xs
xsm
sm
md
lg

สืบสานวัฒนธรรมแกนโบราณ บนฐานสังคมใหม่

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

สืบสานวัฒนธรรมแกนโบราณ บนฐานสังคมใหม่

สังคมจีนยุคใหม่ นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1949 ขับเคลื่อนตนเองไปสู่อนาคตภายใต้แนวคิดชี้นำหนึ่งเดียวคือ ลัทธิมาร์กซ์ ถักทอวัฒนธรรมยุคใหม่อย่างขมีขมัน เพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งการสร้างสรรค์สังคมนิยม ปลดปล่อยตนเองและมวลมนุษยชาติ ให้สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างรอบด้านทีละขั้นๆ

บนเส้นทางนี้ จึงมิใช่เวทีการขับเคลื่อนของวัฒนธรรมเก่าแก่ใดๆ ลัทธิขงจื๊อ เล่าจื๊อ ม่อจื๊อ หรือหลักธรรมคำสอนของพระศาสดา ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม ต่างดูประหนึ่งได้ "ตกยุค" ไปแล้ว

อย่างไรก็ดี ขั้นตอนพัฒนาการของสังคมจีน ยังล้าหลังมาก เศรษฐกิจการผลิตไม่ก้าวหน้า วิทยาการไม่สมประกอบ การศึกษายังย่ำแย่ คนจีนเกือบทั้งประเทศไม่มีความรู้ความเข้าใจโลกที่เป็นจริง ไม่เข้าใจตัวเอง และไม่เข้าใจผู้อื่น

เมื่อคณะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนตัดสินพาประชาชนจีน ก้าวกระโดด ทางการผลิต และเคลื่อนไหว "ปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรม" ในทศวรรษ ค.ศ.1960 ผลที่ตามมาจึงเป็นหายนะใหญ่หลวง จวนเจียนจะทำให้รัฐนาวาที่เพิ่งแล่นออกสู่ทะเลกว้างอับปาง

บทสรุปของพรรคจีนหลังจากนั้นก็คือ แนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของประเทศจีน คือที่มาของความล้มเหลวทั้งปวง

ความเป็นจริงของจีนเป็นอย่างไร?

พรรคจีนโดยเติ้งเสี่ยวผิงได้ให้คำตอบว่า ประเทศจีนเป็นสังคมนิยมขั้นปฐม พลังการผลิตล้าหลัง วัฒนธรรมการศึกษายังไม่ก้าวหน้า ประชาชนยังยากจน ดังนั้นจำเป็นต้องดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจการผลิต ปฏิรูปและเปิดกว้าง ปลดปล่อยพลังการผลิตและพัฒนาพลังการผลิตของสังคม ซึ่งเป็นการสร้างความเจริญทางวัตถุให้แก่สังคมจีน ควบคู่ไปกันนั้น ก็ดำเนินการพัฒนาทางวัฒนธรรม การศึกษาและวิทยาการยุคใหม่ ซึ่งเป็นการสร้างความเจริญทางจิตใจ

ส่วนจะสร้างกันอย่างไรก็ให้ทุกฝ่าย "ปลดปล่อยความคิด หาสัจจะจากความเป็นจริง ก้าวไปพร้อมกับการเวลา" ไม่ยึดติดกับทฤษฎีหรือตำราหรือประสบการณ์เฉพาะใดๆ ทั้งสิ้น

ทำให้ประเทศจีนก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนาที่ถือเอาการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นฐาน ประสานด้วยการปฏิรูปและเปิดกว้างอย่างทั่วด้าน และการยึดมั่นในระบอบสังคมนิยมที่มีพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นแกนนำ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ในระบอบประชาธิปไตยของประชาชน

การพัฒนาทางวัฒนธรรมก็มุ่งสู่อนาคต มุ่งสู่โลกกว้าง เชื่อมประสานและซึมซับวัฒนธรรมดีงามทั้งจากอดีตและจากทุกมุมโลก

ในสภาพแวดล้อมใหญ่เช่นนี้ วัฒนธรรมแกนเดิมๆของจีนก็ได้รับการฟื้นฟู มีการเผยแพร่แนวคิดคำสอนของพระศาสดาแห่งศาสนานิกายต่างๆ มีการประกอบศาสนกิจและพิธีกรรมต่างๆ ในหมู่ประชาชนจีนโดยทั่วไป ทั้งนี้มีข้อแม้สำคัญว่า จะต้องไม่ข้องแวะกับเรื่องงมงายไสยศาสตร์แบบเดิมๆหรือกระทำการเคลื่อนไหวต่อต้านลัทธิมาร์กซ์ อำนาจการนำของพรรคคอมมิวนิสต์และระบอบสังคมนิยมแต่ประการใด

วัฒนธรรมแกนโบราณของจีน ในรูปของโลกทัศน์ ชีวทัศน์ ค่านิยม ที่ฝังลึกอยู่ในห้วงสำนึกของคนจีนมานานหลายพันปี เคยแสดงบทบาทขับเคลื่อนสังคมจีนอย่างเป็นพลวัตอย่างต่อเนื่องหลายพันปี และกำลังมีแนวโน้มพัฒนาเติบใหญ่อย่างมีชีวิตชีวาต่อไปภายใต้แนวคิดชี้นำของลัทธิมาร์กซ์แบบจีน ที่สำคัญคือ 1. สำนึกที่ว่า เกิดเป็นคนจะต้องเข้มแข็ง ฝึกฝนพัฒนาตนเองให้แข็งแกร่งเสมอ (เทียนสิงเจี้ยน จวินจื่อจื้อเฉียงปู้ซี) 2. ถือเอามนุษย์เป็นฐาน (เหรินเปิ่นจู่อี้) 3. ฟ้ากับคนเป็นหนึ่งเดียวกัน (เทียนเหรินเหออี) และ 4. การปฏิบัติต่อกันอย่างมีระบบระเบียบ (หลี่จื้อจิงเสิน) ซึ่งจะขอนำมาขยายความพอเป็นสังเขป ดังนี้

1. เกิดเป็นคนจะต้องเข้มแข็ง ฝึกฝนพัฒนาตนเองให้แข็งแกร่งเสมอ

วัฒนธรรมจีนโบราณประกอบด้วยหลักการมองสองด้าน เป็นยินกับหยาง แข็งกับอ่อน (กัง/โหรว) ทำกับไม่ทำ (เหวย/อู๋เหวย) ที่สามารถแปรเปลี่ยนสู่กันและกันได้

เคยมีการสรุปว่า วัฒนธรรมจีนเป็นวัฒนธรรม "ยิน" "โหรว" และ "อู๋เหวย" มากกว่า อันเป็นสาเหตุสำคัญให้สังคมจีนไม่พัฒนาเข้าสู่สังคมวิทยาศาสตร์ ทั้งๆ ที่ได้สั่งสมอารยธรรมรอบด้านอย่างต่อเนื่องหลายพันปี ก่อนหน้าที่ยุโรปจะขับเคลื่อนตนเองพ้นจากยุคมืด ก้าวเข้าสู่ยุควิทยาศาสตร์นานนับหลายร้อยปี

แต่ได้มีเสียงคัดค้านข้อสรุปดังกล่าว พร้อมกับยืนยันถึงบทบาทด้าน "บวก" ของอารยธรรมโบราณจีน ที่ถือเอามนุษย์เป็นฐาน เน้นการพัฒนาฝึกฝนตนเอง และการแสดงออกทั้งด้านแข็ง/อ่อน ทำ/ไม่ทำ อย่างผสมกลมกลืนกัน ตามสภาวะเงื่อนไขที่เป็นจริง

เหตุขัดขวางมิให้สังคมจีนก้าวทะลุสู่ความเป็นสังคมวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ มีอยู่มากมาย ไม่เพียงเพราะวัฒนธรรมที่ยึดอดีตเป็นแม่แบบ (ลัทธิขงจื๊อ) เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์และกระบวนการผลิตแบบเอเชียแสดงบทบาทสำคัญอยู่ด้วย

อีกด้านหนึ่งของเหรียญ แม้จีนจะไม่เป็นชาติแรกที่ก้าวเข้าสู่ยุควิทยาศาสตร์สมัยใหม่ แต่ก็เป็นชาติเดียวที่รักษารากเหง้าทางวัฒนธรรมโบราณไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ทำให้ประชาชาติจีนสืบสานอารยธรรมจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน และไม่สาบสูญไปเฉกเช่นอารยธรรมอียิปต์โบราณ วัฒนธรรมอินเดียโบราณและวัฒนธรรมโบราณอื่นๆ ของโลก

"เส้นชีวิต" ทางวัฒนธรรมดังกล่าวของจีน ได้สะท้อนความมีชีวิตชีวาและเป็นพลวัตอย่างยิ่งอยู่ในตัว เป็นมรดกตกทอดที่ล้ำค่าของคนจีนและของมวลมนุษยชาติโดยรวม ที่ควรแก่การสืบสานและพัฒนาต่อไป

โดดเด่นที่สุดก็คือ "สำนึกแห่งความเข้มแข็ง มุ่งพัฒนาฝึกฝนตนเองให้แข็งแกร่งเสมอ" ที่ชี้นำคนจีนให้ยืนหยัดและพัฒนาเติบใหญ่ได้เสมอ ไม่ว่าเขาหรือเธอคนนั้นจะไปใช้ชีวิตอยู่ ณ แห่งหนใดบนผิวโลกใบนี้

สำนึกพื้นฐานเบื้องต้นแท้ๆของคนจีนดังกล่าว คือคำตอบข้อแรกของปุจฉาที่ว่า ทำไมคนจีนจึงไปเติบใหญ่ เจริญรุ่งเรืองได้ในทุกๆ ลุ่มน้ำของโลกแบบ "เสื่อผืนหมอนใบ"

ดังนั้น คนจีน ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน เพศใด ไม่ว่าจะอยู่ ณ แห่งหนตำบลใด จึงมุ่งมั่นสร้างตัวด้วยความขยันขันแข็ง ทรหดอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ

เห็นได้ชัดว่า ภายใต้สำนึกดังกล่าว คนจีนเน้นการ "ทำ" มากกว่าไม่ทำ เน้น "เข้มแข็ง" มากกว่าอ่อนโยน เน้น "หยาง" มากกว่า "ยิน"

โดยรวมๆ วัฒนธรรมโบราณจีน จึงเป็นวัฒนธรรม "หยาง-กัง-เหวย" (สว่าง-แข็ง-กระทำ) ไม่ใช่วัฒนธรรมของคนจนแต้ม ซึมเซาอับเฉา อ่อนแอเหยาะแหยะ แต่ประการใด

จี้เสี้ยนหลิน ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมจีนคนสำคัญ ได้สรุปรวบว่า สำนึกดังกล่าวของคนจีน ก็คือ แก่นกระดูก ของความเป็นจีน พร้อมยืนหยัดอย่างมั่นคงอยู่ในด้าน "หยาง-กัง-เหวย"เสมอ ขอเพียงแต่ให้สิ่งที่ตนยืนหยัดนั้นเป็นสิ่งถูกต้อง เป็นสัจธรรม

ตรงนี้ก็ไม่ขัดกับหลักคิดของคนจีนที่เน้นเรื่องการรอมชอม (เหอ) เพราะการรอมชอมดังกล่าวตั้งบนฐานของความหลากหลาย คือรอมชอมกันเข้าโดยไม่ต้องสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง มิใช่การรวบหัวรวบหาง กิน คนอื่นเพื่อตนเองจะได้ดำรงอยู่เพียงผู้เดียว

แนวคิดคณะผู้บริหารประเทศจีนยุคปัจจุบันได้สะท้อนสำนึกพื้นฐานนี้อย่างชัดเจน เช่นนโยบายต่างประเทศที่เน้น "ประโยชน์ร่วมกัน" หรือ "อยู่ร่วมกันอย่างสันติ" ร่วมมือและสร้างประโยชน์ร่วมกัน บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน เคารพซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นชาติใหญ่หรือเล็ก ไม่ว่าจะเป็นชาติพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา

แนวคิดดังกล่าวจึงเป็นที่ยอมรับได้ของสังคมโลก โดยเฉพาะในโลกที่กำลังพัฒนา

2. ถือเอามนุษย์เป็นฐาน

ดังที่ได้เคยนำเสนอมาแล้วว่า วัฒนธรรมจีนโบราณ เน้นการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน มิใช่คนกับพระเจ้า มีระเบียบวิธีปฏิบัติต่อกันระหว่างนายกับบ่าว พ่อกับลูก สามีกับภริยา พี่กับน้อง และเพื่อนกับเพื่อนอย่างชัดเจน

ในสังคมศักดินา ระเบียบวิธีปฏิบัติดังกล่าวคือที่มาของความไม่เสมอภาค ด้วยผู้เป็นนาย ผู้เป็นพ่อ ผู้เป็นสามี ผู้เป็นพี่ และผู้เป็นเพื่อนที่ได้สร้างบุญคุณไว้กับเพื่อนด้วยกัน เป็นผู้มีอำนาจสุดท้ายในการวินิจฉัยความถูกผิด เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดที่ผู้ผูกพัน (บ่าว-ลูก-ภริยา-น้อง-เพื่อน) จะต้องยอมรับ

ระบบดังกล่าวเน้นให้ผู้มีอำนาจแสดงความเมตตากรุณา และให้ผู้อยู่ใต้อำนาจเชื่อฟัง เป็นที่ชื่นชอบของผู้มีอำนาจปกครองในแต่ละยุคสมัยเป็นอย่างยิ่ง เป็นที่มาของระบบการปกครองที่ตั้งอยู่บนฐานของเมตตาธรรมและคุณธรรมของผู้ปกครอง มิใช่นิติธรรมที่ถือเอาตัวบทกฎหมายเป็นที่ตั้ง

ปัจจุบันนี้ รัฐบาลจีนเร่งพัฒนาการปกครองให้เป็นแบบนิติธรรม แต่ก็ให้ความสำคัญในเรื่องคุณธรรม (เรียกว่า "ฝ่าจื้อ+เต๋อจื้อ") เห็นว่า การปกครองด้วยกฎหมายอย่างเดียวไม่สมบูรณ์ สังคมจะไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด จะต้องเสริมด้วยคุณธรรม

อย่างไรก็ดี การถือเอามนุษย์เป็นฐาน (ปัจจุบันพัฒนามาเป็นการถือเอาคนเป็นศูนย์กลาง เพื่อการพัฒนาอย่างรอบด้านของคน) ในอดีตยังจำกัดอยู่กับเฉพาะคนที่เป็นแบบรวมหมู่และนามธรรม ไม่มีกลิ่นอายของลัทธิปัจเจกชนนิยมแต่ประการใด นอกจากนั้น ที่สำคัญยังขับเคลื่อนอยู่ในกรอบของจริยธรรม เน้นการปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับระเบียบพิธีกรรมต่างๆ อย่างเคร่งครัด หาได้เปิดโอกาสให้ "มนุษย์" ในระดับปัจเจกบุคคลมีช่องทางการพัฒนาปลดปล่อยตนเองจากความจำกัดของสังคมแต่ประการใดไม่ (ต้องอยู่ในกรอบวิธีปฏิบัติ "ซันกัง-อู่ฉัง" เป็นสำคัญ)

ปัจจุบัน ประเทศจีนในระบอบสังคมนิยม มุ่งพัฒนาประเทศโดยถือเอาคนเป็นศูนย์กลาง และเพื่อการพัฒนาอย่างรอบด้านของคน ไม่เพียงแต่เร่งพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัยเท่านั้น แต่ยังเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาตนเองอย่างรอบด้านของคนในระดับปัจเจกบุคคลอีกด้วย

การบริหารประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างรอบด้าน ที่ถือเอาคนเป็นศูนย์ ถึงที่สุดแล้วก็เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนเองอย่างรอบด้านของคน ทั้งในความหมายรวม และในความหมายในระดับปัจเจกบุคคล

อาจกล่าวได้ว่า ในอดีต วัฒนธรรมจีนไม่เปิดช่องให้ปัจเจกบุคคลพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่ สิ่งที่เรียกว่า "คน" หลักๆ ก็คือ "ผู้อยู่ใต้การปกครอง" เมื่อใดที่ผู้ปกครองมีเมตตาธรรม ประชาชนจีนก็ได้รับอานิสงส์จาก "เบื้องบน" เป็นสำคัญ หากมิใช่การต่อสู้เพื่ออิสรภาพส่วนบุคคล ดังที่เป็นไปในวัฒนธรรมตะวันตก (ลัทธิปัจเจกชน ซึ่งพัฒนาเลยเถิดเป็นการยึดเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนแบบสุดขั้ว)

(เกี่ยวกับแนวคิดชี้นำที่ถือเอาคนเป็นศูนย์กลาง เพื่อการพัฒนาตนเองอย่างรอบด้านของคน จะขอนำมาอธิบายในเชิงลึกในบทต่อๆ ไป)

การถือเอามนุษย์เป็นฐานของวัฒนธรรมโบราณจีน ยังมีจุดเด่นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ไม่ยึดติดในเรื่องภูตผีปีศาจ หรืองมงายในไสยศาสตร์สุดโต่ง ไม่ว่าจะทำอะไรถึงที่สุดแล้วก็จะต้องวกมาลงที่ตัวคนหรือมนุษย์เสมอ

ตรงนี้แตกต่างจากวัฒนธรรมตะวันตกที่ถือเอาพระเจ้าเป็นสิ่งสูงสุดเสมอ

วัฒนธรรมจีนพัฒนาขึ้นมาพร้อมกับความรับรู้ในธรรมชาติ ทั้งในเรื่อง "ภายใน" ของตนเองและเรื่องของธรรมชาติ "ภายนอก"

คนจีนก็เช่นเดียวกันคนชาติอื่นสมัยก่อนยังไม่เข้าใจในธรรมชาติอย่างแท้จริง (ทุกวันนี้ก็ยังไม่เข้าใจอย่างถึงที่สุด แต่เข้าใจมากกว่าอดีตมากแล้ว) แต่ที่ต่างไปจากคนชาติอื่นก็คือ พวกเขาเข้าใจธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับตัวเองมากกว่าที่จะตัดขาดกับตัวเอง ดังคำว่า "ฟ้ากับคนเป็นหนึ่งเดียวกัน" (เทียนเหรินเหออี) ซึ่งจะขอยกไปอธิบายต่อในฉบับวันพฤหัสฯ หน้า...ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น