xs
xsm
sm
md
lg

เด็กและเยาวชนคือผู้รับผิดชอบต่อประเทศชาติในอนาคต

เผยแพร่:   โดย: ลิขิต ธีรเวคิน

เด็กและเยาวชนถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนสำคัญในสังคม คำพูดที่ว่า “เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” มีการพูดถึงบ่อยครั้ง ซึ่งหมายความว่าเด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ รับผิดชอบต่อการบริหารประเทศ ขณะเดียวกันในแง่ปัจเจกบุคคลก็จะมีการพูดว่า อนาคตของคนนั้นจะเป็นอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของเขาในขณะที่เยาว์วัย ถ้าเป็นเด็กเกเรไม่เรียนหนังสืออนาคตก็จะอับเฉา เมื่อนำสองส่วนมาผสมกันก็จะกล่าวได้ว่า อนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไรนั้นย่อมขึ้นอยู่กับว่าเด็กและเยาวชนในปัจจุบันมีพฤติกรรมอย่างไร มีค่านิยมในรูปแบบไหน และมองบทบาทของตนเองที่มีต่อสังคมอย่างไรบ้าง กล่าวอีกนัยหนึ่ง เด็กและเยาวชนเคยมีความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่จะทำอะไรให้ประเทศชาติหรือสังคมบ้างหรือไม่นอกเหนือแต่การสนใจเรื่องส่วนตัว สนุกสนาน และใช้ชีวิตไปในวันหนึ่งๆ โดยไม่คิดอะไร คอยแบมือขอเงินจากผู้ปกครองอยู่ตลอดเวลา

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เด็กและเยาวชนในปัจจุบันต่างจากเด็กและเยาวชนในอดีต คำกล่าวนี้มีการพูดซ้ำมาเป็นรุ่นๆ ตั้งแต่โบราณกาล ในแง่หนึ่งถ้าจะกล่าวในลักษณะสังเกตอย่างกว้างๆ ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นยุคใดจะมีคำกล่าวที่ว่า “ในยุคที่ผมเป็นเด็กก๋วยเตี๋ยวชามละ 3 สตางค์” อีกรุ่นหนึ่งก็บอกว่า “ในยุคที่ผมเป็นเด็กก๋วยเตี๋ยว
ชามละ 50 สตางค์ แต่ในปัจจุบันชามละ 20 บาท” “เมื่อก่อนอะไรก็ดี เดี๋ยวนี้แย่ลง” “เด็กสมัยก่อนต่างจากเด็กสมัยนี้ เด็กสมัยก่อนแสดงความเคารพนบน้อมต่อผู้ใหญ่ ไม่ก้าวร้าวเท่าสมัยนี้” “เด็กสมัยนี้เอาแต่เที่ยวและเล่น ไม่ค่อยขยัน และสบายเกินไป”
ฯลฯ

ข้อสังเกตดังกล่าวที่ยกมานั้นจะถูกหรือผิดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และคงต้องถกเถียงอีกนาน ที่สำคัญคือมีข้อสังเกตเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในปัจจุบันที่ต้องให้น้ำหนักความสำคัญดังต่อไปนี้ คือ

1. มีการตั้งข้อสังเกตว่าเด็กและเยาวชนในปัจจุบันมีลักษณะที่ค่อนไปในทางวัตถุนิยม บริโภคนิยม และเงินตรานิยม มีแนวโน้มที่จะใช้เงินหรือสถานะทางการเงินเป็นเกณฑ์ในการสร้างความสัมพันธ์และวัดความสัมพันธ์ ความเจริญทางวัตถุและความทันสมัยของเทคโนโลยี รวมตลอดทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจและธุรกิจในยุคปัจจุบันได้นำไปสู่การเกิดของชนชั้นกลาง ซึ่งมีลูกหลานที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีลักษณะดังกล่าวมาเบื้องต้น จะเห็นได้ว่า เด็กและเยาวชนในปัจจุบันต่างมีโทรศัพท์มือถือและคุยกับเพื่อนโดยผ่านมือถือเป็นชั่วโมงๆ มักจะหาความสนุกสำราญในแหล่งบันเทิงสำหรับเยาวชน เดินเที่ยวตามห้างสรรพสินค้าหรือโรงภาพยนตร์ จุดประสงค์หลักคือหาความสนุกสนาน คบเพื่อนที่อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกันทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าเด็กและเยาวชนเหล่านี้ไม่สนใจเล่าเรียนศึกษา แต่ว่ามีจำนวนไม่น้อยที่วางแผนไว้ว่าจะใช้ความรู้ดังกล่าวหาเงินเพื่อหาความสุขใส่ตัว ความรู้สึกเรื่องรับใช้สังคมหรือทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติอาจจะมีบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะไม่ให้ความสนใจในแง่มุมดังกล่าว

2. ตามที่ได้เกริ่นมาบ้างแล้วว่า เด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันสนใจแต่เรื่องสวัสดิการของตัวเอง ไม่สนใจเรื่องที่เกี่ยวกับภาพรวมของสังคม ความคิดเกี่ยวกับสังคมและประเทศชาติที่จะนำไปสู่คำถามที่ว่า ประเทศไทยจะสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้หรือไม่ในอนาคต ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการศึกษา หรือคำถามที่ว่า จะทำให้ความเป็นอยู่ของชาวนาดีขึ้นอย่างไรในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ล้าหลังนี้จะมีส่วนเสริมหรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการเมืองและการปฏิรูปสังคมให้มีคุณภาพชีวิตหรือไม่อย่างไร ในทางตรงกันข้าม เด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยจะสนใจในเรื่องการไปรับดาราชาวญี่ปุ่นที่เดินทางมาเยี่ยมประเทศไทย ความสนใจบางทีอยู่ที่ว่าจะไปฟังคอนเสิร์ตที่จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์นี้หรือไม่ ฯลฯ โดยรวมเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่
สนใจแต่เรื่องตัวเอง ซึ่งหลายคนมองว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่ความเห็นแก่ตัว

3. เด็กและเยาวชนในตะวันตกเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพและความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งกำลังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ความแตกต่างอยู่ที่ว่าเด็กและเยาวชนในตะวันตกนั้นพยายามพึ่งตนเองด้วยการทำงานหาเงิน แม้กระทั่งหาเงินเรียนหนังสือเองเพื่อจะใช้ชีวิตอย่างอิสระตามความใฝ่ฝัน แต่ในกรณีของสังคมไทยนั้นเด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยยังพึ่งเงินจากพ่อแม่ผู้ปกครองโดยการแบมือขอทุกอาทิตย์ เรียกร้องให้มีการซื้อมือถือรุ่นใหม่ ซื้อเสื้อผ้าและสิ่งอื่นๆ และเมื่อทำผิดพลาดพ่อแม่ก็จะเข้ามาคุ้มครองป้องกันเหมือนแม่ไก่คุ้มครองลูกไก่เมื่อถูกอีกาไล่จิก เด็กและเยาวชนเหล่านี้เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพแต่ไม่ยอมโตเป็นผู้ใหญ่ ต้องการมีสิทธิและเสรีภาพแต่ยังดำรงคงความเป็นลูกแหง่

4. เด็กและเยาวชนในปัจจุบันจะมองตนเองและบทบาทของตนเองในอนาคตอย่างไรนั้นย่อมขึ้นอยู่กับคำถามดังต่อไปนี้ คือ

ก.เด็กและเยาวชนเข้าใจประวัติศาสตร์ของชาติตนมากน้อยเพียงใด และมีความภาคภูมิใจในมรดกตกทอดของประวัติศาสตร์หรือไม่อย่างไร

ข.เด็กและเยาวชนมีความรู้สึกห่วงใยและอยากรับผิดชอบต่ออนาคตของประเทศชาติมากน้อยเพียงใด หรือว่าถือว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องให้ความสนใจ

ค.ถ้าเด็กและเยาวชนมีจิตสำนึกที่จะทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ คำถามก็คือมีความรู้หรือความสามารถพอที่จะรับผิดชอบต่อประเทศชาติและภารกิจอันใหญ่หลวงมากน้อยเพียงใด

ถ้าเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ยังคงรักสนุก ปล่อยชีวิตตามสบาย ไม่มีความรู้เกี่ยวกับปัญหาของประเทศชาติทั้งภายในและภายในบริบทของต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก และการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โอกาสที่จะเป็นบุคคลที่สามารถรับผิดชอบต่อประเทศชาติในอนาคตก็จะมีไม่มากนัก

ถ้าหากสภาวะที่กล่าวมาเบื้องต้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ภาพที่จะมองอนาคตของประเทศชาติก็จะไม่สวยงามนัก คำถามก็คือแล้วจะหาทางออกอย่างไร คำตอบมีอยู่ว่า เด็กและเยาวชนในปัจจุบันจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในรูปแบบใดนั้น จะขึ้นอยู่กับตัวแปรสองตัว คือ การศึกษาและวัฒนธรรม ในแง่การศึกษานั้นถ้าเป็นระบบการศึกษาที่ทำให้คนสามารถมีความคิดเป็นอิสระ คิดแบบผู้ใหญ่ มีเหตุมีผล และความรู้ที่เล่าเรียนนั้นสอดคล้องในยุคปัจจุบันและโลกที่จะเปลี่ยนในอนาคต ก็จะได้ผู้ใหญ่ที่มีความพร้อมที่จะต่อสู้กับปัญหาที่จะต้องเผชิญ ในส่วนของวัฒนธรรมนั้น บุคลิกที่จะถูกกล่อมเกลาด้วยค่านิยม แบบกระสวนของพฤติกรรม ความเชื่อ ย่อมขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม วัฒนธรรมไทยที่ดีเช่น ความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่สุดโต่งในเรื่องอุดมการณ์และความเชื่อเป็นส่วนที่ควรรักษาไว้ ฯลฯ

แต่ในส่วนของวัฒนธรรมซึ่งทำให้เยาวชนกลายเป็นคนหมกมุ่นอยู่กับวัตถุนิยม บริโภคนิยม เงินตรานิยม รักสนุก ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ขาดระเบียบวินัย ขาดจิตสำนึกในการทำงาน ขาดความรู้และวิสัยทัศน์เกี่ยวกับปัญหาของสังคมและประเทศชาติ จำเป็นต้องมีการแก้ไขอย่างรีบด่วน

คำถามก็คือ ใครจะเอากระดิ่งไปผูกที่คอแมว
กำลังโหลดความคิดเห็น