หนองคาย- กลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนในปี 2550 ร้อยละ 12 ทั้งเป็นฐานเชื่อมโยงฐานการผลิตและการขนส่งในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ผู้ว่าฯเผยพร้อมส่งเสริมภาคเอกชนจัดตั้งเขตปลอดอากร เป็นฐานการพาณิชย์และอุตสาหกรรม เพิ่มศักยภาพการผลิตเพื่อการส่งออก คาดภายใน 3 ปี การจัดตั้งเขตปลอดอากรน่าจะเห็นผลรูปธรรม
นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เปิดเผยว่า กลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน ประกอบด้วย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู และเลย ได้กำหนดยุทธศาสตร์เสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าของกลุ่มจังหวัดสู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีเป้าหมายเชื่อมโยงเครือข่ายการคมนาคมขนส่ง เพื่อให้กลุ่มจังหวัดเป็นศูนย์กลางการผลิต และกระจายสินค้าของภาคอีสานตอนบนเชื่อมโยงกับฐานการผลิตและการขนส่งของประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มอัตราการขยายตัวของมูลค่าการค้าชายแดนของกลุ่มจังหวัดให้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 12 ในปี 2550
ทั้งนี้ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์การพัฒนาดังกล่าว การจัดตั้งเขตปลอดอากร หรือ Free Zone เป็นอีกโครงการสำคัญ ที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นในจังหวัดหนองคาย ซึ่งเขตปลอดอาการหมายถึงเขตพื้นที่อธิบดีกรมศุลกากร อนุมัติให้จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 97 ตรี แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 8แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากรฉบับที่ 18 พ.ศ.2543 สำหรับการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการค้าเพื่อการส่งออก ภาคเอกชนที่มีศักยภาพสามารถขออนุญาตจัดตั้งได้
นายวงศ์ศักดิ์กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่ลงทุนในเขตปลอดอากรจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นค่าภาษีอากรสำหรับของที่นำเข้าไปอยู่ในเขตพื้นที่ของเขตปลอดอากร ดังนั้น เขตปลอดอากรจึงเปรียบเสมือนดินแดนต่างประเทศ ที่ปลอดจากภาระภาษีอากรซึ่งอยู่ในประเทศไทย โดยมีเจ้าหน้าที่ศุลกากรกำกับดูแลตรวจสอบยานพาหนะและบุคคลที่เข้าออก เขตปลอดอากรเป็นเขตพื้นที่ที่จะไม่มีค่าภาระภาษีที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่ม
"สินค้าหรือเครื่องจักรที่นำเข้ามาเพื่อประกอบการในเขตดังกล่าว จึงไม่ต้องชำระภาษี การจัดตั้งเขตปลอดอากรสามารถดำเนินการได้ โดยภาคเอกชนที่มีความพร้อม ไม่ต้องรอให้หน่วยงานของรัฐ ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการส่งออก"นายวงศ์ศักดิ์กล่าวและว่า
ขณะนี้จังหวัดหนองคาย จึงได้จัดทำโครงการจัดตั้งเขตปลอดอากร ตามกฎหมายศุลกากรเพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชน ในเขตพื้นที่กลุ่มจังหวัดอีสานตอนบนหรือกลุ่ม 6.1 ขอจัดตั้งเขตปลอดอากรได้ เพื่อใช้เป็นฐานการพาณิชย์และอุตสาหกรรม ในการเชื่อมโยงวัตถุดิบในพื้นที่และจากประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการนำเข้าวัตถุดิบจากสปป.ลาว หรือจากประเทศอื่นมาผลิตในเขตปลอดอากรเพื่อส่งออก
จุดนี้ จะเป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตให้กับผู้ประกอบการของไทย ที่จะเพิ่มมูลค่าสินค้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่สาม หรือส่งกลับไปขายยังสปป.ลาว ซึ่งตามแผนงานยุทธศาสตร์ที่กำหนด สำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 จะส่งเสริมให้ภาคเอกชน จัดตั้งเขตปลอดอากรในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภายในปี 2547-2550