xs
xsm
sm
md
lg

เงินผัน กับ เงิน SML

เผยแพร่:   โดย: เกษม ศิริสัมพันธ์

ในงานฉลองครบรอบ 6 ปีของพรรคไทยรักไทย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทยและนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศนโยบาย “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน จัดสรรงบ แก้ปัญหาประชาชน โดยประชาชน”

นโยบายดังกล่าว เป็นการจัดส่งเงินก้อนหนึ่งให้หมู่บ้านต่างๆทั่วประเทศ โดยแบ่งให้ไปตามขนาดของหมู่บ้าน เล็ก-กลาง-ใหญ่ หรือ S – M – L โดยหมู่บ้านขนาดเล็กได้รับ 200,000 บาท หมู่บ้านขนาดกลางได้รับ 250,000 บาท และหมู่บ้านใหญ่ได้รับ 300,000 บาท

นโยบายนี้จึงได้ถูกเรียกขานกันต่อมาว่านโยบาย SML

เมื่อนโยบาย SML ปรากฎออกมา ได้มีหลายฝ่ายได้ย้อนรำลึกถึงนโยบายเงินผันของรัฐบาลของอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อ เกือบ 30 ปีมาแล้ว

แต่เมื่อพิจารณากันให้ถ้วนถี่แล้ว จะเห็นได้ว่า เงินผันกับเงิน SML นั้นมีความคล้ายคลึงกันอยู่เพียงประการเดียว คือเป็นเงินก้อนหนึ่งในงบประมาณแผ่นดิน ที่ทุ่มออกไปให้ชาวบ้านโดยตรงเท่านั้นเอง

โดยมีข้อสมมติฐานเหมือนกันว่า ชาวบ้านย่อมตระหนักในความต้องการของชุมชนของเขาได้ดีกว่าผู้คนในระบบราชการจะไปเนรมิตคิดให้ !

แต่ในแง่เป้าหมายและวิธีดำเนินการนั้น เงิน SML ต่างกับเงินผันทุกประการ !

เมื่อเวลาล่วงเลยมานานเกือบ 30 ปีมาแล้ว รายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับเงินผันจึงจางหายไปจากความทรงจำของผู้คนส่วนใหญ่ ทุกวันนี้เราพูดถึงเรื่องเงินผัน โดยไปผูกติดกับท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีผู้ริเริ่มโครงการนั้น
นอกจากนี้ยังมีอารมณ์ค้าง ที่ติดมากับความทรงจำในอดีต อย่างที่เรียกเงินผันว่า “เงินผลาญ” เป็นต้น

เงินผัน เป็นเงินก้อนหนึ่งที่รัฐบาลคึกฤทธิ์เมื่อ พ.ศ. 2518 จัดสรรให้สภาตำบลทั่วประเทศ ยอดเงินทั้งประเทศ 1,500 ล้านบาทในปีแรก จ่ายจากเงินคงคลัง ส่วนในปีต่อมาตั้งจ่ายจากเงินงบประมาณแผ่นดิน 2,500 ล้านบาท

สภาตำบล เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่เมื่อตกมาถึงสมัยรัฐบาลคึกฤทธิ์ ได้ถูกทิ้งร้าง ไม่มีฝ่ายใดสนใจแล้ว

เงินผันนั้นมีเป้าหมายสำคัญสองประการ ประการแรก เป็นเงินที่มุ่งประสงค์ให้มีการจ้างงานกันเองในระดับตำบล เพื่อแก้ปัญหาการว่างงานตามฤดูกาล

ตามปกตินอกฤดูเพาะปลูก ชาวบ้านในสมัยนั้นมักว่างงานอยู่เปล่าๆ จึงให้มีการจ้างงานให้ทำงานสาธารณะ เช่นทำถนน ลอกคลอง ซ่อมหรือสร้างสะพาน เป็นการจ้างงานกันเอง เป็นการเพิ่มรายได้ให้ชาวบ้าน นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างสาธารณประโยชน์ต่างๆ เป็นการเพิ่มความ
สะดวกสบายแก่ชาวบ้านเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ส่วนจะสร้างงานสาธารณะอย่างใดนั้น ก็ให้สภาตำบลเป็นฝ่ายตัดสินใจกันเองว่าจะทำอะไร เมื่อตัดสินใจแล้วก็ใช้เงินผันนั้นแหละ เป็นเงินค่าจ้างแรงงานในตำบลนั้นเองเป็นผู้ลงมือรับจ้างทำงานนั้นกันเอง

วัตถุประสงค์ประการที่สองของเงินผันก็คือ ต้องการกระตุ้นให้สภาตำบลได้พัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของชาวบ้านที่ใกล้ชิดกับชาวบ้านมากที่สุด

ในการแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลคึกฤทธิ์ ได้แถลงว่า มีนโยบายเงินผันครบ 4 ปี ปีละ 2,500 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 10,000 ล้านบาท เมื่อครบ 4 ปีแล้ว ก็เชื่อได้ว่าสภาตำบลจะมีความพร้อมที่จะก้าวขึ้นมาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เต็มรูปแล้ว

แต่รัฐบาลคึกฤทธิ์ ไม่ได้อยู่จนบอายุครบ 4 ปี เพราะพรรคกิจสังคม ซึ่งเป็นพรรคแกนนำของนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น มีจำนวนที่นั่งในสภาเพียง 18 ที่นั่ง อยู่ได้เพียง 11 เดือน ก็ต้องยุบสภา และนายกรัฐมนตรี คือ ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็สอบตกในการเลือกตั้งใหญ่คราวนั้น
ถึงแม้รัฐบาลคึกฤทธิ์จะมีอันเป็นไปแล้วก็ตาม แต่ก็ได้จุดประกายเรื่องสภาตำบลทิ้งไว้ สภาตำบลนั้นต่อมาก็ได้ก้าวหน้าอย่างระหกระเหินมาตามลำดับ จนในที่สุดก็ได้เป็นองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นเต็มรูป คือ องค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. ในทุกวันนี้

คราวนี้หันมาดูเรื่องเงิน SML ของนายกรัฐมนตรีทักษิณกันบ้าง !

เสียงวิจารณ์เรื่องเงิน SML นั้น ส่วนใหญ่พุ่งไปวิจารณ์เนื้อหานโดยบายดังกกล่าวเป็นสำคัญ ไม่ได้ค่อยสนใจในคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ในการประกาศนโยบายเรื่อง “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” ในงานวันครบรอบ 6 ปีของพรรคไทยรักไทยเท่าใดนัก

แต่ เมื่อได้พิจารณาคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้ จะได้เห็นมุมมองในเรื่องนโยบายเรื่องนี้ได้ชัดแจ้งขึ้น

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า “....ทุกวันนี้ระบอบประชาธิปไตยต้องการกระจายอำนาจ แต่การกระจายอำนาจเป็นการกระจายจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นและภูมิภาค แต่ไม่ได้กระจายอำนาจไปให้ประชาชนโดยตรง ประชาชนเป็นเพียงมาใช้สิทธิ มีสิทธิเพียงเลือกตั้งตัวแทน ซึ่งระบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเรา ระบบการศึกษาของเรา ยังไม่สามารถทำให้ระบบตัวแทน ทำงานให้ประชาชนได้ทันความทุกข์ยากที่ประชาชนประสบ”

“ฉะนั้น รัฐบาลนี้จะลดอำนาจรัฐหรือของตัวเอง ทั้งที่ประชาชนมอบอำนาจให้แล้ว ก็จะคืนอำนาจไปส่วนหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนมีอำนาจในการจัดการ นั่นคือหลักการ “

“นโยบายนี้ เกิดจากการที่ผมเดินสายที่ภาคอีสานและได้รับการร้องเรียนถึงปัญหาความทุกข์ของชาวบ้านในระดับพื้นที่ แสดงให้เห็นว่า เรามีข้าราชการส่วนท้องถิ่น นักการเมืองส่วนท้องถิ่น มีองค์กรท้องถิ่นก็ยังไม่พอเพียงต่อการตอบสนองของปัญหาที่ชาวบ้านได้รับ นั่นคือสิ่งที่ผมได้พบเห็นระหว่างเดินทางไปภาคอีสาน”

“ผมไปบราซิล นั่งเครื่องบินคิดไป จึงพบว่า วิธีการจัดสรรงบประมาณลงไปที่ประชาชน
คือการจัดงบไปให้หมู่บ้านและชุมชน เพื่อให้เขาตกลงประชุมกันว่า เขามีงบประมาณอย่างนี้ อะไรคือทุกข์ที่องค์กรท้องถิ่นและข้าราชการส่วนภูมิภาคไม่สามารถแก้ให้เขาได้ ชาวบ้านก็จะสามารถใช้เงินก้อนนี้แก้ปัญหาได้เลยทันที “

จากคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีที่ยกมาข้างต้นนั้น มีข้อสังเกตดังนี้

ข้อสังเกตประการแรก นายกรัฐมนตรีมีความเห็นว่า ราชการส่วนภูมิภาคก็ดี ราชการส่วนท้องถิ่นก็ดี ยังไม่สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านได้อย่างแท้จริง

ฉะนั้นเงิน SML จึงเป็นเงินที่ปาข้ามหัว ราชการส่วนกลาง (กรม กอง และกระทรวงต่างๆ ) ราชการส่วนภูมิภาค ( จังหวัด และอำเภอ) ราชการส่วนท้องถิ่น ( อบต. อบจ. เทศบาล ) ไปยังหมู่บ้านและชุมชนของชาวบ้านโดยตรงทีเดียว

ในแง่นี้เงิน SML ถึงแม้จะเป็นเงินในงบประมาณแผ่นดินก็ตาม แต่ใช้ไปนอกระบบราชการ เป็นเงินที่ให้แก่หมู่บ้านและชุมชนของชาวบ้าน ได้ตัดสินใจใช้เอง เพื่อแก้ไขขจัดความทุกข์ของชาวบ้าน

เมื่อข้อสันนิษฐานเป็นเช่นนี้ ก็แสดงว่า ระะบราชการทั้งหมด ซึ่งรวมถึงราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนระดับ “รากหญ้า” ใช่ไหม ?

ฉะนั้น คำขวัญที่ชอบพูดกันติดปากในบรรดาหน่วยราชการต่างๆ คือ “ระงับทุกข์ บำรุงสุขของประชาชน”นั้น เป็นเพียงคำขวัญลมๆแล้งๆเท่านั่นเอง !

จริงๆแล้ว ระบบราชการของเรา ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ไม่ได้มีบทบาทจริงจังในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านอย่างใดเลย!

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ทำไมเราไม่เลิกระบบราชการทั้งหมดเสียเลย แล้วบริหารประเทศด้วยการให้นายกรัฐมนตรีแจกเงิน SML ไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบรู้สิ้นเสียเลยไม่ดีกว่าหรือ ?

อันที่จริงนายกรัฐมนตรีก็เริ่มกระทำการเช่นนี้อยู่แล้ว เมื่อออกเดินสายไปตรวจเยี่ยม จังหวัดในภาคกลางและภาคเหนือรวม 13 – 14 จังหวัด นายกรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติโครงการต่างๆในจังหวัดที่ไปตรวจเยี่ยม เป็นวงเงินทั้งหมดร่วม 7-8 พันล้านบาทอยู่แล้ว

มีข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง ซึ่งมีนัยสำคัญเป็นอย่างยิ่ง นายกรัฐมนตรีได้ชี้ให้เห็นจุดอ่อนของการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่สามารถสนองความต้องการของชาวบ้านได้ ก็เพราะชาวบ้านมีสิทธิเพียงไปเลือกตั้งตัวแทนเท่านั้นเอง

ท่านยังบอกด้วยว่าในสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมและการศึกษาของเราในทุกวันนี้ ระบบตัวแทนด้วยการเลือกตั้งนั้น ไม่สามารถทำงานได้ทันกับความทุกข์ยากของประชาชนได้
อย่างมีประสิทธิภาพแท้จริง !

แนวคิดของนายกรัฐมนตรีเรื่องนี้ มีความสำคัญเป็นอันมาก ! เพราะเป็นการชูจุดอ่อนสำคัญของระบบการเลือกตั้งตัวแทน ซึ่งมิได้มีแต่เฉพาะการปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น !

แม้แต่การปกครองส่วนกลางระดับชาติ ก็มีระบบการเลือกตั้งตัวแทนเหมือนกัน ! แม้แต่ตัวนายกรัฐมนตรีและพรรคไทยรักไทย ก็มาจากระบบการเลือกตั้งตัวแทนเหมือนกัน !

อันที่จริงต้องนับว่า นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ซึ่งรอบรู้อย่างดีที่สุด ถึงความตื้นลึกหนาบางของระบบการเลือกตั้งตัวแทนในระดับชาติ !

ที่น่าแปลกใจก็ตรงที่ว่า นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ซึ่งก้าวขึ้นมาสู่อำนาจในระดับชาติ ด้วยการเลือกตั้งระบบตัวแทน แต่กลับชี้จุดอ่อนของระบบการเลือกตัวแทนระดับท้องถิ่นว่า ไม่สามารถสนองความทุกข์ยากของชาวบ้านได้ !

บทความนี้ตั้งต้นด้วยเรื่องเงินผันของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ขอเก็บเอาเรื่องที่ท่านเคยพูดมาเล่าให้ได้รับทราบกันไว้

ครั้งหนึ่งท่านพูดถึงเรื่องโครงการเงินผันของท่านว่า เปรียบเสมือนหนึ่งอยากให้ชาวบ้านได้กินน้ำแข็ง ถ้าเป็นคนอื่น เขายกก้อนน้ำแข็งทั้งก้อน ไปผ่านศาลากลางจังหวัด ผ่านที่ว่าการอำเภอ เพื่อให้ฝ่ายราชการได้แบ่งน้ำแข็งให้ชาวบ้านได้ลิ้มรส

น้ำแข็งก้อนโตๆ ไปผ่านศาลากลางจังหวัด ผ่านที่ว่าการอำเภอ กว่าจะไปถึงชาวบ้าน น้ำแข็งก็ละลายหมด เหลือเพียงก้อนนิดเดียว ! ให้ชาวบ้านอมแก้กระหายก็ยังไม่ได้ !

แต่เงินผันนั้นเปรียบเสมือนหนึ่ง ท่านยกน้ำเข็งทั้งก้อนไปไว้กลางลานบ้านทีเดียว ถึงแม้น้ำแข็งจะละลายสูญหายไปบ้าง ก็ยังดี เพราะได้ซึมทราบเอิบอาบอยู่กลางบ้านนั่นเอง !

ไม่รู้ว่านายกรัฐมนตรีทักษิณคิดอย่างเดียวกับนายกรัฐมนตรีคึกฤทธิ์หรือเปล่า ?
กำลังโหลดความคิดเห็น