xs
xsm
sm
md
lg

หนุนชาวนาปลูก”ยูคาลิปตัส”แก้จน ชี้ตลาดรองรับเพียบทั้งในและตปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภาคอีสาน- หนุนปลูกไม้ยูคาลิปตัสแก้ปัญหาความจน มั่นใจตลาดรองรับเพียบ เผยเฉพาะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษในประเทศเกิดโรงงานใหม่ไม่น้อยกว่า 7 โรงงาน สนองความต้องการใช้กระดาษในประเทศและตลาดส่งออก แนะชาวนาปลูกยูคาฯบนคันนาสร้างรายได้เพิ่ม ขณะที่เกษตรกรยังไม่มั่นใจหวั่นเจอปัญหาซ้ำรอยเดิม ชาวนาแห่ปลูกจนผลผลิตล้น
บริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) จัดสัมมนาเรื่อง “ไม้โตเร็วเพื่ออุตสาหกรรมเยื่อกระดาษไทย” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกไม้ยูคาลิปตัสกับเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่นและใกล้เคียงโดยมีเกษตรกรที่สนใจปลูกไม้ยูคาลิปตัส และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสัมมนาประมาณ 150 คนที่โรงแรมโซฟิเทล ราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่น
เวทีสัมมนาดังกล่าวจัดบรรยายเรื่อง “ปัญหาการปลูกไม้โตเร็ว (ยูคาลิปตัส) ในประเทศไทย” มีนายพิรัตน์ นาครินทร์ นายกสมาคมรณรงค์ปลูกป่าภาคเอกชนแห่งประเทศไทย (สปอท.) และ ดร.เริงชัย เผ่าสัจจ นักวิชาการจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมบรรยาย
ดร.เริงชัย เปิดเผยว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษในประเทศมีความต้องการวัตถุดิบโดยเฉพาะไม้ยูคาลิปตัสมาแปรรูปเป็นเยื่อกระดาษในปริมาณที่สูงมาก คิดเป็นไม่น้อยกว่า 7 ล้านตัน/ปี แต่ศักยภาพการเพาะปลูกไม้ยูคาลิปตัสในประเทศขณะนี้ไม่พอกับความต้องการ
เดิมปริมาณการใช้กระดาษของประชากรในประเทศเฉลี่ยเพียง 2 กิโลกรัม/คน/ปี แต่ปัจจุบันปริมาณการใช้กระดาษของคนไทยขยายตัวสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 30 กิโลกรัม/คน/ปี ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษในประเทศผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ
แนวโน้มความต้องการไม้ยูคาลิปตัสมาแปรรูปในอุตสาหกรรมกระดาษ มีลู่ทางขยายตัวได้อีกมาก เฉพาะปริมาณความต้องการใช้ในประเทศไทยที่เติบโตแบบก้าวกระโดดทำให้โรงงานผลิตเยื่อกระดาษหลายบริษัทต้องการขยายโรงงาน รวมถึงสร้างโรงงานแห่งใหม่ไม่น้อยกว่า 7 บริษัท คาดว่าจะเริ่มลงทุนในเร็ววันนี้
ขณะเดียวกันความต้องการใช้กระดาษในตลาดโลก มีปริมาณที่สูงกว่าในประเทศมากโดยเฉพาะตลาดในญี่ปุ่นมีความต้องการใช้กระดาษเฉลี่ยสูงถึง 200 กิโลกรัม/คน/ปี แม้จะมีการผลิตได้ในประเทศ แต่การเพาะปลูกพืชวัตถุดิบที่มาใช้แปรรูปมีศักยภาพต่ำมาก เนื่องจากเป็นประเทศในเขตหนาวและพื้นที่เพาะปลูกค่อนข้างจำกัด ดังนั้น ญี่ปุ่นจำเป็นต้องนำเข้าเยื่อกระดาษจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ ในเชิงยุทธศาสตร์การผลิตเยื่อกระดาษในตลาดโลก สหรัฐอเมริกาและแคนาดา เป็นตลาดใหญ่ใช้กระดาษสูงและมีศักยภาพการผลิตที่สูงด้วย แม้จะเป็นประเทศในเขตหนาว พืชวัตถุดิบที่ใช้ผลิตกระดาษเติบโตช้า ต้องใช้เวลาถึง 20 ปีจึงแปรรูปได้ แต่สามารถชดเชยด้วยพื้นที่ปลูกขนาดใหญ่และเทคโนโลยีการผลิตชั้นสูง ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในการผลิตกระดาษส่งออกในตลาดโลกของไทย
ส่วนประเทศในเขตร้อน เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ มีภูมิอากาศเหมาะสมต่อการเพาะปลูกไม้ยูคาลิปตัสแปรรูปเป็นเยื่อกระดาษ ใช้เวลาเพียง 5 ปี ก็สามารถแปรรูปได้ แต่มีข้อจำกัดพื้นที่ปลูกน้อย โอกาสที่จะพัฒนาประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเยื่อกระดาษป้อนตลาดโลกแข่งกับสหรัฐฯมีสูง เพียงแต่ต้องนำเทคโนโลยีการผลิตชั้นสูงมาปรับใช้และเพิ่มปริมาณเพาะปลูกให้เพียงพอกับความต้องการทั้งตลาดในและต่างประเทศ
นอกจากความต้องการใช้ไม้ยูคาลิปตัสในอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษแล้วยังมีอุตสาหกรรมอื่นที่ต้องการใช้ไม้ยูคาลิปตัสไปใช้ผลิตอีกมาก อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอ ต้องการใช้เยื่อกระดาษมาใช้ผลิตเป็นผ้าและกำลังมีความต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆ

แนะปลูกยูคาฯบนคันนา

นายพิรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมใช้วัตถุดิบไม้ยูคาลิปตัสประมาณ 14 แห่งใช้ไม้ยูคาลิปตัสสดประมาณ 7 ล้านตัน/ปี คิดเป็นรายได้ในอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษมูลค่าถึง 150,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งความต้องการวัตถุดิบไม้ยูคาลิปตัสที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องน่าจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้ยูคาลิปตัส เพื่อสร้างรายได้แก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
แนวทางที่จะเพิ่มปริมาณผลผลิตไม้ยูคาลิปตัสให้เพียงพอกับความต้องการในตลาด ควรส่งเสริมให้ชาวนาปลูกไม้ยูคาลิปตัสบนคันนา เพื่อใช้พื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด ชาวนาจะมีรายได้หลักจากปลูกข้าวรายปี และรายได้เสริมจากการปลูกไม้ยูคาลิปตัสบนคันนา ที่ไม่ต้องดูแลรักษามากนักประมาณ 5 ปีก็สามารถตัดขายได้โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อข้าวในนาและสิ่งแวดล้อมอื่นน่าจะขยายผลให้เกษตรกรปลูกยูคาลิปตัสบนคันนาในวงกว้าง
ทั้งนี้ จะต้องปรับแต่งคันนาให้สูง 60 ซ.ม. กว้าง 150 ซ.ม. ระห่างระหว่างต้น 150 ซ.ม. นา 1 ไร่ปลูกยูคาลิปตัสได้ 400 ต้น ประมาณ 5 ปี จะมีน้ำหนักเฉลี่ย 250 ก.ก./ต้น พื้นที่ 1 ไร่จะได้น้ำหนักรวม 100,000 ก.ก.หรือ 100 ตัน ราคาขายเฉลี่ยตันละ 1,000 บาท ดังนั้น ระยะเวลา 5 ปี พื้นที่ 1 ไร่ เกษตรกรจะมีรายได้ถึง 1 แสนบาท ซึ่งโดยปกติชาวนาแต่ละครัวเรือนปลูกข้าวมากกว่า 1 ไร่
“ในเชิงยุทธศาสตร์ ประเทศไทยมีพื้นที่นา 68 ล้านไร่คิดเป็นพื้นที่คันนา 4.5 ล้านไร่จะสามารถปลูกยูคาลิปตัสได้ประมาณ 4,000 ล้านต้น หากตัดขายในระยะเวลา 4 ปีจะมีไม้โตเร็วได้ขนาดพอตัดขายถึง 1,000 ล้านตัน แต่ละต้นมีน้ำหนักเฉลี่ย 170 กิโลกรัม แต่ละปีจะมีไม้ป้อนโรงงานต่างๆ ถึง 170 ล้านคัน คิดเป็นรายได้ราคาประกันตันละ 1,000 บาท ดังนั้น แต่ละปีเกษตรกรจะมีรายได้พิเศษนอกเหนือการปลูกข้าวถึงปีละ 170,000 ล้านบาท เพียงพอที่จะสร้างความมั่นคงและยกระดับฐานะให้ดีขึ้น” นายพิรัตน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม มีเกษตรกรหลายรายที่เข้าร่วมสัมมนาได้สอบถามในเวทีเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมและศักยภาพรองรับ โดยเฉพาะในพื้นที่ขอนแก่นที่มีบริษัทฟินิคซฯ เป็นโรงงานหลักที่รับซื้อผลผลิต หากมีการส่งเสริมปลูกไม้ยูคาลิปตัสจำนวนมากพร้อมกันในหลายพื้นที่อาจทำให้ผลผลิตยูคาลิปตัสเกินความต้องและศักยภาพการผลิตของโรงงานจนทำให้ผลผลิตล้นตลาดเกิดปัญหาราคาตกต่ำได้
โดยเกษตรกรได้เสนอให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ควรจัดวางรูปแบบการส่งเสริมปลูกไม้ยูคาลิปตัสให้เป็นระบบมีผลผลิตป้อนตลาดที่เพียงพอและต่อเนื่อง ขณะเดียวกันโรงงานควรสร้างความเชื่อมั่นในด้านราคารับซื้อผลผลิต ประกันราคารับซื้อให้กับเกษตรกรที่เป็นสมาชิก ซึ่งเกษตรกรพร้อมที่จะเพิ่มปริมาณการเพาะปลูกให้เพียงพอกับความต้องการตลาดได้
กำลังโหลดความคิดเห็น