาล” แห่งแรกขึ้นในประเทศไทยแล้ว

การต่อยอดความคิดโดยผู้บริหารการศึกษาชั้นหลัง จึงทำให้พื้นที่ของคุณยายเป็นสถานที่วิจัยทดลองการจัดการศึกษาแบบใหม่ที่จะมีคุณูปการต่อเด็กรุ่นต่อไปในอนาคตด้วย

คุณยายละออ หลิมเซ่งท่ายถึงแก่กรรมด้วยความชราขณะสิริอายุได้ 74 ปี

ท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทย และหีบทองเป็นพิเศษ เพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล

รวยมากนัก -- ไม่ต้องทำพรรคการเมืองก็ได้ ทำโรงเรียนดี ๆ สักแห่งจะมีผู้จดจำท่านไปชั่วลูกชั่วหลาน !
กำลังโหลดความคิดเห็น