xs
xsm
sm
md
lg

พลังงานทดแทน"เอธานอล " สินค้าการเมืองแก้วิกฤตน้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข่าวเชิงวิเคราะห์ "พลังงานทดแทนแอทธานอล สินค้าการเมืองแก้วิกฤตน้ำมัน”
       โดย "ทีมข่าวพิเศษ” ผู้จัดการรายวัน ความยาว 3 ตอนจบ

ตอนที่ 1


           พลังงานทดแทน "น้ำมันเบนซินผสมเอธานอล" หรือ "แก๊สโซฮอล์"
ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตน้ำมันแพงทุกครั้งในทุกรัฐบาล กระทั่งกลายเป็น "สินค้าการเมือง" ที่ใช้สำหรับโฆษณาแต่หาผลสำเร็จเป็นรูปธรรมยังไม่พบ
เหตุผลสำคัญนอกเหนือจากความไม่เอาจริงเอาจริงในเชิงนโยบายแล้ว ตัวแปรสำคัญคือแรงต้านจากกลุ่มผู้สูญเสียประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้น้ำเข้าสาร MTBE,
กลุ่มทุนอุตสาหกรรมน้ำมัน และกลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ จับตารัฐบาลทักษิณ โชว์ฝีมือทะลวงทางตันทั้งระบบ
           แม้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยจะมีนโยบายเกี่ยวกับพลังงานทดแทนเอธานอล เพื่อแก้วิกฤตราคาน้ำมันที่ขึ้นลงผันผวนตามภาวะตลาดโลก แต่อาจกล่าวได้ว่ายังไม่มีรัฐบาลไหนที่ผลักดันให้เอธานอล กลายเป็นพลังงานทางเลือกและทดแทนน้ำมันได้อย่างแท้จริง
           อะไรคืออุปสรรคใหญ่ที่ทำให้พลังงานทดแทนเอธานอล ไม่สามารถเกิดขึ้นได้  หากมองในเชิงนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านๆมา จะเห็นเรื่องที่เอาจริงเอาจังกันมากที่สุดเป็นเพียงแคมเปญรณรงค์ให้มีการหันมาใช้พลังงานแอทธานอลแทนน้ำมันโดยสมัครใจเป็นสำคัญ ส่วนที่มากไปกว่านั้นเป็นได้แต่เพียงนโยบายในกระดาษ
เหตุใดนโยบายนี้จึงมีสภาพเช่นนั้น
          นาวาเอกสมัย ใจอิน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการเอธานอลแห่งชาติ วิเคราะห์เบื้องหลังที่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การผลักดันในเชิงนโยบายเป็นไปได้ยากยิ่งว่าเพราะมีแรงต่อต้านจากกลุ่มผู้สูญเสียประโยชน์ ซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มทุนอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ทั้งในภาคธุรกิจน้ำมันและยานยนต์
         "โครงการนี้เกิดมานาน แต่ยังล่าช้าในการผลักดันให้เห็นเป็นรูปธรรมก็เพราะที่ผ่านมาคณะกรรมการเอธานอลแห่งชาติ ต้องโต้เถียงกับกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมน้ำมันและยานยนต์ที่มีทั้งผู้ได้และเสียผลประโยชน์ในเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก เช่น กลุ่มธุรกิจยานยนต์ , ผู้นำเข้าสาร MTBE และกลุ่มผู้ค้าน้ำมันยักษ์ใหญ่ต่างชาติ เรื่องนี้จึงยืดเยื้อมานาน เพราะมีผู้เสียผลประโยชน์เยอะ จึงออกแรงต้านไม่เห็นด้วย แต่ต้องเข้าใจเพราะเขาเป็นพ่อค้าก็ต้องห่วงผลประโยชน์ของตนเอง แต่ก็น่าแปลกต่างประเทศไม่เห็นมีการต่อต้านอะไรเลย แค่ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ ความดัน และอุณหภูมิรถเท่านั้น พอคนไทยผลิตน้ำมันเองทำบ้างกลับมีปัญหา"
          กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการเอทธานอล วิเคราะห์ประด็นที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์กังวลนั้นคือ การที่ต้องปรับเปลี่ยนสเปกเครื่องยนต์และผลกระทบต่อระบบเครื่องยนต์หากต้องการใช้แก๊สโซฮอลล์ ซึ่งอาจเกิดผลต่อเนื่องถึงความเชื่อมั่นจากลูกค้า ขณะที่กลุ่มผู้ค้าน้ำมันยักษ์ใหญ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้นำเข้าสาร MTBEจะได้รับผลกระทบโดยตรงหากรัฐบาลขึ้นภาษีหรือลดปริมาณการใช้ลง
ปัจจุบัน บริษัทน้ำมันเติมสาร MTBE ลงในน้ำมันเบนซินเพื่อเพิ่มค่าออกเทน
สารดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นในต่างประเทศ และมีการนำเข้าโดยโรงกลั่นน้ำมันในไทย ปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่กังขากันว่าแท้จริงแล้วโรงกลั่นน้ำมันในไทยสามารถผลิตสาร MTBE ได้โดยไม่ต้องนำเข้าหรือไม่
          ประเด็นเรื่อง MTBE ซึ่งจะถูกทดแทนด้วยเอธานอลตามนโยบายของรัฐบาลล่าสุด รัฐบาลทักษิณ มีมติครม.เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา โดยขีดเส้นตายให้ยกเลิกใช้ MTBE ใน 2 ปี และจะขึ้นภาษีจาก 1% เป็น 20 % เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้แก๊สโซฮอล์มากกว่าเบนซิน นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ น่าจะทำให้การดำเนินการในเรื่องนี้แจ่มชัดขึ้น
           แต่อย่างไรก็ตาม ดร.ณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน
และเลขาธิการคณะกรรมการเอธานอลแห่งชาติ ผู้ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง
กลับมีความเห็นว่าในอนาคตรัฐบาลไม่จำเป็นต้องขึ้นภาษี MTBE จาก 1% เป็น 20%ก็ได้เพราะตอนนี้ราคาเอธานอลก็มีส่วนต่างในราคาขายอยู่ 50 สต./ลิตร
เพราะได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิตและเงินนำเข้ากองทุนน้ำมัน 
           "ถ้ากลุ่มธุรกิจ MTBE ใช้วิธีการทุ่มตลาดขายราคาถูก ทางรัฐบาลก็จะใช้มาตรการตอบโต้และป้องกันด้วยการขึ้นภาษี MTBE นำเข้า เพื่อเป็นการกดดันตลาดและเปิดทางให้โรงงานผลิตเอธานอลสามารถผลิตป้อนให้กับตลาดผู้ใช้รถหันมาใช้แก๊สโซฮอล์ที่ถูกกว่าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทน้ำมันต่างๆต้องปรับตัวตามในการผลิตและจำหน่ายแก๊สโซฮอลล์ออกมาบริการแก่ประชาชน"
            ผอ.สนง.เอธานอลแห่งชาติ กล่าวต่อว่า รัฐบาลมีนโยบาลชัดเจนผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง ดังนั้นบริษัทน้ำมันอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องปรับตัวตาม ไม่มีแรงต่อต้านแต่อย่างใด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อธุรกิจผลิตเอธานอลที่จะมีผู้สนใจอยากจะเข้ามาทำธุรกิจนี้ในอนาคต เพราะเป็นธุรกิจที่สดใสมีตลาดที่แน่นอน และอนาคตรถยนต์รุ่นใหม่ที่จะผลิตต้องมีการปรับแต่งเครื่องยนต์เพื่อรองรับการใช้แก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้นอาจถึง 100%
             "ตอนนี้กำลังร่วมมือกับกระทรวงพลังงานเร่งทำน้ำมันเบนซิน 91
เพื่อกำหนดสเปคน้ำมันตามมาตรการสนับสนุนผสมเอธานอลเข้าไป เพื่อจะได้ทำให้บริษัทน้ำมันได้รู้ว่ารัฐบาลเอาแน่กกับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 91 เพื่อให้เกิดการปรับตัว ซึ่งจะช่วยให้ตลาดเอธานอลขยายตัวมากขึ้น ทดแทนการใช้น้ำมันนำเข้าปีละหลายหมื่นล้าน"  ดร.ณัฐพล กล่าว
             ผลสำเร็จในนโยบายที่รัฐบาลจะให้มีการใช้เอธานอล ประมาณ 10%
เป็นส่วนผสมในน้ำมันเบนซินแทนสาร MTBE เป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าจากต่างประเทศปีละกว่า 3,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10 % ของการนำเข้าน้ำมันเบนซินทั้งหมด และการขีดเส้นตายให้ยกเลิกใช้ MTBE ใน 2 ปี และจะขึ้นภาษีจาก 1% เป็น 20 % เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้แก๊สโซฮอล์มากกว่าเบนซิน
จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ผศ.ดร. จำนง สรพิพัฒน์ ประธานคณะกรรมการสายพลังงาน  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิเคราะห์ว่า
ปัจจัยสำคัญรัฐบาลต้องเร่งให้มีโรงงานกลั่นเอธานอลเพื่อจำหน่ายให้กับบริษัทน้ำมันต่างๆ ไปผลิตเป็นแก๊สโซฮอล์จำหน่ายให้กว้างขวางและรวดเร็วที่สุด ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลอนุมัติให้เอกชนตั้งโรงงานผลิตเอธานอลไปแล้ว 7 แห่ง รวมกำลังการผลิต 1.5 ล้านลิตร/วัน แต่ตอนนี้มีเพียงรายเดียวที่ผลิตได้ ประมาณ 2.5 หมื่นลิตร/วันเท่านั้น
           "อยากให้รัฐกระตุ้นให้โรงงานผู้ผลิตน้ำตาลทั่วไปร่วมผลิตแอลกอฮอล์ด้วย
แค่สร้างแทงค์และหอกลั่นเพิ่มขึ้นเท่านั้นก็สามารถผลิตเอธานอลได้แล้ว ไม่ต้องห่วงประเทศเรามีวัตถุดิบอ้อยและมันมากมายรองรับอยู่แล้ว แต่คำถามคือเหตุใดขณะนี้ยังเงียบอยู่" ผศ.ดร.จำนงกล่าว
           ผศ.ดร.จำนง กล่าวต่อว่า การจะทำให้โครงการนี้เป็นรูปธรรมจริงๆ ก็คือ
ต้องเปิดให้มีสถานีจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ ให้มีหัวจ่ายทั่วประเทศ และต้องมีวัตถุดิบ
คือ อ้อยและมันสำปะหลัง ป้อนให้โรงงานผลิตอย่างต่อเนื่อง

(ติดตามอ่าน ตอนที่ 2 วันพรุ่งนี้)
กำลังโหลดความคิดเห็น