ที่เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในซิซิลี มีโรงหนังชื่อ Cinema Paradiso (สวรรค์ภาพยนตร์) ที่ดูจะเป็นสถานที่พักผ่อนหาความบันเทิงแห่งเดียวของเมืองนี้ เรื่องราวเริ่มขึ้นในช่วงทศวรรษ 1940 มีภาพและฉากดาราดังๆ อย่าง ฌอง กาแบง ชาร์ลี แชปลิน จอห์น เวห์น ให้เห็นบนจอในโรงหนังเล็กๆ แห่งนี้
ตามวิถีชุมชนในยุคนั้น บาทหลวงเจ้าอาวาสมีบทบาทสำคัญในการควบคุมดูแลศีลธรรมอันดีงามของประชาชน ด้วยเหตุนี้ ทุกเช้า “คุณพ่อเจ้าวัด” จะนัดอัลเฟรโดคนฉายหนังไปเซ็นเซอร์หนังก่อนจะฉายให้ชาวบ้านดู เมื่อถึงตอนที่มีการจูบกัน คุณพ่อจะสั่นกระดิ่ง ให้อัลเฟรโดทำเครื่องหมายเพื่อตัดส่วนนั้นออกไป แม้จะมีคนบ่นว่า “ดูหนังมา 20 ปี ไม่เคยมีบทจูบสักตอน” คุณพ่อก็ไม่เคยเลิก
หนังเรื่องนี้เป็นการมองย้อนอดีตของผู้กำกับหนังชาวอิตาเลียนคนหนึ่ง ซึ่งออกจากบ้านมาได้ 30 ปี ไม่เคยกลับบ้านที่ซิซิลีอีกเลย วันหนึ่งเขาได้ข่าวการตายของอัลเฟรโด ชายชราผู้เป็นคนฉายหนังที่ “สวรรค์ภาพยนตร์” ตั้งแต่เขายังเด็ก และเป็นคนสอนให้เขารู้จักฉายหนังจนเขากลายเป็นผู้ช่วยและผู้สืบทอดงานของชายชราในท้ายที่สุด
ซาลวาตอเร หรือโตโต้ อายุเพียง 7-8 ขวบ อยู่กับแม่และน้องสาว พ่อไปรบที่รัสเซียและไม่กลับมาแม้สงครามเลิกแล้ว อัลเฟรโดคนฉายหนังจึงแทบจะเรียกว่าเป็นพ่อของเขา เพราะนอกจากจะสอนการฉายหนัง ยังสอนให้เขารู้จักชีวิต สอนให้เป็นคนดีไม่ขี้โกง สอนให้รู้จักฝันและมีความมุ่งมั่น
หนังเล่าเรื่องเด็กน้อยโตโต้ที่ถูกแม่ห้ามไปยุ่งเกี่ยวกับลุงอัลเฟรโดรวมทั้งห้ามเข้าไปดูหนัง แต่ที่สุดก็มีเหตุการณ์หลายอย่างที่ทำให้เด็กน้อยจอมซนกลับไปช่วยงานลุงได้ โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญคือการสอบระดับประถม ซึ่งทางเทศบาลจัดสอบรวมกันระหว่างเด็กๆ และพวกที่เรียนการศึกษานอกโรงเรียน หรือการศึกษาผู้ใหญ่ โตโต้ได้ช่วยลุงอัลเฟรโดโดยแอบเขียนคำตอบใส่กระดาษส่งให้
ฉากนี้และอีกบางฉาก เช่นเด็กอายุไม่ถึงสิบขวบสูบบุหรี่ในโรงหนังเป็นฉากที่สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในยุคนั้น วันนี้อาจจะไม่เห็นฉากแบบนั้น แต่ก็มีฉากอื่นที่อาจจะรุนแรงมากกว่าอีก เพียงแต่ไม่ได้ปรากฏในที่สาธารณะเท่านั้น อย่างการโกงข้อสอบของโตโต้กับลุงอัลเฟรโดถือว่าโบราณมากเมื่อเทียบกับการโกงยุคไฮเทควันนี้ ซึ่งมีทั้งไอทีและทำข้อสอบเอนทรานซ์รั่ว
ลุงอัลเฟรโดมีความสามารถสูงในการทำงาน เมื่อฉายหนังดังๆ เรื่องหนึ่งที่ใครๆ ก็อยากดู แต่โรงหนังเต็มจนไม่มีที่ยืน ลุงอัลเฟรโดก็ใช้เทคโนโลยีง่ายๆ ทำให้หนังฉายออกมานอกโรง มีกำแพงบ้านของชาวบ้านเป็นจอ ทำให้คนที่อยู่นอกโรงได้ดูหนังกับเขาไปด้วย
โรงหนังเล็กๆ แห่งนี้เป็นตัวแทนโรงหนังเก่าๆ ทั่วโลก คนรักหนังและคนที่เคยดูหนังตอนยังเด็กและยังหนุ่มต้องจำภาพเหล่านั้นได้ ไม่ว่าอยู่ประเทศไหนก็ไม่แตกต่างกัน ภาพของชาวบ้านที่เข้าไปดูหนังซึ่งมีทั้งคุยกัน สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า จีบสาว ลูกดูดนมแม่ บางคนนอนหลับ กรนดัง หนังจบก็ยังไม่ตื่น ถึงบทตลกก็หัวเราะกันตกเก้าอี้ ถึงบทเศร้าก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น บางคนติดใจไม่ยอมออกจากโรง ดูแล้วดูอีกแบบตีตั๋วยาวตั้งแต่เช้ายันเย็น ดูจนจำบทได้หมด กลายเป็นคนบอกบทผู้แสดงบนจอ
เมืองไทยก็มีโรงหนังอย่างว่านี้ในกรุงเทพฯ และในตัวจังหวัด แล้วจึงค่อยๆ ออกไปยังอำเภอ ชาวบ้านในชนบทส่วนใหญ่จะได้ดูหนังรถขายยามากกว่า เป็นหนังกลางแปลงที่สนามหญ้าหน้าโรงเรียนบ้าง หน้าวัดบ้าง ดูกันสนุกนั่งลุกสบาย มีคนเอาอาหารการกินข้าวต้มขนมไปขายเหมือนงานวัด เอาเสื่อไปปูนั่งบ้างนอนบ้าง หนุ่มสาวถือโอกาสไปจีบกันจนไม่เป็นอันดูหนัง บางคู่เขินอายขุดรูเล่นจนสนามหญ้าพรุนไปด้วยรูในวันรุ่งขึ้น มีคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นรูแย้รูหนู
หนังสมัยนั้นส่วนใหญ่เป็นหนังแขกบ้าง หนังคาวบอยบ้าง หนังจีนยังไม่ฮิตเท่าวันนี้ หนังไทยก็เพิ่งเริ่มต้น หนังทั้งหมดพากย์ไทยสดๆ นักพากย์เก่งๆ จะใส่มุกใส่เรื่องราวจากชีวิตจริงของชาวบ้านเข้าไปด้วย ทำให้สนุกสนานมากยิ่งขึ้น เหมือนกับดู Modern Times ของชาร์ลี แชปลินในแผ่นซีดีวันนี้ที่พากย์ลาวหรือภาษาอีสาน คนดูหนังหัวเราะคางแข็งเพราะลีลาภาษาพากย์มากกว่าตัวหนังด้วยซ้ำ
ฉากในโรงหนังซิซิลีแห่งนี้ดูจะดุเดือดกว่าสนามหญ้าหน้าโรงเรียนหรือหน้าวัดบ้านเรา ทำได้ยอดเยี่ยมจริงๆ เห็นภาพชีวิตของชาวบ้านชนบทอิตาเลียนยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้เป็นอย่างดี เห็นวิวัฒนาการของโรงหนัง เห็นการหยุดเซ็นเซอร์หนังของคุณพ่อเจ้าวัด มีฉากกอดจูบและยั่วอารมณ์จนคนดูคู่รักทนไม่ได้ต้องเลียนแบบในโรงนั่นเอง รวมทั้งการเข้ามาของหญิงบริการทางเพศที่สนองผู้ชายบางคนที่อดทนอดกลั้นไม่ได้
เป็นหนังตลกที่บางฉากเอาของสกปรกมาทำให้ขบขัน อย่างคนดูรายหนึ่งที่ชอบนั่งบนชั้นลอย ชอบบ้วนน้ำลายขากเสลดลงมาข้างล่าง โดนหัวใครไม่สนใจทั้งนั้น วันหนึ่งเจอดีจนได้ เมื่อมีคนปาห่อขี้ขึ้นไปโดนชายผู้นั้นเต็มหน้า คงไม่กล้าถ่มน้ำลายรดหัวชาวบ้านไปจนตาย
ชีวิตของชาวเมืองเล็กๆ นี้ส่วนใหญ่ก็เวียนอยู่แถวลานเมือง (piazza หรือ square) ซึ่งเป็นลานกว้างหน้าวัด หน้าโรงหนัง มีร้านค้าร้านกาแฟอยู่รอบๆ หนังสร้างสีสันให้เห็นคนบ้าคนหนึ่งที่อ้างว่าตนเองเป็นเจ้าของลานเมืองแห่งนี้ พอเที่ยงคืนแกจะเที่ยวไล่ใครต่อใครให้กลับบ้าน ร้องว่าจะปิดลานเมือง
วันหนึ่งเรื่องเลวร้ายก็เกิดขึ้น ไฟไหม้ขณะที่ฉายหนังเรื่องดังที่ลุงอัลเฟรโดทำให้ฉายออกไปนอกโรงเพื่อให้คนที่ลานเมืองได้ดูด้วย ทำให้โรงหนังเสียหายเกือบหมด ลุงอัลเฟรโดเองก็บาดเจ็บสาหัส เสียตาไปทั้งสองข้าง โตโต้คือคนที่ช่วยลุงไม่ให้ถูกไฟคลอกตาย และกลายเป็นคนสืบทอดหน้าที่การงานแบบหาคู่แข่งไม่ได้ แม้จะอายุไม่ถึงสิบขวบก็ตาม
ลุงอัลเฟรโดสอนโตโต้ตอนหนุ่มให้รู้จักจีบสาว เล่าเรื่องประเภท “ดอกฟ้ากับหมาวัด” เรื่องเจ้าหญิงกับทหารหนุ่มที่ตกหลุมรักและทำให้เจ้าหญิงรับรักในที่สุด เขาแนะนำให้โตโต้ทำแบบเดียวกัน คือไปยืนเฝ้าที่ใต้ระเบียงบ้าน จะนานกี่วันกี่เดือนก็ให้ไปยืนอยู่ตรงนั้นด้วยความอดทน เขาทำตามจนกระทั่งพิชิตใจสาวสวยในที่สุด ด้วยวิธีที่หลายคนก็ชอบใช้ คือ ตื๊อเท่านั้นที่ครองโลก
แต่ความรักของหนุ่มโตโต้กับแฟนสาวไม่ได้ยืนยาว เขาสูญเสียรักนี้ไปอย่างไม่มีวันได้กลับ ทำให้เขามีชีวิตที่เศร้าและประชดชีวิตโดยการเปลี่ยนคู่ควงคู่นอนเป็นว่าเล่น ไม่เคยจริงจังกับใครสักคน จนฉากท้ายเรื่องที่แม่ของเขาขอร้องให้หาใครสักคนมาเป็นคู่ชีวิตเสียที
หลังงานศพของลุงอัลเฟรโด โตโต้ได้รับสิ่งที่เขาไม่เคยคาดคิดมาก่อนจากคุณลุงผู้เป็นทั้งครู พ่อและพี่เลี้ยง ลุงอัลเฟรโดได้รวบรวมเอาซีนหนังที่ถูกเซนเซอร์ทั้งหมดมาต่อกันเข้าได้หนึ่งม้วน ล้วนเป็นฉากกอดจูบกันทั้งหมด เป็นส่วนที่ลุงแกไม่ได้เอาไปต่อคืนหลังจากที่ตัดออกมาแล้ว อ้างว่ามันมากเกินไปจนไม่รู้ว่าซีนไหนมาจากไหน โตโต้เคยขอส่วนที่ถูกตัดออกมานี้จากลุง แต่ก็ได้มาแต่เศษชิ้นเล็กๆ ซึ่งถูกแม่ค้นเจอและเอาไปเผาทิ้งหมด
Giuseppe Tornatore สร้างหนังเรื่องนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่บรมครูของภาพยนตร์อิตาเลียนอย่างRosellini, DeSica, Visconti, Antonioni, Fellini เป็นต้น คนเหล่านี้ได้ทำให้หนังไม่เป็นเพียงเครื่องมือสร้างความบันเทิงให้กับผู้คน แต่ได้สร้างศิลปะที่ถ่ายทอดคุณค่าชีวิต และปัญหาของสังคม ถ่ายทอดเรื่องราวที่บอกกล่าวเล่าขานกันธรรมดาไม่ได้ ต้องใช้หนังเป็นเครื่องมือสื่อสารและภาษาสัญลักษณ์
ตอร์นาตอเรสร้าง Cinema Paradiso (1989) ตามบทเรียนที่ได้จากบรมครู ทำได้ดีจนได้รับรางวัลทั้งที่อังกฤษ (BAA) ที่เมืองคานส์และออสการ์ในฐานะภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม
การฉายหนังระหว่างและหลังสงครามโลกมีจุดหมายแอบแฝงเหมือนกันคือใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หนังที่ฉายใน Cinema Paradiso มักเป็นหนังสนุกสนาน หนังตลก หนังคาวบอย และหนังน้ำเน่า ไม่เห็นหนัง “ชีวิต” ที่สะท้อนสภาพแร้นแค้นและปัญหาของสังคมในยุคนั้นเลย
รัฐบาลฟัสซิสม์ภายใต้การนำของมุสโสลินีได้เซ็นเซอร์หนัง ต้องการให้ประชาชนได้ดูหนังที่ส่งเสริมความรักชาติกับหนังนิยายน้ำเน่าประเภทสาวไฮโซใช้โทรศัพท์สีขาว หนังที่สะท้อนภาพชีวิตที่ยากจนขัดสนจะถูกห้าม ถ้าเป็นบ้านเรา คงอยากให้คนดูแต่ประเภท “บ้านทรายทอง” กับ “ดาวพระศุกร์” จะได้ฝันที่จะรวยและลืมความทุกข์และสภาพลำบากยากแค้น
หรือก่อนฉายหนังเรื่อง ต้องดูหนังประกอบประเภทต่อต้านคอมมิวนิสต์ ปลุกระดมให้คนเกลียดชังยังกับว่าคอมมิวนิสต์เป็นผีห่าซาตาน นั่นคือหนังของสำนักข่าวสารอเมริกัน (ยูซิส) ในยุคสงครามเย็น ที่แจกรถขายยานำไปฉายทั่วประเทศ ทำให้คนไทยกลัวคอมมิวนิสต์ขึ้นสมอง ยอมให้อเมริกันมาตั้งฐานทัพส่งกองกำลังและเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเวียดนามและลาว
ดูหนังวันนั้นหรือวันนี้ ดูให้ดีว่าใครสร้าง มีสาระอะไรที่อยากบอกนอกจากความบันเทิง พอๆ กับดูข่าวสารและรายการจากทีวี ไม่ว่าของฝรั่งหรือของไทยเอง
หนังหลายเรื่องเป็นศิลปะ หลายเรื่องเป็นแค่ความบันเทิง บางเรื่องเป็นเรื่องการเมือง และอีกบางเรื่องไร้สาระจนค้นหาคุณค่าอะไรไม่ได้ แต่ก็แปลกที่หลายครั้งหนังประเภทสุดท้ายนี่เองที่ทำเงินแบบถล่มทลาย เล่นเอาคนทำหนัง “ดีๆ” มึนงงไปตามๆ กัน
หรือว่าหนังประเภทที่ว่านี้สะท้อนสภาพชีวิตจริงของผู้คนส่วนใหญ่ในวันนี้ ที่เวียนอยู่ในวังวนของความจำเจซ้ำซากหรือน้ำเน่าแบบน่าเบื่อหน่าย กลายเป็น “ชีวิตบัดซบ” (absurd) และกดดันเสียจนต้องระเบิดออกมาเป็นความรุนแรง เลือดเต็มจอ ยิงกันสนั่นโรง
ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว ดูด้วยความเข้าใจตนเอง เข้าใจคนอื่น เข้าใจโลก จึงจะไม่เกิดทุกข์ ได้เรียนรู้จักชีวิตอีกด้านหนึ่ง มุมหนึ่ง มิติหนึ่ง เป็นกำไรชีวิต