xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึกยุทธศาสตร์จีนดันมณฑลกวางสี ประตูเชื่อมสู่อาเซียน

เผยแพร่:   โดย: พรรณี เช็งสุทธา

จากนโยบาย “มุ่งตะวันตก” ของรัฐบาลจีน เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของมณฑลต่าง ๆ รัฐบาลได้วางเป้าหมายให้เมืองฉงชิ่งและมณฑลเฉินตูเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาในส่วนกลางของภาค มณฑลซ่านซีเป็นศูนย์กลางทางตอนเหนือ และ มณฑลกวางสีเป็นศูนย์กลางทางตอนใต้

ในการนี้ กวางสีเป็นมณฑลเดียวของภาคตะวันตกของจีนที่มีทางออกสู่ทะเลและมีศักยภาพที่จะขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนกับนานาประเทศทัดเทียมกับเมืองทางชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศ เช่น เซี่ยงไฮ้ ได้ในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจีนโดยการนำของนายกรัฐมนตรี เวิน เจีย เป่า ได้ดำเนินนโยบายผลักดันให้มณฑลกวางสี มีบทบาทในด้านธุรกิจกับนานาประเทศอย่างจริงจัง

มณฑลกวางสีถือว่าเป็นมณฑลหน้าด่านของจีนในการนำเข้าและส่งออกสินค้าทางฝั่งตะวันตก มีอาณาเขตติดต่อกับเวียดนามทางตะวันตกเฉียงใต้ ห่างจากฮานอยเล็กน้อย สามารถเชื่อมโยงไปยังลาวและไทยได้โดยเส้นทางที่ผ่านเวียดนาม กวางสีมีทางรถไฟเชื่อมต่อกับเวียดนามอยู่แล้วด้วยระยะทางเพียง 418 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นมณฑลเดียวของจีนที่มีทางรถไฟเชื่อมกับอาเซียนแม้จะเป็นรถไฟรางแคบก็ตาม

พื้นฐานเศรษฐกิจของมณฑลนี้ เด่นในด้านการเกษตร โดยเฉพาะอ้อย ยาง (แม้ว่าปริมาณการผลิตและผลผลิตที่ได้จะไม่เท่ากับของไทย) อีกทั้งพื้นที่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้มณฑลนี้มีชื่อเสียงในการผลิตน้ำตาลได้มากที่สุดของประเทศ ส่วนหนึ่งของความสำเร็จนี้มาจากการลงทุนของบริษัทไทยรายหนึ่งที่สามารถขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการของพลเมืองจีนได้อย่างต่อเนื่อง

กวางสีมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามขึ้นชื่อของประเทศ เช่น เมืองกุ้ยหลิน ซึ่งอยู่ทางเหนือของมณฑล ถือว่าเป็นแหล่งที่มีทิวทัศน์สวยที่สุดในจีน และอีกแห่งหนึ่งคือ แม่น้ำหลีเจียงที่มีความใสสะอาดจนสามารถมองเห็นท้องน้ำได้อย่างชัดเจน ประกอบกับวิวทิวทัศน์ของเทือกเขาที่สวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบนิเวศวิทยาที่ดีมากแห่งหนึ่งของมณฑล

กวางสีเป็นเขตปกครองตนเอง มีชนกลุ่มน้อยอยู่หลายกลุ่มแม้จะไม่มากเท่ากับยูนนาน แต่เป็นชนกลุ่มน้อยที่มีประชากรสูงสุด คือ ชนเผ่าจ้วง ซึ่งมีภาษาคล้ายคลึงกับภาษาไทยดั้งเดิม เช่น พูดกู มึง เป็นต้น ตามกฎระเบียบของประเทศจีน รัฐบาลจะอนุญาตให้ชนกลุ่มน้อยเป็นประธานของเขตปกครองได้ ดังนั้น ประธานเขตปกครองตนเองของกวางสีจึงเป็นคนจากชนเผ่าจ้วง

ตั้งแต่มีการปฏิรูปและเปิดประเทศสู่โลกภายนอกเมื่อ 22 ปีที่ผ่านมา กวางสีได้ปรับระบบการผลิตทางอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ โดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่มีความได้เปรียบภายใต้แผนพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างปี 2544-2548 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งอัตราการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยเร็ว เพิ่มสัดส่วนของอุตสาหกรรมในระบบเศรษฐกิจของชาติให้สูงขึ้น ยกระดับมาตรฐานเทคโนโลยีโดยให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเทคโนโลยีและนวัตกรรมส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันกับตลาด ยกระดับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม และเร่งปฏิรูประบบวิสาหกิจให้ทันสมัยขึ้น

ในการนี้ กวางสีได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรม 6 ประเภท คือ อุตสาหกรรมโลหะไร้ธาตุเหล็กผสมเนื่องจากมณฑลนี้มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรดังกล่าว อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าเนื่องจากกวางสีมีแหล่งพลังงานน้ำเป็นจำนวนมาก สามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าสำรองถึง 17.52 ล้านกิโลวัตต์ โดยสามารถนำไปใช้ได้ 16.09 ล้านกิโลวัตต์ รัฐบาลจีนจึงได้กำหนดให้มณฑลกวางสีเป็นฐานสำหรับโครงการถ่ายโอนพลังงานจากภาคตะวันตกไปสู่ภาคตะวันออก

อุตสาหกรรมยานยนต์ กวางสีมีข้อได้เปรียบในอุตสาหกรรมนี้อยู่มาก ผลผลิตและยอดขายรถยนต์ยี่ห้อ Wuling ของกวางสีซึ่งเป็นการร่วมทุนของบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส บริษัทเซี่ยงไฮ้ออโต้ และบริษัทรถยนต์ท้องถิ่นของกวางสี ทำให้ผลผลิตและยอดขายรถยนต์ Wuling อยู่ในอันดับ 7 ของประเทศ มีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 20 ของตลาดรถยนต์ขนาดเล็กภายในประเทศ ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการใช้รถยนต์ขนาดเล็ก (minicar) ในเขตชนบท

อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตอบอุ่นทางตอนใต้ของประเทศ จึงเหมาะแก่การเพาะปลูก โดยนำมาเป็นวัตถุดิบในการแปรรูป ทั้งอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารกระป๋องที่มีคุณค่าทางโภชนาการ รวมทั้งส่งเสริมการส่งออกอาหารกระป๋องที่ทำจากสับปะรด ถั่วเขียว และลิ้นจี่ เร่งพัฒนาอาหารแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ปรุงรส และอาหารพร้อมรับประทาน

อุตสาหกรรมยา กวางสีอุดมไปด้วยทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตยาจีนโบราณมากเป็นอันดับสองของประเทศ จึงเร่งเรื่องงานวิจัยและปรับปรุงมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น ยาที่มีชื่อเสียงของกวางสีได้แก่ San Jin ยาผงจากแตงโม พลาสเตอร์ และยาป้าย Tian He ยาเม็ดจีนแก้ฟกช้ำและกล้ามเนื้อตึง
ส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงก็เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเช่นกัน

มณฑลกวางสียังถือว่าเป็นมณฑลใหม่สำหรับนักธุรกิจและนักลงทุนทั่วโลก และยังต้องมีการพัฒนาอีกมากมายในหลายกิจการ รวมถึง การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน กิจการลอจิสติกส์ การผลิตเพื่อการส่งออก อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และภาคบริการอื่น ๆ รวมถึงร้านอาหารไทย สปา เป็นต้น รูปแบบของการลงทุนเป็นได้ทั้งการถือหุ้นโดยต่างชาติล้วน และการร่วมทุนกับต่างชาติ โดยผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ China Council for the Promotion of International Trade Guangxi

กวางสีอนุญาตให้ต่างชาติใช้สิทธิ์ในที่ดินได้เป็นเวลาสูงสุดถึง 70 ปี และได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษเพิ่มเติมจากที่รัฐบาลกลางได้กำหนดไว้อีกหลายประการ รวมถึง การยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบในระยะเวลาที่กำหนด และสิทธิประโยชน์พิเศษอื่น ๆ ตามลักษณะของโครงการที่ลงทุน

ด้วยเหตุที่กวางสีมีศักยภาพพร้อมที่จะเติบโตเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญของจีนอีกแห่งหนึ่งในอนาคต รัฐบาลจีนจึงได้ผลักดันความเจริญไปสู่เมืองนี้อย่างต่อเนื่อง กวางสีมีสนามบินถึง 5 แห่งรองรับสายการบินภายในประเทศและต่างประเทศ และมีเส้นทางบินตรงจากกรุงเทพฯ ไปหนานหนิ เมืองหลวงของมณฑลกวางสี

ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำของอาเซียนเมื่อเดือนตุลาคม 2546 ที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ผู้นำของจีน คือ นายกรัฐมนตรีเวิน เจีย เป่า ได้เสนอต่อผู้นำของอาเซียนเพื่อเป็นเจ้าภาพจัดงาน China-ASEAN Expo 2004 ครั้งแรกที่เมืองหนานหนิง ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้จัดงานดังกล่าว ระหว่างวันที่ 3-6 พฤศจิกายน 2547 ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติ เมืองหนานหนิง คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชมงานนี้จากทั่วทุกมุมโลกนอกเหนือจากอาเซียนและจีน

งาน China-ASEAN Expo 2004 ถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่งานหนึ่งของจีนที่รัฐบาลส่วนกลางให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อเปิดกวางสีสู่สายตานักลงทุนและนักการค้าทั่วโลก โดยความร่วมมือของประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศที่ยินดีจะเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย รวมถึงการแสดงศักยภาพของสินค้าของแต่ละประเทศ การจับคู่ร่วมทุน การสัมมนาเผยแพร่โอกาสการค้าและการลงทุนของมณฑลกวางสีและของกลุ่มประเทศอาเซียน และการประชุม China-ASEAN Business and Investment Summit

สำหรับประเทศไทย กรมส่งเสริมการส่งออกร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จะเป็นหน่วยงานหลักในการเตรียมการเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในงานนี้โดยในส่วนของการแสดงสินค้าในปีนี้ คาดว่าไทยจะมีผู้สนใจเข้าร่วมจัดแสดงสินค้าถึง 100 คูหา

ผู้สนใจที่ประสงค์จะเข้าร่วมกิจกรรมในงาน China-ASEAN Expo 2004 ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 3-6 พฤศจิกายน 2547 โปรดสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กรมส่งเสริมการส่งออก โทร. 0-2 511-5066-77 ต่อ 465 หรือ กองการตลาดเพื่อการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โทร. 0-2 537-8111 ต่อ 1064 คุณปวีณา ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หรือติดต่อโดยตรงไปที่มณฑลกวางสี Investment Promotion Division, China-ASEAN Expo Secretariat, e-mail address : caexpo@caexpo.org หรือที่ website : http://www.caexpo.org
กำลังโหลดความคิดเห็น