xs
xsm
sm
md
lg

จากการเมืองเพื่อประชาชน ไปสู่การเมืองของประชาชน

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

การประกาศนโยบายของพรรคมหาชน สร้างกระแสและสีสัน "การเมืองเพื่อประชาชน" ได้ค่อนข้างดี ด้วย "อุดมคติปรัชญา 3 ประการ" คือ 1.หลักการบริหารและพัฒนาประเทศแบบสวัสดิการนิยมก้าวหน้า 2. การมีส่วนร่วมและการกระจายอำนาจ 3. การแยกทุนออกจากประชาธิปไตยและขจัดปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งตามแนวคิดหรืออุดมการณ์นี้ได้แตกออกมาเป็น 7 กลุ่มนโยบายดังที่สื่อมวลชนได้นำเสนอไปแล้วเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา

เมื่อพิจารณาดูทั้งหมดอย่างคร่าวๆ แล้ว ก็พอสรุปได้ว่า พรรคมหาชนนำเสนอนโยบาย "ประชานิยม" แนวเดียวกับพรรคไทยรักไทยที่กำลังเป็นที่ต้อนรับของประชาชนชาวไทยในปัจจุบันนี้

แต่ด้วยความเป็นพรรคใหม่และเป็นพรรคเล็ก จึงต้องนำเสนอในดีกรีที่เข้มข้นกว่าพรรคไทยรักไทยในหลายๆ ด้าน เช่นเน้นการอุ้มคนจนแบบสุดๆ และพยายามแยกทุนออกจากอำนาจรัฐ (ซึ่งกำลังเป็นจุดอ่อนของพรรคไทยรักไทย เป็นหลักฐานใหญ่ถึงที่มาของผลประโยชน์ทับซ้อน) จึงขอเรียกนโยบายเหล่านี้ว่าเป็นนโยบาย "เหนือประชานิยม" สำหรับขย่มพรรคไทยรักไทยโดยเฉพาะ

เสริมเพิ่มเป็นองค์ประกอบให้แก่ "การเมืองเพื่อประชาชน" โดยกลุ่มทุน อันเป็นขั้นตอนการพัฒนาการของการเมืองไทยในปัจจุบันชัดเจนยิ่งขึ้น

ดังนั้น การประกาศตัวของพรรคมหาชน จึงได้สร้างบรรยากาศคึกคักแก่การเมืองในประเทศไทยยุคปัจจุบัน ที่กำลังพัฒนาไปตามแนว "การเมืองเพื่อประชาชน" โดยกลุ่มทุนไทยได้เป็นอย่างดี

มองในแง่การตลาด ถือว่าพรรคมหาชนประสบความสำเร็จแล้ว ซึ่งเป็นสัญญาณว่า นับแต่นี้ไป พรรคการเมืองที่หวังจะได้คะแนนเสียงจากประชาชน มีแต่จะต้องเร่งผลิตนโยบายสนองประโยชน์ประชาชนให้มากยิ่งๆ ขึ้น โดยไม่ต้องสนใจว่าผลในทางปฏิบัติจะเป็นอย่างไร เพราะเมื่อได้ชนะในการเลือกตั้งแล้ว ก็สามารถพลิกเกมการนำเสนอไปเป็นรูปอื่นๆ ที่ประชาชนรับได้ สร้างคะแนนนิยมด้วยการหยิบยื่นโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ประชาชน ขยายฐานการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับการขยายฐานทุนของตนเองอย่างขนานใหญ่

นั่นย่อมหมายความว่า "การเมืองเพื่อประชาชน" โดยพรรคกลุ่มทุนไทย จะต้องดำเนินไปในท่ามกลางการบริหารผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ประชาชนชาวไทยจะยังไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

เมื่อพูดถึงตรงนี้ ก็ต้องขอ "ฟันธง" ว่า พรรคมหาชนมี "ธรรมชาติ" ของความเป็นพรรคกลุ่มทุน ที่มุ่งเล่นการเมืองตามเกม "การเมืองเพื่อประชาชน" ของพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นกระแสหลักของการเมืองไทยยุคปัจจุบัน

และทำให้นำไปสู่การสรุปได้อีกว่า "การเมืองเพื่อประชาชน" ของพรรคการเมืองกลุ่มทุน ถึงอย่างไรก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศชาติและของประชาชนได้อย่างแท้จริง

เส้นทางนำไปสู่การเมืองเพื่อประชาชนของประชาชน

พัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบัน ได้ก้าวมาถึงขั้น "การเมืองเพื่อประชาชน" โดยพรรคกลุ่มทุน มีกลุ่มทุนควบคุมและกำหนดแนวนโยบายของพรรค กำหนดตัวแทนแสวงประโยชน์จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองและการบริหารประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ ผลจากการขับเคลื่อนตัวของการเมืองลักษณะนี้ จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนบ้างไม่มากก็น้อย แต่ทั้งหมดก็เพื่อรองรับการขับเคลื่อนตัวของกลุ่มทุนที่ใช้อำนาจบริหารประเทศ

อย่างไรก็ดี ลักษณะการขับเคลื่อนทางการเมือง ที่พรรคการเมืองกลุ่มทุนมุ่งใช้การ "ถือเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง" เป็นจุดขาย ได้จุดประกายและก่อกระแสสูงทางการเมือง สร้างโอกาสและกระตุ้นความตื่นตัวให้แก่ประชาชนได้เป็นอย่างมาก

ด้านหนึ่ง การนำเสนอโอกาสและผลประโยชน์ใหม่ๆ ให้แก่ประชาชน เป็นโอกาสดีที่ประชาชนจะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในระดับรากหญ้า สามารถจัดตั้งและรวมตัวกันเข้า เคลื่อนไหวเรียกร้องและต่อสู้ปกป้องสิทธิผลประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ตามแนวนโยบายของรัฐบาล

ซึ่งในท่ามกลางการเคลื่อนไหวเหล่านั้น ประชาชนจะได้เรียนรู้และเข้าใจถึงธรรมชาติของพรรคการเมืองและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคกลุ่มทุนได้อย่างสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น ทำให้เกิดความตื่นตัวตระหนักรู้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า พรรคการเมืองที่ประชาชนต้องการนั้นควรเป็นอย่างไร และควรจะเกิดขึ้นอย่างไร ดำเนินการอย่างไร

กล่าวในแง่หนึ่ง การก้าวขึ้นสู่เวทีประวัติศาสตร์ของพรรคการเมืองกลุ่มทุนใหม่ไฮเทคของประเทศไทย ภายหลังวิกฤตการเงินปี พ.ศ. 2540 ได้ขับเคลื่อนพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทยไปอีกก้าวใหญ่ ด้วยการนำเสนอแนวทางนโยบายประชานิยม อันเป็นสาระสำคัญของการเมืองเพื่อประชาชนโดยพรรคกลุ่มทุน ประชาชนถูกยกฐานะเป็น "ศูนย์กลาง" ของการบริหารอำนาจโดยพรรคการเมืองกลุ่มทุนใหม่ไทย

แน่นอนที่สุด การเมืองเพื่อประชาชนโดยพรรคกลุ่มทุน ที่กำลังดำเนินไปในขั้นปัจจุบัน ไม่อาจแก้ปัญหาของประชาชนได้อย่างแท้จริง ประชาชนยังต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตในรูปแบบต่างๆ อย่างมากมาย โดยเฉพาะเมื่อแตะต้องกับผลประโยชน์ของกลุ่มทุนใหม่และกลุ่มอิทธิพลดั้งเดิม การแก้ไขปัญหายังจะเป็นไปในรูป "ลูบหน้าปะจมูก" กันเรื่อยไป
ทั้งนี้เป็นเพราะข้อจำกัดทางประวัติของพรรคกลุ่มทุนใหม่ไทยดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง

แต่อีกด้านหนึ่ง การขับเคลื่อนของการเมืองภาคประชาชนที่มีอยู่แล้วและมีมาโดยตลอด จะสามารถขยับขยายกิจกรรมการเคลื่อนไหวได้อย่างหลากหลายยิ่งขึ้น ทั้งในรูปของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนและกลุ่มประชาสังคมต่างๆ รวมไปถึงกลุ่มกองทุนออมทรัพย์ในระดับหมู่บ้านและตำบลที่ตั้งอยู่บนฐานการบริหารของประชาชนเอง

ยิ่งกว่านั้น การดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจหรืออุตสาหกรรมการผลิต ที่ตั้งอยู่บนฐานของประชาชน เป็นของประชาชน สามารถเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับกระแสสูงของการเมืองเพื่อประชาชนโดยพรรคกลุ่มทุน ใช้เงื่อนไขและการนำเสนอใหม่ๆ ของรัฐบาลพรรคกลุ่มทุนให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาขยายตัวของฐานการผลิตของตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

เรื่องนี้นับเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งต่อการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของภาคประชาชน ด้วยต้องสามารถเข้าถึงกฎเกณฑ์พัฒนาของสังคมโลก ทั้งในระบอบทุนนิยมและระบอบสังคมนิยม สามารถพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการวิสาหกิจรวมหมู่ให้ได้ถึงขั้นที่ว่า แม้ในประเทศไทยที่การเมืองยังอยู่ในขั้น "การเมืองเพื่อประชาชน" โดยพรรคกลุ่มทุน ก็มีเงื่อนไขเพียงพอต่อการพัฒนาวิสาหกิจรวมหมู่ ดังเช่นที่กลุ่มองค์กรต่างๆ ของประชาชนในชนบทได้กระทำเป็นแบบอย่างให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วในหลายๆ แห่งของประเทศไทย

นั่นคือ ในภาพรวมของสังคมไทยยุคการเมืองเพื่อประชาชนโดยพรรคกลุ่มทุน ที่เชื่อมโยงเข้ากับกระแสการเมืองเพื่อประชาชนที่ถือเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางในขอบเขตทั่วโลก ประชาชนไทยสามารถพัฒนาตัวเอง ขยายฐานกำลังของตนเอง และกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างเป็นจริง ด้วยการใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขใหม่ๆ ที่มาจากการนำเสนอนโยบาย "ประชานิยม" ของพรรคการเมืองกลุ่มทุน และความริเริ่มของประชาชน ขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมืองภาคประชาชนให้ขยายตัวไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อการบรรลุสู่การมีพรรคการเมืองของประชาชน ที่สามารถโลดแล่นอยู่บนเวทีการเมืองได้ไม่แพ้พรรคการเมืองกลุ่มทุน

ศึกษาเรียนรู้ พัฒนายกระดับความรับรู้

เพื่อขยายฐานการเมืองภาคประชาชน กลุ่มองค์กรภาคประชาชนไม่เพียงต้องพยายามใช้เงื่อนไขและโอกาสที่พรรคการเมืองกลุ่มทุนนำเสนอสู่ประชาชนเท่านั้น แต่ที่สำคัญยังต้องยกระดับความรับรู้ของตนเองในขอบเขตทั่วโลก มองเห็นการขับเคลื่อนของการเมืองภาคประชาชนในระดับทั่วโลก ทั้งในประเทศทุนนิยมและสังคมนิยม ทั้งในประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้วและในประเทศกำลังพัฒนา ชนิด "ไร้พรมแดน"

อีกนัยหนึ่ง จะต้องมองทั้งโลกด้วยสาตาที่มีความเป็นสากล นั่นคือไม่ยึดติดอยู่กับกรอบความคิดทฤษฎีที่มีอยู่เดิม พยายามทำความเข้าใจในความเป็นจริงที่กำลังดำเนินไปอย่างรอบด้าน แล้วยกระดับขึ้นมาเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ เกิดเป็นแนวคิดใหม่ๆ สำหรับนำไปชี้นำการกำหนดแนวทางการทำงานของกลุ่มตน และแลกเปลี่ยนกับกลุ่มอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายการขับเคลื่อนของการเมืองภาคประชาชนต่อไป

มองด้วยสายตาประวัติศาสตร์ พัฒนาการทางการเมืองของประเทศทุนนิยม มีจุดอ่อนที่การกระจายความมั่งคั่งสู่ประชาชน กลุ่มทุนคือผู้เสวยผลใหญ่ของการบริหารประเทศของพรรคการเมืองกลุ่มทุน ประเทศทุนนิยมคือผู้เสวยผลใหญ่ของการขยายอำนาจเหนือประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

สังคมโลกภายใต้การขับเคลื่อนของระบอบทุนนิยม มีการพัฒนาอย่างยิ่งใหญ่ทางด้านพลังการผลิต แต่ถึงที่สุดแล้วก็ไม่อาจแก้ปัญหาความล้าหลังยากจนของประชากรส่วนใหญ่บนผิวโลกนี้ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการกดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบ ความขัดแย้งและสงครามได้อย่างแท้จริง ตรงกันข้าม กลับนำมาซึ่งการทำลายสิ่งแวดล้อมและคุณค่าของความเป็นมนุษย์อย่างใหญ่หลวง

ทั้งนี้ทั้งนั้น เพราะระบอบทุนนิยมมีความโลภเป็นตัวนำ การแย่งชิงผลประโยชน์ การกอบโกยผลประโยชน์แบบมือยาวสาวได้สาวเอา คือมาตรฐานการปฏิบัติที่เป็นจริงในทุกๆ ด้าน โดยทั้งหมดดำเนินไปในรูปแบบที่ดูดีและแยบยล แต่ก็ไม่ทนทานต่อการเปิดโปง

ส่วนสังคมโลกภายใต้การขับเคลื่อนของระบอบสังคมนิยม มีจุดหมายปลายทางที่การปลดปล่อยตนเองและมวลมนุษย์ เพื่อการพัฒนาอย่างรอบด้านของความเป็นคน ปัจจุบันที่ดำเนินอยู่ในระดับประเทศก็คือจีนกับเวียดนาม ก็ยังอยู่ในขั้น "กำลังพัฒนา" ยังปรากฏมีส่วนที่ไม่สมบูรณ์ให้เห็นอย่างมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการใช้อำนาจของพรรค ซึ่งมีการพัฒนาก้าวหน้าทางทฤษฎีอย่างต่อเนื่อง แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีปัญหาอยู่มาก อันสืบเนื่องจากปัญหาตกค้างทางวัฒนธรรมและระดับความตื่นตัวของประชาชนในประเทศ รวมทั้งการปฏิรูปกลไกอำนาจรัฐยังดำเนินไปได้ไม่เร็วนัก เนื่องจากเกรงกลัวความเพลี่ยงพล้ำ ซึ่งอาจเปิดช่องให้มหาอำนาจทุนนิยมฉวยจังหวะโจมตีกระหน่ำซ้ำเติม

ปัจจัยสังคมใหม่เกิดขึ้นได้ในสังคมเก่า

จากการติดตามศึกษาทำความเข้าใจในความเป็นไปในสังคมทุนนิยมและสังคมนิยม บนฐานความรับรู้เชิงประวัติศาสตร์แห่งวิวัฒนาการของมวลมนุษย์โดยรวม ทำให้พอจะรู้ว่า กระบวนการวิวัฒนาการของสังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงคึกคักอย่างยิ่ง อันเป็นผลจากการดำเนินนโยบายประชานิยม เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการเมืองเพื่อประชาชน ที่ถือเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางของสังคมโลกยุคปัจจุบัน (ไม่ว่าในประเทศทุนนิยมหรือสังคมนิยม ล้วนแต่ถือเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับและสนับสนุนของประชาชน)

บนเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์อันดียิ่งนี้ ประชาชนไทยสามารถพัฒนากิจกรรมของตนได้อย่างกว้างขวางชนิดไม่จำกัดรูปแบบ ทั้งด้วยการใช้โอกาสและเงื่อนไขที่พรรคการเมืองกลุ่มทุนเสนอให้ และด้วยความริเริ่มของประชาชนเอง

ดังเช่นการพัฒนาวิสาหกิจรวมหมู่ ที่สะท้อนผลประโยชน์ของประชาชนอย่างเป็นจริง สามารถพัฒนาขยายตัวไปได้ในสาขาอาชีพต่างๆ ทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและการบริการ มีการพัฒนาทักษะการบริหารจัดการให้เป็นแบบทันสมัย มีประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เป็นอาทิ

เพื่อเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทย จากการเมืองเพื่อประชาชนโดยพรรคกลุ่มทุน ไปเป็นการเมืองของประชาชน เพื่อประชาชน โดยพรรคการเมืองของประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น