xs
xsm
sm
md
lg

Taxi Driver จัดระเบียบสังคมแบบคาวบอย

เผยแพร่:   โดย: เสรี พงศ์พิศ


Taxi Driver (1976) เป็นหนังฟอร์มเล็กธรรมดา แต่เนื้อหาสาระและศิลปะการนำเสนอโดยผู้กำกับ Martin Scorsese นั้นยิ่งใหญ่ สะท้อนสภาพความเป็นจริงของชีวิตเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ค หรือเมืองไหนก็ได้ ยุคไหนก็ได้ ไม่ต่างกันเท่าไร แต่ดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจคุณค่าศิลปะที่ว่านี้สนใจหนังเพราะมีคนอ้างว่าได้ตัดสินใจลอบสังหารประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนเพราะดูหนังเรื่องนี้

คนจำนวนมากหรือส่วนใหญ่ในอเมริกาดูจะไม่รู้และไม่สนใจด้วยซ้ำไปว่า ชีวิตจริงในนิวยอร์คเป็นอย่างไร คงมีไม่กี่คนที่มองเห็นอะไรต่อมิอะไรด้วยสายตาของ Travis Bickle (Robert DeNiro) คนขับแท็กซี่ อดีตนาวิกโยธินในสงครามเวียดนาม ผู้ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากสงคราม และมีอาการทางจิตประสาทจนนอนไม่หลับ ต้องไปขับแท็กซี่เพื่อฆ่าเวลาและหาเงินใช้

เขาตระเวนไปทั่วเมืองส่งคนสารพัดอาชีพ ในทุกสภาพและรูปแบบ ไปส่งรถตอนเช้าเขาต้องทำความสะอาดเบาะหลังรถซึ่งเปื้อนน้ำกามบ้าง เลือดบ้างและอะไรต่อมิอะไรที่เขาบอกว่าเลวทรามต่ำช้าน่าขยะแขยง เขาบอกวุฒิสมาชิกที่กำลังจะสมัครเป็นประธานาธิบดีที่นั่งรถแท็กซี่เขาวันหนึ่งว่า ถ้าถามว่าอยากให้เขาเสนออะไรสักอย่างเขาขอเสนอว่า ควรจะ “ล้าง” เมืองนิวยอร์คที่สกปรกโสโครกนี้เสียที เอาพวกคนเลวๆ เหล่านี้ทิ้งลงโถส้วมให้หมด เมืองจะได้หายเน่าเหม็น

มีความจริงสองอย่างที่มาพบกันในหนังเรื่องนี้ ด้านหนึ่งคือสภาพปัญหาของเมืองนิวยอร์ค อีกด้านหนึ่งเป็นปัญหาของเทรวิสเองซึ่งอยู่อย่างโดดเดี่ยวล้มเหลวในการสื่อสารและสัมพันธ์กับผู้คน ดูให้ดีจะเห็นเขาล้มเหลวในการสื่อสารและสัมพันธ์กับทุกคน เริ่มตั้งแต่ผู้หญิงผิวดำที่ขายของกินในโรงหนังโป๊ สาวสวยที่เขาอุตส่าห์จีบจนดูท่าจะไปได้ดี แต่จบลงอย่างไม่น่าเชื่อเมื่อเขาพาเธอไปดูหนังโป๊

เขาดึงแท็กซี่รุ่นพี่ออกมานอกร้านอาหารเพื่อจะบอกอะไรที่เขารู้สึกลึกๆ แต่บอกไม่ถูก คุยกันตั้งนานเรื่องอะไรก็ไม่รู้ เขาคุยกับเด็กที่ขายบริการทางเพศซึ่งอายุเพียง 12 ขวบชื่อ Iris (Jody Foster) ก็สื่อกันผิดพลาดอีก และอีกหลายต่อหลายคนที่เขาพูดด้วยตลอดหนังเรื่องนี้

แล้ววิญญาณของทหารผ่านศึกเวียดนามคงเข้าสิงกระมังที่ทำให้เขาตัดสินใจไปช่วยชีวิตของผู้หญิงสองคนที่เขาเชื่อว่าถูกกดขี่ข่มเหง คนหนึ่งคือสาวคนสวยที่เขาจีบเกือบสำเร็จคนนั้น อีกคนหนึ่งคือไอริส โสเภณีเด็ก โดยที่ทั้งสองคนไม่เคยขอร้องเขาให้ช่วยเหลืออะไรเลย รู้สึกพอใจในสภาพที่ตนเองอยู่เสียอีก และหนังก็แสดงให้เห็นความพอใจของทั้งสองคน

เทรวิสซื้อปืนไว้หลายกระบอก เตรียมตัวเป็นพระเอกกอบกู้ผู้คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเหมือนที่ดอนคิโฆเต้ อัศวินแห่งลามันชาเคยทำเมื่อสามสี่ร้อยปีก่อน เขาซ้อมยิงปืน ซ้อมการต่อสู้ต่อหน้ากระจกเพื่อไปกอบกู้ศักดิ์ศรีและชีวิตของคนที่ถูกรังแก

นอกจากสองคนนี้ เรื่องราวเล็กๆ อื่นๆที่เกิดขึ้นหลายฉากก็สะท้อนหัวข้อดังกล่าว อย่างเมื่อเขาเข้าไปซื้อของในร้านสะดวกซื้อ มีคนเอาปืนไปจี้คนขาย เขายิงคนร้ายตายอย่างเลือดเย็น อึดอัดเล็กน้อยตรงที่ตนเองไม่มีใบอนุญาตพกปืนและปืนก็คงเถื่อนอีกต่างหาก แต่เจ้าของร้านบอกว่า ไม่มีปัญหาเขาจัดการเรื่องที่เกิดขึ้นได้

เทรวิสรู้สึกว่าเขาจะต้องปัดกวาดเมืองนิวยอร์คที่สกปรกโสมมนี้เสียทีแม้เขาจะต้องเสี่ยงหรืออาจจะต้องเอาชีวิตเข้าแลกก็ยอม นั่นคือที่มาของฉากสุดท้ายที่ดุเดือดเลือดท่วมจอ ยิงกันจนตายไปหลายคนในซ่องแห่งนั้น ความจริง ก่อนหน้านั้นเขาตั้งใจจะไปยิงวุฒิสมาชิกที่เขาถือว่าครอบงำหญิงสาวผมบลอนด์ที่เขาหลงรัก แต่ไม่สำเร็จเลยไปจัดการกับแมงดาและคนคุมซ่องที่ไอริสอยู่

ตอนจบเขาไม่ตายแต่กลายเป็นวีรบุรุษ ได้รับจดหมายขอบคุณจากพ่อแม่ของไอริสที่ช่วยลูกสาวให้รอดจากซ่อง สื่อมวลชนกระพือข่าวทำให้เขาเป็นพระเอกไปโดยไม่ได้ตั้งใจ กลับไปขับแท็กซี่และยังพาสาวผมบลอนด์ไปส่งโดยไม่เอาตังค์อีกต่างหาก

ประเด็นอยู่ที่ว่า ฉากสุดท้ายนี้ที่ว่าเขาไม่ตายและกลายเป็นวีรบุรุษ แล้วพาสาวที่เขาหลงรักไปส่งถึงบ้าน เป็นเช่นนั้นจริง หรือเป็นเพียงความคิด เป็นจินตนาการของเทรวิสก่อนตาย คงไม่มีใครบอกได้แน่ชัด เพราะภาษาหนังเป็นทั้งศิลปะและภาษาสัญลักษณ์ที่อาจบอกอะไรได้หลายอย่าง เป็นอะไรก็ได้แล้วแต่คนดูจะตีความและเข้าใจเอาเอง

แต่ที่แน่ๆ หนังพูดถึงชีวิตที่อยู่กันอย่างโดดเดี่ยวของผู้คนในเมืองใหญ่ อยู่กับคนอื่นตลอดเวลาอย่างคนขับแท็กซี่ แต่ก็เหมือนอยู่ตัวคนเดียว คนโดยสารขึ้นแล้วก็ลง ขึ้นแล้วก็ลง คืนแล้วคืนเล่า โดยที่เขาไม่ได้รู้จักใครหรือสัมพันธ์กับใครจริงๆ สักคน ร้อยพ่อพันแม่ ร้อยแปดพันเก้าประเภท

เป็นชีวิตที่เปล่าเปลี่ยวและแปลกแยกเป็นอย่างยิ่ง เสร็จจากงานเขาอยู่คนเดียวที่บ้าน ดูทีวี เขียนไดอารี อยู่แบบโดดเดี่ยวเดียวดายและพูดกับตัวเองเท่านั้น การเขียนไดอารีเป็นการบ่งบอกที่ชัดกว่าสิ่งใดว่าดูเหมือนเขาจะสามารถสื่อสารได้จริงๆ กับตัวเองเท่านั้น

ความโดดเดี่ยวทำให้เขาแปลกแยกจากความเป็นจริง ไม่อาจยอมรับปัญหาและความเลวร้ายต่างๆ ที่เห็นตำตาทุกวัน การเสนอให้ผู้สมัครแข่งขันเป็นประธานาธิบดีให้ล้างเมืองนี้ให้สะอาดเหมือนล้างห้องน้ำเป็นอะไรที่คงไม่มีใครทำได้ เขาถึงได้คิดว่า เขาทำได้และจะทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

ดูแล้วอาจจะตลก แต่ก็มีคนประเภทนี้อยู่ทุกหนทุกแห่งในโลก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ มีคนที่ประกาศว่า ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะแก้ปัญหารถติดโดยการเปิดไฟเขียวให้หมด ไม่ต้องมีไฟแดง และมีคนประกาศว่า ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ จะล้างเรื่องส่วยให้หมดสิ้นไปจากกรุงเทพฯ

ความจริง ไม่ว่าถนนสาย 42, ไทม์สแควร์ที่นิวยอร์ค ไม่ว่าเพชรบุรีตัดใหม่หรือรัชดาภิเษกที่กรุงเทพฯ ที่มีอะไรต่อมิอะไรอย่างที่เห็นในหนังหรือมากกว่านั้น มีการขายบริการทางเพศ ยาเสพติด แรงงานเด็ก มีการเอาเปรียบคนที่อ่อนแอกว่า คอรัปชั่น รีดไถ หลอกลวงต้มตุ๋นก็มี แต่ถามว่าจริงๆ แล้วมีคนที่ไปร้องเรียนให้ไปช่วยปลดปล่อยจากการข่มเหงสักกี่ราย ถ้าไม่เกิด “อุบัติเหตุ” บางอย่างเจ้าของอาบอบนวดคนดังคงไม่ออกมาเปิดโปงเรื่องส่วยอันลือลั่นนั้นเป็นแน่

เอาเข้าจริง สิ่งที่ต้องชำระล้างเป็นทั้งเรื่องการเมืองและเรื่องสังคม หนังเรื่องนี้สะท้อนทั้งสองอย่างว่ามีปัญหา เทรวิสต้องการจะ “จัดระเบียบ” ทั้งสองอย่าง แต่วิธีการของเขาเป็นเพียงสัญลักษณ์ว่า ถ้าไม่จัดการทั้งสองอย่าง ทั้งนโยบายหรือการเมืองระดับชาติ (ฆ่าคนที่จะเป็นประธานาธิบดี) และไม่จัดการกับการคอรัปชั่นรีดไถและกดขี่ข่มเหงในพื้นที่ (แมงดาและซ่อง) คงจะแก้อะไรไม่ได้

แต่ในทางปฏิบัติดูเหมือนว่าเขาจะแก้ไขทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติโดยใช้ความรุนแรง อยากฆ่าทั้งระดับบนซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของระบบโครงสร้าง และระดับล่างซึ่งเป็นเรื่องของการปฏิบัติ สะท้อนวิธีคิดของคนอเมริกันส่วนหนึ่งได้เป็นอย่างดี รวมทั้งผู้นำหลายประเทศทั่วโลกที่คิดว่าจะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ด้วยความรุนแรง ทั้งอุ้ม ทั้งฆ่าตัดตอน

แต่อีกด้านหนึ่ง อเมริกันชนหลายคนหันมาคิดถึงปัญหาความแปลกแยกที่กำลังเกิดขึ้น และไม่รอหรือสนใจว่ารัฐจะทำอะไร นักการเมืองจะทำอะไร นโยบายของแต่ละคนตอนหาเสียงนั้นสวยหรู แต่เอาเข้าจริงก็ยังวนเวียนอยู่ในน้ำเน่าของการเลือกตั้งที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย ชาวบ้านชาวเมืองส่วนหนึ่งจึงลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาต่างๆ ด้วยตนเอง เริ่มจากการจัดการกับความแปลกแยกที่เป็นเหมือนมะเร็งร้ายทำลายทั้งสังคม

นั่นคือที่มาของขบวนการ “ชุมชนเข้มแข็ง” แบบอเมริกัน ที่หาทางสร้าง “ชุมชนใหม่” และเครือข่ายชุมชนทั้งในระดับรัฐและระดับประเทศ มีมูลนิธิที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยให้เกิด “ชุมชนใหม่” คือการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ให้คนที่มีความสนใจร่วมกัน ปัญหาร่วมกัน หรืออยู่ในพื้นที่เดียวกันมาร่วมกันคิดหาทางออกจากความโดดเดี่ยวและความแปลกแยกดังกล่าว

สองสามทศวรรษที่ผ่านมานี้ได้เกิดมี “ชุมชน” ใหม่ขึ้นเป็นหมื่นเป็นแสนทั่วสหรัฐ มีมากมายหลายลักษณะ ที่เหมือนกันหมดคือความพยายามแบ่งปันความสุข แบ่งเบาความทุกข์ของกันและกัน ทำให้จิตแพทย์และทนายความมีรายได้ลดลง เพราะคนมีความกดดันและทะเลาะกันไม่ได้รีบไปหาจิตแพทย์หรือทนายความ แต่หันหน้าเข้าหากันช่วยกันแก้ปัญหา

สิบกว่าปีก่อนคนกรุงเทพฯ มีทุกข์แสนสาหัสเพราะรถติด จส. 100 เกิดขึ้นเป็น “ชุมชน” ใหม่แบบหนึ่งที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน อาจจะไม่เคยเห็นหน้ากันเลย แต่ได้ยินเสียงและสื่อสารกันทางวิทยุและโทรศัพท์

ชุมชนสมัยใหม่มีรูปแบบใหม่ ด้วยรูปแบบการรวมกลุ่มเป็นชมรม สมาคม เครือข่าย แม้กายจะอยู่ห่าง บ้านจะอยู่ไกล แต่ใจอยู่ใกล้กันและเชื่อมโยงถึงกันด้วยเครื่องมือสื่อสารยุคใหม่

วันนี้ผู้คนคงต้องร่วมกันสร้างชุมชนเข้มแข็ง ลุกขึ้นมาจัดระเบียบชีวิตของตนเอง ดีกว่ารอให้รัฐเป็นผู้จัดการและกำหนดแต่เพียงผู้เดียว เพราะอาจจะได้ผู้นำที่มีแนวคิดและวิธีการจัดการแบบคาวบอย ที่ต้องการ “ล้าง” สังคมให้สะอาดด้วยวิธีการรุนแรง ซึ่งนอกจากจะแก้ปัญหาระยะยาวไม่ได้แล้ว ยังก่อให้เกิดความรุนแรงที่ต้องรบสู้กันไม่รู้จบ
กำลังโหลดความคิดเห็น