xs
xsm
sm
md
lg

จุดมุ่งสูงสุดของวัฒนธรรมจีน

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

เมื่อศึกษาดูวัฒนธรรมจีนอย่างกว้างๆ ครอบคลุมตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน ก็จะได้ "คำตอบ" ค่อนข้างชัดเจนว่า การถือเอาคนเป็นฐานหรือเป็นศูนย์กลาง คือเนื้อในที่เป็นแก่นแกนแบบหนึ่งเดียวของวัฒนธรรมจีน จะแตกต่างกันในแต่ละยุคสมัย ก็เพียงผิวนอกที่เป็นกระพี้ หรือเนื้อหา สาระ รูปแบบที่แสดงออกในด้านต่างๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามขั้นตอนของวิวัฒนาการทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมของจีน

ทั้งนี้ เปลือกนอกหรือกระพี้ที่หุ้มห่ออยู่ในแต่ละห้วงประวัติศาสตร์ จะมีบทบาทส่งเสริมหรือยับยั้งการแสดงออกถึงความเป็นคนอย่างมีนัยสำคัญ นั่นหมายถึงว่า สิ่งที่เรียกว่า "คน" นั้น จะสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด ยังขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับตัว "คน"

สภาวะของ "ฟ้ากับคนเป็นหนึ่งเดียวกัน" จึงสามารถตีความได้ตามยุคสมัย เช่นในสมัยโบราณ การผลิตเป็นแบบเกษตรกรรมดั้งเดิม คนอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ แต่ยังไม่รู้จริงในเรื่องธรรมชาติ รู้แต่เพียงเลาๆ คลุมๆ เครือๆ และพื้นๆ จากประสบการณ์ตรงทางอวัยวะรับรู้ของตนจึงรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของ มีความยำเกรงและขึ้นต่อธรรมชาติ ในทางสำนึกก็คือ เห็นธรรมชาติเป็นฟ้า และฟ้ามีความยิ่งใหญ่เหนือคน

เมื่อก้าวข้ามมาสู่สมัยปัจจุบัน การผลิตได้ก้าวสู่ยุคใหม่ เป็นยุควิทยาศาสตร์ชี้นำ มีการใช้เครื่องจักรและวิทยาการสารสนเทศเข้าประยุกต์กับการผลิต ทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และภาคบริการ เกิดการเชื่อมโยงกันเข้าเป็นหนึ่งเดียวทั้งโลก มนุษย์สามารถรับรู้ถึงความจริงในธรรมชาติด้วยช่องทางและวิธีการแบบวิทยาศาสตร์ ที่มีเครื่องมือประสิทธิภาพสูงเป็นองค์เสริมอย่างกว้างขวาง

มนุษย์ไม่เพียงเข้าถึงธรรมชาติในมิติมหภาค แต่ยังเข้าถึงธรรมชาติในมิติจุลภาคอีกด้วย เกิดความเข้าใจในที่มาของธรรมชาติและของมนุษย์โดยรวมอย่างเป็นระบบ มองเห็นความเชื่อมโยงของธรรมชาติกับตนเองได้อย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง ดังนั้น การตีความสภาวะของ "ฟ้ากับคนเป็นหนึ่งเดียวกัน" จึงเปลี่ยนแปลงไป สามารถอธิบายอย่างถูกต้องในความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ ว่ามนุษย์หรือคนไม่เพียงแต่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในท่ามกลางธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ประโยชน์จากธรรมชาติและดัดแปลงหรือ จัดระเบียบ ธรรมชาติให้เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ได้อีกด้วย

คติชี้นำในสังคมจีนยุคหลังการปลดปล่อย ค.ศ.1949 จึงมีว่า "จงดัดแปลงโลกไปพร้อมๆ กับการดัดแปลงตนเอง" เห็นว่ามนุษย์จะพัฒนาตนเองได้ในท่ามกลางการดัดแปลงสภาพสิ่งแวดล้อมทั้งทางสังคมและธรรมชาติรอบตัว

ธรรมชาติหรือ "ฟ้า" กับคนจึงคละเคล้าอยู่ด้วยกัน ดัดแปลงซึ่งกันและกัน สถานภาพของคนเมื่อเทียบกับฟ้าหรือธรรมชาติมีความเท่าเทียมกัน เชื่อมโยงเกื้อกูลกัน "คน" มีความสำคัญขึ้น เกิดความเคารพในตนเองมากขึ้น เชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น

และเมื่อเชื่อมโยงกับการอธิบายแบบมาร์กซิสม์ที่ว่า "คนก็คือผลรวมของความสัมพันธ์ทางสังคม" จึงได้นำไปสู่ความเข้าใจลึกซึ้งขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเรา จะต้องดำเนินควบคู่ไปกับการพัฒนาสภาพแวดล้อมใหญ่ทางสังคม รวมทั้งระบบนิเวศโดยรวม

การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่นระบบการผลิต และโครงสร้างสังคม จำเป็นต้องดำเนินไปพร้อมๆ กับการรักษาสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างระบบนิเวศให้เข้มแข็งสมบูรณ์

เมื่อนั้น คนเราจึงจะมีชีวิตที่ดีขึ้น มีความเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น มีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาตนเองอย่างทั่วด้านได้เป็นขั้นๆ

บนพื้นฐานความเข้าใจดังกล่าว การพัฒนาประเทศและการบริหารประเทศที่ถือเอาคนเป็นศูนย์กลาง ถึงที่สุดก็เพื่อการพัฒนาตนเอง และปลดปล่อยตนเองอย่างทั่วด้านของคนจีนและคนทั้งโลกนั่นเอง

ในทางทฤษฎีที่จีนกำลังเผยแพร่ การพัฒนาอย่างทั่วด้านของคน หมายถึงกระบวนการเผยตัวในศักยภาพของความเป็นคนในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมรอบด้าน การที่คนเราจะพัฒนาตนเองได้ดีขึ้น จำเป็นต้องผ่านกระบวนการปลดปล่อยตนเองออกจากกรอบจำกัดของสังคมแวดล้อม ซึ่งก็คือในระหว่างคนด้วยกันเอง (การกดขี่ขูดรีด) และจากธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (ความไม่รู้ในกฎเกณฑ์ธรรมชาติ)

ตัวแปรหลักของกระบวนการปลดปล่อยนี้ ก็คือพลังการผลิต โดยเมื่อพลังการผลิตหรือความสามารถในการผลิตทางเศรษฐกิจของมนุษย์สูงขึ้น ย่อมหมายถึงว่าระบบระบอบที่เป็นกรอบจำกัดจะต้องถูกรื้อทิ้งหรือปฏิรูปให้สอดคล้องและเสริมส่งการพัฒนาขยายตัวของพลังการผลิต ระดับความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติ (วิทยาศาสตร์และวิทยาการใหม่ๆ) มีมากพอที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาขยายตัวของพลังการผลิต เมื่อนั้น (ในท่ามกลางกระบวนการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงดังกล่าว) คนเราก็จะสามารถดัดแปลง ยกระดับ และพัฒนาตนเองได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

การเผยตัวของศักยภาพของความเป็นคนจึงเป็นผลของการพัฒนาขยายตัวของพลังการผลิตที่ดำเนินไปในท่ามกลางการปฏิรูปทางสังคมบนพื้นฐานของความรู้ความเข้าใจใหม่ๆ ในธรรมชาติแวดล้อม

ในทางปฏิบัติ นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ ค.ศ.1970 ประเทศจีนโดยการบริหารของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ปรับแนวคิดการพัฒนาประเทศใหม่ จากการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางความคิดการเมือง มาเป็นการปฏิรูปและเปิดกว้าง มุ่งพัฒนาพลังการผลิต โดยถือเอาการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหัวใจ เพื่อให้จีนหลุดพ้นจากความล้าหลัง ประชาชนหลุดพ้นจากความอดอยากยากจน ยังผลให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว ประชาชนจีนส่วนใหญ่มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมอยู่ดีกินดีได้เป็นเบื้องต้นในปลายศตวรรษที่ 20

เมื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ประเทศจีนได้กำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนว่า จะพัฒนาประเทศจีนให้เป็นสังคมอยู่ดีกินดีอย่างทั่วด้านภายในปี ค.ศ. 2020 โดยเน้นการพัฒนาประเทศอย่างทั่วด้าน ไม่เพียงให้เกิดความสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาทางสังคม การเมืองการปกครอง การศึกษา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ศิลปวัฒนธรรม เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของประชาชนจีนทั้งประเทศให้สูงขึ้นทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจ

จึงเห็นได้ว่า การพัฒนาอย่างทั่วด้านของคนแยกไม่ออกจากการพัฒนาอย่างทั่วด้านของประเทศ การพัฒนาอย่างทั่วด้านในระดับปัจเจกบุคคลแยกไม่ออกจากการพัฒนาอย่างทั่วด้านในระดับรวมหมู่

ตรงนี้ จะมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากลัทธิปัจเจกชนนิยมของโลกตะวันตก ที่ถือตนเองหรือ "ตัวกู" เป็นศูนย์กลาง เน้นตัวเองแบบสุดขั้ว พยายามพัฒนาตนเองแบบแยกตนเองออกจากสังคมรวมและธรรมชาติอย่างเด็ดขาด

โดยนัยแท้ๆ ของกระบวนการพัฒนาอย่างทั่วด้านของคน จึงหมายถึงการพัฒนาอย่างทั่วด้านของสังคม นั่นคือ เมื่อไม่มีการพัฒนาอย่างทั่วด้านของสังคม ก็จะไม่มีการพัฒนาอย่างทั่วด้านของคน

อีกนัยหนึ่ง การพัฒนาอย่างทั่วด้านในระดับปัจเจกบุคคล จะเป็นไปได้จริงก็ต้องดำเนินไปพร้อมๆ กับการพัฒนาอย่างรอบด้านของสังคมหรือหมู่ชน จะต้องดำเนินไปในท่ามกลางการคลี่คลายขยายตัวของความสัมพันธ์ ระบบ โครงสร้าง กฎกติกาต่างๆของสังคมรวม เกิดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้คนพัฒนาตนเองอย่างทั่วด้านอย่างแท้จริง

สรุปคือ ความเจริญก้าวหน้าของพลังการผลิต และความสัมพันธ์ต่างๆ ในสังคม คือเงื่อนไขเบื้องต้นของการพัฒนาอย่างทั่วด้านของคน ทั้งในระดับรวมหมู่และปัจเจกบุคคล ซึ่งก็คือการพัฒนาอย่างทั่วด้านของคนกับการพัฒนาอย่างทั่วด้านของสังคมจะต้องดำเนินไปพร้อมๆ กัน เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างเป็นพลวัตและเป็นแบบบูรณาการ

อย่างไรก็ดี หากมองในระดับปัจเจกบุคคล การพัฒนาตนเองอย่างรอบด้าน หัวใจก็คือการพัฒนาศักยภาพ ความรู้ความสามารถเฉพาะตัว ซึ่งในสภาพแวดล้อมหรือสังคมที่พัฒนาแล้วอย่างรอบด้าน ปัจเจกบุคคลจะมีอิสรภาพสูงยิ่งในการกระทำในเรื่องต่างๆ ที่ตนเองทำได้ โดยไม่ถูกจำกัดด้วยเวลาและสถานที่ สามารถแสดงออกถึงความรู้ความสามารถทางร่างกาย ทางจิตใจ และทางปัญญาได้อย่างไม่มีขีดจำกัด เกิดการคิดค้นและนวัตกรรมต่างๆ อย่างมากมาย ที่จะช่วยให้เขาหรือหล่อนคนนั้นรู้สึกถึงคุณค่าของตนเองอย่างลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้น

ในสภาวะดังกล่าว คนก็จะมีความเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง

บนพื้นฐานดังกล่าว การพัฒนาของสังคมรวมก็จะยิ่งสมบูรณ์ทั่วด้าน เนื่องจากสมาชิกสังคมมีคุณภาพสูง มีพลังสร้างสรรค์ มีเสรีภาพ และมีคุณธรรม

นี่คือเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาประเทศจีน และเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดเช่นเดียวกันของการขับเคลื่อนทางด้านวัฒนธรรมจีนยุคใหม่

ในขั้นตอนปัจจุบัน จีนเพิ่งจะก้าวเข้าสู่ระยะของการพัฒนาอย่างรอบด้านขั้นต้น ด้วยการปรับนโยบายการพัฒนาประเทศจากถือเอาเศรษฐกิจเป็นศูนย์กลาง มาเป็นการถือเอาคนเป็นศูนย์กลาง โดยภาพรวมก็คือได้ยกเรื่องการพัฒนาขึ้นมาสู่ความเป็นวิทยาศาสตร์ ด้วยการปรับทัศนะการพัฒนาให้สอดคล้องกับความเรียกร้องต้องการของสังคมจีนและประชาชนจีนอย่างแท้จริง ให้การพัฒนาประเทศดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับกฎเกณฑ์การพัฒนาของเศรษฐกิจสังคมจีนและสังคมโลกอย่างแท้จริง

นโยบายและยุทธศาสตร์หลักๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างรอบด้านได้ถูกกำหนดขึ้นและประกาศใช้แล้วตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 2003 โดยทั้งหมดจะต้องถือเอาคนเป็นศูนย์กลาง และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การพัฒนาอย่างผสมผสานกันระหว่างเศรษฐกิจกับสังคม เมืองกับชนบท ภูมิภาคที่เจริญแล้วและที่ยังไม่เจริญ คนกับธรรมชาติ ในประเทศกับต่างประเทศ เป็นต้น

สิ่งที่เรียกว่า "ถือเอาคนเป็นศูนย์กลาง" เวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีนคนปัจจุบันได้ให้คำจำกัดความว่า "ก็คือการถือเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นจุดเริ่มและจุดบั้นปลายของการทำงานทั้งปวง สนองตอบต่อความต้องการของประชาชนในด้านต่างๆ อย่างเพียงพอ เพื่อการพัฒนาอย่างทั่วด้านของคน"

อีกนัยหนึ่ง บนพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจ จะต้องดำเนินการทุกอย่างไปในด้านการสนองความต้องการของปวงประชามหาชน ทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจ

โดยสาระก็เช่น การเคารพในสิทธิมนุษยชน อันประกอบด้วยสิทธิทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางวัฒนธรรม รวมทั้งการยกระดับความคิดคุณธรรมจริยธรรม ระดับการศึกษา และสุขภาพอนามัยของประชาชน ตลอดจนการสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เอื้ออำนวยให้ประชาชนพัฒนาตนเองได้อย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน สามารถแสดงศักยภาพความฉลาดหลักแหลมของตนได้อย่างเต็มที่

"การขับเคลื่อนใดๆ จะต้องถือเอาคนเป็นศูนย์กลาง ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อประชาชน และจะต้องพึ่งพาอาศัยประชาชนในทุกๆ ด้าน"- เวิน เจียเป่า

(หมายเหตุ- นี่คือบทความชิ้นสุดท้ายของบทความ 8 ชิ้นเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมจีน ที่ได้ทยอยตีพิมพ์ติดต่อกันในคอลัมน์ "บนเส้นสตาร์ทเดียวกัน" และผู้เขียนได้นำเสนอต่อที่ประชุมเสวนาเรื่อง "วัฒนธรรมข้ามพรมแดน 1: จีน อเมริกัน อิสลาม" จัดโดยศูนย์ศึกษาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2547 ทั้งนี้ บทความทั้งหมดนี้ จะได้รับการจัดรวบรวมสมทบกับบทความเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับประเทศจีนโดยผู้เขียนคนเดียวกัน ตีพิมพ์เป็นเล่มต่อไป โดยสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์)
กำลังโหลดความคิดเห็น