xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมจักร

เผยแพร่:   โดย: เกษม ศิริสัมพันธ์

วันที่เขียนบทความครั้งนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 31 เดือนที่แล้ว แต่เมื่อบทความเรื่องนี้ลงพิมพ์ ก็คงล่วงเลยวันดังกล่าว ไปแล้วหลายวัน
พระพุทธศาสนา มีวันที่สำคัญอยู่ 3 วัน

วันที่สองคือ วันอาสาฬหบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 8 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ทำให้เกิดปฐมสาวก เป็นสงฆรัตนะครบพระรัตนตรัย
วันที่สามคือ วันมาฆบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 เป็นวันประชุมใหญ่ของพระสงฆ์ 1,250 รูปมาประชุมพร้อมกันโดยไม่นัดหมาย พระสงฆ์เหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ และเป็นเอหิภิกขุ คือภิกษุที่ได้รับอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง
เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ในคืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะแล้ว ก็ได้ประทับนั่งเสวยวิมุติสุขในที่ต่างๆ ใกล้กับที่ทรงตรัสรู้ได้ ชั้นแรกทรงดำริว่าพระธรรมที่ทรงตรัสรู้นั้นเป็นของลุ่มลึก คนเป็นอันมากจะไม่เข้าใจ จึงทรงดำริที่จะไม่ทรงแสดงธรรมนั้น
แต่ทรงพิจารณาต่อไปว่า ผู้คนทั้งหลายนั้นเปรียบเสมือนดอกบัวสามพวก พวกแรกเป็นดอกบัวสูงพ้นน้ำ ย่อมมีทางบานได้แน่นอน อีกพวกหนึ่งคือดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำ ย่อมมีทางที่จะบานได้เหมือนกัน ส่วนพวก ที่สามเป็นเสมือนหนึ่งดอกบัวที่จมอยู่ก้นสระ ไม่มีทางบานพ้นน้ำได้เลย
พระพุทธองค์ทรงดำริว่า เมื่อพระองค์ทรงประกาศหลักธรรม ก็จะเป็นคุณประโยชน์แก่สองพวกแรก คือพวกที่เป็นเสมือนดอกบัวพ้นน้ำ และดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ จึงตกลงพระทัยว่าจะทรงแสดงธรรมสั่งสอนแก่สัตวโลกทั้งหลาย
เมื่อได้ตกลงพระหฤทัยดังนี้ จึงได้ทรงพิจารณาถึงบุคคลที่จะทรงแสดงธรรมสั่งสอนเป็นครั้งแรก ทรงรำลึกถึงพระภิกษุ 5 รูป ซึ่งเรียกว่าปัญจวัคคีย์ ภิกษุเหล่านี้ได้เคยเฝ้าปฏิบัติพระองค์ในเวลาที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา แต่ได้ทิ้งพระองค์ไปเสียเมื่อทรงเลิกทุกรกิริยา
ภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 นั้น รูปแรกชื่อว่า โกณฑัญญะ รูปที่สองชื่อ วัปปะ รูปที่สามชื่อ ภัททิยะ รูปที่สี่ชื่อ มหานาม และรูปที่ห้าชื่อ อัสสชิ
ขณะนั้นภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงกรุงพาราณสี พระพุทธองค์จึงเสด็จออกจากบริเวณที่ทรงตรัสรู้ในตำบล อุรุเวลา ตรงไปยังตำบลที่พระภิกษุทั้งห้าพำนักอยู่
พระพุทธองค์ทรงเสด็จถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ หรือเดือน 8
ปฐมเทศนาครั้งนั้น จัดเป็นพระสูตร เรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่า พระสูตรที่แสดงถึงธรรมที่เป็นเสมือนจักรหรือวงล้อให้เคลื่อนไปข้างหน้า เรียกกันสั้นๆ ว่า ธรรมจักร
สมัยโบราณ ก่อนที่จะได้มีความนิยมสร้างพระพุทธรูปเพื่อน้อมรำลึกถึงพระพุทธองค์นั้น ได้มีความนิยมมาก่อน ด้วยการสร้างเป็นรูป ธรรมจักร อันเป็นสัญลักษณ์ของวงล้อแห่งพุทธธรรม มุ่งหมายถึงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร นี่เอง
ปฐมเทศนา หรือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร หรือธรรมจักรนั้น ได้สรุปหัวใจสำคัญที่สุดของพุทธธรรม คือ อริยสัจสี่
เมื่อได้ทรงแสดงปฐมเทศนาใกล้จะจบแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงเปล่งอุทานว่า "อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ" แปลว่า "โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ!"
พระโกณฑัญญะ ได้บรรลุถึงธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรม และท่านได้ขอบวชต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสอนุญาตโดยเปล่งพระวาจาว่า "เอหิ ภิกขุ" ซึ่งแปลว่า "ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด"
ด้วยพระวาจาเพียงเท่านี้ พระโกณฑัญญะก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุรูปแรกในพุทธศาสนา ดังนั้น พระรัตนตรัยจึงครบองค์สาม คือมีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ในวันเพ็ญเดือน 8 ซึ่งเป็นวันอาสาฬหบูชา
อุปสมบทอย่างที่พระโกณฑัญญะได้รับนั้นเรียกว่า "เอหิภิกขุ อุปสัมปทา" แปลว่า การอุปสมบทด้วยพระพุทธวาจาว่า "จงเป็นภิกษุมาเถิด"
ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น ตอนต้นพระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า ที่สุดของสองขั้วด้านหนึ่ง คือ กามสุขัลลิกานุโยค คือการประกอบตนด้วยความสดชื่นอยู่ในทางกาม กับสุดขั้วอีกด้านหนึ่งคือ อัตตกิลมถานุโยค คือการประกอบตนด้วยการทรมานตัวเองให้ลำบากเดือดร้อน
การยึดหลักสุดขั้วทั้งสองด้านนั้น ล้วนเป็นทางที่ไม่สามารถนำไปสู่ความรู้แจ้งด้วยกันทั้งสองด้าน
ความตอนนี้พระพุทธองค์ทรงต้องการชี้ให้พระปัญจวัคคีย์เห็นว่า ซึ่งเคยละทิ้งพระองค์เมื่อทรงเลิกทุกรกิริยา โดยนึกว่าพระองค์ทรงหมดความเพียรในการแสวงหาสัจธรรมเสียแล้วนั้น
แท้ที่จริงเมื่อทรงเลิกทุกรกิริยา ซึ่งเป็นอัตตกิลมถานุโยค เป็นการทรมานตนให้ลำบากเดือดร้อนนั้น ก็มิได้หมายความว่าพระองค์ทรงวิ่งไปสุดขั้วอีกด้านหนึ่ง คือกามสุขัลลิกานุโยค โดยแสวงหาความสุขความสำราญในทางกามแต่อย่างใด
พระองค์กลับทรงยึดปฏิบัติในวิถีทางที่เป็นกลาง คือมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ไปสุดโต่งทั้งสองด้าน จึงสามารถตรัสรู้สัจธรรม อันเป็นทางหลุดพ้นได้อย่างแท้จริง
ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของพระพุทธศาสนา คือ มัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง พระพุทธศาสนาจึงไม่มีวัตรปฏิบัติในทำนองเป็นการทรมานบังคับร่างกายให้ลำบากเดือดร้อน ซึ่งถือว่าเป็นอัตตกิลมถานุโยค อย่างเช่น การอดอาหารหรือทรมานร่างกายอย่างหนึ่งอย่างใด เป็นต้น
ในทำนองเดียวกัน พุทธธรรมก็ปฏิเสธว่าไม่ควรมัวเมาในกามสุขซึ่งเป็นกามสุขัลลิกานุโยคเหมือนกัน ทางสายกลางจึงเป็นวัตรปฏิบัติของพุทธธรรม
ถ้าถามว่า มัชฌิมาปฏิปทานั้นหมายถึงข้อปฏิบัติอย่างไร? ก็ตอบได้ว่า ทางสายกลางในพุทธธรรมนั้น ก็คือ มรรค 8 ประการ ซึ่งเป็นอริยสัจข้อที่ 4 นั่นเอง
องค์ประกอบ 8 ประการของทางสายกลาง ก็คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะ พยายามชอบ สัมมาสติ รำลึกชอบ และประการสุดท้าย คือสัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ
ในตอนต่อไปในพระสูตรธรรมจักรนี้ พระพุทธองค์ได้ทรงเทศนาเรื่องอริยสัจ ซึ่งแปลตามตัวอักษร หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ มี 4 ประการ จึงมักเรียกกันว่า อริยสัจ 4 ซึ่งประกอบด้วย
ในประการแรก คือ ทุกข์ ซึ่งแปลตามศัพท์ว่า สิ่งที่ทนอยู่ยาก หรือสิ่งที่ไม่สามารถอยู่คงทนได้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องแปรปรวนเรื่อยไปจนถึงดับหรือแตกสลายด้วยกันทั้งนั้น
ในพระสูตรนี้ พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาไม่ได้สมหวังก็เป็นทุกข์ กล่าวโดยย่อ ทุกข์ปรากฏอยู่ทุกด้านของชีวิตทีเดียว
ในประการที่สอง คือเหตุให้ทุกข์เกิด เรียกว่า ทุกขสมุทัย ซึ่งพระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า ต้นเหตุของทุกข์ คือ ตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากของใจ อันมีลักษณะเป็นความเพลิดเพลินในอารมณ์ต่างๆ
ตัณหามี 3 ลักษณะด้วยกัน ลักษณะแรกคือ กามตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากไปในสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ลักษณะประการที่สองคือ ภวตัณหา เป็นความดิ้นรนทะยานอยากเป็นนั่นเป็นนี่ และประการที่สามคือ วิภวตัณหา คือตรงกันข้าม เป็นความดิ้นรนทะยานอยากไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่
ในประการที่สาม คือความดับทุกข์ เรียกว่า ทุกขนิโรธ ในพระสูตรธรรมจักร พระพุทธองค์ทรงชี้ว่า ความดับทุกข์มีทางเดียวคือ ต้องดับต้นเหตุแห่งทุกข์ คือ ดับตัณหาเสียให้หมด ไม่อาลัยพัวพันอยู่ในตัณหา
ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรได้พรรณนาไว้ว่า ต้นเหตุที่ทำให้เกิดตัณหาก็คือ อุปทาน คือความยึดถือ ฉะนั้นเมื่อจะดับตัณหา ก็ต้องดับอุปทานคือความยึดถือเสียให้ได้
เมื่อเราดับตัณหาอุปทานในทุกสิ่งทุกอย่างได้แล้ว ทุกข์ก็ไม่มี คงมีแต่มีการเกิดและการดับ มีความแปรปรวนไปตามธรรมชาติเท่านั้นเอง
ในประการที่สี่ คือทางของความดับแห่งทุกข์ เรียกง่ายๆ สั้นๆ ว่า มรรค มีแปดประการดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
ในเรื่องมรรค 8 นี้ ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก ได้กล่าวในหนังสือของท่านเรื่องพุทธธรรม ว่าองค์ประกอบมรรค 8 นี้ ก็คือลักษณะไตรสิกขา คือ เรื่อง ศีล สมาธิ และปัญญานั่นเอง
ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกแยกไว้ดังนี้ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบกับสัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ท่านจัดว่าเป็นเรื่องของปัญญา
ส่วนสัมมาวาจา การเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตชอบ ท่านจัดว่าเป็นเรื่องของศีล
ที่เหลืออีกสามทาง คือ สัมมาวายามะ ความพยายามชอบ สัมมาสติ ความรำลึกชอบ และสัมมาสมาธิ ความตั้งใจชอบ ท่านจัดว่าเป็นเรื่องของสมาธิ
ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกกล่าวสั้นๆ ไว้ว่า "ฝึกด้วยไตรสิกขา ชีวิตก็เดินหน้าด้วยมรรค"
ชีวิตที่เดินอยู่ในมรรค เป็นชีวิตที่ประเสริฐ เป็นชีวิตที่ไม่ไกลจากอริยสัจ คือความจริงอันประเสริฐของชีวิต
มีเรื่องเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ในงานทำบุญอายุครบห้ารอบหรือหกรอบ นิมนต์พระมาสวด พระท่านมักจะสวด ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร หรือธรรมจักร เพื่อเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของชีวิต
พระพุทธศาสนามีของดีมากมาย! เราคนไทยทุกวันนี้มักมองข้ามของดีเหล่านี้ไปกันเสียเกือบหมดแล้ว!
กำลังโหลดความคิดเห็น