xs
xsm
sm
md
lg

สาธารณรัฐประชาชนจีนกับสถานะระบบเศรษฐกิจแบบตลาด(ตอนที่หนึ่ง)

เผยแพร่:   โดย: รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

สหภาพยุโรปประกาศไม่ยอมรับว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนมีสถานะระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (Market-Economy Status : MES) เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2547 คำประกาศนี้สร้างปัญหาแก่สาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างยิ่ง เพราะเกี่ยวพันกับตำแหน่งแห่งหนของสาธารณรัฐประชาชนจีนในสังคมเศรษฐกิจโลก รวมตลอดจนเส้นทางการพัฒนาของสาธารณรัฐประชาชนจีนเอง

สาธารณรัฐประชาชนจีนมิเพียงแต่มิได้รับการยอมรับจากสหภาพยุโรปเท่านั้น หากยังมิได้รับการรับรองสถานะระบบเศรษฐกิจแบบตลาดจากสหรัฐอเมริกาด้วย โดยที่มิอาจคาดหวังได้ในปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ในเมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนถูกกล่าวหาว่า มีการค้าที่ไม่เป็นธรรม ด้วยการกดค่าเงินหยวนให้ต่ำกว่าพื้นฐานที่เป็นจริง และการทุ่มตลาดสินค้านานาประเภท ผู้นำจีนมิได้คาดหวังการรับรองจากสหรัฐอเมริกา แต่หวังผลอย่างมากจากสหภาพยุโรป เมื่อสหภาพยุโรปประกาศไม่รับรองเช่นนี้ ยังความผิดหวังแก่ผู้นำจีนอย่างยิ่ง

สถานะระบบเศรษฐกิจแบบตลาด คืออะไร?

ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเป็นระบบเศรษฐกิจที่ปล่อยให้กลไกราคา ทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากร และแก้ปัญหาพื้นฐานในสังคมเศรษฐกิจ โดยที่รัฐบาลข้องเกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจแต่เพียงเล็กน้อย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐบาลมิได้ผลิตสินค้าและบริการต่างๆ แข่งขันกับเอกชน มิได้บังคับใช้มาตรการการควบคุมราคา และมิได้ให้เงินอุดหนุนแก่กิจกรรมทางเศรษฐกิจประเภทต่างๆ ซึ่งมีผลบิดเบือนฐานะการแข่งขันที่แท้จริง ในประการสำคัญ ต้องเปิดตลาดเพื่อให้การค้าระหว่างประเทศเป็นไปโดยเสรี

สถานะระบบเศรษฐกิจแบบตลาดมีความสำคัญในสังคมเศรษฐกิจโลก เพราะสังคมเศรษฐกิจโลกจัดระเบียบบนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยม ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบตลาดจะได้รับการปฏิบัติเสมอเหมือนกัน เพราะระเบียบของสังคมเศรษฐกิจโลกต้องการให้มี Level Playing Field กล่าวคือ ประเทศต่างๆ ในสังคมเศรษฐกิจโลกต้องแข่งขันในระนาบเดียวกัน เพื่อให้การค้าระหว่างประเทศเป็นไปด้วยความเป็นธรรม ก็ต้องยึดกฎกติกาการค้าระหว่างประเทศชุดเดียวกัน ซึ่งต้องเป็นกฎกติกาที่สอดรับกับปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยม ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบตลาดอยู่ในฐานะที่จะแข่งขันบนระนาบเดียวกันด้วยความเป็นธรรมได้ ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจที่มิใช่ระบบตลาด (Non-Market Economy) รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จนก่อให้เกิดการบิดเบือนต้นทุนการผลิตและบิดเบือนราคาตลาด สินค้าที่ส่งออกจากประเทศเหล่านี้อาจอยู่ในฐานะได้เปรียบเหนือสินค้าจากประเทศอื่น อันมิใช่ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบตามธรรมชาติ หากแต่เป็นเพราะได้รับการเกื้อหนุนจากรัฐบาลของตน

สาธารณรัฐประชาชนจีนกับสถานะ Non-Market Economy

สาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในปี 2544 ทั้งๆ ที่ยื่นสมัครตั้งแต่ปี 2529 ใช้เวลายาวนานถึง 15 ปีกว่าที่จะได้เป็นสมาชิกองค์การโลกบาลแห่งนี้

องค์การการค้าโลกมี WTO Working Party on Accession เป็นหน่วยงานพิจารณาการรับสมาชิก มติการรับสมาชิกในขั้นตอนนี้ต้องเป็นมติเอกฉันท์ WTO Working Party on Accession เป็นเวทีที่สมาชิก WTO ปัจจุบันใช้ในการกดดันให้สมาชิกใหม่เปิดตลาดรับสินค้าและบริการของตน กล่าวโดยภาษาชาวบ้าน เป็นขั้นตอนการไล่บี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนถูกบี้ในขั้นตอนนี้ยาวนาน เพราะสมาชิก WTO ทุกประเทศร่วมอยู่ใน WTO Working Party on Accession หากสมาชิกประเทศหนึ่งประเทศใดไม่ให้ความเห็นชอบในขั้นตอนนี้ ก็มิอาจเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก เพราะต้องได้รับคะแนนเสียงเอกฉันท์

ด้วยเหตุดังนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงต้องปรับนโยบายการค้าระหว่างประเทศ ปรับโครงสร้างการผลิต และปฏิรูประบบเศรษฐกิจเพียงเพื่อให้ได้ฉันทานุมัติในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก สาธารณรัฐประชาชนจีนต้องจ่าย "เงินดาวน์" (Down Payment) อย่างหนักแก่สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป รวมทั้งการยอมรับสถานะ Non-Market Economy (NME)

เมื่อผ่านจาก WTO Working Party on Accession แล้ว ต้องขอความเห็นชอบจาก WTO General Council หรือ WTO Ministerial Conference ในขั้นตอนสุดท้ายนี้ ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม

ด้วยเหตุที่สาธารณรัฐประชาชนจีนจำยอมรับสถานะ Non-Market Economy เป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกนี้เอง สาธารณรัฐประชาชนจีนต้องเผชิญกับปัญหาการส่งออกสินค้าและบริการ และปัญหาการกีดกันการค้า ทั้งจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปโดยเฉพาะ โดยที่สาธารณรัฐประชาชนจีนอาจต้องมีสถานะ NME ยาวนานถึง 15 ปี (สิ้นสุดปี พ.ศ. 2559)

กฎกติกา GATT/WTO กับสถานะ NME

ภายใต้กฎกติกา GATT/WTO ประเทศที่มีสถานะ Non-Market Economy จะอยู่ในฐานะเสียเปรียบประเทศที่มี Market-Economy Status ในยามที่มีคดีความว่าด้วยการทุ่มตลาด (Dumping) และการให้เงินอุดหนุน (Subsidy)

การทุ่มตลาดเป็นการขายสินค้าในราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิต หรือต่ำกว่ามูลค่าปกติ (Normal Value) ดังเช่นการขายสินค้าออกในราคาต่ำกว่าที่ขายภายในประเทศ หากการทุ่มตลาดก่อผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ประเทศผู้นำเข้า GATT/WTO กำหนดกฎกติกาและกระบวนการให้ประเทศผู้นำเข้าสามารถปกป้องตนเองด้วยการเก็บอากรการป้องกันการทุ่มตลาด (Anti-Dumping Duty : ADD) ได้

การให้เงินอุดหนุนมีผลในการทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการต่ำกว่าที่ควร สินค้าและบริการบางประเภทโดยพื้นฐานปกติมิอาจส่งออกได้ แต่เมื่อได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ อาจเกื้อกูลให้มีการส่งออกได้ การให้เงินอุดหนุนจึงมีผลในการบิดเบือนความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการค้าระหว่างประเทศ หากการให้เงินอุดหนุนก่อผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ประเทศผู้นำเข้า GATT/WTO กำหนดกฎกติกาและกระบวนการให้ประเทศผู้นำเข้าสามารถปกป้องตนเองด้วยการเก็บอากรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) ได้

ทั้งในกรณีการตอบโต้การทุ่มตลาด (ADD) และการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) ผู้ดำเนินการตอบโต้ต้องปฏิบัติตามกระบวนการที่กำหนดในกฎกติกา GATT/WTO รวมทั้งต้องมีกระบวนการไต่สวน และกระบวนการระงับข้อพิพาทในกรณีที่ข้อพิพาทนำสู่การพิจารณาขององค์การการค้าโลก

ในกรณีการทุ่มตลาด การไต่สวนมุ่งหาข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศที่ถูกกล่าวหาปฏิบัติการทุ่มตลาด ด้วยการขายสินค้าในราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิตหรือไม่ หรือขายสินค้าออกในราคาต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายภายในประเทศหรือไม่ GATT 1947 กำหนกกฎกติกาในเรื่องนี้ใน Ad Article VI.1 ว่า หากประเทศผู้ส่งออกมีการแทรกแซงจากมาตรการต่างๆ ของรัฐ ข้อมูลราคาและต้นทุนการผลิตในประเทศดังกล่าวไม่เหมาะที่จะนำมาเปรียบเทียบ เพราะการแทรกแซงของรัฐมีผลในการบิดเบือนต้นทุนและราคา กฎกติกาดังกล่าวนี้สืบทอดต่อมาใน GATT 1994 ดังปรากฏใน Agreement on Implementation of Article VI of GATT 1994 หรือที่รู้จักกันในชื่อ Anti-Dumping Agreement (มาตรา 6 ของ GATT 1947 และ GATT 1994 เป็นกฎกติกาว่าด้วยการป้องกันการทุ่มตลาด)

ด้วยการใช้ประโยชน์จาก Ad Article VI. 1 แห่ง GATT 1947 ประเทศที่มีสถานะ NME จะได้รับการปฏิบัติแตกต่างจากประเทศที่มีสถานะ MES ลำพังการไต่สวนว่า มีการทุ่มตลาดหรือไม่ และการทุ่มตลาดมากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องยากลำบากโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะมีปัญหาในการประเมิน Normal Value ของสินค้า เมื่อมีประเด็นว่าด้วยสถานะของระบบเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง ความยุ่งยากยิ่งทบทวี
ในกรณีที่ประเทศผู้ถูกกล่าวหามีสถานะ NME การไต่สวนต้นทุนการผลิตและราคาจะไม่กระทำในประเทศนั้น เพราะเชื่อว่า มาตรการการแทรกแซงของรัฐก่อผลบิดเบือนต้นทุนการผลิตและราคาที่ซื้อขายในตลาดแล้ว ในกรณีเช่นนี้ การไต่สวนต้นทุนการผลิตและราคาจะกระทำในประเทศที่สามที่เรียกว่า Surrogate Country ตรงกันข้ามกับกรณีที่ประเทศผู้ถูกกล่าวหามีสถานะ MES การไต่สวนจะกระทำในประเทศผู้ถูกกล่าวหานั้นเอง

สถานะ NME กับผลกระทบที่มีต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน

ในฐานะประเทศที่มีสถานะ NME เมื่อถูกกล่าวหาว่ามีการทุ่มตลาด การไต่สวนข้อเท็จจริงจะกระทำใน Surrogate Country ตัวอย่างเช่น ในปี 2536 เมื่อสหภาพยุโรปกล่าวหาว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนทุ่มตลาดขายเครื่องรับโทรทัศน์ สหภาพยุโรปเลือกสิงคโปร์เป็น Surrogate Country ผลการไต่สวนพบว่า บริษัทผู้ผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ในสาธารณรัฐประชาชนจีน 87 บริษัทมีความผิดฐานทุ่มตลาด และต้องเผชิญมาตรการการตอบโต้การทุ่มตลาดจากสหภาพยุโรป โดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากรัฐบาลจีนว่า อัตราค่าจ้างในสิงคโปร์สูงกว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนมากกว่า 20 เท่า

ในฐานะดาวรุ่งพุ่งแรงในตลาดสินค้าระหว่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีนถูกจับตามองจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว ทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปต่างใช้มาตรการการตอบโต้การทุ่มตลาดในการกีดกันการนำเข้าสินค้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปัจจุบัน สินค้าจีนรวม 84 รายการถูกสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเล่นงานในฐานทุ่มตลาด (ดูรายงานข่าวของ Tschang Chi-chu, "Market Economy Status : China in the Dumps", The Straits Times, July 3, 2004) สาธารณรัฐประชาชนจีนครองอันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ถูกกล่าวหาว่ามีการทุ่มตลาดติดต่อกันมาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว (ดูรายงานข่าว "China Deserves Market Economy Status", People's Daily Online, May 17, 2004)

ลำพังการถูกเล่นงานด้วยมาตรการการตอบโต้การทุ่มตลาดก็สร้างปัญหาแก่สาธารณรัฐประชาชนจีนมากพออยู่แล้ว เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยสถานะ NME ซึ่งต้องมีการไต่สวนต้นทุนการผลิตและมูลค่าปกติใน Surrogate Country ทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนตกอยู่ในมุมอับ เพราะการไต่สวนมักจะปรากฏผลว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนทุ่มตลาดจริง นอกจากต้องสูญเสียรายจ่ายค่าจ้างทนายความระหว่างการไต่สวนแล้ว ยังต้องถูกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (ADD) ซึ่งในบางกรณีที่มีอัตราสูงกว่า 100% อีกด้วย ในประการสำคัญ บริษัทผู้ส่งออกจำนวนไม่น้อยเป็น SMEs เมื่อถูกเล่นงานด้วยมาตรการการตอบโต้การทุ่มตลาดอย่างรุนแรง มิอาจทนประกอบการต่อไปได้

ด้วยเหตุดังนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงพยายามดิ้นรนสลัดออกจากแอกของสถานะ NME
กำลังโหลดความคิดเห็น