xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันแพงฉุดการฟื้นตัวศก.โลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเชียน วอลล์สตรีท เจอร์นัล – น้ำมันกลับมาเป็นปัจจัยชี้เป็นชี้ตายเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง นักวิเคราะห์คาดอาจกระทบต่อการฟื้นตัวอันเปราะบาง แต่คงไม่ถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจโลกล่ม โดยผู้ที่รับเคราะห์หนักที่สุดคือ ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียที่พึ่งพิงน้ำมันอย่างมาก
วันอังคารที่ผ่านมา ราคาน้ำมันที่ตลาดนิวยอร์กพุ่งแรงทะลุระดับ 42 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากไต่กลับลงไปต่ำกว่าหลัก 40 ดอลลาร์ให้โล่งอกชั่วคราวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
สตีเฟน รอช หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมอร์แกน สแตนเลย์ วาณิชธนกิจระดับหัวกะทิของสหรัฐฯ ชี้ว่า ในช่วงระหว่างปลายปี 1973 ถึงต้นปี 1974 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งขึ้นถึง 4 เท่า และเกือบ 3 เท่าตอนที่เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติอิหร่านปี 1979 ก่อนจะพุ่งกระฉูดอีกครั้งในปี 1990 ช่วงก่อนสงครามอ่าวรอบแรก
หลายคนพยายามวิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง กำลังจะเผชิญกับวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งแรกในรอบ 31 ปีหรือไม่
นักเศรษฐศาสตร์แจกแจงว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันทะยานโลดลิ่วในขณะนี้มีด้วยกันหลายอย่าง ในจำนวนนี้รวมถึงความกลัวว่าซัปพลายน้ำมันจะหยุดชะงัก สืบเนื่องจากความตึงเครียดในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกจากอิรักที่อยู่ในสภาพที่คาดเดาได้ยาก
ปัจจัยกดดันที่สำคัญอื่นๆ คือ ดีมานด์อันร้อนแรงที่หนุนนำโดยการเติบโตของเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ และการเก็งกำไรของกองทุนเฮดจ์ฟันด์
รอชกล่าวกับลูกค้าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนเกิดเหตุการณ์โจมตีสำนักงานและอาคารที่พักอาศัยของผู้บริหารของบริษัทน้ำมันต่างชาติในเมืองคอบาร์ ซาอุดีอาระเบีย ว่าปัจจัยความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ระอุขึ้น และตลาดพลังงานกำลังช่วยกันส่งสัญญาณว่า น้ำมันกลับมาเป็นปัจจัยที่คาดเดาไม่ได้สำหรับเศรษฐกิจมหภาคอีกครั้ง
จอห์น อิป นักเศรษฐศาสตร์ของมอร์เลย์ ฟันด์ แมเนจเมนท์ในลอนดอน ชี้ว่า หากผลกระทบจากวิกฤตน้ำมันเป็นสูตรตายตัวเหมือนกับครั้งที่แล้ว เท่ากับว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังจะถีบตัวขึ้น และเศรษฐกิจโลกคืบคลานเข้าสู่ภาวะถดถอย ขึ้นอยู่กับว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นยั่งยืนแค่ไหน ถ้าแค่ช่วงสั้นๆ ก็มีผลต่อเศรษฐกิจโลกเพียงจำกัด แต่ถ้ายังแพงยืดเยื้อ เศรษฐกิจโลกอาจวูบหายไปประมาณ 0.5%
อิปเสริมว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเป็นเหมือนการถ่ายโอนทรัพยากรจากผู้บริโภคไปยังผู้ผลิต ดังนั้น การที่ประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคและผู้นำเข้าน้ำมัน ภาวะน้ำมันแพงจึงถือเป็นปัจจัยลบต่อดีมานด์ พูดง่ายๆ คือ ผู้บริโภคเหลือเงินไปซื้อหาสินค้าอื่นๆ น้อยลง ขณะเดียวกัน ยิ่งน้ำมันแพงขึ้นเท่าไร ต้นทุนสินค้าสำเร็จรูปก็ยิ่งแพงขึ้นตามไปด้วย ฉุดให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงไปอีก
ในระดับของภาคธุรกิจ ราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ส่งให้ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้น การลงทุนลดลงเช่นเดียวกับผลกำไร และนำไปสู่การปลดพนักงานในท้ายที่สุด
ในระดับโลก ผู้รับประโยชน์จากภาวะน้ำมันแพงคือ ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ซึ่งรวมถึงซาอุดี ไนจีเรีย คูเวต เวเนซุเอลา อิหร่าน เม็กซิโก และรัสเซีย ขณะที่ผู้รับเคราะห์หนักที่สุดคือ ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียที่พึ่งพิงน้ำมัน โดยเฉลี่ยแล้วประเทศเหล่านี้ใช้น้ำมันมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วกว่า 2 เท่าโดยมีผลผลิตทางเศรษฐกิจในจำนวนเท่ากัน หลายประเทศยังผูกติดค่าเงินไว้กับดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวกลางในการซื้อขายน้ำมัน
ในบรรดาประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ ญี่ปุ่นจะโดนหางเลขหนักกว่าคนอื่น เนื่องจากเป็นทั้งผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ และยังเป็นผู้ส่งออกสำคัญไปยังประเทศเอเชียอื่นๆ
เดรสด์เนอร์ ไคนเวิร์ต วัสเซอร์สไตน์คาดว่า หากราคาน้ำมันทรงตัวอยู่ที่ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะลดลง 0.5% และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.8% ในปี 2005 และเศรษฐกิจหดลง 1% เต็ม เงินเฟ้อขยับขึ้น 0.7% ในปีถัดไป
ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯจะวูบหายไป 0.2% ในปี 2005 และ 0.5% ในปี 2006 โดยที่อัตราเงินเฟ้อเดินหน้า 0.6% และ 0.7% ในระหว่างสองปีดังกล่าวตามลำดับ
เช่นเดียวกัน อัตราเติบโตของ 12 ประเทศที่ใช้เงินยูโร (ยูโรโซน) จะหดหายไป 0.3% และ 0.4% ในปีหน้าและปี 2006 โดยที่เงินยูโรที่แข็งค่าขึ้นช่วยดูดซับผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงลงได้บางส่วน
ทว่า อิปชี้ว่า การคำนวณดังกล่าวอาจประเมินผลกระทบแง่ลบต่อความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและผู้บริโภคต่ำเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากประจวบกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยแล้ว และจะยิ่งแย่ไปใหญ่ถ้าราคาที่อยู่อาศัยตกต่ำลงพร้อมๆ กัน
อย่างไรก็ดี ใช่ว่านักเศรษฐศาสตร์ทุกคนเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจโลกกำลังจะถูกราคาน้ำมันถล่มล่มสลาย เนื่องจากราคาที่แพงขึ้นขณะนี้เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของดีมานด์ มากกว่าซัปพลายตกต่ำเหมือนเมื่อครั้งวิกฤตการณ์ในอดีต
นอกจากนั้น ประเทศอุตสาหกรรมจำนวนมากยังใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางจัดการกับภาวะเงินเฟ้อ เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากภาวะน้ำมันแพงได้ดีขึ้น
สุดท้าย ไมเคิล ลูอิส หัวหน้าแผนกวิจัยด้านโภคภัณฑ์ของดอยช์ แบงก์ในลอนดอน ชี้ว่า ราคาน้ำมันที่คำนวณเปรียบเทียบกับภาวะเงินเฟ้อ รายได้ และมูลค่าที่ไม่ใช่ดอลลาร์นั้น ไม่ถือว่าแพงมากมายนักเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตการณ์ในอดีต
กำลังโหลดความคิดเห็น