xs
xsm
sm
md
lg

อุตสาหกรรมกุ้งกลับมาคึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-อุตสาหกรรมเลี้ยงกุ้งเพื่อการส่งออกกลับมาคึกคักหลังปมภาษี AD สหรัฐฯชัดเจน ออเดอร์เพียบจนวัตถุดิบขาดตลาด ยี่ปั๊วแพกุ้งระดมปล่อยกู้ ล่อรายย่อยรับจ้างเลี้ยง ขณะที่เกษตรกรยังหวั่นราคาผันผวนเพราะกลุ่มยี่ปั๊วฮั้วโรงงานแช่แข็งกดราคากุ้งต่ำติดดิน ด้านยักษ์ใหญ่ซีพีเอฟ บุกขยายธุรกิจเลี้ยงกุ้งขาวระบบโปรไบโอติกไร้สารตกค้าง การันตีอัตรารอดสูง 95% สนองตลาดยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น
สถานการณ์อุตสาหกรรมกุ้งส่งออกของไทยที่ตกอยู่ในภาวะอึมครึมมานานเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังสหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ในเบื้องต้นที่ไทยต้องจ่ายอัตราต่ำสุด 5.56-10.25% ทำให้ผู้นำเข้าเริ่มแห่มาซื้อกุ้งจากไทยมากขึ้น จังหวะที่ได้เปรียบประเทศคู่แข่ง กลุ่มผู้เลี้ยงและส่งออกกุ้งรายเล็กรายใหญ่ จึงเร่งเครื่องรุกชิงส่วนแบ่งตลาดส่งออกกลับคืนมา ขณะเดียวกันก็ปรับระบบการเลี้ยงรับมือมาตรการด้านสุขอนามัย (SPS)ที่ยังเป็นขวากหนามสำคัญ
นายจักรา เพ็ชรเจริญ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้ง จ.จันทบุรี หนึ่งในพื้นที่เลี้ยงกุ้งสำคัญในภาคตะวันออก กล่าวว่า ปัญหาราคากุ้งตกต่ำและผันผวนตลอดปีที่ผ่านมา เนื่องจากเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดสหรัฐฯไม่ชัดเจน ทำให้เกษตกรที่เป็นสมาชิกชมรมฯ กว่า 500 รายเลิกรากิจการไปจำนวนมาก แต่เมื่อมีความชัดเจนเรื่องเอดี และราคากุ้งดีขึ้น ทำให้เกษตรกรต้องการกลับมาเลี้ยงกุ้งอีกครั้งหนึ่ง แต่ติดขัดปัญหาเรื่องเงินทุน พันธุ์กุ้ง และราคาที่ขายหน้าบ่อในราคาเหมารวมให้นายหน้า ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาการกดราคารับซื้อ
"ปีก่อนจันทบุรี เลี้ยงกุ้งประมาณ 2- 3 หมื่นไร่ ตอนนี้เหลือเพียงครึ่งเดียว"
ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งฯ ยังกล่าวถึงปัญหาเรื่องสารตกค้างว่า ไม่ค่อยกังวลเพราะทางห้องเย็นที่มหาชัย สมุทรสาคร ที่เป็นตลาดรับซื้อ และกรมประมงจะมีมาตรการตรวจเข้มร่วมกันอยู่ตลอดทุกกระบวนการ
ด้านเจ้าของโรงงานแช่เยือกแข็งอาหารทะเลส่งออก และฟาร์มเลี้ยงกุ้งขาวรายใหญ่ใน จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มยี่ปั๊ว หรือนายหน้ารับซื้อกุ้งหน้าบ่อจากเกษตรกร หรือที่เรียกกันว่า"แพกุ้ง"กำลังเร่งระดมปล่อยเงินกู้ให้กับเกษตรกรรายย่อย เพราะราคากุ้งที่ดีขึ้นถึง 20 บาทต่อ กก. และความต้องการของตลาดมีมากจนวัตถุดิบขาดแคลน
เจ้าของฟาร์มกุ้งขาวรายเดิม กล่าวต่อว่า การปล่อยกู้ของบรรดายี่ปั๊ว ซึ่งเป็นตัวกลางรับซื้อกุ้งจากเกษตรมาประมูลขายต่อให้กับผู้ซื้อในตลาดทะเลไทยที่สมุทรสาคร ทำให้เกิดการฮั้วกันระหว่างยี่ปั๊วกับผู้ซื้อ แล้วไปกดราคากุ้งให้ต่ำลง
"เวลายี่ปั๊วรับกุ้งสวยๆ จากหน้าบ่อเกษตรกรก็คาดว่าน่าจะได้ราคาดี แต่พอถึงเวลาที่นำมาประมูลซื้อขายกันในตลาดทะเลไทย ยี่ปั๊วกลับเอาของไม่ดีโปะหน้า ทำให้ราคากุ้งตก เป็นการฮั้วกันกดราคาให้ต่ำ ตามที่ผู้ซื้อตกลงกับยี่ปั๊วว่าจะให้ส่วนต่างราคากุ้งเท่าไร ดังนั้นถึงเกษตรกรรายย่อยเลี้ยงกุ้งกันมาก กุ้งสวย น้ำหนักตัวดี แต่ถ้าวงจรอุบาทว์นี้ยังมีอยู่ ผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อยลำบากหนักแน่" แหล่งข่าว เจ้าของโรงงานและฟาร์มกุ้งรายเดิม กล่าว
สำหรับความเคลื่อนไหวของกลุ่มบริษัทซีพี ซึ่งเป็นผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่นั้น นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ( CPF ) เปิดเผยว่า ปีหน้าอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งไทยจะทะลุ 5 แสนตัว จากปีนี้ที่จับกุ้งหน้าบ่อได้ 3.5 แสนตัน เพราะความชัดเจนเรื่องเอดีกุ้งจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญ
นายอดิเรก กล่าวว่า ในส่วนของซีพี จะหันมารุกการเลี้ยงกุ้งขาวด้วยระบบโปรไบโอติกฟาร์มมิ่งมากขึ้น เพราะมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีหลังทดลองและบุกเบิกการเลี้ยงกุ้งด้วยระบบดังกล่าวมานานกว่า 7 ปีแล้ว
"ตอนนี้ลูกค้าสหรัฐฯวิ่งแห่มาหาเรา เพราะมีความพร้อมของเทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้ง ที่ใช้ระบบโปรไบโอติกฟาร์มมิ่ง เน้นความปลอดภัย(Food Safety)สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้( Traceability)เป็นที่ยอมรับและได้มาตรฐานในประเทศผู้นำเข้าทั่วโลก" ผู้บริหารระดับสูงCPF กล่าว
นายเสนอ มีมงคล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สวีฟาร์มมิ่ง จำกัด ในเครือ CPF กล่าวว่าบริษัทกำลังพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงกุ้งขาว (กุ้งขาวแวนนาไมน่า)โดยใช้ระบบโปรไบโอติก ฟาร์มมิ่ง ซึ่งเป็นระบบ ที่เน้นการไม่ใช้สารเคมีที่จะก่อให้เกิดสารตกค้าง แต่จะใช้สารโปรไบโอติก ที่มีคุณสมบัติทำลายยับยั้งเชื้อแบคทีเรียต่างๆ และระบบการป้องกันพาหะนำการติดเชื้อโรคมาสู่กุ้ง แม้จะลงทุนสูงในเริ่มต้นแต่จะได้กำไรในระยะยาว ทั้งยังได้รับการยอมรับจากต่างประเทศและมีตลาดรองรับที่แน่นอน
นายเสนอ กล่าวว่า ต้นทุนการเลี้ยงด้วยระบบโปรไบโอติก ตกประมาณ 5-6 พันบาท/บ่อขนาด 1 ไร่ อัตราการรอดของกุ้งสูงถึง 95% เวลานี้บริษัทเลี้ยงกุ้งขาวส่งออกเป็นหลัก 70% และกำลังเร่งขยายไปให้เกษตรกรในหลายจังหวัด เช่น ชุมพร นครศรีธรรมราช จันทบุรี ตราด ระยอง หันมาเลี้ยงกุ้งขาวซึ่งมีระยะเวลาการเลี้ยงสั้นกว่ากุ้งกุลาดำให้มากขึ้น
นอกจากนั้น กลุ่มซีพี โดยบริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดร์ซิ่ง จำกัด ยังขยายฐานการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น โดยใช้เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท ตั้งโรงงานแปรรูปใหม่อีก 3 แห่ง
กรมศุลกากร รายงานตัวเลขการส่งออกกุ้งของไทยในปี 46 ทั้งกุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง รวมกุ้งปรุงแต่งทุกชนิด มีปริมาณการส่งออก 234,312 ตัน มูลค่า 71,742 ล้านบาท และ ช่วงเดือนม.ค. -มิ.ย.47 ปริมาณการส่งออก 100,741 ตัน มูลค่า 26,979 ล้านบาท
สำหรับตลาดสหรัฐฯ ปีที่ผ่านมา ผู้ส่งออกกุ้ง 5 อันดับแรกเข้าตลาดสหรัฐฯคือ ไทย (ส่วนแบ่งการตลาด 26%) เวียดนาม ( 11%)เอกวาดอร์ (10%)อินเดีย (10%)และจีน (9%) โดยสหรัฐฯนำเข้ากุ้งดิบสูงถึง 80% ของการนำเข้าทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น