xs
xsm
sm
md
lg

ฟู้ดแลนด์รับส้มดิสเคานต์ปิดเร็ว เล็งเลิกบัตรเครดิต-ผุดศูนย์กระจาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟู้ดแลนด์ค้าปลีกสัญชาติไทย ประกาศขยายตัวช้าแต่ชัวร์ แม้มีที่ดินในมือหลายแห่ง หัวหิน-ประชาชื่น-สุขาภิบาล พร้อมแผนระยะยาวเพียบ หวังใช้ที่ดินย่านอ่อนนุชสร้างศูนย์กระจายสินค้าหากมีสาขาครบ 12แห่ง ตั้งเป้าสาขาใหม่จรัญฯ 30 ดันยอดรายได้รวมสิ้นปีโต 5-10% เน้นเพิ่มสินค้ากลุ่มอาหาร อัดโบวชัวร์เจาะชุมชนสู้ค้าปลีกข้ามชาติ เล็งยกเลิกการใช้บัตรเครดิตบางรายการรักษาสภาพคล่องทางการเงิน

นายศุภมิตร สุรงค์สิน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต จำกัด เปิดเผยว่า การขยายตัวของฟู้ดแลนด์ที่ผ่านมาเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเน้นความพร้อมเพื่อความมั่นคงในการทำธุรกิจเพราะเป็นธุรกิจค้าปลีกสัญชาติไทยที่ใช้เม็ดเงินลงทุนในประเทศ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีที่ดินเปล่าในมือเป็นของตัวเองแล้วอยู่หลายแห่ง และมีแผนระยะยาวหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็น สร้างศูนย์กลางกระจายสินค้า โรงงาน
ผลิตอาหารพร้อมทาน แผนการขยายสาขาใหม่ในระยะเวลาอันใกล้อาจจะยังไม่มีความชัดเจน แต่ขณะนี้มีที่ดินที่พร้อมสร้างแล้วอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ หัวหิน (ติดกับฝั่งโรงแรมแกรนด์), ประชาชื่น และสุขาภิบาล มีพื้นที่เฉลี่ย 3 ไร่ขึ้นไป รองรับจำนวนรถได้ 100 คัน ซึ่งจะทยอยเปิด เพราะแต่ละแห่งจะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนสร้างไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

หากฟู้ดแลนด์สามารถเปิดสาขาใหม่อีก 3 แห่งในพื้นที่ดังกล่าวก็จะทำให้มีสาขาครบ 12 แห่ง ซึ่งจะคุ้มค่าต่อการสร้างศูนย์กลางกระจายสินค้าหรือ เซ็นเตอร์ แวร์เฮ้าส์ เป็นของตัวเอง จากเดิมที่ใช้สาขาลาดพร้าวเป็นจุดกระจายสินค้า โดยคาดว่าจะต้องใช้พื้นที่มากกว่า 10 ไร่ขึ้นไป ซึ่งบริษัทมีที่ดินบริเวณอ่อนนุชรองรับแล้วเป็นพื้นที่เปล่าขนาด 20 ไร่

นอกจากนี้ หากกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน (Ready To Eat) มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง บริษัทมีก็มีแผนที่จะตั้งโรงงานผลิตสินค้ากลุ่มนี้ขึ้นรองรับ เหมือนกับที่สร้างโรงงานไส้กรอกบุชเชอร์ ช้อยส์ ที่ลาดกระบัง และโรงงานเบเกอรี่ ที่หัวหมากขึ้นเพื่อรองรับกับยอดขายที่เพิ่มขึ้นในทุกสาขาและกลุ่มธุรกิจรองโรงแรม รวมถึงการบริการจัดเลี้ยงนอกสถานที่หรือแคเทอริ่งด้วย

บริษัทจะต้องชูจุดขายเรื่องความหลากหลายของอาหารสดเพื่อสู้กับคู่แข่ง กลุ่มอาหารพร้อมรับประทานจึงเป็นกลุ่มหนึ่งที่จะต้องเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น โดยปัจจุบันกระบวนการผลิตสินค้ากลุ่มนี้จะใช้ส่วนการผลิตที่สาขาลาดพร้าว

“สถานการณ์ของค้าปลีกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงจากเดิมมาก เพราะในอดีตธุรกิจค้าปลีก คือ ซื้อมาขายไปแต่ตอนนี้ต้องนำการตลาดเข้ามาช่วย ต้องอาศัยการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ซึ่งในแต่ละปีฟู้ดแลนด์มีงบในการทำตลาดไม่มากนัก เน้นการออกโบวชัวร์สินค้าแจกตามแหล่งชุมชนใกล้เคียง”

การที่มีค้าปลีกข้ามชาติซึ่งส่งผลกระทบในแง่การเติบโตของธุรกิจ โดยในยุคที่ค้าปลีกข้ามชาติยังไม่เข้ามาซูเปอร์มาร์เก็ตไทยสามารถเติบโตด้วยตัวเลข 2 หลักได้ไม่ยาก แต่ช่วง 4-5 ปีมานี้การเติบโตเหลือเพียง 2-3% ก็ถือว่าดีแล้ว แต่เชื่อว่าธุรกิจค้าปลีกยังมีช่องโหว่ให้ฟู้ดแลนด์เข้าไปได้อยู่แล้ว

ในช่วงต้นปี 2547 ที่ผ่านมา ฟู้ดแลนด์ได้เปิดตัวสาขาใหม่ย่านฝั่งธนบุรีเป็นสาขาแรก ที่ จรัญสนิทวงศ์ 30ใช้เงินลงทุน 150 ล้านบาท และเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าสาขานี้จะช่วยให้บริษัทมีอัตราการเติบโตได้อย่างน้อย 5-10% แต่เป้าหมายยอดขายที่ตั้งไว้ชัดเจน คือ การพยุงยอดขายไม่ให้ลดลงจากปี
2546 ที่ผ่านมามีมูลค่า 3,000 ล้านบาท จาก 8 สาขาในกรุงเทพฯ และพัทยา

“หลังจากทดลองเปิดสาขาดังกล่าวมาประมาณครึ่งปี พอจะประเมินกำลังซื้อของผู้บริโภคในย่านนี้ว่าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อที่ดีไม่แพ้ย่านทำเลทองอย่าง สุขุมวิท หรือลาดพร้าวซึ่งเป็นสาขาที่สร้างยอดขายเป็นอันดับ 1 มาตลอดแม้จะมีคู่แข่งใหม่เกิดขึ้นก็ตาม”

สำหรับมาตรการประหยัดพลังงานของรัฐบาลที่ให้ห้างสรรพสินค้า ดิสเคาน์สโตร์เปิด-ปิดในเวลาใหม่ อาจจะส่งผลดีต่อซูเปอร์มาร์เก็ตนอกห้างที่เปิด 24 ชม. เพราะผู้บริโภคจะมาใช้บริการแทนธุรกิจดิสเคานต์สโตร์ ที่ปิดบริการเร็วขึ้นโดยเชื่อว่ากำลังการซื้อของผู้บริโภคในครึ่งปีหลังจะยังมีแนวโน้มที่ดีอยู่ โดยปัจจุบันการจับจ่ายใช้สอยของลูกค้าภายในฟู้ดแลนด์มีค่าใช้จ่าย 250 บาทต่อหัวต่อคน

นายศุภมิตรกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ฟู้ดแลนด์อาจจะมีนโยบายยกเลิกการใช้บัตรเครดิตบางรายการ เนื่อง
จากที่ผ่านมาสัดส่วนการซื้อของด้วยเงินสดค่อนข้างมาก แต่ช่วงที่บัตรเครดิตออกมามากจนอาจจะทำให้รูปแบบการใช้จ่ายของลูกค้าเปลี่ยนไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทได้
กำลังโหลดความคิดเห็น