xs
xsm
sm
md
lg

วิวัฒนาการของบริษัทการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

ญี่ปุ่นนับเป็นประเทศสำคัญที่บุกเบิกธุรกิจบริษัทการค้าระหว่างประเทศ จนกลายเป็นกลไกสำคัญในการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ นับเป็นกรณีศึกษาสำคัญสำหรับประเทศไทย

ปัจจุบันญี่ปุ่นมีบริษัทที่ทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศจำนวนมากมายถึง 7,700 บริษัท โดยในจำนวนนี้เป็นบริษัทระดับยักษ์ใหญ่ของโลกและทำธุรกิจแบบครบวงจร ซึ่งเรียกขานกันในชื่อว่า “Sogo Shosha” จำนวน 8 บริษัท คือ มิตชูบิชิ มิตซุย ซูมิโตโม อิโตชู คาเนมัตสึ มารูเบนี โตเมน และ Sojitz (เกิดขึ้นจากการควบกิจการระหว่างบริษัทนิโชอิไวและนิชิเมนเมื่อเดือนเมษายน 2547)

ญี่ปุ่นนับว่าเป็นยักษ์ใหญ่ของธุรกิจบริษัทการค้าระหว่างประเทศ โดยบริษัทการค้าระหว่างประเทศขนาดใหญ่ที่สุด 20 อันดับแรกของโลก เป็นบริษัทญี่ปุ่นมากถึง 11 บริษัท เกาหลีใต้ 4 บริษัท เยอรมนี 2 บริษัท จีน 2 บริษัท และเนเธอร์แลนด์ 1 บริษัท

สำหรับบริษัทการค้าระหว่างประเทศใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรกของโลก ล้วนเป็นบริษัทญี่ปุ่น โดยบริษัทมิตชูบิชินับว่าเป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศใหญ่ที่สุดในโลก มียอดขายในปี 2545 เป็นเงิน 4,500,000 ล้านบาท รองลงมา คือ บริษัทมิตซุย 4,400,000 ล้านบาท, บริษัทอิโตชู 3,500,000 ล้านบาท, บริษัทซูมิโตโม 3,200,000 ล้านบาท และบริษัทมารูเบนี 3,400,000 ล้านบาท

ธุรกิจบริษัทการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ได้เริ่มต้นอย่างจริงๆ จังๆ เมื่อประมาณ 130 ปีมาแล้ว เมื่อญี่ปุ่นเริ่มเปิดประเทศและต้องเผชิญกับปัญหาสำคัญ คือ ภายหลังจากปิดประเทศมาเป็นเวลายาวนานถึง 2 ศตวรรษ ทำให้ภาคธุรกิจไม่คุ้นเคยกับการค้าระหว่างประเทศ นับเป็นช่องว่างทางการตลาดที่สำคัญ

เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ จึงมีการก่อตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศเพื่อให้บริการแก่บริษัทท้องถิ่นทั้งในส่วนนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ แสวงหาตลาดในต่างประเทศ ติดต่อเพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ฯลฯ เป็นต้นว่า กลุ่มมิตซุยได้ก่อตั้งบริษัทการค้าขึ้นเมื่อปี 2419 นับเป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศขนาดใหญ่แบบครบวงจรหรือ Sogo Shosha แห่งแรกของญี่ปุ่น

บริษัทมิตซุยยังนับว่ามีส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอของญี่ปุ่น โดยนำเข้าเครื่องปั่นด้ายจากอังกฤษเมื่อปี 2426 จึงนำเข้าฝ้ายจากต่างประเทศเพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปั่นด้าย จากนั้นได้ผนึกกำลังเป็นพันธมิตรแก่ธุรกิจปั่นด้ายและทอผ้าของญี่ปุ่นในการทำการตลาดต่างประเทศ

ต่อมาบริษัทการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่นได้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมากในการรวมธุรกิจในเครือเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ เรียกกันในนาม “กลุ่มไซบัตสึ” ซึ่งมีความหมายว่า “กลุ่มแห่งความมั่งคั่งร่ำรวย” จนสามารถครอบงำเศรษฐกิจของประเทศ แต่ละกลุ่มจะมีธุรกิจในเครือมากมาย โดยมีบริษัทการค้าและธนาคารเป็นศูนย์กลาง เป็นต้นว่า กลุ่มมิตซุยจะมีธุรกิจครอบคลุมทั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ ธนาคาร ประกันภัย น้ำตาล สิ่งทอ อาหาร เครื่องจักรกล ฯ

ขณะเดียวกันกลุ่มไซบัตสึมีการพัฒนาสายสัมพันธ์กับภาคราชการ กล่าวคือ กลุ่มมิตซุยมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับราชสำนักญี่ปุ่น ขณะที่กลุ่มมิตชูบิชิมีความสัมพันธ์กับรัฐบาล เนื่องจากในปี 2417 รัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้าไปยึดครองไต้หวัน ดังนั้น จึงต้องการเคลื่อนย้ายยุทโธปกรณ์ไปยังไต้หวัน แต่บริษัทเดินเรือของชาติตะวันตกปฏิเสธที่จะรับขนส่งอาวุธดังกล่าว จึงต้องมาขอความช่วยเหลือจากกลุ่มมิตชูบิชิซึ่งมีกองเรือสินค้าของตนเอง ทำให้สนิทสนมกับรัฐบาลนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทการค้าของญี่ปุ่นได้ขยายเครือข่ายกว้างขวางไปทั่วโลก เป็นต้นว่า เมื่อปี 2483 บริษัทมิตซุยมีพนักงานมากถึง 12,000 คน มีสำนักงานการค้าในประเทศญี่ปุ่น 89 แห่ง และสำนักงานในต่างประเทศอีก 100 แห่ง โดยทำการค้าสินค้าต่างๆ มากมาย หากเรียกกันในภาษาไทยแล้ว จะพูดกันว่า “ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ” สำหรับในภาษาญี่ปุ่นจะกล่าวเป็นสุภาษิตว่า “ตั้งแต่เส้นหมี่ราเมนจนถึงขีปนาวุธ” เป็นต้นว่า

ภายหลังญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้ง 2 กองทัพสหรัฐฯ เข้ายึดครองญี่ปุ่น นายพลดักลาส แมคอาร์เธอร์ ซึ่งมีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองญี่ปุ่น มีทัศนคติว่ากลุ่มไซบัตสึพยายามแสวงหาประโยชน์จากสงคราม เช่น การค้าอาวุธ ฯลฯ นับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีพฤติกรรมรุกรานประเทศอื่นๆ

กองทัพสหรัฐฯ จึงออกกฎหมายบังคับให้กลุ่มไซบัตสึ แยกตัวออกมาเป็นบริษัทย่อยๆ มากมาย โดยแต่ละบริษัทเป็นอิสระจากกัน ตัวอย่างหนึ่ง คือ กลุ่มมิตชูบิชิซึ่งมีบริษัทการค้าระหว่างประเทศเป็นศูนย์กลาง ต้องแยกออกมาเป็นบริษัทนับร้อยบริษัท แต่ละบริษัทใช้ชื่อเรียกแตกต่างกัน เป็นต้นว่า ธนาคารมิตชูบิชิถูกสั่งให้เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารชิโยดะ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ภายหลังการยึดครองของสหรัฐฯ สิ้นสุดลง หลายบริษัทได้เปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อมิตชูบิชิเช่นเดิม

ขณะเดียวกันรัฐบาลญี่ปุ่นได้คลายความเข้มงวดในการควบคุมการรวมตัวเป็นกลุ่มธุรกิจลง ส่งผลให้มีการรวมตัวอีกครั้งหนึ่ง แต่จะรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ในรูป “เคเรตสึ” นับว่าแตกต่างจากเดิมที่เป็นรูป “ไซบัตสี” ทั้งนี้ บริษัทการค้าระหว่างประเทศนับว่าเป็นกลไกสำคัญของกลุ่มเคเรคสึเหมือนกับในอดีต

บริษัทการค้าระหว่างประเทศนับว่ามีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่นภายหลังสงคราม เป็นต้นว่า เมื่อปี 2503 ขณะที่บริษัทญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีตามหลังประเทศตะวันตกเป็นอย่างมาก บริษัทมิตซุยได้ก่อตั้งแผนกพัฒนาเทคโนโลยีขึ้น ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 100 คน ทำหน้าที่ประสานงานกับสถาบันวิจัยชั้นนำของโลก จากนั้นจะนำเข้าเทคโนโลยีที่เห็นว่าน่าสนใจมาถ่ายทอดแก่บริษัทญี่ปุ่น รวมถึงให้บริการด้านการจัดทำสัญญาซื้อขายสิทธิบัตรด้วย

บทบาทของบริษัทการค้าไม่เฉพาะนำเข้าและส่งออกเท่านั้น แต่รวมถึงการแสวงหาโครงการในต่างประเทศด้วย บทบาทด้านประสานงานโครงการ มีตัวอย่างมากมาย เป็นต้นว่า ปี 2512 บริษัทอิโตชู (เดิมใช้ชื่อซีอีโตะ) ชนะประมูลการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันแก่ประเทศอัลจีเรีย จากนั้นได้จ้างบริษัทญี่ปุ่นในกลุ่มของตนเองเพื่อก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักร

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ บริษัทมิตซุย ซึ่งชนะประมูลก่อสร้างในโครงการวางท่อส่งน้ำมันระยะทาง 760 กม. ระหว่างรัสเซียและตุรกี จากนั้นได้ติดต่อประสานงานกับธนาคารญี่ปุ่นเพื่อจัดหาเงินทุน ติดต่อบริษัทก่อสร้างเพื่อมารับเหมาก่อสร้าง และติดต่อผู้ผลิตท่อเหล็กของญี่ปุ่นเพื่อป้อนวัตถุดิบ

บทบาทด้านร่วมลงทุน มีตัวอย่างมากมาย เป็นต้นว่า บริษัทมิตซุยร่วมลงทุนกับบริษัท Exxon Mobile ในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและการสำรวจน้ำมันที่ประเทศการ์ต้า ร่วมลงทุนกับบริษัทเชฟรอนในธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LNG) ในประเทศออสเตรเลีย ส่วนบริษัทมารูเบนีได้ร่วมลงทุนกับบริษัทเชลล์ในธุรกิจเหมืองถ่านหินในออสเตรเลีย

บทบาทสร้างเครือข่ายอย่างกว้างขวางในต่างประเทศ เป็นต้นว่า กรณีการค้าเหล็ก เดิมจะอยู่ในรูปส่งออกเหล็กเท่านั้น ต่อมาเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว บริษัทซูมิโตโมได้จัดตั้งธุรกิจ coil center ในประเทศต่างๆ จำนวนมาก เพื่อสร้างเครือข่ายสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็ก

นอกจากบทบาทในการส่งออกแล้ว บริษัทการค้าระหว่างประเทศยังมีบทบาทนำเข้าด้วย ซึ่งเป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่ว่าแม้บริษัทมิตซุยจะเป็นบริษัทญี่ปุ่น แต่นับว่าเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ 10 อันดับแรก โดยส่งออกสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ มากมาย ตั้งแต่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าของบริษัท GE เครื่องบินโบอิ้ง บุหรี่มาร์ลโบโร่ ฯลฯ

อนึ่ง เดิมบริษัทการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่นเน้นการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับต่างประเทศเท่านั้น แต่ระยะหลังจะทำการค้าระหว่างประเทศกับประเทศที่สามซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นด้วย เป็นต้นว่า เป็นตัวกลางระหว่างบริษัทน้ำมันของประเทศเวเนซูเอลล่าในการซื้อเรือขนส่งน้ำมันที่ต่อในเกาหลีใต้ หรือเป็นตัวกลางในการจำหน่ายเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างของสหรัฐฯ ให้แก่บริษัทรัสเซีย

สำหรับในอนาคตนั้น ธุรกิจบริษัทการค้าระหว่างประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ

ประการแรก เดิมบริษัทญี่ปุ่นมีความรู้ในด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศน้อย จึงจำเป็นต้องพึ่งพาบริษัทการค้าระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก แต่ปัจจุบันหลายบริษัทมีความรู้ในธุรกิจระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ดังนั้น จะพึ่งพาบริษัทการค้าระหว่างประเทศลดลง

ประการที่สอง ความก้าวหน้าทางด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อกันโดยตรง โดยไม่ผ่านคนกลาง คือ บริษัทการค้าระหว่างประเทศ

ประการที่สาม รูปแบบการค้าระหว่างประเทศในอนาคตจะเปลี่ยนมาอยู่ในรูปสัญญาซื้อขายระยะสั้น ซึ่งสามารถต่อสัญญาได้เรื่อยๆ แทนที่จะอยู่ในรูปสัญญาที่ทำกันในระยะยาว นับเป็นการลดบทบาทบริษัทระหว่างประเทศโดยปริยาย

แนวโน้มข้างต้นนับว่าเป็นเรื่องท้าทายเป็นอย่างมากต่อการเป็นพ่อค้าคนกลาง ดังนั้น บริษัทการค้าระหว่างประเทศขนาดใหญ่ซึ่งพยายามปรับตัวจากรูปแบบเดิม คือ Global Trader & Organizer ที่เน้นเพียงการค้าเท่านั้น ไปสู่บทบาทใหม่ คือ Total Solution Provider ซึ่งให้บริการแบบครบวงจร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้นว่า เมื่อปี 2543 บริษัทมิตซุยลงทุนนับหมื่นล้านบาทติดตั้งเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยเพื่อให้บริการแบบครบวงจรแก่ลูกค้าทั้งในส่วนการค้า การเงิน ลอจิสติกส์ ข้อมูลข่าวสาร ฯลฯ

การปรับตัวของบริษัทการค้าระหว่างประเทศก็เพื่อก้าวสู่ยุครุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น การอยู่รอดของบริษัทการค้าระหว่างประเทศจงขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงธุรกิจ มิฉะนั้น ก็จะเผชิญกับปรากฏการณ์ที่เรียกกันในศัพท์ทางการตลาดที่ว่า "The death of the middleman" หรือ “ความตายของพ่อค้าคนกลาง”
กำลังโหลดความคิดเห็น