xs
xsm
sm
md
lg

ถอยดีกว่า ไม่เอาดีกว่า นโยบายการตรึงราคาน้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

นโยบายการตรึงราคาน้ำมันของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย กำลังสร้างความเสียหายแก่สังคมเศรษฐกิจไทย จะเดินหน้าต่อ ก็เดินมิได้ เนื่องเพราะติดขัดด้วยภาระทางการคลัง ครั้นจะถอยหลัง ก็เกรงเสียหน้า สร้างภาวะพะอืดพะอมแก่รัฐบาลอย่างยิ่ง

นโยบายการตรึงราคาน้ำมันอุบัติให้รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในปี 2518 อันเป็นช่วงเวลาที่วิกฤตการณ์น้ำมัน 2516-2517 กำลังส่งผลกระทบที่รุนแรง แต่การตรึงราคาน้ำมันให้ต่ำกว่าราคาตลาดสร้างภาระทางการคลังแก่แผ่นดิน เพราะรัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชยแก่บริษัทน้ำมันเพื่อให้ขายน้ำมันในราคาไม่เกินเพดานที่รัฐบาลกำหนด เมื่อรัฐบาลมิอาจทนรับภาระการจ่ายเงินชดเชยแก่บริษัทน้ำมันต่อไปได้ ก็ต้องค่อยๆ ปล่อยให้ราคาน้ำมันลอยตัว

นับตั้งแต่รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นต้นมา ประชาชนคนไทยคุ้นเคยกับการจ่ายค่าน้ำมันตามราคาตลาดแล้ว และไม่มีรัฐบาลที่มีสติสัมปชัญญะใดๆ ที่เข้าแทรกแซงราคาน้ำมันในตลาด แต่แล้วรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หมุนเข็มนาฬิกากลับไปยึดนโยบายการตรึงราคาน้ำมันอีกครั้งหนึ่ง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2547 เป็นต้นมา

รัฐบาลอ้างว่า การตรึงราคาน้ำมันมีวัตถุประสงค์ในการบรรเทาผลกระทบที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจ และช่วยเหลือประชาชนในช่วงราคาแพง ในการที่รัฐบาลกำหนดให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายเงินอุดหนุนแก่บริษัทน้ำมันเท่ากับส่วนต่างระหว่างราคาตลาดกับราคาเป้าหมาย

การตรึงราคาน้ำมันเป็นส่วนหนึ่งของเมนูนโยบายประชานิยมของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างปราศจากข้อกังขา เพราะเสริมและสอดรับกับนโยบายชุดประชานิยมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค นโยบายพักหนี้เกษตรกร นโยบายบ้าน-คอมพิวเตอร์-แท็กซี่เอื้ออาทร เป็นต้น พรรคไทยรักไทยได้รับคะแนนนิยมทางการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างอักโขจากการดำเนินนโยบายตามเมนูชุดนี้

แต่การตรึงราคาน้ำมันให้ต่ำกว่าราคาตลาด มีผลในการบิดเบือนกลไกตลาด หากส่วนต่างระหว่างราคาตลาดกับราคาเป้าหมายยิ่งมีมากเพียงใด การบิดเบือนตลาดย่อมมีมากเพียงนั้น ประชาชนมีสิ่งจูงใจในการใช้น้ำมันมากกว่าที่ควรจะเป็น เพราะราคาน้ำมันมิได้สะท้อนถึงสภาพความหามาได้ยากของน้ำมัน ไม่มีสัญญาณจากตลาดในการเตือนประชาชนให้ประหยัดการใช้น้ำมัน ตรงกันข้าม การตรึงราคาน้ำมันกลับส่งสัญญาณให้ประชาชนตั้งอยู่ในความประมาท ด้วยการใช้น้ำมันมากกว่าที่ควร ทั้งๆ ที่ระบบเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพิงน้ำมันและทรัพยากรพลังงานอื่นจากต่างประเทศ การตรึงราคาน้ำมันทำให้ลักษณะการพึ่งพิงดังกล่าวทบทวี

คำถามพื้นฐานมีอยู่ว่า ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์จากนโยบายการตรึงราคาน้ำมัน คนจนได้ประโยชน์มากกว่าคนรวยดังที่ผู้นำรัฐบาลกล่าวเป็นนัยหรือไม่?

คำตอบชนิดกำปั้นทุบดินก็คือ ผู้ใช้น้ำมันเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากนโยบายการตรึงราคาน้ำมัน โดยที่ผู้ใช้น้ำมันประกอบด้วยชนทุกชั้นในสังคม แม้จะไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ชนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดได้ประโยชน์จากการตรึงราคาน้ำมันมากกว่าชนกลุ่มอื่นในสังคม ผลการศึกษาวิจัยในอดีตค้นพบว่า การตรึงราคาน้ำมันทำให้การกระจายรายได้ของครัวเรือนเลวร้ายลง

หากการตรึงราคาน้ำมันช่วยลดต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ แม้ชนทุกชั้นจะได้ประโยชน์จากการนี้ร่วมกัน แต่เป็นเพราะคนรวยมีการใช้จ่ายในการบริโภคและการผลิตมากกว่าชนกลุ่มอื่นในสังคม คนรวยจึงได้ประโยชน์จากการตรึงราคาน้ำมันอย่างเป็นกอบเป็นกำ ความข้อนี้เป็นจริงอย่างยิ่งในกรณีการใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในการขับขี่รถยนต์

คำถามพื้นฐานยังมีอีกว่า ใครเป็นผู้รับภาระนโยบายการตรึงราคาน้ำมัน?

รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยแก่บริษัทน้ำมันเพื่อตรึงราคาน้ำมัน โดยอาศัยทรัพยากรจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งนี้รัฐบาลคาดการณ์ว่าจะต้องใช้เงิน 6,000-8,000 ล้านบาทในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม 2546 หากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงย่อมมีภาระในการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันลดลงตามไปด้วย แต่เป็นเพราะอนิจลักษณะของตลาดน้ำมัน ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นด้วยเหตุนานัปการ

ในระหว่างวันที่ 10 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 5 เมษายน 2547 (รวม 87 วัน) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายเงินชดเชยรวมทั้งสิ้น 5,021 ล้านบาท ซึ่งกระทบต่อฐานะของกองทุนอย่างสำคัญ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ณ วันที่ 2 เมษายน 2547 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีฐานะการเงินสุทธิติดลบ 1,415 ล้านบาท กล่าวคือ กองทุนฯ มีหนี้ค้างชำระ 2,920 ล้านบาท ในขณะที่มีสินทรัพย์เพียง 1,505 ล้านบาท

สถานการณ์ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2547 ยิ่งเลวร้ายลง ราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้น จนเงินชดเชยน้ำมันพุ่งขึ้นสู่ระดับ 13,000 ล้านบาท และฐานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยิ่งเสื่อมทรุดลง แม้ว่า OPEC จะมีมติเพิ่มการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นวันละ 2 ล้านบาร์เรล แต่ผลที่มีต่อราคาน้ำมันยังปรากฏไม่ชัดเจน เนื่องจากเกิดความไม่สงบในซาอุดีอาระเบีย และการทำลายท่อน้ำมันในอิรัก

ฐานะการเงินอันเสื่อมทรุดของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันอังคารที่ 4 พฤษภาคม 2547 อนุมัติให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) กระทรวงพลังงาน กู้ยืมเงินในวงเงิน 8,000 ล้านบาท ด้วยวิธีีเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน เพื่อนำไปใช้ในการชดเชยราคาน้ำมัน โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน

เมื่อการณ์ล่วงมาถึงขั้นนี้ ย่อมเป็นที่แน่ชัดว่า ในขณะที่ผู้ใช้น้ำมันเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการตรึงราคาน้ำมัน ซึ่งมิได้มีการกระจายอย่างเท่าเทียมกัน ประชาชนผู้เสียภาษีอากรเป็นผู้รับภาระต้นทุนของการดำเนินนโยบายดังกล่าวนี้

เมื่อฐานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเสื่อมทรุดถึงขั้น "ล้มละลาย" รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงปรับราคาน้ำมันเบนซินสูงขึ้น 2 ครั้ง ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2547 ตามลำดับ หากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างชัดเจน การปรับราคาพยุงจะยังคงมีอีก (ดูตารางที่ 1) มิฉะนั้นภาระหนี้ของสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) ย่อมเพิ่มพูนประดุจดินพอกหางหมู

แม้รัฐบาลจะปรับราคาน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น แต่ยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วไว้ในระดับเดิม ซึ่งตรึงมาแต่เดือนมกราคม 2547 (ดูตารางที่ 1) การปรับเปลี่ยนนโยบายเช่นนี้มิได้เป็นผลดีต่อฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะเงินชดเชยน้ำมันดีเซลหมุนเร็วมีมากกว่า 50% ของเงินชดเชยน้ำมันทั้งหมด (ดูตารางที่ 2) หากราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วมิได้ปรับลดลงอย่างชัดเจน เงินชดเชยน้ำมันดีเซลหมุนเร็วย่อมพอกพูนเพิ่มขึ้น ในประการสำคัญ ไม่มีประจักษ์พยานข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่า คนจนได้ประโยชน์จากการตรึงราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วมากกว่าคนรวย

การตรึงราคาน้ำมันนอกจากสร้างภาระการคลังในการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันแล้ว ยังสร้างภาระรายจ่ายในการบริหารนโยบายนี้อีกด้วย ก่อนที่จะจ่ายเงินชดเชยน้ำมัน หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องตรวจหลักฐานการจำหน่ายน้ำมันของบริษัทน้ำมันต่างๆ นอกจากนี้ หากมีการลักลอบนำน้ำมันราคาถูกจากเมืองไทยไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน รายจ่ายเงินชดเชยน้ำมันย่อมสูงกว่าที่ควรจะเป็น

รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หันมาเน้นการใช้มาตรการประหยัดน้ำมันและพลังงาน ทั้งนี้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 8 มิถุนายน 2547 มีการเรียกร้องให้ประชาชนประหยัดการใช้ทรัพยากรพลังงาน และให้ปิดสถานีจำหน่ายน้ำมันหลังเที่ยงคืน รวมทั้งการกำหนดให้หน่วยราชการประหยัดพลังงาน และการปิดไฟบนท้องถนน ในการดำเนินมาตรการเหล่านี้ ล้วนต้องมีภาระรายจ่าย อย่างน้อยที่สุดในด้านการประชาสัมพันธ์แท้ที่จริงแล้ว มาตรการประหยัดน้ำมันและพลังงานที่ดีเลิศ ก็คือ การปล่อยให้ราคาน้ำมันลอยตัว เพราะราคาจะส่งสัญญาณให้ผู้บริโภคประหยัดด้วยตัวเอง โดยรัฐบาลไม่ต้องมีภาระรายจ่ายในการประชาสัมพันธ์

รัฐบาลพรรคไทยรักไทยคงไม่ถอยจากนโยบายการตรึงราคาน้ำมัน เพราะเกรงการเสียหน้า แม้ว่านโยบายนี้มิใช่นโยบายดีเลิศอันดับต้น (First-Best Policy) อีกทั้งบิดเบือนตลาด และไม่เป็นที่แน่ชัดว่าให้ประโยชน์แก่คนจนมากกว่าคนรวย นโยบายพรรค (Pricing Policy) ไม่ว่าสินค้าหรือบริการใด มิอาจแก้ปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมในการกระจายรายได้ เนื่องเพราะมิอาจแยกผู้บริโภคที่เป็นคนจนออกจากกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป คนรวยและคนจนต่างได้ประโยชน์จากนโยบายการตรึงราคาน้ำมันเหมือนกัน เพียงแต่มากน้อยแตกต่างกันเท่านั้น

นำเงินไปแจกคนจนยังดีกว่าการใช้เงินในการตรึงราคาน้ำมัน

ถอยดีกว่า ไม่เอาดีกว่า

นโยบายการตรึงราคาน้ำมัน
กำลังโหลดความคิดเห็น