xs
xsm
sm
md
lg

จากกทม.ถึงกอ.สสส.จชต. คนละปัญหาจราจร (เดียวกัน)

เผยแพร่:   โดย: สำราญ รอดเพชร

ถ้าผมเป็นคนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อ29 ส.ค. ผมก็ไม่เข้าข่าย “โหวตเชิงยุทธศาสตร์” ตามนิยามของคุณหมอประเวศ วะสี เพราะคงไม่ได้โหวตให้ทั้งคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน และ ปวีณา หงสกุล

ถึงอย่างไร บรรทัดนี้ก็ขอแสดงความยินดีมายังคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน มาด้วย “กำลังใจ” เพื่อเป็นพลังงานในการรับใช้ชาวกทม.จากนี้ไปอีก 4 ปี

ผมเชื่อว่าเหตุปัจจัยหลัก 2 ประการที่ทำให้คุณอภิรักษ์ได้คะแนนทะลุ 9 แสน คือ

หนึ่ง - -คุณสมบัติส่วนตัว ซึ่งมีทั้งเรื่องความรู้- ประสบการณ์ ความมุ่งมั่น ความพร้อมของทีมงาน – นโยบาย และ

สอง - - เหตุปัจจัยแวดล้อมของสถานการณ์ทางการเมือง- ผู้นำ –รัฐบาล ก็อย่างที่พูดๆ กันนั่นล่ะว่าอารมณ์ทางการเมืองของผู้คนไม่น้อยเขาอยาก “ให้บทเรียน”ต่อรัฐบาล...

ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดการเลือกตั้งส.ส.ต้นปีหน้าว่า ไทยรักไทยจะต้องเสียแชมป์ในสนามกทม.ให้กับประชาธิปัตย์ แต่คะแนนกว่า 9 แสน ของอภิรักษ์ก็ทำให้ส.ส.กทม.พรรคไทยรักไทยหนาวๆ ร้อนๆ เกิดอาการ ครั่นเนื้อครั่นตัว ถ้าไม่รีบกินยาหรือหาทางป้องกันให้ดีมีโอกาสนอนมา...แต่มีพระท่านนำหน้าเอาได้ง่ายๆ...

สำหรับคุณอภิรักษ์ มองแววตาแห่งความมุ่งมั่น ฟังคำประกาศประเภท “ผมจะเป็นผู้ว่าฯ ที่โปร่งใส ตรงไปตรงมาในการทำงาน และจะเป็นผู้ว่าฯ ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพี่น้องชาวกรุงเทพฯ” ก็ต้องบอกว่ามีความรู้สึกที่ดี มีความรู้สึกเบื้องต้นว่าคนอย่างนี้ต้องให้โอกาสพิสูจน์...

แต่ถ้าถามใจส่วนลึกจริงๆ ว่า จะคาดหวังผลงานอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน โดยเฉพาะว่าด้วยการแก้ไขปัญหาจราจรได้หรือไม่...เรียนตามตรงว่า แม้ว่าที่ผู้ว่าฯอภิรักษ์จะได้ว่าที่รองผู้ว่าฯด้านโยธา –จราจรเป็นนักวิชาการมีชื่อ-มือดีอย่าง ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ แต่ทุกอย่างคงไม่สวยงามหรือง่ายดายอย่างที่หาเสียงเอาไว้...

ย้อนไปดูนโยบายการแก้ปัญหาจราจร (เอาแค่เฉพาะหน้า)ของทีมคุณอภิรักษ์..

1) จัดให้มีรถเมล์ด่วนพิเศษ หรือ บีอาร์ที วิ่งเลนในชิดเกาะกลางถนน ลงทุน 50 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ปีแรกทำได้ 20 กม. (นวมินทร์ –พหลโยธิน)

2) โครงการจราจรอัจฉริยะ ประกอบด้วย 2.1 ป้ายจราจรอัจฉริยะ คอยบอกสภาพการจราจรล่วงหน้า 2.2 ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ คอยบอกเวลาที่รถเมล์จะมาถึง 2.3 ที่รอรถแท็กซี่อัจฉริยะ ไปรอ แท็กซี่ไฟจะกระพริบแท็กซี่จะมองเห็นทันที 2.4 ที่จอดรถอัจฉริยะ บริเวณสถานีรถไฟฟ้า 2.5 เลนจักรยาน สำหรับถนนที่สร้างใหม่..

ครับ...นึกภาพดูเอาเองว่า บรรดาเจ้า “อัจฉริยะ”ที่ว่ามา จะทำได้และจะช่วยบรรเทาเบาบางปัญหารถติดเป็นตังเมได้แค่ไหน อย่างไร แต่สำหรับใครที่ได้เห็นภาพเลนสีเหลืองชิดเกาะกลางถนน สำหรับรถเมล์ด่วนพิเศษ “บีอาร์ที” แล้ว ก็คงต้องพลอยเคลิ้มฝันเช่นเดียวกับผม...

แต่สำหรับ คุณสมัคร สุนทรเวช รักษาการผู้ว่าฯ กทม. ที่ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์ท่านเมื่อเช้าวานนี้(31 ส.ค.) ท่านพูดถึงนโยบายคุณอภิรักษ์สั้นๆ ทำนองว่า..ยังไม่น่าจะรู้จักกทม.ดีพอ ส่วนปัญหาจราจรนั้นคุณสมัครมีกรอบความคิดใหญ่ๆ ว่า จะให้บรรลุเป้าต้องมีความชัดเจนของโครงการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ ทั้งรถไฟฟ้าบนดิน และใต้ดินเสียก่อน...

ครับ การแก้ไขปัญหาจราจรของกทม.ชวนติดตาม... แม้มือโปรอย่างดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ จะเคยเป็นที่ปรึกษาสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการวางแผนการขนส่งขนาดใหญ่-ระดับชาติก็จริง แต่อย่าลืมเป็นอันขาดว่าสนข.เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กระท รวงคมนาคม... และในหน่วยงานอย่างสนข.นั้น นักวิชาการเก่งๆ ประเภทดร.สามารถก็มีอยู่เต็มสำนัก…

ผมกำลังจะบอกว่าสำหรับโครงการขนาดใหญ่อย่างรถไฟฟ้าบนดิน ใต้ดิน กทม.คงเข้าไปมีบทบาทได้ยาก แม้ว่ากรณีบีทีเอสหรือรถไฟฟ้าลอยฟ้านั้น จะเป็นสัมปทานของกทม.ก็ตาม แต่ความที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะเชื่อมต่อขยายสายทาง และมีการเล่นกำลังภายใน วัดใจต่อรองกันเรื่องซื้อๆ ขายๆ เป็นของรัฐ ซึ่งผมเชื่อว่าถึงที่สุดแล้วรัฐบาลต้องซื้อมาจนได้(รวมทั้งใต้ดิน) ดังนั้นกทม.ยุคคุณอภิรักษ์ก็คงหมดโอกาสที่จะเข้ามาร่วมเป็นเจ้าภาพ..รับความชอบ..

แม้แต่ที่จอดรถอัจฉริยะของดร.สามารถที่จะเชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าก็เถอะ....ไม่มีหลักประกันว่า..ในอนาคตเมื่อรัฐบาลซื้อมาหมดแล้วจะยังปล่อยให้กทม.เข้ามาเอี่ยวหรือไม่?

รวมความแล้ว...การแก้ไขปัญหาจราจร ไม่ได้เป็นเรื่องของหน่วยงานใหญ่อย่างกทม. หน่วยงานเดียว หากแต่ผสมผสานและประสานกันหลายหน่วยงาน...คมนาคม- กทม. – ตำรวจ – มหาดไทย ฯลฯ แต่หากจะกล่าวถึงที่สุดก็เป็นเรื่องของรัฐบาลกับกทม. นั่นเอง..

จะว่าไปกทม.ก็เป็นเพียงตัวเสริมเสียด้วยซ้ำ แต่เวลารถติดคนจะด่ากทม.ก่อนรัฐบาล...!!

0 0 0 0 0

พูดถึงปัญหาจราจรแล้ว ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร วันสองวันมานี้ใจ ผมกระหวัดคิดไปถึงปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อาการยังน่าเป็นห่วงบ่อยครั้งเหลือเกิน..

เวลานี้มีความพยายามอย่างมากที่จะปรับโครงสร้าง กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) ให้กระชับรัดกุมยิ่งขึ้น แต่ดูเหมือนว่าไม่มีภาพที่ชัดเจน...และดูท่าจะออกอาการบานปลาย...กลายเป็นว่าตอนนี้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนมีผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลเดินไหล่ชนกันแล้ว..

ลองแกล้งนับดู ตอนนี้ 4 รองนายกฯ 5 รัฐมนตรี...เข้าไปมีบทบาททั้งที่ทับซ้อนและไม่ทับซ้อนกันจนอดปวดหัวแทนไม่ได้....

แค่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ต้องคอยต้อนรับ4 รองนายกฯ 5 รัฐมนตรีก็มิพักต้องทำงานกันแล้ว...

กล่าวได้ว่ากอ.สสส.จชต.และการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาจราจร..เป็นปัญหาการจราจรทั้งด้านอำนาจและองค์กร รวมทั้งตัวบุคคล... บางครั้งก็ยุ่งเหมือนยุงตีกัน...จนบางครั้งผมอดคิ ดไม่ได้ว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คงเป็นเพราะงบพัฒนา 9,000 ล้านในปี 2547 -48 นั่นแหละ

ปัญหาจราจรในกทม.ก็เหมือนกัน...พวกไอเดียกระฉูดมีเยอะ หน่วยงานรับผิ ดชอบมีแยะ งบประมาณมีมหาศาล...ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ แผนแม่บทแก้ไขได้....

ที่ไหนมีงบประมาณ ที่นั่นมีปัญหา...กทม.ก็เป็นแหล่งใหญ่ที่ถูกกล่าวขวัญถึงในเชิงลบมาทุกยุค..คุณอภิรักษ์เตรียมรับมือให้ดีเถอะครับ

ถามว่า..ระหว่างสารพัดปัญหากทม.กับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีกอ.สสส.จชต.เป็นเจ้าภาพดูแลอยู่ผมห่วงอันไหนมากกว่า - -ตอบได้ทันทีว่าห่วง 3 จังหวัดมากกว่าเป็นสิบเท่าร้อยเท่า..

ครับ..วันนี้เขียนไป คิดไป ใจมันหลุดลอยไปที่ปัญหา 3 จังหวัดบ่อยเหลือเกิน... ก็เลยขอเอี่ยวกอ.สสส.จชต.เอาไว้หน่อย ดังได้แสดงมา..คงไม่ว่ากัน!!
กำลังโหลดความคิดเห็น