xs
xsm
sm
md
lg

โครงสร้างการแข่งขันในอุตสาหกรรมน้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

น้ำมันนับเป็นแหล่งพลังงานหลักของโลกนับตั้งแต่ปี 2489 เป็นต้นมา นับเป็นสินค้าที่มีบทบาทสำคัญทั้งในด้านเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชน การเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงกำหนดภาวะเศรษฐกิจของโลก

แม้มนุษย์รู้จักพลังงานปิโตรเลียมมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่นำมาใช้ประโยชน์ค่อนข้างน้อย โดยเดิมน้ำมันดิบจะซึมออกมาตามแหล่งน้ำ ในบางครั้งเมื่อขุดเจาะน้ำบาดาลหรือขุดเหมืองเกลือสินเธาว์ จะพบน้ำมันดิบซึมเข้ามา ทั้งนี้ เริ่มมีการขุดเจาะหาน้ำมันดิบเป็นครั้งแรกที่ประเทศเยอรมนีระหว่างปี 2400 – 2401 ต่อมาในปี 2404 มีการก่อตั้งโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกขึ้น โดยเริ่มแรกโรงกลั่นน้ำมันต้องการน้ำมันก๊าดเป็นหลักเพื่อนำมาจุดไฟให้แสงสว่างเนื่องจากมีคุณภาพสม่ำเสมอมากกว่าไขมันสัตว์ ขณะที่น้ำมันเบนซินกลับเป็นสิ่งที่ไม่ต้องการ

ต่อมาสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก อุปสงค์ต่อน้ำมันก๊าดเพื่อใช้จุดให้แสงสว่างลดลง เนื่องจากมีการค้นพบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จึงมีการใช้หลอดไฟฟ้าเพื่อให้แสงสว่างแทนน้ำมันก๊าด ขณะเดียวกันมีการประดิษฐ์รถยนต์ ทำให้ประชาชนนิยมเดินทางโดยรถยนต์ซึ่งใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงทดแทนการโดยสารรถไฟที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ส่งผลให้อุปสงค์ต่อน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เดิมทั่วโลกใช้ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานหลักของโลก แต่ต่อมาอุตสาหกรรมรถยนต์เติบโตรวดเร็วมาก ทำให้อุปสงค์ต่อน้ำมันเพิ่มขึ้นสูงตามไปด้วย ประกอบกับการใช้น้ำมันมีความคล่องตัวกว่าถ่านหิน ทำให้ปริมาณน้ำมันเริ่มไม่เพียงพอกับความต้องการ บริษัทน้ำมันจึงต้องแสวงหาน้ำมันจากแหล่งอื่นๆ เพิ่มเติม

บริษัทน้ำมันของชาติตะวันตกได้ไปขุดหาน้ำมันในแถบตะวันออกกลาง โดยในปี 2444 นาย William Knox ผู้ประกอบการด้านเหมือนแร่ของอังกฤษ ได้รับอนุญาตจากพระเจ้าซาร์แห่งเปอร์เซีย (อิหร่าน) ให้ขุดสำรวจน้ำมัน ต่อมาในปี 2451 นักธรณีวิทยาของบริษัทของนาย Knox สำรวจพบน้ำมันที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่าน นับเป็นการค้นพบน้ำมันเป็นครั้งแรกในภูมิภาคตะวันออกกลาง

จากนั้นนาย Knox ได้ก่อตั้งบริษัท Anglo-Persian Oil (ต่อมาเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “Anglo-Iranian Oil” ในปี 2478 และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งหนึ่งเป็น “บริติสปิโตรเลียม” เมื่อปี 2497) โดยได้รับสัมปทานขุดเจาะน้ำมันที่อิหร่าน นอกจากนี้ บริษัท Anglo-Persian Oil ยังไปขุดเจาะน้ำมันที่อิรัคและคูเวท โดยค้นพบแหล่งน้ำมันเมื่อปี 2470 และ 2481 ตามลำดับ

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปริมาณการใช้พลังงานน้ำมันยังคงเติบโตในอัตราสูง โดยเริ่มแซงหน้าถ่านหินเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2489 เป็นต้นว่า ทั้งนี้ อุปสงค์ต่อน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอันเป็นผลจากชาวสหรัฐฯ และชาวยุโรปนิยมไปอาศัยอยู่นอกเมืองมากขึ้น โดยขับรถยนต์เข้ามาทำงานในเมืองในลักษณะเช้าไปเย็นกลับ ทำให้สหรัฐฯ เปลี่ยนจากประเทศส่งออกน้ำมันมาเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันนับตั้งแต่ปี 2491 เป็นต้นมา

เดิมบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลก 7 บริษัท เรียกขานกันในนาม Seven Sisters มีส่วนแบ่งตลาดโลกในระดับสูงมาก ประกอบด้วยบริษัทเอสโซ่ บริษัทเชฟรอน บริษัทโมบิล บริษัทเท็กซาโก้ บริษัทบีพี บริษัทเชลล์ และบริษัทกัลฟ์ออยล์ ทั้งนี้ ในช่วงนั้นบริษัทน้ำมันทั้ง 7 แห่งข้างต้นได้ทำความตกลง Achnacarry Agreements เมื่อปี 2471 เพื่อผูกขาดธุรกิจน้ำมันของโลก ทำให้ต่างได้รับผลกำไรจำนวนมาก แต่จ่ายค่าสัมปทานให้แก่รัฐบาลของประเทศต่างๆ เป็นเงินน้อยมาก

ต่อมาได้เกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 ประการ ทำให้อิทธิพลของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลกลดความสำคัญลง

ประการแรก ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันได้ก่อตั้งองค์กรประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (Organization of Petroleum Exporting Countries - OPEC) ขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2503 เดิมมีสำนักงานใหญ่ที่นครเจนีวา ต่อมาได้ย้ายมาตั้งที่กรุงเวียนนาเมื่อปี 2508 เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง

ประการที่สอง เริ่มมีบริษัทน้ำมันอื่นๆ มาแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ 7 บริษัท ทั้งในธุรกิจขุดเจาะ กลั่นน้ำมัน และจำหน่ายน้ำมัน เช่น บริษัทโทเทล ฯลฯ ทำให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันยิ่งมีอำนาจต่อรองสูงขึ้นไปอีก เนื่องจากแต่ละบริษัทต่างแข่งขันกันเพื่อขอรับสัมปทานขุดเจาะน้ำมัน

ประการที่สาม ประเทศผู้ผลิตน้ำมันได้ก่อตั้งบริษัทน้ำมันของตนเองขึ้น โดยดำเนินธุรกิจในลักษณะครบวงจรเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตน้ำมันมีอำนาจต่อรองมากขึ้น จึงได้เริ่มก่อตั้งรัฐวิสาหกิจเพื่อทำธุรกิจน้ำมันด้วยตนเอง ทดแทนการพึ่งพาบริษัทน้ำมันจากต่างประเทศ

ตัวอย่างหนึ่ง คือ บริษัทผลิตน้ำมันใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน คือ Aramco เดิมก่อตั้งโดยบริษัทเชฟรอนของสหรัฐฯ เพื่อทำธุรกิจขุดเจาะน้ำมันในซาอุดิอาระเบีย ต่อมาได้ขายหุ้นในบริษัทแห่งนี้ให้แก่น้ำมันอื่นๆ ทำให้มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 4 บริษัท คือ เชฟรอน เท็กซาโก้ เอ็กซอน และโมบิล อย่างไรก็ตาม ต่อมารัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้ซื้อหุ้นในบริษัท Aramco กลับคืนมาจากบริษัทน้ำมันของชาติตะวันตก เริ่มจากซื้อหุ้น 25% ในปี 2516 จากนั้นได้ถือหุ้นบริษัทนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดเมื่อปี 2523 รัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้ถือหุ้นในบริษัทแห่งนี้เต็ม 100%

จากแนวโน้มข้างต้น ทำให้สถานการณ์ในปัจจุบันแตกต่างจากเดิมมาก โดยเดิมเมื่อปี 2515 ก่อนเกิดวิกฤติการณ์น้ำมัน รัฐวิสาหกิจด้านน้ำมันของประเทศผู้ผลิตน้ำมันมีส่วนแบ่งในธุรกิจผลิตน้ำมันดิบรวมกันเพียงแค่ 6% ของผลผลิตทั่วโลก ขณะที่บริษัทเอ็กซอนเพียงแค่บริษัทเดียว มีส่วนแบ่งการผลิตน้ำมันดิบมากถึง 11% ของปริมาณการผลิตทั่วโลก ขณะที่บริษัทโมบิลมีส่วนแบ่งการผลิตน้ำมันดิบ 5%

แต่ในปัจจุบัน รัฐวิสาหกิจด้านน้ำมันของประเทศต่างๆ เช่น บริษัท Saudi Aramco ของประเทศซาอุดิอาระเบีย, บริษัท Pemex ของประเทศเม็กซิโก, บริษัท Petroleos de Venezuela ของประเทศเวเนซูเอล่า, บริษัทเปโตรนาสของประเทศมาเลเซีย, บริษัทเปอร์ตามิน่าของประเทศอินโดนีเซีย ฯลฯ มีปริมาณการผลิตผลิตน้ำมันดิบรวมกัน 52% ของปริมาณการผลิตทั่วโลก ขณะที่ส่วนแบ่งการผลิตน้ำมันของบริษัทเอ็กซอนโมบิล (เป็นการควบกิจการระหว่างบริษัทเอ็กซอนและบริษัทโมบิล) ลดลงเหลือเพียงแค่ 3% เท่านั้น

เมื่อประเทศผู้ผลิตน้ำมันรวมตัวเป็นปึกแผ่น ทำให้โลกได้เผชิญกับวิกฤติการณ์น้ำมันครั้งแรกเมื่อปี 2516 โดยราคาน้ำมันได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากราคา 3 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล เมื่อกลางปี 2516 เป็น 11 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เมื่อปลายปี 2516 อันเป็นผลจากประเทศกลุ่มโอเปคลดปริมาณการผลิตน้ำมันลง

ต่อมาโลกเผชิญวิกฤติการณ์น้ำมันอีกครั้งที่ 2 เมื่อเกิดสงครามระหว่างอิรักกับอิหร่าน ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่ออุปทานต่อน้ำมันเป็นอย่างมาก เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศต่างเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นสูงถึง 36 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ในปี 2523

แม้ราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นสูงมากเมื่อเกิดการปฏิวัติในอิหร่าน อย่างไรก็ตาม ต่อมาราคาน้ำมันได้ผันผวนปรับตัวขึ้นลง ลดลงจาก 36 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในปี 2523 เหลือ 10 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในปี 2529 และเพิ่มขึ้นอีกเป็น 35 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เมื่ออิรักบุกคูเวตเมื่อปี 2533

แต่ภายหลังสงครามสงบลง ราคาน้ำมันได้ลดต่ำลงอีกเหลือ 12 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในปี 2537 จากนั้นก็ขึ้นๆ ลงๆ ในช่วง 10 – 25 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ก่อนจะเพิ่มขึ้นสูงอีกครั้งหนึ่งนับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา เมื่อเกิดสงครามอิรัก ประกอบกับอุปสงค์ต่อน้ำมันเพิ่มขึ้นมากอันเป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลก โดยปัจจุบันราคาน้ำมันสูงเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 44 – 46 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

จากอำนาจต่อรองที่ลดต่ำลง ส่งผลให้บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลกต้องเผชิญกับผลกำไรที่ลดต่ำลง จึงมีการปรับตัว 2 ประการ ประการแรก เริ่มขยายขอบข่ายธุรกิจจากการขุดเจาะน้ำมัน การกลั่นน้ำมัน และการจำหน่ายน้ำมัน ก้าวไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ที่ต่อเนื่อง เช่น เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี ฯลฯ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

ประการที่สอง ควบกิจการเข้าด้วยกันเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการ เป็นต้นว่า

-บริษัทเอ็กซอนได้ควบกิจการเข้ากับบริษัทโมบิลเมื่อปี 2542 กลายเป็นบริษัทเอ็กซอนโมบิล

-บริษัทโคโนโคควบกิจการเข้ากับบริษัทฟิลิปส์ปิโตรเลียมเมื่อปี 2541 กลายเป็นบริษัทโคโนโคฟิลิปส์

-บริษัทโทเทลของฝรั่งเศสควบกิจการเข้ากับบริษัทปิโตรฟินาของเบลเยี่ยมเมื่อปี 2541 และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทโทเทลฟินา และได้ควบกิจการเข้ากับบริษัทเอ็ลฟ์เมื่อปี 2543 กลายเป็นบริษัทโทเทลฟินาเอ็ลฟ์ โดยรัฐบาลฝรั่งเศสถือหุ้นในบริษัทแห่งนี้ 25%

-บริษัทบริติสปิโตรเลียมควบกิจการเข้ากับบริษัทอโมโกเมื่อปี 2541 กลายเป็นบริษัทบีพี-อโมโก

การควบกิจการยังเป็นการนำจุดเด่นของแต่ละฝ่ายมาผนึกกำลังกัน เป็นต้นว่า กรณีของบริษัทเชฟรอนและบริษัทเท็กซาโก้ ทั้งคู่เป็นบริษัทสหรัฐฯ เดิมได้ร่วมทุนในบริษัทคาลเท็กซ์เพื่อทำธุรกิจในภูมิภาคเอเชียเท่านั้น ขณะที่ธุรกิจในภูมิภาคอื่นๆ ทั้ง 2 บริษัทยังแข่งขันกันเอง แต่ต่อมาเมื่อปี 2541 ทั้ง 2 บริษัทได้ตกลงควบกิจการเข้าด้วยกันเต็มรูปแบบ เพื่อนำจุดเด่นของฝ่ายหนึ่งมาเสริมจุดเด่นของอีกฝ่ายหนึ่ง กล่าวคือ บริษัทเท็กซาโก้มีจุดแข็งในทวีปยุโรปและอเมริกาใต้ ขณะที่บริษัทเชฟรอนมีจุดแข็งในทวีปอาฟริกา

ล่าสุดเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2547 มีข่าวลือว่าบริษัทโทเทลของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นบริษัทค้าน้ำมันใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก อาจจะเข้าไปซื้อกิจการบริษัทเชลล์ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า กล่าวคือ เป็นบริษัทค้าน้ำมันใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งหาก 2 บริษัทควบกิจการเข้าด้วยกันแล้ว จะกลายเป็นบริษัทค้าน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลก และจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าน้ำมันของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น