xs
xsm
sm
md
lg

บทบาทของเกลือในสังคมโบราณ

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน


คัมภีร์ไบเบิลของคริสต์ศาสนาสรรเสริญความสำคัญของเกลือว่าเป็นสิ่งมีค่ายิ่ง โดยได้เปรียบเทียบคนดีศรีสังคมว่า "Ye are the salt of the earth" ปราชญ์กรีกชื่อ Plutarch กล่าวถึงความต้องการเกลือของคนในสมัยโรมันเรืองอำนาจว่ามีมาก จนทำให้เกิดถนนเกลือ (Salt Road) สำหรับการขนส่งและค้าขายเกลือโดยเฉพาะ ครอบครัวชาวแอฟริกันที่ยากจน เวลาต้องการเกลือบริโภคก็มักนำลูกหลานตนไปขายเป็นทาสเพื่อแลกเกลือ 1 กำมือ หรือไม่ ก็ดื่มปัสสาวะสัตว์ เพราะน้ำปัสสาวะมีเกลือปน และในแอฟริกามีถนนเกลือตัดผ่านทะเลทราย Sahara จาก Timbukty ถึง Mali โดยใช้อูฐ 2,000 ตัว เดินทางไกล 700 กิโลเมตร เพื่อขนเกลือ 300 ตัน นักประวัติศาสตร์ Herodotus ได้เคยกล่าวถึงการทำเกลือในบริเวณ (oasis) โอเอซิสของแอฟริกาว่า เกลือที่ได้มักมีสีแดง และที่บริเวณเนินเขา Jebel Usdum หรือที่มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Mount, Sodom ซึ่งอยู่ใกล้ Dead Sea ที่มีน้ำเค็มจัด นักโบราณคดีได้พบหลักฐานที่แสดงว่าผู้คนที่เคยอาศัยอยู่ในแถบนั้น ในยุคทองสัมฤทธิ์รู้จักทดน้ำเกลือจาก Dead Sea เข้านา แล้วปล่อยทิ้งให้แสงแดดแผดเผาน้ำจนเหลือผงเกลือที่มีสีแดงเรื่อๆ และนี่ก็คือที่มาของคำว่า Sodom เพราะคำคำนี้มาจากคำในภาษา Hebrew ว่า sade ที่แปลว่า สนาม และ adom ที่แปลว่า แดง

ไม่เพียงแต่แอฟริกา และตะวันออกกลางเท่านั้น ที่มีการบริโภคเกลือมากในยุโรป เช่นที่ Saale ในเยอรมนีที่ Mosell ในฝรั่งเศสที่ Droitwich ในอังกฤษ และที่ Tyrol ในเทือกเขา Alps ก็มีการพบหลักฐานมากมายว่า ผู้คนที่อาศัยในบริเวณดังกล่าวรู้จักทำนาเกลือ โดยเฉพาะบาทหลวง J. Bion ชาวฝรั่งเศส ได้เคยบรรยายความยากลำบากของคนฝรั่งเศส ในยามขาดแคลนเกลือจะบริโภค ว่าต้องเสี่ยงชีวิตออกไปทำงานในต่างประเทศเพื่อหาเกลือมาขายเลี้ยงครอบครัว

เพราะเกลือเป็นสารประกอบที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต ดังนั้น สำหรับคนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้ทะเล ความต้องการเรื่องนี้ก็ไม่มีปัญหาใดๆ แต่สำหรับคนที่อาศัยอยู่ไกลจากทะเลมาก นักประวัติศาสตร์มีความใคร่รู้ว่า คนโบราณเหล่านั้นใช้วิธีใดในการหาเกลือ และก็ได้พบว่า ย้อนอดีตไปเมื่อ 2,100 ปีก่อนนี้ ที่มณฑลเสฉวนในจีน คนจีนสมัยนั้นรู้จักขุดดินลงไปลึกถึง 100 เมตร เพื่อนำน้ำเกลือขึ้นมาเคี่ยวให้เหลือผงเกลือ และบ่อเกลือที่ว่านี้เป็นสมบัติส่วนพระองค์ของกษัตริย์จีน ทั้งนี้ เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์จะทำธุรกิจเกลือเพื่อนำรายได้เข้าท้องพระคลัง และเมื่อ 700 ปีก่อนนี้เอง ประวัติศาสตร์ก็ได้จารึกว่า ในยุคของกษัตริย์ราชวงศ์ Ming และ Yuan 80% ของเงินรายได้ในท้องพระคลังมาจากการเก็บภาษีเกลือ

นักประวัติศาสตร์จีนยังบันทึกอีกว่า ในปี พ.ศ. 1720 Hu Yuanghi ผู้สำเร็จราชการแห่งเสฉวน ได้เริ่มกระบวนการหาเกลือในมณฑลเสฉวน ซึ่งตั้งอยู่กลางผืนแผ่นดินใหญ่ โดยไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดของมณฑลติดทะเลเลย กรรมกรและวิศวกรจีนได้ขุดบ่อตามภูเขาและหุบเขาต่างๆ บ่อที่ขุดมีความลึกตั้งแต่ 200-300 เมตร และเมื่อขุดถึงแหล่งน้ำเกลือใต้ดิน วิศวกรจีนก็ได้เสริมความแข็งแรงของบ่อ โดยการจัดเรียงก้อนหินขนาดใหญ่ตามผนังบ่อ และเวลาต้องการตักน้ำเกลือขึ้นมาใช้ เขาก็ใช้ถุงที่ทำด้วยหนังสัตว์ตักน้ำ แล้วใช้รอกดึงถุงขึ้นมา จากนั้นก็ต้มน้ำเกลือที่ได้ โดยใช้ไฟจากการเผาขอนไม้ จนเหลือเกลือติดก้นกระทะ การสำรวจบ่อเกลือโบราณแสดงให้เห็นว่า คนเสฉวนยุคนั้น ขุดบ่อเกลือมากประมาณ 5 พันบ่อ และในกรณีบ่อที่มีขนาดเล็ก นักประวัติศาสตร์จีนชื่อ Su Shi ก็ได้บันทึกเพิ่มเติมว่า วิศวกรจีนจะใช้ลำไม้ไผ่ที่ข้อถูกเจาะทะลุแล้ว หย่อนลงไปในบ่อ โดยให้ปลายล่างของลำไผ่หนึ่งต่อกับปลายบนของลำไผ่อีกลำหนึ่ง การเรียงไผ่ลักษณะนี้ทำให้ลำไผ่มีสภาพเหมือนผนังบ่อที่สามารถป้องกันไม่ให้น้ำจากที่อื่นไหลลงบ่อเกลือที่ขุดใหม่ๆ ได้ในบ่อที่สึกประมาณ 120 เมตรขึ้นไป และกว้างประมาณจานข้าว วิศวกรจีนโบราณก็จะสร้างลิ้นที่ทำด้วยหนังสัตว์ และติดอยู่ที่ปลายล่างสุดของท่อไผ่ ซึ่งสามารถปิด-เปิดได้ โดยจะเปิดออกเวลาดันท่อไผ่ลงๆ ทำให้น้ำเกลือไหลเข้าท่อไผ่ แต่พอดึงท่อไผ่ขึ้นลิ้นก็จะปิดกลับ ทำให้น้ำเกลือถูกขังอยู่ภายในท่อไผ่ ผลงานนี้ทำให้คนจีนยุคนั้นมีเกลือบริโภคอย่างพอเพียง

เมื่อถึงพุทธศตวรรษที่ 24 คือในปี พ.ศ. 2378 เทคโนโลยีการขุดบ่อเกลือของจีน ก็ถึงจุดสูงสุด เมื่อมีการขุดบ่อ Xinhai ที่ลึก 1,000 เมตร ได้เป็นผลสำเร็จ (คนยุโรปในสมัยเดียวกันนี้ สามารถขุดได้ลึกเพียง 370 เมตรเท่านั้นเอง) การที่ผู้คนพยายามขุดบ่อเกลือให้ลึก เพราะได้มีการพบว่า บ่อยิ่งลึก ยิ่งมีเกลือมาก โดยเฉพาะที่ระดับลึกน้อยกว่า 300 เมตร ปริมาณเกลือที่ได้จะมีเพียง 10% แต่ที่ระดับลึกกว่า 800 เมตร ปริมาณเกลือจะเพิ่มสูงถึง 18% เป็นต้น ด้วยเหตุนี้การขุดบ่อเกลือในมณฑลเสฉวน จึงได้มีการทำกันแพร่หลาย จนสามารถผลิตเกลือได้มากถึงปีละ 35,000 ตัน และผลงานชิ้นนี้แสดงว่า จีนมีความสามารถด้านเทคโนโลยีการขุดบ่อที่สูงมากพอๆ กับเทคโนโลยีสร้างกำแพง

ยุโรปโบราณก็มีการค้าขายเกลือมากเช่นกัน โดยเฉพาะในโปแลนด์ ในสมัยเมื่อ 500 ปีก่อนนี้ ดังมีประจักษ์หลักฐานว่า กษัตริย์โปแลนด์ทรงมีเหมืองเกลือส่วนพระองค์ใกล้เมือง Krakow และธุรกิจเกลือนำเงินรายได้เข้าท้องพระคลังอย่างมหาศาล แต่เมื่อกรรมกรที่ทำงานในเหมืองเกลือใต้ดินประสบอุบัติเหตุ ก๊าซมีเทน (methane) ในเหมืองระเบิดบ่อย ทำให้คนงานต้องเสียชีวิตประมาณ 10% ทุกปี ดังนั้น คนงานที่จะเข้าทำงานในเหมือง จึงต้องสวดมนต์ภาวนาให้พระผู้เป็นเจ้าคุ้มครองทุกวัน การสวดมนต์ภาวนาของคนงานจำนวนมาก ทำให้มีการสร้างสถานสวดมนต์ชื่อ St. Anthony ขึ้นในเหมืองเกลือนั้น และห้องสวดนี้ได้รับการตกแต่งด้วยการแกะสลักเกลือให้เป็นรูปปั้นต่างๆ เช่น พระเยซู และสาวก คัมภีร์ไบเบิล รูปกษัตริย์ Herod รูปอาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซู ตลอดจนชีวิตทั่วไปของชาวเหมือง รูปเหล่านี้งดงาม และวิจิตรบรรจงมาก เพราะเหมืองเกลือนี้ถูกขุดลึกลงไป 9 ชั้น ทำให้บางชิ้นอยู่ลึกใต้ดินถึง 300 เมตร แต่ชั้นที่เปิดให้นักทัศนาจรเข้าชมอยู่ลึกเพียง 135 เมตรเท่านั้นเอง สถิติการเข้าชมเหมืองเกลือนี้ แสดงให้เห็นว่า ในแต่ละปีสถานที่นี้มีนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมเกือบล้านคน

ทุกวันนี้ วันเวลาที่ผ่านไปทำให้มลพิษในเหมืองเพิ่มขึ้นทุกวัน และความชื้นที่นักทัศนาจรนำเข้าเวลาเยี่ยมชมเหมือง ก็กำลังทำให้รูปปั้น รูปแกะสลักต่างๆ ในสถานอธิษฐาน St. Anthony สลายและละลาย ดังนั้น องค์การ UNESCO จึงได้ประกาศให้เหมืองเกลือแห่งโปแลนด์เป็นมรดกโลก ที่ได้รับความคุ้มครอง โดยให้นักวิทยาศาสตร์เข้ามามีบทบาทในการอนุรักษ์ และคณะนักวิทยาศาสตร์ก็ได้พบว่า ห้องต่างๆ ภายในเหมืองที่มีปริมาตรรวมกัน 10 ล้านลูกบาศก์เมตรนั้น มีอากาศที่นอกจากจะมีความชื้นสูงแล้ว ยังมีมลภาวะ และมลพิษด้วย เพราะลมหายใจของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาทัศนศึกษาเหมือง ทำให้อากาศมีคาร์บอนไดออกไซด์ และไอน้ำมาก และสิ่งเหล่านี้กำลังทำลายรูปแกะสลักเกลือในเหมืองตลอดเวลา

ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงได้วางแผนกำจัดความชื้นในเหมือง โดยการจำกัดจำนวนผู้เข้าชมในแต่ละวัน และพยายามกำจัดก๊าซกำมะถันไดออกไซด์ที่มีในอากาศให้หมด เพื่อรูปปั้น รูปแกะสลักเกลือจะได้ดำรงคงสภาพ นอกจากนี้ ก็ได้พยายามวิเคราะห์น้ำใต้ดินหาเส้นทางที่น้ำไหล และปริมาณน้ำที่ไหล รวมทั้งพยายามรักษาสุขภาพของเหมืองโดยการกำจัดจุลินทรีย์ รา และเชื้อโรคต่างๆ ที่จะเข้ามาทำลายรูปสลักเกลือที่มีค่าด้วย

ในประเทศอินเดีย เกลือก็มีบทบาทสำคัญมากคือ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ เมื่อ มหาตมะ คานธี ได้ออกเดินทางไกล ในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2473 เป็นเวลานาน 24 วัน ถึงชายทะเลที่ตำบลฑัณฑี เพื่อล้มกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมของอังกฤษที่ห้ามคนจนทำเกลือรับประทาน กฎหมายนี้ได้ทำให้ชาวอินเดียจำนวนล้านเดือดร้อนมาก คานธีได้ปลุกระดมคนอินเดียให้รู้จักใช้ทรัพยากรอันเป็นสมบัติของชาติตนให้เป็นประโยชน์ โดยการฝ่าฝืนทำเกลือบริโภคเอง กระบวนการ Salt March ประสบความสำเร็จเมื่อประชาชนจำนวนแสนเข้าร่วมด้วย ยังผลให้คานธีถูกจับกุมตัว การเดินขบวนกันมากเช่นนี้ได้ทำให้ระบบบริหารงานของรัฐบาลอังกฤษปั่นป่วนมาก จนคานธีต้องถูกปล่อยตัวในที่สุด

เกลือจึงถือได้ว่า ช่วยทำให้คนอินเดียมีเสรีภาพ และคนชาติอื่นๆ มีสุขภาพครับ

สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสถาน



กำลังโหลดความคิดเห็น