xs
xsm
sm
md
lg

ประชาธิปไตยเอื้ออาทร

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชุดปัจจุบันว่ารวบอำนาจ รวมศูนย์อำนาจ บำเพ็ญตนเป็นเผด็จการรัฐสภา

สรุปว่าทำลายระบอบประชาธิปไตย – ขัดเจตนารมณ์การปฏิรูปการเมือง !

ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องยอมรับกันว่าบ้านเมืองเราไม่เคยมี “ระบอบประชาธิปไตย” เลย อย่างน้อยก็ในความหมายที่เรารับรูปแบบมาจากตะวันตก

เรามีแต่การเลือกตั้ง เรามีแต่โครงสร้างองค์กรรัฐชื่อเหมือน ๆ กับประเทศประชาธิปไตยตะวันตกที่เรารับเข้ามา

เป็นมานานแล้วครับ ไม่ใช่เฉพาะยุคนี้หรอก

รัฐธรรมนูญทุกฉบับต่างหากที่สร้างระบอบเผด็จการรัฐสภาขึ้นมา

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ด้วยความเห็นชอบขององค์กรประชาธิปไตยทั้งหลายด้วยนั่นแหละ ที่กระชับระบอบเผด็จการรัฐสภา และมอบอาวุธให้ผู้มาเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้โครงสร้างการเมืองใหม่ ในนามของ Strong Prime Minister ผมเคยเขียนมาหลายครั้งแล้ว

ระบอบการเมืองปัจจุบันถ้าจะเรียกว่าประชาธิปไตย ก็เป็นได้อย่างมากแค่ที่อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์เคยขนานนามไว้ “ประชาธิปไตยอุปถัมภ์” หรือเรียกให้เข้ากับยุคปัจจุบันว่า...

“ประชาธิปไตยเอื้ออาทร”

ผมว่าถึงที่สุดแล้ว – มันอาจจะไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เราเคยคิด

เพราะยิ่งนานวัน ผมยิ่งไม่แน่ใจว่าถึงที่สุดแล้วประเทศในเอเชียจะใช้รูปแบบการเมืองการปกครองที่มีรากฐานมาจากยุโรปได้มีประสิทธิผลแค่ไหน เพราะหันไปทางไหน ก็ล้วนเจอแต่รูปแบบที่ผ่านกระบวนการ “ประยุกต์” จนห่างไกลต้นแบบออกไปทุกที

ญี่ปุ่นมีอะไรหลาย ๆ อย่างคล้ายกับบ้านเรา – โดยเฉพาะในประเด็นการปฏิรูปการเมือง

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เริ่มต้นปฏิรูปประเทศ ซึ่งก็คือการสร้างรัฐชาติขึ้นมาในระยะใกล้เคียงกับไทยเรา คือสมัยเมจิกับสมัยรัชกาลที่ 5 และแม้จะประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจเหนือใคร ๆ ในเอเชีย แต่การเมืองก็ยังคงเป็นประชาธิปไตยแบบตะวันออก คือตกอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ จนกลายเป็นตัวขัดขวางความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ กระทั่งถึงความพยายามปฏิรูปการเมืองครั้งสุดท้ายในเดือนกรกฎาคม 1993 นั้นก็เป็นช่วงเดียวกับที่ไทยเราเริ่มพูดถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

แต่จนถึงทุกวันนี้ – ทั้งญี่ปุ่นและไทยก็ยังหนีไม่พ้นระบบอุปถัมภ์ !

โดยพื้นฐานแล้ว การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย หากจะนับจากปี 2475 อันเป็นปีแห่งการเปลี่ยน แปลงการปกครองเป็นต้นมา เรายังไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานทางการเมืองอะไรมากมายนัก

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดของโครงสร้างการเมืองไทย น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงรัฐไทยที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2435 หรือประมาณกว่า 100 ปีมาแล้ว

นั่นคือ การปฏิรูประบบราชการโดยก่อตั้งกลไกการปกครองสมัยใหม่ และรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง

มีการจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรม สลายอำนาจของขุนนาง และสร้างรูปแบบของรัฐชาติสมัยใหม่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย พร้อม ๆ ไปกับการปฏิรูปสังคมในทุก ๆ ด้าน ถือว่าเป็นการปฏิวัติหรือปฏิรูปอย่างแท้จริงของการเมืองไทย

สาเหตุสำคัญมาจากการป้องกันภัยคุกคามของลัทธิล่าอาณานิคม โดยมหาอำนาจตะวันตก

การปรับตัวของโครงสร้างการเมือง เป็นการลอกเลียนแบบจากการปกครองอาณานิคมของประเทศตะวันตก ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ตอบสนองอย่างดีกับระบอบการเมืองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเป็นการปกครองแบบบังคับบัญชา ควบคุมจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงลงสู่ระดับล่าง และเป็นการปกครองแบบใช้กลไกและเครื่องมือรัฐมาควบคุมประชาชนให้ทำตาม

การปกครองเช่นนี้ในช่วงแรก ๆ ยังไม่เป็นปัญหาอะไรมากมายนัก กลับสร้างความเจริญด้วยซ้ำ เพราะผู้ปกครองยังยึดถือการปกครองโดยมีทศพิธราชธรรม

แต่เมื่อสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ตามมาส่วนใหญ่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการเมืองการปกครอง

การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 เป็นการเปลี่ยนอำนาจการปกครองจากพระมหากษัตริย์มาสู่กลุ่มขุนนาง และต่อมาก็เป็นการเปลี่ยนถ่ายจากขุนนางพลเรือนไปสู่ขุนนางทหารในการปฏิวัติครั้งต่าง ๆ

เรื่อยมาจนถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นักการเมืองพลเรือนจึงเริ่มมีบทบาทมากขึ้น แต่ใจความหลักก็ยังเป็นการเปลี่ยนหน้า เปลี่ยนชุด ของชนชั้นปกครอง ที่ขึ้นมาสวมทับบนโครงสร้างเดิมของสังคมไทยที่มีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5

สังคมไทยมักจะแก้ไขโครงสร้างส่วนบน แต่โครงสร้างส่วนล่างหรือรากฐานของสังคมไทยกลับเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 เมื่อปี 2504 ซึ่งเป็นแผนพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมส่งออก ได้ส่งผลกระทบให้เกิดการดึงทรัพยากรจากชนบทเข้ามาสู่เมือง เป็นการขยายระบบอุปถัมภ์ในเชิงวัฒนธรรมเข้าสู่โครงสร้างเศรษฐกิจ

คนในเมืองคือผู้ที่ได้อรรถประโยชน์ในทรัพยากร ซึ่งต่อจากนั้น ทรัพยากรก็ถูกดูดไปต่างประเทศ ส่วนคนในภาคชนบทกลับเป็นเหยื่อที่ถูกทำร้าย ถูกเอาเปรียบตลอด ทั้งยังถูกมองว่ามีความล้าหลังทางแนวคิดประชาธิปไตย เพราะมีการซื้อสิทธิขายเสียงกันมาก

ในระยะหลัง ๆ เวลาเราพูดถึงการแก้ไขปัญหาการเมือง การขจัดการซื้อเสียง ขจัดการขายเสียง หรือพยายามทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมนั้น เราก็รับรู้กันว่า จะต้องเลือกคนดีมีความสามารถ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ทั้งหมด

ในมุมมองหนึ่ง การขายเสียงไม่ใช่เพราะว่าคนชนบทโง่ หรือคิดสั้น

แต่มันเป็นโอกาสอันเดียวที่คนชนบทจะได้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมจากกลไกการเมืองการปกครอง

ทำให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เรานำเข้ามาจากตะวันตกไม่ประสบความสำเร็จ แม้จะมีการปฏิรูปทางการเมืองไปแล้วก็ตาม

เพราะวัฒนธรรมในระบบอุปถัมภ์ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับวัฒนธรรมในระบอบประชาธิปไตย

การก่อกำเนิดของระบอบประชาธิปไตยในโลกตะวันตกนั้น มาจากรากฐานของการของการดิ้นรนให้หลุดพ้นจากอำนาจการปกครองของกษัตริย์ พระ และขุนนาง แล้วสร้างกฎเกณฑ์ใหม่เป็น “ตัวหนังสือ” ขึ้นมาเพื่อเป็นที่พึ่ง เป็นที่ยึดเหนี่ยว

การเคารพกฎหมายเคารพรัฐธรรมนูญที่เป็น “ตัวหนังสือ” ของคนตะวันตก จึงเป็นไปด้วยจิตสำนึกเป็นหลัก ไม่ใช่เพราะเกรงกลัวถูกลงโทษ

แต่ของบ้านเราเป็นการนำเอากรอบความคิด กรอบโครงสร้าง ที่เขาพัฒนามาแล้ว มาครอบทับกับสังคมที่มันมีพื้นฐานแตกต่าง

การเคารพกฎหมายเคารพรัฐธรรมนูญโดยจิตสำนึกนอกจากจะไม่เกิดแล้ว ยังมีแต่การพยายามหลีกเลี่ยงหาช่องว่างช่องโหว่ในทุกทาง

วัฒนธรรมของสังคมไทยจึงยังเป็นแบบวัฒนธรรมตะวันออก วัฒนธรรมระบบศักดินา ผู้น้อยพึ่งผู้ใหญ่

เป็นวัฒนธรรมที่เห็นพวกพ้องสำคัญกว่าเรื่องของความถูกต้อง เป็นวัฒนธรรมที่เห็นความสำคัญของพรรคพวกมากกว่าอุดมการณ์ของพรรค

เป็นวัฒนธรรมที่คนในระดับรากหญ้าหรือแม้กระทั่งคนชั้นกลางส่วนใหญ่เรียกร้องความเด็ดขาด ความรวดเร็ว โดยไม่คำนึงกระบวนการทางนิติรัฐเท่าที่ควร ต้องการ “ผล” มากกว่า “วิธีการ” นั่นเอง

นี่คือสารัตถะของ “ประชาธิปไตยเอื้ออาทร” ที่ไม่น่าจะต่างกับ “เผด็จการอย่างมีเมตตา” เท่าไรนัก

ดีหรือไม่ดีเรื่องหนึ่ง – แต่เราเป็นของเราอย่างนี้มานานแล้วครับ

เพียงแต่กระชับยิ่งขึ้นในปัจจุบัน – เท่านั้นเอง !
กำลังโหลดความคิดเห็น