xs
xsm
sm
md
lg

The Bicycle Thief ความสูญเสียและความสิ้นหวัง

เผยแพร่:   โดย: เสรี พงศ์พิศ


อันโตนิโอ ริชชี รองานที่สำนักจัดหางานเช่นเดียวกับชาวอิตาเลียนอื่นๆ จำนวนมากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สุดท้ายมาถึงคิวเขา เป็นงานติดโปสเตอร์ทั่วกรุงโรม งานที่ต้องมีจักรยาน เขาตอบเจ้าหน้าที่ที่ถามว่ามีจักรยานหรือไม่โดยไม่รีรอว่า “มีครับ” ทั้งๆ ที่จักรยานของเขาอยู่ที่โรงรับจำนำ

เขากลับบ้านด้วยความดีใจ บอกข่าวดีและข่าวร้ายให้เมียทราบ ข่าวดีคือได้งานทำ ข่าวร้ายคือต้องมีจักรยาน ภรรยาไม่ได้คิดนาน รีบดึงเอาผ้าปูที่นอนทั้งที่กำลังใช้อยู่และในตู้ทั้งหมด นำไปไถ่จักรยานมาให้สามี ซึ่งถีบจักรยานไปทำงานด้วยความสดชื่นและความหวังว่าทุกอย่างจะต้องดีขึ้น

วันหนึ่งขณะที่กำลังปีนกระไดติดโปสเตอร์หนังอยู่ตรงกำแพงแห่งหนึ่ง จักรยานที่เขาจอดไว้ใกล้ๆ ถูกขโมยไปต่อหน้าต่อตา แม้เขาจะพยายามวิ่งไล่ตามก็ไม่ทัน เป็นสถานการณ์ที่สิ้นหวังอย่างยิ่ง ไปแจ้งความตำรวจก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ตำรวจบอกว่า ไปหาเองเถอะ ขโมยเยอะอย่างนี้ตำรวจที่ไหนจะตามไหว เขากับลูกชายพยายามตามหาจักรยานทั่วกรุงก็ไม่พบ

พอดีวันรุ่งขึ้นเป็นวันอาทิตย์ เลยมีเวลาตามหาเต็มที่ รวมทั้งไปขอความช่วยเหลือจากคนรู้จักให้ช่วยกันตาม ด้วยความมุ่งมั่นแต่ไม่รู้จะพึ่งใครเขาไปหาแม้กระทั่งหมอดูที่เคยบอกเมียเขาว่าเขาจะได้งานทำ หมอดูทำนายว่า ถ้าไม่พบจักรยานเช้านี้ก็จะไม่พบอีกเลย

ที่สุดเขาก็พบคนขโมย ไปบอกตำรวจขอไปค้นบ้านก็ไม่เจอของกลาง พยานก็ไม่มี ซ้ำยังถูกผู้คนละแวกบ้านขโมยรุมจะทำร้ายเอาอีก เขาต้องถอยกลับแบบหมดอาลัยตายอยาก

ขณะที่เดินผ่านสนามฟุตบอลซึ่งกำลังมีการแข่งขัน มีจักรยานจอดอยู่หน้าสนามเต็มไปหมด วูบเดียวเขาก็เกิดความคิดว่า ยังไงเขาต้องได้จักรยานคืนไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ไม่เช่นนั้นเขาต้องตกงาน ซึ่งก็หมายความว่าลูกเมียจะไม่มีอะไรกิน อยู่อย่างอดๆ อยากๆ ไม่มีอนาคตเหมือนตลอดเวลาที่ผ่านมาที่เขาต้องเอาจักรยานไปจำนำเพื่อได้เงินมาประทังชีวิตครอบครัว

เขาเดินกระสับกระส่ายไปมา สุดท้ายให้เงินลูกชายไล่ให้ไปขึ้นรถรางก่อน พ่อจะตามไป เขาเดินแวะเวียนไปที่หน้าตึกแห่งหนึ่งซึ่งมีจักรยานจอดอยู่คันหนึ่ง แล้วก็คว้าจักรยานถีบหนีไป เจ้าของออกมาพอดี วิ่งไล่และเรียกคนช่วยจนจับเขาไว้ได้ ลูกชายยังไม่ได้ขึ้นรถรางเห็นเข้าพอดี วิ่งมาหากลุ่มคนที่รุมล้อมพ่ออยู่โดยไม่รู้ว่าจะช่วยเหลือพ่ออย่างไร

ชายสี่ห้าคนรวมทั้งเจ้าของที่ช่วยกันจับขโมยพาเขาเดินไปโรงพัก แต่เดินได้พักหนึ่งก็หยุด เจ้าของจักรยานมองดูเด็กชายหน้าตามอมแมมที่เดินตามพ่อ แล้วมองหน้าขโมย คิดอะไรอยู่ครู่หนึ่งก็บอกให้ปล่อยเขาไป คงเชื่อว่าชายผู้นี้ไม่ได้ขโมยเป็นอาชีพ แต่ขโมยเพราะความอดอยากเช่นเดียวกับผู้คนนับล้านในขณะนั้น

ภาพสุดท้ายในหนังเรื่องนี้เป็นภาพที่เศร้าและหดหู่เป็นอย่างยิ่ง อันโตนิโอทำหน้าไม่ถูกเลย เขานึกไม่ถึงว่า ในสภาพเหมือนหมาจนตรอกเขาได้ตัดสินใจทำสิ่งที่เขาไม่อยากให้คนอื่นทำกับเขา เพราะความจำเป็นหรือความสับสนก็แล้วแต่ ที่เลวร้ายกว่าสิ่งใด เขาได้ทำให้ลูกชายเห็นสิ่งที่เขาไม่อยากให้ลูกเห็น เขาเจ็บปวดกับการที่ได้ทำร้ายความรู้สึกของลูกมากกว่าเจ็บใจเพราะจักรยานหายเสียอีก จักรยานหายเขาอาจหาใหม่ได้ แต่บาดแผลทางใจของลูกเขาจะรักษาอย่างไร

คิดไปคิดมาน้ำตาตก แต่มือน้อยๆ ของลูกที่เดินอยู่เคียงข้างเขากุมมือพ่อไว้ประหนึ่งจะบอกพ่อว่า ไม่เป็นไรพ่อ ผมเข้าใจสิ่งที่พ่อทำ ผมจะอยู่เคียงข้างพ่อและเดินกับพ่อตลอดไป

หนังขาวดำเรื่องนี้มีโครงเรื่องง่ายๆ แค่นี้ และคนแสดงจริงๆ ก็เพียงสองคนพ่อลูกนี้เท่านั้น คนอื่นเป็นเพียงตัวประกอบเล็กน้อย สองคนนี้ไม่ใช่ดาราที่ไหน เป็นคนธรรมดาที่ไม่เคยแสดงหนังมาก่อน Vittorio DeSica (1902-1974) ผู้กำกับหนังเรื่องนี้บอกว่า คนเรามีบทอยู่บทหนึ่งที่แสดงได้สมบูรณ์แบบ นั่นคือบทชีวิตของตัวเอง Lamberto Maggiorani ที่แสดงเป็นอันโตนิโอ เป็นคนที่เคยตกงานและอยู่ในสถานการณ์ลำบากยากเข็ญมาก่อน รู้ดีว่ามันเป็นเช่นไร เขาแสดงเป็นตัวเขานั่นเอง

หนังเรื่องนี้สร้างขึ้นในปี 1948 หลังสงครามไม่กี่ปี อิตาลีอยู่ในสภาวะอดอยากยากแค้น คนไม่มีงานทำเต็มไปหมด การสร้างหนังก็ไม่อาจลงทุนอะไรมาก หนังในยุคนั้นจึงหาคนธรรมดามาแสดง และไปถ่ายทำกันนอกโรงถ่าย ถ่ายในสภาพจริงๆ แต่เป็นยุคหนังคุณภาพสูงของอิตาลียุคหนึ่งทีเดียว

“ขโมยจักรยาน” เป็นหนึ่งในหนังของยุคนี้ที่เรียกกันว่า “นวสัจนิยม” (Neorealism) หนังที่สะท้อนความเป็นจริงอย่างตรงไปตรงมา หนังที่พยายามเลิกชวนฝัน (deromanticize) คือไม่ทำให้คนเพ้อฝันไปกับภาพชีวิตที่เต็มไปด้วยเกียรติยศชื่อเสียง อยู่อย่างสะดวกสบายบนกองเงินกองทอง แวดล้อมด้วยข้าทาสบริวาร หรือไม่ก็สะท้อนชีวิตของผู้คนสังคมสูง นั่งรถเก๋งคันยาวๆ แต่งชุดราตรีออกไปงานเลี้ยง ดื่มแชมเปญ เต้นรำ ใช้โทรศัพท์สีขาวเพื่อบ่งบอกความแตกต่างทางสถานภาพ

หนังแนวนวสัจนิยมสะท้อนชีวิตของคนธรรมดา ถ้าบ้านเราก็คนเดินดินกินข้าวแกง ชีวิตประจำวันที่ดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาสารพัด โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ความขาดแคลนและอดอยากยากจน ซึ่งหนังแนวนี้เกิดขึ้นที่อิตาลีช่วงปี 1944-1952 โดยผู้กำกับชั้นครูอย่าง Rossellini, DeSica, Visconti โดยก่อนหน้า The Bicycle Thief เดซิกาได้สร้าง “Shoeshine” (เด็กขัดรองเท้า 1947) ซึ่งเป็นหนังสะเทือนอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ทำให้รัฐบาลและบรรดาไฮโซอิตาเลียนไม่พอใจ หาว่าหนังประเภทนี้จะทำให้ภาพลักษณ์ของอิตาลีเสียหาย

จะว่าคนทำหนังเหล่านี้หัวเอียงซ้ายก็ไม่ผิดนัก โดยเฉพาะคนเขียนบทอย่าง Cesare Zavattini เป็นมาร์กซิสต์และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี ต้องการชี้ให้เห็นความทุกข์เข็ญของประชาราษฎร์อยู่แล้ว เขาเชื่อว่าสังคมนิยมจะแก้ไขปัญหาการว่างงานและความยากจนได้ดีกว่าทุนนิยม

กระนั้นหนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้สะท้อนภาพความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากนัก เห็นแต่ภาพในร้านอาหารที่สองพ่อลูกแวะเข้าไปหลังจากตามหาจักรยานด้วยความเหน็ดเหนื่อยและอ่อนเพลียละเหี่ยใจมาทั้งเช้า ทั้งสองสั่งอาหารพื้นๆ ต่างจากโต๊ะข้างๆ ซึ่งกินกันเต็มที่ พ่อบอกลูกที่มองไปยังเด็กที่นั่งโต๊ะนั้นว่า ถ้าจะกินอาหารอย่างพวกเขาคงต้องมีรายได้เดือนละเป็นล้านลีร์ (หลายหมื่นบาท)

หนังเรื่องนี้ได้รับรางวัลพิเศษจากฮอลลีวูด (Special Academy Award) ในปี 1949 ขณะที่ยังไม่ได้ตั้งรางวัลออสการ์หนังต่างประเทศยอดเยี่ยม เป็นหนังนวสัจนิยมที่มีอิทธิพลจนถึงทุกวันนี้

หนังจากประเทศกำลังพัฒนามักจะใช้วิธีการทำหนังแบบนี้อยู่มาก ไม่ว่าจะเป็น Children of Heaven จากอิหร่าน ซึ่งเคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ในปี 1999 หรือแม้กระทั่ง Ousama หนังอัฟกันเรื่องล่าสุดที่โด่งดังและถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ต้นปีนี้ (เคยมาฉายที่บางกอกฟิล์มเฟสติวัลต้นปีนี้) ผู้แสดงเป็นคนธรรมดา เด็กหญิงผู้แสดงนำใน Ousama เป็นเด็กเร่ร่อน และเธอก็แสดงเป็นเด็กเร่ร่อนได้แทบไม่มีที่ติ หรือหนังตลกอย่าง “เทวดาท่าจะบ๊องส์” ก็ทำให้ “คนป่า” กลายเป็นดารากันทั้งเผ่า

หรือหนังไทยอย่าง “ทองปาน” และ “ประชาชนนอก” ที่ผู้กำกับมือใหม่อย่างไพจง ไหลสกุล (ทองปาน) และมานพ อุดมเดช (ประชาชนนอก) สร้างเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนก็ไม่มี “ดารา” มีแต่คนธรรมดาที่ถูกจับไปเล่นหนัง ขนาดอาจารย์ ส. ศิวรักษ์ และ อาจารย์เสน่ห์ จามริก ยังได้แสดงใน “ทองปาน” ซึ่งก็ไม่ได้ทำอะไรพิเศษ เพราะเป็นการสัมมนาต่อต้านการสร้างเขื่อน อันเป็นงานถนัดและงาน “ประจำ” ของท่านเหล่านี้อยู่แล้ว ส่วนทองปานเป็นชาวบ้านธรรมดาและแสดงเป็นชาวบ้านธรรมดา ได้ดีจน “คุณาวุฒิ” จ้างไปแสดงต่อใน “ลูกอีสาน”

คนแสดงใน “ประชาชนนอก” ก็เป็นชาวบ้านจริงๆ เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะพ่อแม่พี่น้องและชาวบ้านที่ยโสธรของจำรัส พระเอกของเรื่องที่ถูกยิงตายในท้ายที่สุด ชาวบ้านเหล่านี้ไม่มีใครเคยแสดงหนัง ไม่ได้ซ้อมมากมายอะไร เพราะมานพบอกว่า คนซ้อมมักเล่นไม่ดี คนไม่ซ้อมกลับทำได้ดีกว่า ยิ่งซ้อมยิ่งไม่เป็นธรรมชาติ เป็นงั้นไป

ชีวิตของคนทุกคนดูเผินๆ คิดว่าไม่มีอะไร แต่ยิ่งดูลึกลงไปในรายละเอียดยิ่งพบว่า แต่ละเรื่องแต่ละคนสามารถนำมาทำเป็นหนังชีวิตเรื่องยาวได้ไม่ยากเลย และแต่ละคนก็สามารถแสดงเป็นพระเอกนางเอกได้อย่างเป็นธรรมชาติ เป็นตัวของเขาเอง

The Bicycle Thief ได้ชื่อว่าเป็นหนังดีที่สุดเรื่องหนึ่งของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ได้สะท้อนให้เห็นการสูญเสีย ความเจ็บปวด ความสิ้นหวัง แสดงให้เห็นการดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของคนธรรมดาคนหนึ่ง สะท้อนได้อย่างสมจริงยิ่งกว่าคำบรรยายด้วยภาษาใดๆ

ในความสับสนและสิ้นหวัง ยังมีมือน้อยๆ ที่ไร้เดียงสาของใครคนหนึ่งที่ทำให้เราคิดได้ว่า ที่จริงเราไม่ได้อยู่คนเดียวและสู้คนเดียว ยังมีคนยืนอยู่ข้างเราและเดินไปด้วยกันอีกมากมายหลายคน

*****

(ขออนุญาต “ฉาย” หนังอิตาเลียนอีกสัก 2-3 เรื่องเพื่อรำลึกถึงคุณของ “ครู” อิตาเลียนที่สอนสั่งวิชาการดูหนังให้ที่กรุงโรมเมื่อหลายสิบปีก่อน หนังเก่าๆ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของบทเรียน และได้กลับมาดูอีกในรูป DVD ที่มีคนซื้อให้จากอิตาลี)
กำลังโหลดความคิดเห็น