xs
xsm
sm
md
lg

คุณรู้จักมณฑลเจียงซูหรือยัง

เผยแพร่:   โดย: พรรณี เช็งสุทธา

ผู้เขียนได้มีโอกาสกลับไปที่เซี่ยงไฮ้อีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ได้เคยไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เซี่ยงไฮ้วันนี้เปลี่ยนไปมากจนจำแทบไม่ได้ มีผู้รู้บางท่านบอกว่าจีนเปลี่ยนทุกปีและจะเปลี่ยนไปอีกเรื่อย ๆ

คณะจากประเทศไทย นำโดยเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน พร้อมด้วยผู้บริหารของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นักธุรกิจไทย และผู้สื่อข่าวทั้งสิ้น 65 คนเดินทางไปเยือนเซี่ยงไฮ้ และ เมืองนานจิง มณฑลเจียงซู เมื่อวันที่ 3-8 สิงหาคม 2547 เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และศึกษาลู่ทางการลงทุนระหว่างกัน หลายท่านคงรู้จักนครเซี่ยงไฮ้เป็นอย่างดีแล้วในฐานะที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของจีน เซี่ยงไฮ้ยังเป็นแหล่งรวมการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมบริการ และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ด้วย

แต่สำหรับเมืองนานจิง เมืองหลวงของมณฑลเจียงซู ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ลงนามความตกลงร่วมมือด้านการลงทุน (MOU) กับ CCPIT (China Council for the Promotion of International Trade, Jiangsu Sub-Council) ของมณฑลด้วย หลายท่านคงเคยได้รู้จักแต่ประวัติศาสตร์ที่เจ็บปวดของประชากรชาวเมืองนานจิงในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

ปัจจุบันนานจิงพัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเปิดและรับการลงทุนจากต่างชาติอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งนักลงทุนรายสำคัญในนานจิง นอกจากไต้หวันและฮ่องกงแล้ว ยังมีญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนรายสำคัญของเมืองด้วย

มณฑลเจียงซูมีทำเลที่ตั้งอยู่สามเหลี่ยมแม่น้ำแยงซีเกียงริมทะเลทางตะวันออกของจีน มีประชากรทั้งสิ้น 75 ล้านคน เป็นมณฑลหนึ่งที่เจริญที่สุดด้านเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ การศึกษาและวัฒนธรรม

หลังทศวรรษที่ 90 มณฑลเจียงซูได้พัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเปิดอย่างรวดเร็ว จนถึงสิ้นปี 2546 เจียงซูได้อนุมัติวิสาหกิจทุนต่างชาติแล้วรวม 57,000 บริษัท คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนของต่างชาติตามสัญญารวม 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นเงินลงทุนจริง 77,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเบา เคมี เครื่องจักรกล อิเล็กทรอนิกส์ สารสนเทศ ยาและผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ถนน สะพาน เป็นต้น

บริษัท 170 แห่งที่อยู่ในรายชื่อ 500 บริษัทสุดยอดของโลกได้เข้ามาร่วมลงทุนอยู่ในบริษัทต่าง ๆ ในมณฑลเจียงซูกว่า 600 บริษัทและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

มณฑลเจียงซูมีแรงดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี นอกจากความได้เปรียบของทำเลที่ตั้งและความเจริญทางเศรษฐกิจแล้ว เจียงซูยังมีจุดเด่นอื่น ๆ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน โครงข่ายถนนทางด่วนระดับมณฑล สนามบินนานาชาติ ท่าเรือขนาดใหญ่ พร้อมการสื่อสารการขนส่งที่ดีเยี่ยม

เมื่อไม่นานมานี้ มณฑลเจียงซูได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาริมฝั่งแม่น้ำแยงซีเกียงเพื่อสร้างสองฝั่งแม่น้ำตลอด 400 กิโลเมตรในเขตมณฑลเจียงซู ให้เป็นพื้นที่รวมศูนย์ของอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก การให้บริการของหน่วยงานราชการของรัฐที่ยกระดับคุณภาพบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการลดขั้นตอนการอนุมัติโครงการให้เร็วและง่ายขึ้น

มีการส่งเสริมการให้บริการแบบครบวงจร และOne Stop Serviceโดยปรับเปลี่ยนจากการชักจูงการลงทุนที่มุ่งเน้นการให้สิทธิประโยชน์แต่เพียงอย่างเดียว มาเน้นคุณภาพของสิ่งแวดล้อมทางการลงทุนเพื่อให้ตรงกับความต้องการของนักลงทุนโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีใหม่และระดับสูง ทำให้เจียงซูเป็นที่กล่าวขวัญในด้านสภาวะแวดล้อมการลงทุนที่เอื้ออำนวย

มณฑลเจียงซูมีทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี มีสถาบันอุดมศึกษา 105 แห่ง บุคลากรวิชาชีพด้านต่าง ๆ รวม 1.63 ล้านคน มีหน่วยงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ 27,266 แห่ง บุคลากรด้านงานวิจัย 330,000 คน โดยมีนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรรวม 210,000 คน ราชบัณฑิตสภาวิจัย 87 คนจากสภาวิทยาศาสตร์และสภาวิศวกรแนวหน้าของจีน มณฑลเจียงซูมีจุดเด่นที่ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ผู้บริหารระดับต่าง ๆ และบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนาจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ

เจียงซูได้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมระดับชาติรวม 12 แห่ง เขตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก 8 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมระดับมณฑล 75 แห่ง ก่อให้เกิดกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลาย เช่น เขตพัฒนาเทคโนโลยีและเศรษฐกิจนานจิง-เจียงหนิง (Nanjing Jiangning Economic and Technology Development Zone) ซึ่งคณะได้ไปเยี่ยมชมด้วยในครั้งนี้

นิคมเหล่านี้ได้วางแผนผังที่อยู่ในระดับแนวหน้าของจีนและสากล เพื่อสนองความต้องการของนานาชาติด้านการก่อสร้างสิ่งแวดล้อม ที่ดิน โดยได้ตรากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นระบบ และได้ตั้งระบบการบริหารที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจระบบการตลาดเพื่อให้เป็นระบบโครงสร้างที่บริหารด้วยกฎหมาย พร้อมกับสร้างระบบโครงสร้างการบริหารที่สะดวกรวดเร็วสำหรับด่านศุลกากรทั้งหลาย

เจียงซูได้จัดตั้งสวนนิคมสำหรับนักศึกษาที่จบจากต่างประเทศเพื่อสร้างงานใหม่ ศูนย์บ่มเพาะการสร้างงานด้านเทคโนโลยีใหม่และสูงขึ้นในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อสร้างอุตสาหกรรมที่เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับมณฑล และก่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดีในการดึงดูดการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่และสูงทั้งจากต่างประเทศและในประเทศได้ด้วย

สำหรับเมืองนานจิง เมื่อปี 2546 GDP ของเมืองมีมูลค่าถึง 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราเติบโตร้อยละ 12 ต่อปี นานจิงเป็นหนึ่งใน 10 เมืองของจีนที่มีศักยภาพของประเทศ นานจิงเป็นเมืองวิทยาศาสตร์และการศึกษา มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งผลิตนักศึกษาได้ถึง 400,000 คนมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศเทียบสัดส่วนของจำนวนประชากรต่อนักศึกษาแล้ว นานกิงมีจำนวนนักศึกษามากที่สุด

นานจิงมีความสวยงามของธรรมชาติ ในปี 2546 มีพื้นที่สีเขียวร้อยละ 46 ของพื้นที่ทั้งหมดของนานจิง และถือว่ามีพื้นที่สีเขียวมากที่สุดของประเทศ

นานจิงเปิดรับการค้าและการลงทุนในปี 2546 มูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2547 มีมูลค่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการลงทุนในปี 2546 มีนักลงทุนมากถึง 90 ประเทศเข้ามาลงทุน โดยมีมูลค่าการลงทุนตามสัญญาทั้งสิ้น 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เฉพาะที่เป็นการลงทุนของต่างชาติมีมูลค่า 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2547 มีมูลค่าการลงทุนตามสัญญา 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการลงทุนของต่างชาติ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

นานจิงมีกิจการเคมีและปิโตรเคมีใหญ่ที่สุด ในปี 2546 มียอดขายผลิตภัณฑ์นี้ 250,000 ล้านหยวน ซึ่งมีมูลค่าเทียบเท่ากับเซี่ยงไฮ้ กิจการด้าน IT และอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2546 มียอดขาย 4,500 ล้านหยวนเป็นอันดับ 4 ของประเทศ ด้านยานยนต์นานจิงมีวิสาหกิจผู้ผลิตร่วมทุนกับต่างชาติมียอดการต่อรถ 2 แสนกว่าคัน ยอดขาย 20,000 ล้านหยวน บริษัท Ford, Mazda และ Changan จะลงทุนสร้างโรงงานต่อรถที่นิคมในเมืองนานจิง โดยตั้งเป้าไว้ที่ 5 แสนคัน และผลิตเครื่องยนต์ 5 แสนเครื่อง

นานจิงมีศักยภาพในการร่วมทุนผลิตในกิจการอิเล็กทรอนิกส์ เคมี ยานยนต์ และเป็นเมืองท่องเที่ยว GDP ของนานกิงเฉลี่ย 3,000 เหรียญสหรัฐฯ/หัว จึงน่าจะมีโอกาสพัฒนาการท่องเที่ยวได้ โดยเมื่อปี 2546 ได้เปิดสายการบินตรงกรุงเทพฯ-นานจิง ในวันที่ 19 กันยายน 2547 นานกิงจะจัด “นิทรรศการประจำปีฤดูใบไม้ร่วง” โดยจะมีการสัมมนาการค้าด้วย จึงขอเชิญชวนนักธุรกิจไทยที่สนใจเข้าร่วมงาน

สำหรับความร่วมมือระหว่างมณฑลเจียงซูและไทยนับว่ามีโอกาสที่ดีมาก จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2547 ไทยเข้าไปลงทุนในมณฑลเจียงซูแล้วประมาณ 448 โครงการคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนตามสัญญา 934 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นเงินลงทุนจริง 343 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมีข้าวหอมมะลิที่ขึ้นชื่อสามารถเข้าไปทำตลาดในมณฑลเจียงซูได้อย่างมาก ในขณะที่เจียงซูก็มีจุดเด่นในการแปรรูปการเกษตร ดังนั้นทั้งสองฝ่ายน่าจะมีโอกาสสร้างความร่วมมือด้านการเกษตรกรรมได้อย่างมาก

มณฑลเจียงซูได้กำหนดการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการสมัยใหม่ให้เน้นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจที่เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติซึ่งนักลงทุนไทยก็มีโอกาสเช่นกัน เจียงซูประกาศว่าจะใช้มาตรการที่ผ่อนปรนและคล่องตัวมากขึ้น เพื่อชักชวนนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมที่สำคัญคือ การเงิน ลอจิสติกส์ การท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ พร้อมกันนี้มณฑลเจียงซูจะดำเนินการส่งเสริมยุทธศาสตร์การเปิดประเทศที่เรียกว่า “ก้าวออกไป” ส่งเสริมให้วิสาหกิจในมณฑลเจียงซูที่มีกำลังเข้มแข็งมีธุรกิจที่โดดเด่นไปลงทุนในต่างประเทศด้วย แล้วอย่างนี้ คุณคิดว่ารู้จักมณฑลเจียงซูแล้วหรือยัง
กำลังโหลดความคิดเห็น