xs
xsm
sm
md
lg

การต่อยอดวัฒนธรรมแกนจีน

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

เมื่อแกะแซะเอาเปลือกนอกที่ห่อหุ้มออก เราก็จะพบว่าวัฒนธรรมจีนมีแกนอยู่ที่การถือเอาคนเป็นฐาน มีกระบวนวิธีการปฏิบัติและจารีตประเพณีระหว่างคนกับคน สั่งสมกันมาหลายร้อยหลายพันปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ยุคขงจื๊อ ได้มีการจัดระบบกระบวนวิธีปฏิบัติที่เป็นแบบแผนแน่นหนา รองรับการขับเคลื่อนตัวของสังคมเกษตรจีนได้อย่างยาวนานกว่าสองพันปี

เมื่อก้าวเข้าสู่สังคมยุคใหม่ เป็นสังคมอุตสาหกรรมทันสมัยที่มีเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นตัวนำ สังคมจีนได้มีการต่อยอดวัฒนธรรมแกนของตน ที่ยังถือเอาคนเป็นฐาน โดยมีระบบวิธีปฏิบัติต่อกันแบบใหม่ ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงในหลักการ "ซานกัง อู่ฉาง"

ในสังคมใหม่จีน ทุกคนมีความเสมอภาค เท่าเทียมกัน มีความเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองบนพื้นฐานของความรู้และปัญญา ในบริบทของสังคมใหม่ที่เอื้อต่อการพัฒนาความก้าวหน้าแห่งชีวิตของปัจเจกบุคคล ทั้งนี้ การจัดการความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสังคมรวมเช่นประเทศชาติ กลายเป็นภารกิจเบื้องต้นของสมาชิกในสังคม

"คน" ในความหมายใหม่ จึงเป็นการแสดงออกถึงความสัมพันธ์รอบด้านระหว่างปัจเจกบุคคลกับสังคมรวม ซึ่งปัจจุบันก็คือประเทศชาติ

การรักชาติ รักตัวเองจึงอยู่ในกรอบความสัมพันธ์พื้นฐานของสังคมใหม่ ที่ทุกคนจะต้องจัดการให้ถูกต้อง

การแสดงออกของศิลปวัฒนธรรม การใช้ประโยชน์ของวิทยาการใหม่ๆ การนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดถึงวิถีดำเนินชีวิตทั่วไปในสังคมจีน ล้วนแต่ต้องดำเนินไปให้ถูกต้องที่สุดในกรอบความสัมพันธ์ดังกล่าว จึงจะเกิดเป็นพลังขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางวัตถุและจิตใจทั่วทั้งสังคมรวม มิเช่นนั้นแล้ว ก็จะกลายเป็นอุปสรรคและปัญหา บั่นทอนและขัดขวางกระบวนการพัฒนาโดยรวมของสังคมจีน

ทั้งนี้ ผู้ทำหน้าที่นำการต่อยอดวัฒนธรรมจีนยุคใหม่ ในปัจจุบันก็คือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ก้าวขึ้นสู่เวทีประวัติศาสตร์ในต้นศตวรรษที่ 20 แบกรับภารกิจเป็นแกนนำการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประเทศจีนและประชาชนจีนออกจากการครอบงำของอำนาจต่างชาติและอำนาจจารีตนิยม เพื่อขับเคลื่อนสังคมจีนเข้าสู่ยุคใหม่ ที่มีความทันสมัยด้วยวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรม และระบอบการปกครองที่ให้หลักประกันในเสรีภาพ และสิทธิประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ดี บนรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านจากสังคมเก่าสู่สังคมใหม่ของประเทศจีน ได้มีการละเลยหรือกระทั่งปฏิเสธ "ทั้งดุ้น" ในวัฒนธรรมเก่าของจีน เนื่องจากกระแสการวิพากษ์ลัทธิขงจื๊อในช่วงการเคลื่อนไหว "4 พฤษภาคม" ค.ศ.1919 ที่ถือเป็นฤกษ์ชัยของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมครั้งสำคัญของจีนสมัยนั้น ได้พลอยละทิ้งแก่นแกนของวัฒนธรรมที่ถือเอาคนเป็นฐานไปด้วย

วัฒนธรรมใหม่ที่มุ่งสู่ความเป็นวิทยาศาสตร์และประชาธิปไตยแบบตะวันตก คือ "ทางเลือก"ของคนจีนหัวใหม่ในยุคนั้น แต่ก็ยากที่ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น เพราะผู้ที่ประชาชนจีนต้องต่อสู้ด้วยก็คือกลุ่มมหาอำนาจตะวันตก ผู้เป็น "ต้นแบบ" ของความเป็นวิทยาศาสตร์และประชาธิปไตย

ในที่สุด คนจีนก็เลือก "ทางใหม่" สำหรับก้าวเดินไปสู่อนาคต นั่นคือการปฏิวัติที่นำโดยพรรคการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพ ที่นำโดยปัญญาชนหัวก้าวหน้าทั้งในและต่างประเทศ โดยมีตัวแทนขบวนการคอมมิวนิสต์สากลคอยกำกับดูแลและชี้นำ

การถือกำเนิดของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน จึงปรากฏเป็นจริงในปี ค.ศ.1921 ทำให้โฉมหน้าทางการเมืองของจีนพลิกไปสู่หน้าใหม่อย่างชัดเจน และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของประเทศจีน ที่จะส่งผลต่อเนื่องยาวนานนับร้อยปี ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

ในทางวัฒนธรรม พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนได้เชิดชูจิตใจรักชาติรักความเป็นธรรม ยินดีเสียสละและพร้อมอุทิศตัวเพื่อภารกิจอันยิ่งใหญ่ทางประชาชาติและทางชนชั้นเหนือสิ่งอื่นใด

พฤติกรรมการแสดงออกของสมาชิกพรรคและประชาชนในเขตอำนาจการปกครอง ล้วนแต่ต้องสอดคล้องกับจิตใจดังกล่าว มีการยกย่องเชิดชูวีรกรรมของบุคคลที่ยินยอมเสียสละตนเองเพื่อภารกิจส่วนรวมอย่างกว้างขวาง เป็นแบบอย่างให้คนทั่วไปถือปฏิบัติตาม

ในช่วงของการเคลื่อนไหวปฏิวัติปลดปล่อยประเทศจีน (ก่อน ค.ศ.1949) บรรยากาศโดยรวมของสังคมจีนยังไม่อำนวยให้คนจีนคิดถึงตนเอง สถานภาพของปัจเจกบุคคลไม่ชัดเจน บุคคลต้องขึ้นต่อส่วนรวมอย่างไม่มีเงื่อนไข การเสียสละตนเองเพื่อภารกิจส่วนรวมเป็นสิ่งมีเกียรติ

ในห้วงเวลาเช่นนั้น ภารกิจร่วมกันของทุกคนคือการปลดปล่อยประเทศชาติ

ซึ่งตามอุดมการณ์มาร์กซิสม์แล้ว ก็คือก้าวแรกของการปลดปล่อยตนเองและปลดปล่อยมวลมนุษยชาติ

เมื่อสามารถนำประชาชนจีนปลดปล่อยประเทศจีนได้แล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เดินหน้าสร้างสรรค์สังคมจีนให้เป็นแบบสังคมนิยม และเตรียมพร้อมที่จะก้าวไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ในทันทีทันใด

ด้วยความคิดชี้นำดังกล่าว ยิ่งต้องเชิดชูจิตใจวีรชนส่วนรวม ปัจเจกบุคคลยังต้องขึ้นต่อส่วนรวมอย่างไม่มีเงื่อนไข ยากที่จะมีความเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง ขาดพื้นที่สำหรับการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวมอย่างสิ้นเชิง

จนถึงปลายทศวรรษ ค.ศ.1970 พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงได้ปรับแนวคิดการสร้างสรรค์สังคมนิยมใหม่ เน้นการปฏิรูปและเปิดกว้าง มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนจีนทั้งประเทศ ได้นำเอาระบบเศรษฐกิจตลาดมาปรับใช้ในระบอบสังคมนิยม ด้วยค่านิยมแบบใหม่ที่ว่า "ขอให้เป็นแมวที่จับหนูได้ ไม่ว่าจะเป็นสีอะไร ก็เป็นแมวที่ดี"

นับตั้งแต่นั้น ปัจเจกบุคคลในสังคมจีนจึงมีความสำคัญ สามารถทุ่มเทตนเองไปในการสร้างฐานะทางเศรษฐกิจได้พร้อมๆ กับการแสดงออกถึงความรักชาติรักประชาธิปไตย สามารถพัฒนาศักยภาพตนเองบนฐานของการศึกษา มีความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ทางสังคม และทางมนุษย์อย่างรอบด้าน

สังคมจีนได้ก้าวเข้าสู่สังคมหลายเสียง โดยมีเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์เป็นเสียงนำ ประสานเสียงกันในท่ามกลางกระบวนการเคลื่อนไหวปฏิบัติ ขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางเศรษฐกิจอย่างขนานใหญ่ เพื่อสร้างสรรค์ประเทศจีนให้เจริญก้าวหน้า ประชาชนจีนอยู่ดีกินดี มีสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ในอนาคตอันยาวไกลต่อไป

ความสำเร็จของการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ ค.ศ.1980-2000 ได้พลิกโฉมประเทศจีนครั้งใหญ่อีกครั้ง ประเทศจีนได้ผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่ที่ทั้งโลกให้การยอมรับ พร้อมแสดงบทบาทบนเวทีโลกอย่างมีนัยสำคัญ

ในห้วงรอยต่อของการขับเคลื่อนของสังคมจีน ในบริบทกระแสโลกาภิวัตน์ของสังคมโลก พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ปรับจุดเน้นของการพัฒนาประเทศครั้งใหญ่ นั่นคือ "ถือเอาคนเป็นศูนย์กลาง เพื่อการพัฒนาอย่างรอบด้านของคน"

ในทางวัฒนธรรม ก็คือการต่อยอดครั้งสำคัญของวัฒนธรรมแกนจีนโบราณที่ถือเอาคนเป็นฐาน การขับเคลื่อนทางวัฒนธรรมของจีน ที่สืบสานกันมาอย่างยาวนานหลายพันปี ส่งผลให้ชีวิตสังคมจีน มีความคึกคัก มีชีวิตชีวา และแสดงออกถึงความเป็นจีนอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

ในทางเปรียบเทียบ สังคมจีนวันนี้ มีการไหลทะลักเข้าของวัฒนธรรมตะวันตก และการฟื้นตัวของวัฒนธรรมโบราณที่เป็นแก่นและกระพี้มากมาย แต่ด้วยการขับเคลื่อนของวัฒนธรรมแกน(ถือเอาคนเป็นศูนย์กลาง เพื่อการพัฒนาอย่างรอบด้านของคน)ที่มีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้นำ ได้เกิดกระบวนการดูดซับและสังเคราะห์เอาแก่นสารของวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมจีนโบราณอย่างกว้างขวาง โดยผ่านกระบวนการศึกษายกระดับความคิดความเข้าใจของประชาชนจีนในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านการศึกษาของลูกหลานจีน

จึงเกิดปรากฏการณ์การไหลเลื่อนของประชากรจีนอย่างขนานใหญ่ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยทั้งหมดขับเคลื่อนไปในทางเดียวกัน คือมุ่งแสวงหาโอกาสและความรู้สมัยใหม่ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง

ทั้งนี้ โดยมีรัฐบาลจีนคอยเสริมสร้างเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการไหลเลื่อนของประชากรจีน (เปิดกว้าง) เป็นขั้นๆ เช่นเส้นทางคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำและอากาศ ระบบการสื่อสารสมัยใหม่เช่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ปัจจุบันมีผู้ใช้เกือบ 300 ล้านคนแล้ว) เป็นต้น ซึ่งเป็นด้าน "ฮาร์ดแวร์" ประสานกับการปรับปฏิรูปกฎระเบียบให้เป็นมาตรฐานสากล (ซอฟต์แวร์) นำไปสู่การแลกเปลี่ยนทางด้านการศึกษา วิทยาการสมัยใหม่ และศิลปวัฒนธรรมดีงามทั้งในระดับรัฐบาลและประชาชน อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น

จึงปรากฏมีคนจีนหลั่งไหลไปศึกษาต่อและทำการลงทุน ติดต่อค้าขาย และแลกเปลี่ยนทางศิลปวัฒนธรรมในต่างประเทศจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็มีชาวต่างประเทศเดินทางไปท่องเที่ยวและศึกษาต่อในประเทศจีนมากขึ้นเรื่อยๆ

นี่คือแนวโน้มใหญ่ที่กำลังก่อตัวขึ้น ของการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจสังคมของจีน ภายใต้การชี้นำทางความคิดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่มุ่งบริหารประเทศโดยถือเอาคนเป็นศูนย์กลาง เพื่อการพัฒนาตนเองอย่างรอบด้านของคน อันเป็นการต่อยอดวัฒนธรรมแกนโบราณของจีน ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อประชาชนจีน โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นชาวลัทธิมาร์กซ์แต่ประการใด

(จากจุดนี้ เราก็จะค้นพบความเป็น "สากล" ของวัฒนธรรมแกนจีนยุคใหม่ ที่นานาชาติสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เฉกเช่นที่คนจีนกำลังนำเอาวัฒนธรรมแกนของตะวันตกและวัฒนธรรมแกนโบราณของจีนมาประยุกต์และต่อยอดให้กับวัฒนธรรมแกนร่วมสมัยของตนเอง)

ในทางปรัชญา การถือเอาคนเป็นฐานหรือการถือเอาคนเป็นศูนย์กลาง หมายถึงว่า ผู้ที่สร้างประวัติศาสตร์ก็คือคนนั่นเอง การขับเคลื่อนของประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติ เป็นผลจากการเคลื่อนไหวปฏิบัติทางสังคมของคน ดังนั้น การพัฒนาคุณภาพของความเป็นคน จึงเป็นพื้นฐานของการพัฒนาทางสังคมและการขับเคลื่อนทางประวัติศาสตร์

การถือเอาพระเจ้าหรือสิ่งใดก็ตามแทนคน(เช่นเงิน หรืออำนาจยิ่งใหญ่อื่นใดเหนือคน) ล้วนแต่ขัดกับหลักปรัชญานี้ทั้งสิ้น

สรุปคือ การถือเอาคนเป็นฐานหรือเป็นศูนย์กลาง ก็คือความตระหนักรู้ในคุณค่าของความเป็นคนอย่างแท้จริง การใดก็ตามถ้าต้องการให้เกิดความสำเร็จ จะต้องอาศัยการริเริ่มสร้างสรรค์ ร่วมแรงร่วมใจของคน

จากนี้ จึงนำไปสู่แนวคิดและปรัชญาการบริหารจัดการและการปกครองประเทศ ที่ยึดมั่นในแนวทางมวลชน เริ่มต้นจากผลประโยชน์ของประชาชนและเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

ในทางการบริหาร พรรคและรัฐบาลจีนชุดปัจจุบัน จึงได้เน้นการพัฒนาอย่างรอบด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ในการปฏิบัติรูปธรรมก็เช่น ให้ความสำคัญในปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน ก็มีความสำคัญ ตามคำขวัญที่ว่า "ปัญหาของประชาชน ไม่มีเรื่องเล็ก" เช่นการแก้ไขปัญหาเกษตรกร มุ่งเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และเร่งกระจายความเจริญไปสู่ชนบท ลดช่องว่างทางรายได้ของประชาชนในเมืองและชนบท เป็นต้น

ในทางมหภาคก็เร่งดำเนินนโยบายพัฒนาทรัพยากรบุคคล ให้ประเทศจีนอุดมด้วยคนดีคนเก่ง สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างรอบด้าน เพื่อบรรลุเป้าหมายให้จีนกลายเป็นประเทศที่อุดมด้วยทรัพยากรบุคคลจำนวนนับร้อยนับพันล้านคนในช่วงเวลาไม่นานนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น