xs
xsm
sm
md
lg

ไผ่ : หญ้าวิเศษ

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

มนุษย์รู้จักประโยชน์ของไผ่มาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ดังที่พุทธประวัติได้บันทึกว่า ในวันมาฆบูชา พระอรหันต์ 1,250 องค์ ได้มาประชุมอย่างพร้อมเพรียงกันที่เวฬุวราราม ซึ่งเป็นอารามที่มีป่าไผ่ นักปรัชญาจีนชื่อ Su Shi ก็ได้เคยเอ่ยเมื่อ 1,000 ปีก่อนว่า คนเราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องกินเนื้อ แต่ก็ต้องอาศัยหน่อไม้ของไผ่เป็นอาหาร และการที่ลำไผ่กลวงนั้น ก็เป็นเครื่องหมายแสดงการมีจิตใจที่อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เพียงแต่ชาวจีนเท่านั้นที่ผูกพันกับไผ่ ชาวเวียดนามมีประเพณีที่ถือว่าไผ่คือน้องชายของมนุษย์ ในมาเลเซียก็มีการเปรียบเทียบการเป็นเพื่อนตายกันว่า เหมือนกับไผ่ที่ขึ้นริมน้ำ นิทานพื้นเมืองของญี่ปุ่นและพม่า มักกล่าวถึงเด็กทารกเพศหญิงว่าสวยเพราะเกิดจากกอไผ่ และชนฮินดูก็มีนิทานเล่ากันว่า มีผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ Murala นางอยู่ในวรรณะพราหมณ์ แต่ถูกหลอกให้แต่งงานกับชายในวรรณะที่ต่ำกว่า การรู้ตัวในภายหลัง ทำให้นางเสียใจมากจนต้องเผาตนเอง แต่ก่อนตายนางได้สวดมนต์อธิษฐานต่อเทพวิษณุขอให้เกิดใหม่ และจากกองเถ้าอังคารของนาง ก็ได้ปรากฏเป็นต้นไผ่ นิทานมาเลย์ก็มีเล่าว่า หนุ่ม Khatib Malim Scleman ได้ออกแสวงหาภรรยา และขณะนอนหลับในป่าไผ่ เขาได้ฝันเห็นหญิงสาวผู้หนึ่งออกมาหุงหาอาหารให้เขากิน เมื่อเขาตื่น เขาก็รู้ว่า หญิงคนนั้นต้องอยู่ในปล้องไม้ไผ่ เขาจึงผ่าปล้องไผ่ออก และก็ได้เห็นและแต่งงานกับหญิงในฝัน สุภาษิตพม่าเปรียบคนที่ดื้อรั้นว่า เหมือนไผ่ที่ไม่ให้น้ำไหลผ่าน และคนที่ใจแคบ ที่ไม่พยายามเข้าใจอะไรๆ เลย ว่าเหมือนคนที่มองโลกผ่านกอไผ่ และคนที่พยายามทำงานที่ไร้สาระว่า เปรียบเสมือนการพยายามเกลาลำไผ่เน่าให้แหลม นิทานดึกดำบรรพ์ของฟิลิปปินส์กล่าวถึงสวนไผ่ที่พระเจ้าสร้างให้ Sikalak มนุษย์ผู้ชายคนแรกกับ Sikabay มนุษย์ผู้หญิงคนแรกเฝ้าดู และขณะพระเจ้า Kaptan ไม่อยู่ คนทั้งสองตกหลุมรักกัน แต่ก็รู้สึกไม่สมควร เพราะเป็นพี่น้องกัน จึงได้ปรึกษาปลาและนก และสัตว์ทั้งสองก็ได้แนะนำว่า พระเจ้าสร้างโลกให้มนุษย์ (หลายคน) อยู่ ดังนั้น คนทั้งสองจึงแต่งงานกัน ในบาหลีเวลามีเทศกาลทางศาสนา เขามักใช้ไผ่ลำยาวติดธงทิวประดับ และใช้ทำบั้งไฟ (เหมือนคนไทย) ในการขอฝน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะไผ่มีน้ำหนักเบา ราคาถูก จึงสะดวกใช้สำหรับติดต่อเทวดา และปีศาจ และในด้านศิลปะ เวลาจิตรกรจีนวาดภาพนกนางแอ่นเกาะบนปลายไผ่ ในยามหิมะตก นั่นแสดงความสัมพันธ์ฉันเพื่อนที่สนิทกันมาก เป็นต้น

ในสมัยโบราณ หากใครจะสร้างบ้าน ช่างไม้มักใช้ไผ่สร้าง เพราะไผ่มีน้ำหนักเบา ทนทาน และเวลาเสื่อมสภาพก็ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม การมีผิวเรียบเกลี้ยงยามลูบไล้ทำให้เครื่องใช้ที่ทำด้วยไผ่น่าใช้ ดังนั้น จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ผู้คนเอเชียอาคเนย์ใช้ไผ่ในการอุปโภคมากมาย เช่น สร้างแพ สร้างบ้านบนแพ ซึ่งก็สะดวกเวลาน้ำป่าหลากมา บ้านบนแพก็จะลอยน้ำได้ นอกจากนี้ก็ใช้ลำไผ่ทำไม้กวาด กระไดขึ้นต้นไม้ ถ่อ ไม้สอย ไม้คันเบ็ด ใช้สร้างหุ่นไล่กา ลำเลียงน้ำ ทำข้าวหลาม ทำสะพาน ทำของเล่น เช่น ว่าว ทำเครื่องดนตรี เช่น ระนาด ขลุ่ย อังกะลุง เครื่องจักสานต่างๆ ส่วนใบไผ่ใช้เลี้ยงสัตว์ เช่น ช้าง แพนด้า และกิ้งกือ หน่อไผ่หรือที่เรียกทั่วไปว่า หน่อไม้ เวลาโผล่ขึ้นเหนือพื้นเป็นอาหารโปรดของสัตว์ป่า ตามปกติหน่อไม้มีสีน้ำตาล และโตเร็ว ผิวหน่อมีขนหนามและกาบห่อหุ้ม หน่อไม้บางพันธุ์มีพิษ ดังนั้น เวลานำมาบริโภคแม่ครัวต้องทำให้ร้อน เพื่อกำจัดพิษ โดยการต้มนานๆ แล้วเทน้ำทิ้ง จากนั้นก็ต้มใหม่ หน่อไม้ที่สุกแล้วอาจใช้แทนผักสด ทำสลัด หรืออาจจะดองในน้ำเกลือ เพื่อใช้กินในหน้าแล้งที่ไม่มีหน่อไม้บริบูรณ์

สำหรับส่วนอื่นๆ ของไผ่ เช่น รากหรือใบ ก็สามรถนำมาใช้เป็นยาได้ คนเขมรเชื่อว่า น้ำมันจากลำต้นไผ่สามารถรักษาโรคหืด หน่อไม้รักษาโรคหนองใน โรคไต และโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ ในฟิลิปปินส์ชาวบ้านคิดว่า ไผ่เหลือง (Bambusa valgaris) รักษาโรคดีซ่าน และรากที่นำมาต้มรักษาโรคไตได้ หรือหน่ออ่อนๆ ก็รักษาแผลในกระเพาะได้ เป็นต้น แต่ขนที่ติดตามใบที่ห่อหุ้มลำต้นนั้น เป็นสารพิษ เพราะถ้ากินเข้าไปจะทำให้กระเพาะลำไส้ระคายเคือง และเป็นแผลได้

ในสมัยก่อน เรามักเชื่อกันว่า เวลาไผ่ออกดอกแล้วมันจะตาย แต่ความจริงก็มีว่า มีบางชนิดที่เป็นเช่นนั้น แต่บางชนิดก็สามารถออกดอกได้เรื่อยโดยไม่ตาย ส่วนเมล็ดที่เกิดจากดอกนั้น ตามปกติมีขนาดเล็ก และสำหรับกรณีเมล็ดของไผ่ (Melocanna baccifera) มันจะมีรากงอกออกมา ก่อนที่มันจะร่วงลงดิน ซึ่งทั้งนี้ก็เป็นการช่วยในการแพร่พันธุ์ ถึงกระนั้นการขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดก็ไม่ดีเท่าการใช้หน่อหรือราก เพราะสัตว์ป่าและหนูชอบกินเมล็ดไผ่มาก

ไม่เพียงแต่คนเอเชียเท่านั้นที่ใช้ไผ่ แม้แต่ Edison นักประดิษฐ์ผู้เรืองนามของโลกก็เคยใช้ใบไผ่ในการทำไส้หลอดไฟฟ้ายุคแรกๆ เช่นกัน เหล่านี้คือเหตุผลที่ทำให้นักชีววิทยานามอุโฆษชื่อ Arthur Russel Wallace ได้เคยกล่าวว่า ไผ่เป็นพืชที่ประเสริฐที่สุดที่มนุษย์มี

ไผ่เป็นพืชเมืองร้อนในตระกูลหญ้าที่ขึ้นง่ายและตายยาก ลำต้นที่สะโอดสะองเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของไผ่ ไผ่บางชนิดสูงถึง 40 เมตร เท่ากับตึก 10 ชั้น ลำปล้องไผ่มีขนาดต่างๆ กัน ไผ่ขนาดใหญ่อาจมีลำปล้องที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวถึง 25 เซนติเมตร ลำต้นไผ่กลวง และเป็นรูปทรงกระบอก ต้นไม้ทั่วไปเติบโตที่ยอด แต่ต้นไผ่จะยืดปล้องออก การที่ปล้องทุกปล้องยืดออกพร้อมๆ กัน ทำให้ไผ่เติบโตเร็ว เพราะปล้องจะยืดตลอดเวลาทั้งกลางวัน และกลางคืน ดังนั้น ภายในเวลาเพียง 3 ปี ไผ่ก็สามารถตัดใช้ได้ ในขณะที่ต้นไม้ใหญ่ต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปี จึงจะใช้การได้
โลกมีไผ่กว่า 1,250 ชนิด แต่ในไทยมีไผ่ประมาณ 60 ชนิด เช่น ไผ่สีสุกที่ใช้ในการก่อสร้าง ทำเฟอร์นิเจอร์ เพราะไผ่ชนิดนี้มีเนื้อที่แข็งแรง จึงสามารถนำไปทำกระดาษได้ นอกจากนี้ หน่อไม้ของไผ่สีสุกก็มีรสดีด้วย ไผ่ตงเป็นไผ่ที่รู้จักกันดีอีกชนิดหนึ่งที่ลำต้นไม่มีหนาม และลำต้นมีสีเทาปนขาวสลับกันเป็นลาย นิยมนำหน่อมาดอง ลำต้นใช้ทำกระดาษ และตะเกียบ ไผ่เหลืองหรือไผ่งาช้าง หรือไผ่ไร่ เป็นไผ่ที่นิยมปลูกอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งต้นสูงประมาณ 12 เมตร และลำต้นมีสีเหลือง แถบเขียวใหญ่เล็กสลับกันตามความยาวของลำ หน่อของไผ่เหลืองมีรสขม จึงไม่เป็นที่นิยมกิน ไผ่เลี้ยงมักขึ้นเป็นกอ ลำมีสีเขียว มีขนละเอียดสีขาวนวล ไม่มีหนาม จึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับเป็นแนวรั้ว ส่วนไผ่น้ำเต้ามีปล้องสั้น โป่งตรงกลางแล้วกิ่วตามข้อคล้ายน้ำเต้า ลำมีสีเขียว นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ และไผ่รวกดำ ซึ่งเป็นไผ่ที่นิยมปลูกตกแต่งสวน ใบของไผ่ชนิดนี้ติดทน และมักไม่ร่วง เนื้อไผ่แข็งจึงเป็นไผ่ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ เพราะช่างใช้ไผ่ชนิดนี้เป็นวัสดุก่อสร้างบ้าน

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ Ian Hunter แห่ง International Network for Bamboo and Rattan ของสหประชาชาติได้กล่าวว่า เขารู้สึกปริวิตกมากที่ 1 ใน 3 ของไผ่กว่า 1,200 ชนิด กำลังจะสูญพันธุ์ เพราะมนุษย์กำลังทำลายป่าไม้อย่างดุเดือด โดยเฉพาะในอินเดีย ซึ่งชาวบ้านกำลังมีความคิดว่า ต้องทำลายไผ่ให้หมดป่าก่อนที่ไผ่จะออกดอก ทั้งนี้ เพราะถ้าไผ่ออกดอกแล้ว เมล็ดไผ่จากดอกจะเป็นอาหารที่วิเศษสำหรับหนู ซึ่งมีผลให้หนูแพร่พันธุ์และเพิ่มจำนวน และเมื่อเมล็ดไผ่หมดป่า หนูจำนวนมากซึ่งต้องการอาหาร ก็จะลงมือบุกรุกขโมยอาหาร เช่น ข้าวของชาวบ้านกินแทน

การที่ชาวอินเดียรู้และคิดเช่นนี้ เพราะในอดีตเมื่อปี พ.ศ. 2404, 2454 และ 2502 ได้เกิดจลาจลวุ่นวายในแคว้น Mizoram ของอินเดีย เพราะชาวบ้านต้องทำสงครามกับหนู สืบเนื่องจากไผ่ออกดอกแล้วตกเมล็ดให้หนูกิน จนหนูจำนวนสิบล้านบุกรุกครอบครัวชาวนาที่ยากจน ดังนั้น เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม นักวิทยาศาสตร์และนักการเมืองบางคน จึงเสนอให้ชาวบ้านเร่งตัดไผ่ทิ้งอย่างขนานใหญ่ เพื่อไม่ให้มันออกดอก แต่ก็มีนักนิเวศวิทยาหลายคนที่กังวลกับการสังหารผลาญไผ่ทำนองนี้ เพราะไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำเงินให้แก่ชาวบ้าน ดังนั้น ถ้าชาวบ้านตัดไผ่ทิ้ง ไผ่ก็จะหมดป่า และนั่นก็จะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนอีกเช่นกัน

ปัญหาจึงมีว่า ใคร ไผ่ หนู หรือคน ควรอยู่หรือควรต่อสู้อย่างไร เพื่อการอยู่รอดในเหตุการณ์ธรรมชาติครั้งนี้

สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสถาน
กำลังโหลดความคิดเห็น