xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองอึดอัด

เผยแพร่:   โดย: เกษม ศิริสัมพันธ์

ในระยะนี้ มีเรื่องที่ประสบพบมาด้วยตนเองหลายเรื่อง ล้วนสะท้อนให้เห็นสภาพการเมืองปัจจุบัน ว่าอยู่ในสภาวะอึดอัดหนักขึ้นทุกที

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เริ่มบรรยายในชั้นปริญญาโททางนิเทศศาสตร์ ภาคกลางวัน ที่มหาวิทยาลัย กรุงเทพ ในวิชา “สื่อมวลชนกับประชามติ “

ในชั่วโมงสุดท้ายของการเรียนสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้ตั้งหัวข้อให้นักศึกษาอภิปรายแสดงความคิดเห็นว่า เขาจะเลือกผู้สมัครคนใดในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในวันอาทิตย์ที่ 29 เดือนนี้

ผมให้นักศึกษาในชั้นเรียนนั้น แสดงความคิดเห็นเรียงตัว โดยให้บอกเหตุผลด้วยว่า ทำไมเขาจึงตกลงใจเลือกผู้สมัครผู้นั้น เป็นผู้ว่าฯกทม.คนต่อไป

ผลปรากฎว่านักศึกษาส่วนใหญ่ในห้องเรียนนั้น มีความคิดเห็นว่าจะเลือก คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ส่วนเหตุผลนั้นมีแบ่งออกเป็นสองพวก

พวกหนึ่งมีจำนวนไม่กี่คน บอกว่าที่เลือกคุณอภิรักษ์ เพราะเชื่อในประวัติของผู้สมัครคนนี้ ว่าจะมีความสามารถในการบริหาร กทม.ได้ตามนโยบายที่พูดไว้

อีกพวกหนึ่งมีจำนวนมาก มีความเห็นว่า ที่เลือกคุณอภิรักษ์ ไม่ใช่เพราะนิยมในตัวคุณอภิรักษ์ หรือสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ แต่เลือกเพื่อต้องการประชดคุณทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เคยพูดไว้ว่า ผู้ว่าฯกทม.ต้องเป็นคนที่ทำงานได้กับรัฐบาลทักษิณ และไม่ต้องการให้ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นไปเป็นผู้ว่าฯกทม.

บางคนถึงกับอ้างว่า พรรคไทยรักไทยหรือคุณทักษิณ สนับสนุนให้ ผู้สมัครหลายคนลงมาสมัคร เพื่อเป็นการตัดคะแนนคุณอภิรักษ์ เป็นการ “รุมกินโต๊ะ” กัน จึงต้องลงคะแนนช่วยคุณอภิรักษ์ เป็นคะแนนสงสาร !

เรื่องที่สอง ระหว่างสัปดาห์ที่แล้ว ผมนั่งแท็กซี่ไปธุระแห่งหนึ่ง พอรถขับไปได้ไม่นาน คนขับก็เอ่ยถามผมว่า “ลุง ! เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.คราวนี้ ลุงจะเลือกเบอร์ไหน ?”

ผมตอบว่า ผมยังไม่ได้ตัดสินใจ แล้วย้อนถามว่า ตัวเขาเองจะเลือกผู้สมัครคนใด ?

เขาหัวเราะอย่างมั่นใจบอกว่า “ผมตัดสินใจแน่นอนแล้ว เลือกตั้งผู้ว่าฯคราวนี้ผมเลือกคุณชูวิทย์ (กมลวิศิษฎ์) แน่นอน ! “

ผมถามเขาบ้างว่าทำไมเขาจึงคิดจะเลือกคุณชูวิทย์ บอกกันได้ไหม !

เขาบอกว่า “ได้สิลุง ! ลุงก็เห็นอยู่แล้วว่าการเมืองทุกวันนี้มันเป็นอย่างไร ! เลือกชูวิทย์นี่แหละ มันสาแก่ใจดี ! เหมาะกับการเมืองยุคนี้นะลุง ! “

เรื่องทั้งสองเรื่องนี้ ทำให้เห็นได้ว่าการเลือกตั้งคราวผู้ว่าฯกทม.คราวนี้ ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิเลือกตัวผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเสียแล้ว แต่เป็นการระบายความอึดอัดทางการเมืองนั่นเอง !

เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว ตอนบ่ายมีคนรู้จักชอบพอกันคนหนึ่งโทรศัพท์มาหา

พอรับโทรศัพท์ก็ระเบิดออกมาว่า “นายทักษิณนี่แย่ลงทุกวัน ! นี่ไปขนเอากะหรี่มาเข้าพรรคหลายคนอีกแล้ว ! “

“เดี๋ยวก่อน ! “ ผมปลอบ “ใจเย็นๆ ค่อยพูดค่อยจากันก็ได้ ! ไปว่าคุณทักษิณเขาไปขน
กะหรี่ได้อย่างไง ? เขาเป็นคนรักลูกรักเมียออกจะตายไปแล้ว!”

“ก็ตอนนี้ไปดูดเอาไอ้พวก ส.ส.ต่างพรรคมาเข้าไทยรักไทยอย่างไรเล่า ! “ เขาระบายความรู้สึก “อาจารย์ไม่ได้อ่าน ไทยรัฐ หน้า 3 วันนี้หรือ ? เขาบอกว่าค่าดูดส.ส.ประชาธิปัตย์ภาคใต้มาเข้าไทยรักไทยคราวนี้ มีราคาคนละถึง 50 ล้านบาททีเดียว ! เรียกค่าตัวได้ตั้งเท่านี้ ไม่เรียกว่ากะหรี่แล้วจะให้เรียกว่าอะไร !”

เขาเห็นมีจังหวะที่ผมอึ้งเงียบไป ก็รำพรรณต่อไปว่า “เมื่อไรบ้านเมืองเราจะหมดโสเภณีการเมืองแบบนี้กันเสียที ก็ไม่รู้ ! “

แท้ที่จริงคำรำพันเช่นนี้ เป็นการระบายความอึดอัดทางการเมืองของผู้พูดนั่นเอง !

ตอนค่ำวันเดียวกัน ไปงานเลี้ยงขึ้นบ้านใหม่ เขาเลี้ยงโต๊ะจีน ไปนั่งโต๊ะเดียวกันกับคนรู้จักชอบพอกันคนหนึ่ง ซึ่งในอดีตเคยอยู่ในราชการตำแหน่งสำคัญ แต่เกษียณอายุมาหลายปีแล้ว

พอพูดจาทักทายไปได้สักครู่ ท่านผู้นั้นก็เอ่ยขึ้นเองว่า “คุณทักษิณนี่แกดับเบิลสแตนดาร์ดจริงๆนะ !”

พอได้ยินก็คิดอยู่ในใจว่า วันนี้ตอนกลางวันก็มีเรื่องคุณทักษิณมาทีหนึ่งแล้ว ตอนค่ำต้องฟังเรื่องคุณทักษิณอีกเสียแล้ว !

“ท่านปัญญานันทะ ไปเทศน์ทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยพาดพิงไปถึงผลงานของรัฐบาล คุณทักษิณก็โวยวายว่าเป็นพระเป็นเจ้าไม่ควรมาวิพากษ์วิจารณ์การเมือง “ ท่านผู้นั้นพูด

“ตอนนี้กลับให้หลวงพ่อคูณ ไปพูดกับชาวบ้านที่โคราชที่ลำตะคอง ในงานเปิดอนุสาวรีย์พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน ถึงเรื่องพรรคชาติพัฒนาจะเข้าร่วมกับพรรคไทยรักไทย อย่างนี้ทำไมพระพูดเรื่องการเมืองได้ล่ะ ? ” เขาตั้งคำถาม

“คุณทักษิณเป็นคนประเภท ถ้าตัวเองได้เป็นดี ! ถ้าตัวเองต้องเสียอะไรบ้างเป็นไม่ดีทั้งนั้น ! คนประเภทนี้เป็นคนดับเบิลสแตนดาร์ด !”

นี่ก็เป็นอีกรายที่มีความอึดอัดทางการเมือง ต้องระบายออกมา !

คุณหมอประกิต วาทีสาธกกิจ คณบดีคณะแพทย์สาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ถูกปลดจากตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพราะไปขัดแย้งกับ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำหน้าที่ประธาน สสส.

คุณหมอประกิตได้ไปแสดงคารวะคุณหมอเสม พริ้งพวงแก้ว พอเห็นหน้าคุณหมอประกิต คุณหมอเสมก็น้ำตาไหลพราก บอกว่า คนดีอย่างคุณปุระชัย ไม่ควรมีเรื่องขัดแย้งกับคุณหมอประกิต

พูดง่ายๆ ไม่สมควรที่คนดีจะต้องมาทะเลาะกับคนดี นั่นเอง !

น้ำตาของคุณหมอผู้เฒ่าผู้นี้ ซึ่งเป็นเสาหลักต้นหนึ่งของสังคมไทยปัจจุบัน ก็เป็นการระบายความอึดอัดทางการเมืองเหมือนกัน !

ยังมี “เสาหลัก” อีกต้นหนึ่ง เป็นเสาหลักของนักกฎมายมหาชน คือ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ซึ่งเป็นผู้เสนอความคิดให้ มีการปฎิรูปการเมือง ครั้งที่สอง

ดร.อมร มีความคิดว่าควรจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งได้สมัยเดียว แต่ให้สมัยการเป็นนายกรัฐมนตรีให้ขยายเป็นหกปี และยกเลิกการบังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรค และนายกรัฐมนตรีก็ไม่ต้องสังกัดพรรคด้วย

การปฎิรูปการเมือง ครั้งที่สอง ตามทรรศนะของ ดร.อมร ก็คือให้มีการจัดตั้งพรรคการเมือง โดยบุคคลซึ่งไม่เป็นนักการเมือง ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เรียบร้อย ตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น เสร็จแล้วให้ยุบพรรคการเมือง เพื่อให้การเมืองได้ดำเนินไปตามเงื่อนไขและบทบัญญติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

แนวคิดของ ดร.อมรดังกล่าวนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความอึดอัดทางการเมืองในปัจจุบัน เป็นความอึดอัดที่มาจากความหวั่นวิตกว่า คุณทักษิณและพรรคไทยรักไทยจะครอบงำสังคมไทยเป็น
ระยะเวลายาวนาน

นอกจากนี้ยังมีความเป็นห่วงด้วยว่า ระบบพรรคการเมืองสองพรรค จะถูกกลายรูปให้เป็นระบบพรรคการเมืองพรรคเดียว ซึ่งเป็นแนวโน้มทางอำนาจนิยมอย่างชัดเจน

ด้วยความอึดอัดทางการเมืองอย่างนี้ ดร.อมร “เสาหลัก” ของนักกฎหมายมหาชน จึงเสนอความคิดเรื่องการปฎิรูปการเมือง ครั้งที่สอง ขึ้นมา

เมื่อตอนต้นเดือนนี้ มีข่าวว่า อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กลุ่มหนึ่ง เป็นนักกฎหมายมหาชน ลูกศิษย์ ดร.อมรทั้งนั้น ได้ประชุมปรึกษากัน จะตั้งพรรคการเมืองตามแนวคิดของ ดร.อมรขึ้นมา แล้ว

ตั้งชื่อพรรคตรงไปตรงมา เรียกว่า “พรรคทางเลือกที่สาม” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า
“ Third Alternative Party “

นี่ก็คือการระบายความรู้สึกความอึดอัดทางการเมืองออกมาเสียให้รู้แล้วรู้รอดไปเสียเลย !

แต่นั่นแหละ ! บรรดาท่านอาจารย์สอนกฎหมายเหล่านี้คงคิดว่า การตั้งพรรคการเมือง ขึ้นมาใหม่พรรคหนึ่งนั้น ก็คงง่ายเหมือนกับการบรรยายในห้องเล็กเชอร์เท่านั้นเอง !

เมื่อตอนหนังสือของอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เรื่อง รู้ทันทักษิณ เล่ม 1 พิมพ์ออกเผยแพร่ใหม่ๆ มีชาวต่างประเทศสองคน เป็นผู้ชายคนหนึ่ง เป็นผู้หญิงอีกคนหนึ่ง ติดต่อขอมาคุยกับผมในฐานะเป็นคนเขียนบทความเรื่องหนึ่งในหนังสือเล่มนั้น

ชาวต่างประเทศทั้งสองคนนี้ คงเป็นผู้ติดตามเรื่องการเมืองไทยมานาน สามารถพูดและอ่านภาษาไทยได้เป็นอย่างดี

เมื่อมาพบกัน เขาตั้งคำถามผมว่า หลังการเลือกตั้งคราวหน้าพรรคไทยรักไทยจะได้สักกี่ที่นั่ง ? และคุณทักษิณจะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหรือไม่ ?

ผมตอบว่า หลังเลือกตั้งใหญ่คราวหน้า คุณทักษิณคงได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกสมัยหนึ่ง ส่วนพรรคไทยรักไทยจะได้ถึง 400 ที่นั่งหรือไม่นั้น ผมยังไม่มั่นใจ แต่ก็คงได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎรอยู่ดี

เขาพยักหน้าแสดงว่าเห็นด้วย เขาถามต่อไปว่า ถ้าคุณทักษิณได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่ง ความอึดอัดทางการเมืองจะทวีคูณขึ้นจนถึงเป็นทางตัน เป็นชนวนให้ระเบิดเป็นความรุนแรงขึ้นได้หรือไม่ ?
ผมจำได้ว่าผมตอบเขาว่า ความอึดอัดทางการเมืองหลังการเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองของคุณทักษิณ คงไม่ไปไกลถึงจุดนั้นกระมัง !

มาถึงตอนนี้ผมไม่มั่นใจเสียแล้ว ! ขนาดยังอยู่ในช่วงปลายของสมัยแรกที่คุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ยังมีความอึดอัดทางการเมืองถึงขนาดนี้ ! ถ้าคนไทยต้องเก็บกดความอึดอัดไว้อีก 4 ปีข้างหน้า อะไรจะเกิดขึ้นก็ได้เหมือนกัน ! ใช่ไหม ?
กำลังโหลดความคิดเห็น