xs
xsm
sm
md
lg

Euro 2004 ในระบบทุนวัฒนธรรม

เผยแพร่:   โดย: รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

การแข่งขันฟุตบอลชิงชนะเลิศแห่งชาติยุโรป (European Nations Cup) ปี 2547 หรือที่รู้จักกันในนาม Euro 2004 เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2547 และจบสิ้นในวันที่ 4 กรกฎาคม ศกเดียวกัน ผู้คนในมนุษยพิภพจำนวนมากเฝ้าติดตามมหกรรมทางวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ สหพันธ์สมาคมฟุตบอลยุโรป (Union of European Football Associations : UEFA) คาดการณ์ว่า จะมีพลโลกกว่า 7,000 ล้านคน ในประเทศต่างๆ 200 ประเทศ ชมการแข่งขันครั้งนี้

เมื่อ Euro 2004 เริ่มการแข่งขัน ระบบทุนวัฒนธรรม (Cultural Capitalism) มิเพียงแต่เติบใหญ่กล้าแข็งมากแล้ว หากยังเป็นระบบที่ลงตัวยิ่งอีกด้วย ฟุตบอลถีบตัวขึ้นมาเป็นกีฬาโลก (Global Sport) ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง กระบวนการสากลานุวัตร (Internationalization Process) ของกีฬาฟุตบอล มีพลวัตอันสูงยิ่ง จุดเปลี่ยนผันสำคัญเกิดจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศผสมผสานกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งเกื้อกูลให้การถ่ายทอดการแข่งขันทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเป็นไปได้ การแข่งขันกีฬา ณ สนามแห่งหนึ่งแห่งใด สามารถชมได้จากทุกมุมโลก หากมีการถ่ายทอดโทรทัศน์ระหว่างประเทศ

Euro 2004 นับเป็นการแข่งขันครั้งที่ 12 เมื่อมีการแข่งขันฟุตบอลชิงชนะเลิศแห่งชาติยุโรปครั้งแรกในปี 2503 นั้น ความนิยมกีฬาฟุตบอลมิได้มีมากเท่าปัจจุบัน อีกทั้งกระบวนการสากลานุวัตรของกีฬาฟุตบอลมิได้มีพลังมากเท่าปัจจุบัน ระบบทุนวัฒนธรรมยังมิได้กล้าแข็ง ส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากการจัดการแข่งขันยังมีไม่มาก และระบบการจัดสรรส่วนเกินทางเศรษฐกิจยังไม่ลงตัว

ในช่วงเวลากว่าสี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้ การเติบใหญ่ของพลังทุนวัฒนธรรมนับเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างส่วนเกินทางเศรษฐกิจ อันได้จากการจัดการแข่งขันฟุตบอลระหว่างประเทศ หากจัดอันดับความสำคัญของการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศตามส่วนเกินทางเศรษฐกิจที่ได้ การแข่งขันฟุตบอลชิงชนะเลิศแห่งชาติยุโรป จะเป็นรองก็เฉพาะแต่การแข่งขันโอลิมปิก และการแข่งขันฟุตบอลโลกเท่านั้น

รายได้จากการจัดการแข่งขัน Euro 2004 อาจจำแนกออกเป็น 4 แหล่ง อันได้แก่ รายได้จากการขายสิทธิการถ่ายทอดโทรทัศน์ รายได้จากสปอนเซอร์ รายได้จากการขายสินค้า และรายได้จากการเก็บบัตรผ่านประตู (ค่าชมการแข่งขัน)

แม้ว่าสหพันธ์สมาคมฟุตบอลยุโรป เป็นเจ้าของสิทธิในการจัดการแข่งขัน Euro 2004 แต่ UEFA มิอาจรวบหัวรวบหาง รายได้จากการจัดการแข่งขันทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวได้ ต้องแบ่งปันให้โปรตุเกสประเทศเจ้าภาพ และแบ่งปันแก่บรรดาทีมฟุตบอลที่ผ่านการแข่งขันจนเข้ารอบสุดท้ายทุกทีม ระบบการแบ่งปันรายได้ดังกล่าวนี้ค่อนข้างลงตัวแล้ว ข้อที่ยังไม่ลงตัวก็คือ การแบ่งปันรายได้แก่สโมสรฟุตบอล "เจ้าของ" นักฟุตบอลที่เข้าแข่งขัน

European Club Forum อันเป็นองค์กรของสโมสรฟุตบอลยุโรปจำนวน 102 สโมสร ก่อตั้งในเดือนมิถุนายน 2545 โดยมีคาร์ล-ไฮนส์ รุมเมนิเก (Karl-Heinz Rumminegae) อดีตนักฟุตบอลทีมชาติเยอรมนีเป็นประธาน องค์กรดังกล่าวนี้ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งกลุ่มผลประโยชน์ของสโมสรฟุตบอล และรณรงค์ให้ UEFA แบ่งปันรายได้แก่สโมสรฟุตบอลด้วย

เมื่อ UEFA แบ่งปันรายได้แก่สมาคมฟุตบอลชาติที่เข้าแข่งขันในรอบสุดท้าย สมาคมฟุตบอลเหล่านั้นจะจัดสรรรายได้สัดส่วนสำคัญแก่นักฟุตบอลทีมชาติที่เข้าแข่งขัน แต่มิได้แบ่งปันรายได้แก่สโมสรเจ้าของนักฟุตบอล European Club Forum อ้างว่า นักฟุตบอลเป็นสินทรัพย์ของสโมสร เมื่อมีการใช้งานนักฟุตบอล สโมสรฟุตบอลผู้เป็นเจ้าของสินทรัพย์สมควรได้รับส่วนแบ่งรายได้ด้วย จึงจะเป็นการจัดสรรรายได้ที่ชอบธรรม

European Club Forum อาจไม่สมหวังในการเรียกร้องการแบ่งปันรายได้จาก Euro 2004 แต่มีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุผลจาก Euro 2008

Euro 2004 ได้บรรษัทยักษ์ใหญ่เป็นหุ้นส่วน 8 บริษัท อันได้แก่ T-Mobile, Canon, JVC, Hyundai, MasterCard, Carlsberg, CocaCola และ McDonalds โดยที่ BenQ, NTT Communications และ Portugal Telecom เป็นหุ้นส่วนด้านเทคโนโลยี

Euro 2004 จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติงานด้านการตลาด (Marketing Operations Centre : MOC) ดูแลเรื่องการกระจายเสียงทางวิทยุ การถ่ายทอดโทรทัศน์ การหาสปอนเซอร์ การขายใบอนุญาต (Licensing Rights) และการหาหุ้นส่วนด้านการพาณิชย์ ในการนี้ Warner Brothers Consumer Products (WBCP) ได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดสรรใบอนุญาตในการจำหน่ายสินค้าที่มีสิทธิใช้ Logo ของ Euro 2004 รวมทั้งการจำหน่ายของที่ระลึก บริษัทที่ได้รับอนุญาตรายสำคัญประกอบด้วย Adidas (รองเท้าและเครื่องแต่งกาย) Electronic Arts (วิดีโอเกม) Universal Music (ผลิตภัณฑ์ดนตรี เพลง Forca) Swatch (นาฬิกา) และ Panini (สติกเกอร์)

กลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่ได้รับใบอนุญาตจาก Euro 2004 ประกอบด้วย El Corte Ingles, Carrefour, Intersport, Sonac, Woolsworth, Kaufhof และ Auchar

Euro 2004 จัดตั้งซูเปอร์สโตร์ประจำสนามแข่งขันทุกสนาม เพื่อจัดจำหน่ายของที่ระลึก และสินค้าที่ติดเครื่องหมายการค้า Euro 2004 Concept Sports International (CSI) ได้รับเลือกให้ดูแลธุรกิจการค้าปลีก ทั้ง On-Site Service และ Online Service

ในการถ่ายทอดการแข่งขันทางโทรทัศน์ European Broadcasting Union (EBU) ได้รับเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการ ผู้คนในยุโรปมีโอกาสชมการแข่งขันทางโทรทัศน์ โดยไม่เสียค่าชม เพราะ UEFA ยึดนโยบาย Free-to-Air Access เพียงแต่มีเครื่องรับโทรทัศน์ก็สามารถชมการแข่งขันได้ UEFA ต้องการคืนกำไรให้ประชาชนในยุโรป แต่ UEFA ขายสิทธิการถ่ายทอดโทรทัศน์นอกยุโรป โดยมอบให้ Octagon และ Dentsu เป็นผู้ดูแล

ในการบริหารจัดการ Euro 2004 UEFA ร่วมกับโปรตุเกสในการสถาปนาหน่วยธุรกิจนิติบุคคลเพื่อการนี้ อันประกอบด้วย Euro 2004 S.A. (ของ UEFA) และ Portugal 2004 S.A. (ของโปรตุเกส)

ด้วยเหตุที่การแข่งขันฟุตบอลชิงชนะเลิศแห่งชาติยุโรป เป็นมหกรรมวัฒนธรรมที่สร้างส่วนเกินทางเศรษฐกิจจำนวนมาก นานาประเทศจึงแย่งชิงกันเป็นเจ้าภาพ ประเทศเจ้าภาพนอกจากจะได้ส่วนแบ่งรายได้จากการแข่งขันแล้ว ยังมีส่วนแบ่งรายได้จากการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายด้านอื่นของแฟนฟุตบอลชาติต่างๆ อีกด้วย รายจ่ายเหล่านี้ก่อผลทวีคูณ (Multiplier Effects) ต่อรายได้ประชาชาติ และการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ผู้คนในยุโรปต่างพากันกล่าวขวัญถึง Barcelona Effect เพราะในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ณ นครบาร์เซโลนา ประเทศสเปนในปี 2535 สังคมเศรษฐกิจสเปนได้รับอานิสงส์ทางเศรษฐกิจจากการจัดการแข่งขันครั้งนั้น

โปรตุเกสเป็นประเทศด้อยพัฒนาที่สุดในยุโรปตะวันตก ทั้งๆ ที่กาลครั้งหนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 โปรตุเกสเป็นมหาอำนาจที่มีอาณานิคมจำนวนมาก แต่ความล้าหลังด้านเทคโนโลยีทำให้โปรตุเกสล้าหลังทางเศรษฐกิจ ในปัจจุบันโปรตุเกสมิได้มีสถานะดีกว่ากลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในอาเซียน (Asian NICs) มากนัก

ด้วยเหตุที่โปรตุเกสกำลังเผชิญภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งยืดเยื้อหลายปีแล้ว และปัจจุบันอัตราการว่างงานสูงถึง 6.5% รัฐบาลโปรตุเกสจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า Euro 2004 จะช่วยชุบชีวิตทางเศรษฐกิจของโปรตุเกส และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็น Portugal Effect ดุจเดียวกับที่สเปนได้ประโยชน์จาก Barcelona Effect

ภาคการก่อสร้างในโปรตุเกสได้รับประโยชน์โดยตรงจาก Euro 2004 เพราะมีการก่อสร้างสนามฟุตบอลใหม่ถึง 7 แห่ง (งบก่อสร้าง 650 ล้านยูโร) และมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนน รถไฟ และสนามบิน (งบประมาณ 4,000 ล้านยูโร) แต่ผลที่มีต่อรายได้ประชาชาติและการเติบโตทางเศรษฐกิจมีไม่มากนัก Morgan Stanley เสนอความเห็นว่า Euro 2004 มิได้แตกต่างจาก Euro 2000 (เนเธอร์แลนด์และเบลเยียมเป็นเจ้าภาพร่วม) เพราะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เพียงเล็กน้อย BPI Bank ให้ตัวเลขประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในปี 2547 เพียง 0.25% ภาคการท่องเที่ยวเป็นภาคเศรษฐกิจที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจาก Euro 2004 แต่คำถามมีอยู่ว่า จะทำให้ภาคการท่องเที่ยวได้ประโยชน์อย่างยั่งยืนได้อย่างไร

Euro 2004 มิได้ก่อผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อโปรตุเกสในฐานะประเทศเจ้าภาพเท่านั้น หากยังส่งผลต่อประเทศอื่น ทั้งในยุโรปและนอกยุโรป โดยที่คลื่นแห่งผลกระทบไปไกลถึงอาเซียบูรพาและละตินอเมริกา นอกประเทศโปรตุเกส ธุรกิจที่ได้ประโยชน์จาก Euro 2004 โดยตรง ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจการโฆษณา และธุรกิจการพนัน หากการใช้จ่ายด้านการพนันเพิ่มขึ้นอย่างทันตาเห็น อาจมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นด้วย ซึ่งเท่าที่ผ่านมาจะไม่ปรากฏผลกระทบที่ชัดเจนนัก

Euro 2004 ก่อผลกระทบต่อตลาดนักฟุตบอล และผู้จัดการทีมฟุตบอลโดยตรงและโดยชัดเจน นักฟุตบอลและผู้จัดการทีมฟุตบอลที่เปล่งรัศมีแห่งอัจฉริยภาพย่อมมีราคาค่าตัวเพิ่มขึ้น ผลที่ตามมาก็คือ การเคลื่อนย้ายแรงงานในตลาดฟุตบอล ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเมื่อสิ้นการแข่งขันฟุตบอลระหว่างประเทศ นักฟุตบอลและผู้จัดการทีมฟุตบอลจะเคลื่อนย้ายจากสโมสรที่ให้ผลตอบแทนต่ำไปสู่สโมสรที่ให้ผลตอบแทนสูง ตามพลวัตของระบบทุนวัฒนธรรม

Euro 2004 กำลังปิดฉากลง แต่ระบบทุนวัฒนธรรมจะยังเติบใหญ่ต่อไป ส่วนเกินทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้นอาจจูงใจให้มีการแย่งชิงกันมากขึ้น ระบบทุนวัฒนธรรมจะเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน และมีเสถียรภาพได้ก็ต่อเมื่อมีระบบการจัดสรรส่วนเกินทางเศรษฐกิจที่ลงตัวและเป็นธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น