เสียวหมี่ (Xiaomi) เผยแพร่รายงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ประจำปี 2567 ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนความยั่งยืนด้วยเทคโนโลยี พร้อมสร้างการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบริหารจัดการขยะผ่านการรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่
รายงานฉบับนี้เน้นย้ำกลยุทธ์ของเสียวหมี่ ที่มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมและเท่าเทียม พร้อมสร้างระบบนิเวศ "Human x Car x Home" เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ยั่งยืนและชาญฉลาด ด้วยงบประมาณการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในปี 2567 มีมูลค่าสูงถึง 2.41 หมื่นล้านหยวน ซึ่งแสดงถึงความสำคัญที่บริษัทให้กับการพัฒนาเทคโนโลยี
นอกจากนี้ โรงงานอัจฉริยะของเสียวหมี่ยังได้นำ AI และ Industrial IoT มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยอัตราการทำงานอัตโนมัติในสายการผลิตที่สูงถึง 81% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก
ในด้านการเข้าถึงเทคโนโลยี เสียวหมี่ยึดมั่นที่จะสร้างประสบการณ์ดิจิทัลที่ครอบคลุมสำหรับผู้ใช้ทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีความต้องการพิเศษ ในปี 2567 บริษัทได้ปรับปรุงฟีเจอร์ช่วยเหลือต่างๆ เช่น TalkBack สำหรับผู้พิการทางสายตา ที่ใช้ OCR ช่วยอ่านข้อความในภาพได้แบบเรียลไทม์ รวมถึงฟังก์ชันคำบรรยายแบบเรียลไทม์ใน Xiaomi HyperOS 2 ที่มีความแม่นยำในการถอดเสียงสูงถึง 93% รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่อำนวยความสะดวกและปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุด้วย
สำหรับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เสียวหมี่ได้ตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งในการดำเนินงานของเสียวหมี่ และในห่วงโซ่อุปทานสมาร์ทโฟน โดยกำหนดให้ซัพพลายเออร์ต้องลดการปล่อยคาร์บอนและเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน เสียวหมี่ ยังมีเป้าหมายชัดเจนที่จะลดการปล่อยคาร์บอนและเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ตามที่กำหนดคือในปี 2573 จะต้องลดการปล่อยคอร์บอนฯ มีละไม่ต่ำกว่า 5% และ ภายในปี 2593 จะต้องใช้พลังงานหมุนเวียน 100% พร้อมกันนี้ ยังสนับสนุนการเลือกใช้ขนส่งทางทะเล และทางรถไฟแทนทางอากาศ ซึ่งช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้กว่า 3,300 ตันในปีที่ผ่านมา
ในส่วนของการรีไซเคิล และการนำกลับมาใช้ใหม่ เสียวหมี่ดำเนินโครงการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก และได้บรรลุเป้าหมายการรีไซเคิลถึง 95.94% ของเป้าหมายรวมภายในสิ้นปี 2567 มีอุปกรณ์ใช้แล้วมากกว่า 1.3 ล้านเครื่องที่ถูกรีไซเคิลผ่านโครงการแลกเปลี่ยน
นอกจากนี้ บริษัทยังขยายบริการซ่อมแซมและนำวัสดุรีไซเคิล เช่น อะลูมิเนียมและพลาสติกชีวภาพจากกากมะนาว มาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ และโรงงานอัจฉริยะของเสียวหมี่ยังประสบความสำเร็จในการจัดการขยะแบบ Zero-Landfill ด้วยอัตราการแยกขยะสูงถึง 99.35%
รายงาน ESG ประจำปี 2567 ของเสียวหมี่เน้นย้ำความตั้งใจของบริษัทในการนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ตลอดจนส่งเสริมแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว