xs
xsm
sm
md
lg

คาซาลส์และเชลโล่ของเบโธเฟน(1)

เผยแพร่:   โดย: ต่อพงษ์ เศวตามร์

มีคนถามว่า ที่พิพิธภัณฑ์บ้าน เบโธเฟน ที่กรุง บอนน์ นั้นนอกจากเปียโนแล้ว ยังมีเครื่องดนตรีชนิดอื่นที่เบโธเฟนแกเล่นจริงๆ หรือ เพราะดูเหมือนว่าเบโธเฟนจะถนัดในการเล่นเปียโนเท่านั้น อีกทั้งแกเองก็เรียกได้ว่าเป็นนักโซโล่ชื่อดังเหมือนกัน...

ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะพ่อแกละครับที่จับเอาเด็กหัวยุ่งคนนี้ไปเปรียบมวยกับโมทซาร์ตตั้งแต่ต้น

คำตอบก็คือ มีครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมว่านักแต่งเพลงทุกคนก็น่าจะมีหมดและสามารถเล่นเครื่องดนตรีที่เป็นอาวุธหลักของวงดนตรีในขณะนั้นได้หมดล่ะครับ ไม่ว่าจะเป็นเปียโน ไวโอลิน เชลโล โดยเฉพาะเชลโล่นั้นจำเป็น เนื่องจากว่าเวลาที่นักดนตรีจะแต่งเพลงสำหรับการบรรเลงประเภทสามคนหรือ 4 คน เชลโล่ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญ เนื่องจากจะให้เสียงเบสที่พอดิบพอดีและนำมาซึ่งความแน่นในบทเพลงนั้นๆ

ก็เหมือนกับวงร็อก 4 ชิ้นแหล่ะครับ ที่ประกอบไปด้วย กีตาร์ เบส กลอง คีย์บอร์ด...ถามว่า สาย 6 ของกีตาร์ หรือ คีย์ต่ำสุดของคีย์บอร์ดนั้นสามารถทำเสียงเบสได้ไหม คำตอบก็คือได้ แต่มันก็ไม่หนักแน่นและฟังออกมาดูดีเท่ากับที่เบสทำได้ วงดนตรีอย่าง อีเมอร์สัน เลค แอนด์ พาล์มเมอร์ ก็ยังต้องมีเกรก เลก มาคอยเล่นเบสเลย ทั้งๆ ที่ คีธ อีเมอร์สัน แกเป็นยอดเซียนคีย์บอร์ดอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้นก็คงไม่แปลกที่เบโธเฟนจะต้องรู้จักและเข้าใจเครื่องดนตรีที่ตัวเองจะต้องใช้เพื่อจะเขียนเพลงใช่ไหมล่ะ แม้จะไม่เก่งกาจเป็นนักโซโล่ แต่ทว่าก็ต้องรู้และเข้าใจศักยภาพของมัน ถึงจะเขียนเพลงออกมาได้ ส่วนนักโซโล่หรือนักดนตรีจะเอาโน้ตที่แกเขียนไปเล่นให้ได้หรือทำให้ได้อย่างที่ใจปรารถนาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เหตุนี้งานของปาโบ้ล คาซาลส์ ที่เอา เชลโล่ของเบโธเฟนมาอัดเสียงจึงเป็นเรื่องที่น่าฟังเป็นพิเศษในความรู้สึกของผม

ประการแรก เพราะเสียงต่ำๆ ของเชลโล่ ที่ออกมาเนียนหวานหรือลงต่ำเหมือนคนกำลังป่วย...เทียบได้กับเสียงนักร้องแบริโทนนั้นเป็นที่ประทับใจมาตั้งนานแล้ว เชลโล่นั้นถ้าฟังเดี่ยวๆ โดยเล่นเพลงหวานๆ จะไพเราะมาก ฟังแล้วหลับสบายจริงๆ งานที่อยากแนะนำให้ไปฟังก็มีของ โยโย่ หม่าที่เอาเพลงของบาคกับเพลงยุคบาโร้คอีกมากมาบรรเลง หรือแม้กระทั่งจะเข้มแข็งขึ้นมาอย่างงานของ แจ็คเกอลีน ดูเพรย์ ที่โด่งดังมากกับเชลโล่ คอนแชร์โต้ ของ เอ็ดเวิร์ด เอลก้า นั้นก็ทีเด็ดจริงๆ

“ขุนช้าง” ปาโบ้ล คาซาลส์ (Pablo Casals) ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดของนักเล่นเชลโล่ในประวัติศาสตร์ เป็นผลผลิตของครอบครัวนักดนตรีสเปน คาซาลส์ เกิดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 1876 (จำง่ายนะครับ) ในแคว้น คาตาลุญญ่า ของสเปน คุณพ่อของคาซาลส์เป็นนักดนตรีแล้วก็ทำงานอยู่ในโบสถ์ แกก็แนะให้ลูกเล่นและเรียนเครื่องดนตรีอย่างเปียโน ไวโอลิน หรือ แม้กระทั่งร้องคอรัส แต่จนแล้วจนรอด คาซาลส์ก็ไม่ชอบจนกระทั่งไปเจอวงดนตรีที่เข้ามาเล่นในเมืองวงหนึ่ง พวกเขาหิ้วเครื่องดนตรีที่มีรูปร่างเหมือนไวโอลิน แต่ใหญ่กว่ามาก ไอ้หนูคาซาลส์ตกลงใจว่า เขาจะเล่นเครื่องนี้แหล่ะเพราะมันเท่ห์ดี

จะด้วยใจรักปนกับพรสวรรค์และพรแสวงที่แม่และพ่อผลักดัน...ไม่นานคาซาลส์ก็ได้เข้าโรงเรียนดนตรีอย่างเป็นทางการ จนอายุ 14 เด็กชายปาโบ้ลก็ออกแสดงสดเป็นครั้งแรก ว่ากันว่าช่วงเวลานี้เองที่หัวของปาโบ้ลเริ่มที่จะล้านไปเรื่อยๆ จนอายุยี่สิบห้าหน้าตาแกก็กลายเป็นขุนช้างสมบูรณ์แบบ แต่ขณะที่ผมของแกหดไปเรื่อยๆ แต่ฝีมือการบรรเลงกลับเป็นที่อัศจรรย์อย่างเหลือจะกล่าว

พูดได้ว่าตั้งแต่แกเริ่มแสดงคอนเสิร์ตครั้งแรก ชีวิตของปาโบ้ลก็ไม่เคยตกต่ำอีกเลย แกได้รับการอนุเคราะห์ให้เป็นนักเรียนทุนส่วนพระองค์ของ ควีน มาเรีย คริสติน่า แห่ง มาดริด ก่อนจะถูกส่งตัวไปฝึกฝนตามที่ต่างๆ และเริ่มกลายเป็นเด็กอัจฉริยะคนใหม่ของวงการขึ้นมาทันที

คาซาลส์นั้นเคยไปเล่นหน้าพระพักตร์ของกษัตริย์ในหลายประเทศ ต่อหน้าประธานาธิบดีอย่าง ธีโอดอร์ รูสต์เวลล์ หรือ แม้กระทั่ง จอห์น เอฟ เคเนดี้ก็เคย แต่ชื่อเสียงที่มาควบคู่กับฝีมืออันเกรียงไกรของแกนั้นกลับเป็นการประกาศตัวคนเป็นหนุ่มนักต่อสู้เพื่อ ‘สันติภาพ’ นะครับ

ช่วงที่แกเป็นหนุ่มใหญ่ คาซาลส์มีปัญหาและมีความเกลียดชังเผด็จการเป็นอันมาก เรื่องโชคร้ายก็คือหนึ่งในเผด็จการที่แกเกลียดดันเป็น นายพล ฟรังโก จอมเผด็จการแห่งสเปนเสียด้วย เรื่องมีอยู่ว่าในช่วงปี 1936 สเปนเกิดสงครามกลางเมืองของขั้วการเมืองสองฝ่าย คาซาลส์นั้นยืนอยู่ข้างหนึ่งที่เรียกว่า Spanish Republican government บังเอิญไอ้ข้างที่แกเชียร์เหยงๆ เกิดแพ้ขึ้นมา วงดนตรีของคาซาลส์ที่ชื่อ the Orquesta Pau Casals ก็เลยโดนแบน

แบนไม่แบนเปล่าจะจับเอาตัวหัวหน้าวงที่เป็นกระบอกเสียงในการโจมตีฝ่ายชนะเสียด้วย คาซาลส์ก็เลยต้องหลบภัยการเมืองไปอยู่นอกสเปนและไม่เคยกลับมาบ้านเกิดอีกเลยจนกระทั่งประชาธิปไตยกลับมาสู่สเปนอีกครั้ง

บ้านที่สองของเขาอยู่ที่ Prades ในฝรั่งเศสเป็นพื้นที่กันชนระหว่างฝรั่งเศสกับสเปนในตอนนั้น ช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1939-1942 ถือเป็นเป็นช่วงร้อนที่สุดในฝีมือการเล่นเชลโล่ของแก คาซาลส์ไปเล่นดนตรีที่ไหนก็ด่ารัฐบาลของตัวเองไปด้วยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายพลฟรังโกที่แกเกลียดนักหนา ที่แสบกว่านั้นคาซาลส์ประกาศตัวไม่ร่วมเล่นดนตรีในประเทศเป็นมหามิตรและยอมรับกับระบอบเผด็จการในสเปนเอาเสียเลย อเมริกาก็เลยใช้คาซาลส์เสียจั๋งหนับในการเป็นเครื่องมือต่อต้าน...ก็ขนาดท่านเคนเนดี้เปิดทำเนียบให้คาซาลส์ไปเล่น และด่า รัฐบาลตัวเองนะครับ

เขาว่าฝีมือของคาซาลส์ที่ทำให้แกได้รับการยอมรับมากที่สุดอยู่ที่การบรรเลง B-flat Major Quartet ของ โยฮันเนส บราห์มส แต่ผมเคยฟังแกเล่นของบาคก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กันหรอกครับ เพราะฉะนั้นเมื่อมีโอกาสเห็นอัลบั้มของคาซาลที่เล่นเพลงของเบโธเฟน ความอยากฟังถึงบังเกิดขึ้นมาทันที

ดูตามหน้าปกอัลบั้ม ปรากฏว่า กว่าที่คาซาลส์จะมาเล่นเครื่องดนตรีชิ้นนี้และบันทึกเสียงมานั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน เป็นโปรเจ็กต์คิดกันมาหลายปีดีดักแล้ว แต่ก็วืดๆ ไปวืดมา เรียกว่า แค่อ่านที่มาของการบรรเลงครั้งนี้ก็สนุกมากๆ แล้ว

ส่วนมันยากขนาดไหน เดี๋ยวคราวหน้ามาเล่าให้ฟังกันอีกทีครับ

*****

ปล. หนังสือ กขค.คลาสสิก ฉบับ ABC ที่จำหน่ายหมดไปแล้วในการพิมพ์ครั้งที่หนึ่งนะครับ ตอนนี้ทางสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ได้จัดการพิมพ์ครั้งที่ 2 ออกมาแล้ว ใครที่ซื้อรอบแรกไม่ทัน ตอนนี้ไปหาดูกันได้ หน้าปก 4 สีเขียว – น้ำเงิน งานนี้แถมแผ่นเพื่อการฟังประกอบการอ่านกันไปเลยด้วย 1 แผ่น ราคา 220 บาท สนใจหาซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป หรือ ติดต่อมาได้ที่ สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์นะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น