xs
xsm
sm
md
lg

The Gods Must be Crazy การพัฒนาท่าจะบ๊องส์

เผยแพร่:   โดย: เสรี พงศ์พิศ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ยังมีชนเผ่าเล็กๆ เผ่าหนึ่งชื่อซาน อาศัยอยู่แถวทะเลทรายคาลาฮารีอย่างสงบสุขตามอัตภาพจนถึงวันที่ขวดโค้กได้หล่นลงมาจากฟ้า แล้วความรักสามัคคี ความเป็นพี่เป็นน้องก็เริ่มมีปัญหา อยู่กันมาชั่วนาตาปีไม่เคยทะเลาะกัน มาแตกกันเพราะแย่งชิงขวดบ้าที่ว่านั่น

ตอนแรกก็เชื่อว่าเทวดาท่านปรารถนาดี โยนลงมาจากสวรรค์เพื่อบรรเทาความทุกข์ร้อน เป็นเทคโนโลยีทุ่นแรง ใช้บดก็ได้ ตำก็ดี ตีก็ไม่แตกง่ายๆ กลายเป็นเครื่องมือที่ใครๆ ชอบใช้จนหลงใหล ถึงขั้นใช้กำลังลงไม้ลงมือเพื่อแย่งชิงไอ้ขวดนี้จากคนอื่นที่กำลังใช้งานมันอยู่

สถานการณ์เข้าขั้นวิกฤตเมื่อใครคนหนึ่งในเผ่าเอาขวดโค้กเคาะหัวอีกคนหนึ่งดังโป้ก จนหัวแตกเลือดไหลนั่นแหละพี่น้องชาวซานถึงได้ปรับความเข้าใจใหม่ว่า ไอ้ขวดบ้านั่นมันไม่ได้มาจากสวรรค์ แต่มาจากนรกต่างหาก มันทำลายความรักใคร่สามัคคีของพี่น้องชาวบ้านชาวป่าจนร้อนกว่าทะเลทรายเสียอีก

บรรดาผู้เฒ่าผู้แก่หารือกันว่าจะทำอย่างไร ลงมติว่าไอ้ขวดโค้กนี้เป็นผีร้าย มันทำลายความสงบสุขของพี่น้องเรา จะต้องหาวิธีอะไรสักอย่างเพื่อให้มันหายไปจากโลกนี้ มีคนเอาไปขุดดินฝัง แต่มันก็ยังกลับมาหลอกหลอนได้อีก แล้วพระเอกของเราที่ชื่อ “ซี” หรือ “ซีโซ” หรือ “สีซอ” ก็เสนอตัวนำขวดโค้กผีสิงนี้ไปทิ้งนรกที่สุดแผ่นดินปลายขอบฟ้า

แล้วการผจญภัยก็เริ่มขึ้น เป็นการเผชิญหน้ากับคนผิวขาว กับโลกอีกโลกหนึ่ง สังคมอีกสังคมหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของขวดโค้กขวดนั้น ที่นักบินกินบนเครื่องบินแล้วทิ้งลงมา

อีกด้านหนึ่ง สตรีผิวขาวนางหนึ่งเกิดความเบื่อหน่ายแสงสีชีวิตในเมือง เบื่อหน่ายห้องทำงานบนตึกสูงที่กลายเป็นเหมือนคุกคุมขัง ทำให้เธอรู้สึกว่าขาดเสรีภาพ เธอฝันอยากเป็นนกโบยบินสู่โลกกว้าง กลับไปหาธรรมชาติ แล้วเธอก็ตัดสินใจลาออกจากงาน สมัครไปสอนหนังสือเด็กในชนบทห่างไกลของบอตสวานา

อีกด้านหนึ่ง ทหารกลุ่มหนึ่งพยายามยึดอำนาจ บุกยิงผู้นำประเทศและคณะตายไปหลายคน แต่ยึดอำนาจไม่ได้ รัฐประหารที่ไม่สำเร็จเรียกว่าขบถ ผู้ก่อการต้องหนีเอาชีวิตรอดจากการไล่ล่า หนีไปถึงโรงเรียนที่คุณครูผิวขาวกำลังสอนเด็กผิวดำ จับเด็กนักเรียนและครูเป็นตัวประกัน โชคชะตาพาสีซอไปพบกับคนผิวขาว ร่วมมือกันไปช่วยตัวประกันจากพวกขบถ

เทวดาท่าจะบ๊องส์ (1980) เป็นหนังตลกที่ประสบความสำเร็จทั่วโลกโดยเฉพาะที่สหรัฐฯ แบบเกินความคาดหมาย ใครๆ นึกไม่ถึงว่า “คนป่า” คนหนึ่งที่ไม่เคยแสดงหนังหรือไม่เคยเห็นแม้แต่ทีวีเลยในชีวิตจะกลายเป็น “ดารา” ได้ด้วยการแสดงที่เป็นธรรมชาติ คนสร้างหนังถามว่าเขาต้องการค่าตอบแทนเท่าไร เขาตอบว่าอยากได้วัว เขาจึงได้วัวฝูงหนึ่งเป็นค่าแสดง เด็กๆ และชาวบ้านต่างก็ได้เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้และสัตว์เลี้ยงเป็นค่าตอบแทนการเข้าฉาก ซึ่งพวกเขาแสดงได้ดีอย่างน่าแปลกใจ

ชนเผ่าซานเป็นเผ่าเล็กๆ ที่อาศัยอยู่แถวทะเลทรายคาลาฮารี ในประเทศบอตสวานา ทางทิศเหนือของประเทศแอฟริกาใต้ ในความเป็นจริง วิถีชีวิตดั้งเดิมแบบที่เห็นในหนังนั้นคงไม่มีอีกแล้ว ดังจะเห็นได้จากสารคดีท้ายดีวีดี ที่ถ่ายทำชีวิตจริงของนิเซา พระเอกของหนังเรื่องนี้ แกก็นุ่งกางเกงใส่เสื้อผ้าเหมือนคนทั่วไป ชาวบ้านชาวเผ่าของแกก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่อยู่อย่างยากจนข้นแค้นมาก

ดูเหมือนจะไม่มีเผ่าพันธุ์ใดในโลกที่หนีพ้นการเปลี่ยนแปลงไปได้ ความทันสมัยได้ครอบโลกใบนี้โดยไม่มีข้อยกเว้นอีกต่อไป ไม่ว่าคนป่าในแอฟริกา คนพื้นเมืองในป่าดงดิบอะเมซอน ชาวเขาชาวดอย ชาวผีตองเหลืองที่น่าน กะเหรี่ยงคอยาวที่แม่ฮ่องสอน เงาะป่าซาไกทางภาคใต้ มอแกนหรือชาวเลหรือยิปซีทะเลแถบอันดามัน ชาวบนหรือเนียะกูร์แถบเทือกเขาเพชรบูรณ์

ถ้าหากพวกเขาจะยังคงรักษาเครื่องแต่งกายและประเพณีบางอย่างไว้ได้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ “ความปรานี” ของสังคมบริโภคที่อยากให้พวกเขาอยู่อย่างนั้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ไม่ใช่เพื่อคุณค่าทางวัฒนธรรมหรือความเคารพในสิทธิหรือศักดิ์ศรีของคนเหล่านี้แต่อย่างใด ตรงกันข้าม บางแห่งทำยังกับพวกเขาเป็นสัตว์ประหลาดเสียอีก

คนกลุ่มน้อยเหล่านี้มีเสน่ห์และดึงดูดผู้คนยุคใหม่ที่โหยหาสิ่งที่หายไปกับการพัฒนา สิ่งที่หาไม่ได้อีกต่อไปในสังคมทันสมัย นอกจากรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ห่างไกลจากธรรมชาติ จิตวิญญาณของมนุษย์ก็แปลกแยก

โลกวันนี้มีเรื่องแปลกแต่จริง (paradox) ไม่มียุคใดสมัยใดที่คนสามารถไปมาหาสู่กันได้ง่ายดายเหมือนวันนี้ สื่อการกันได้อย่างรวดเร็วและหลากหลายวิธี เทคโนโลยีนำคนให้เข้ามาใกล้กันอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่มียุคใดสมัยใดที่ผู้คนจะห่างไกลกัน และรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้างเท่าวันนี้ ต่างคนต่างอยู่ ตัวใครตัวมัน ต่างคนต่างสร้างโลกเล็กๆ ของตนเอง

ไม่เคยมียุคใดสมัยใดที่เราจะมีสิ่งให้ความสุขสนุกสนาน รื่นเริงบันเทิงใจ อำนวยความสะดวกสบายมากมายเหมือนวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ดนตรี ทีวี วิทยุ และเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ แต่ก็ดูเหมือนไม่มียุคใดสมัยใดที่ผู้คนรู้สึกเบื่อ เหงา เศร้า เซ็ง บ้าและฆ่าตัวตายมากเท่าวันนี้

ไม่ใช่เทวดาที่ท่าจะบ๊องส์ แต่การพัฒนาต่างหาก ความจริงเป็นความทันสมัยที่ไม่พัฒนามากกว่า เพราะการพัฒนาแปลว่าทำให้ชีวิตดีขึ้น เจริญขึ้น มีคุณภาพ มีความสุข แต่การพัฒนาวันนี้เขาวัดกันที่ GDP (Gross Domestic Product) เขาไม่ได้วัดกันที่ GDH (Gross Domestic Happiness)

ชาวเขาแถวจังหวัดน่านหมู่บ้านหนึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มพัฒนาน้อยที่สุดในประเทศไทย พวกเขาตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า หมู่เฮาบ่เข้าใจ๋ว่าด้อยพัฒนาแปลว่าอะไร แม้หมู่เฮามีรายได้เพียงปีละไม่ถึงพันบาท แต่หมู่เฮาอยู่ได้สบาย บ่มีโรคภัยไข้เจ็บ บ่มีหนี้สิน อากาศดี น้ำดี มีอาหารจากธรรมชาติ พ่อแม่พี่น้องอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน ด้อยพัฒนาก็บ่เป็นหยัง หมู่เฮามีความสุขดี

คนไทยเองก็ชอบหนังเทวดาท่าจะบ๊องส์ เพราะแทงใจดำคนสมัยใหม่ที่ห่างไกลจากธรรมชาติ อยากกลับไปหาธรรมชาติ เพราะวันนี้ตัวเองได้ทำลายธรรมชาติ ทำลายวัฒนธรรม ทรัพยากร ความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมไปเกือบหมด ไม่ได้สืบทอดเพราะดูถูกและมองข้าม กว่าจะเห็นคุณค่าของคน ผู้มีภูมิปัญญาก็ตายไปเกือบหมดแล้ว กว่าจะเห็นคุณค่าของสมุนไพรและความหลากหลายทางชีวภาพ คนต่างชาติที่ฉลาดกว่า มีเครื่องมือดีกว่า ทุนมากกว่าก็มาฉกฉวยขโมยเอาไปจดลิขสิทธิ์จนเกือบหมดแล้ว

วันนี้ถึงอยากกินไก่นา ปลาแม่น้ำ อยากกินผักป่าผักทุ่ง อยากกินอะไรที่เป็นของโบราณอย่างก๋วยเตี๋ยวโบราณ ลูกชิ้นปลาโบราณ กาแฟโบราณ ไอศกรีมโบราณ เพราะความเชื่อหรือค่านิยมที่ว่าของโบราณมีคุณค่า อร่อยด้วยฝีมือแท้ๆ ไม่ใช่ด้วยผงชูรสและสารเคมี

วันนี้โลกกำลังรับกรรมที่ได้ก่อไว้ในอดีต ประเทศมหาอำนาจในยุโรปไปล่าเมืองขึ้นอาณานิคมทั่วโลก โดยเฉพาะแอฟริกาและละตินอเมริกา ไปขุด ไปดูด ไปตัด ไปเอา ไปขโมยทรัพยากรใต้ดินและบนดิน ทั้งป่าไม้ สัตว์ แร่ธาตุ รวมทั้งดึงเอาผู้คนที่เป็นมันสมองของคนพื้นเมืองไปจนหมด

แอฟริกาวันนี้จึงเหมือนคนที่ถูกผีกระสือดูดเลือด เหี่ยวแห้งและรอความตาย ถูกกระหน่ำซ้ำเติมจากโรคเอดส์อีก บางประเทศกำลังจะสิ้นชาติ บางเผ่ากำลังจะสูญพันธุ์ไปไม่เพียงเพราะโรคเอดส์ แต่สารพัดโรคที่มาพร้อมกับความทันสมัยแต่ไม่พัฒนา ไร้การศึกษาและขาดโอกาสการเรียนรู้

ความจริง โลกวันนี้ทั้งโลกกำลังประสบชะตากรรมเดียวกัน เป็น “โรคพัฒนา” และ”โรคอารยธรรม” กันถ้วนหน้า โรคที่เกิดเพราะ “ผิดผี” ผิดกฎ ธรรมชาติสูญเสียความสมดุล เสียความอุดมสมบูรณ์ ดินก็หาใช่แม่ธรณี น้ำก็หาใช่แม่น้ำ ข้าวก็หาใช่แม่โพสพอีกต่อไป เป็นเพียงปัจจัยการผลิต สิ่งของและสินค้าในสังคมบ้าบริโภคนี้เท่านั้น

เมื่อดินเป็นพิษ น้ำเป็นพิษ อาหารเป็นพิษ อากาศเป็นพิษ สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ชีวิตก็เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต โรคเอดส์ โรคซาร์ส โรคห่า โรคคนโรคสัตว์ และอีกหลายโรคที่กำลัง “ฟักตัว” และหลายไวรัสที่กำลังกลายพันธุ์

นอกจากโรคทางกาย ทางจิต และทางสิ่งแวดล้อม ยังมีโรคทางสังคมที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยาเสพติด อาชญากรรม ความขัดแย้งและความรุนแรงทางสังคมและการเมือง ไปถึงการก่อการร้ายและสงครามระหว่างประเทศ

เราคงกลับไปมีชีวิตอยู่เหมือนคนป่าในแอฟริกา หรือบรรพบุรุษของเราเมื่อร้อยปีก่อนไม่ได้ คืนสู่อดีตคงทำไม่ได้ แต่คืนสู่รากเหง้านั้นน่าจะทำได้ เพราะหมายถึงการกลับไปค้นหา “คุณค่า” ดีงามและนำมาประยุกต์กับชีวิตวันนี้ หารูปแบบใหม่ให้คุณค่าเก่า ฟื้นความสมดุลที่ขาดหาย ความสัมพันธ์ที่เสื่อมคลายระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติรอบตัว

แม้จะไม่ทำให้กลับไปอยู่กับธรรมชาติได้เหมือนผู้คนในอดีต อย่างน้อยก็ช่วยไม่ให้อยู่ห่างไกลจนเกินไป อยู่ที่ว่าคนจะ “กลับใจ” และไป “คืนดี” กับธรรมชาติได้หรือไม่และพียงใด
กำลังโหลดความคิดเห็น